ผมเชื่อมาตลอดว่าฟุตบอลโลกมีกำแพงที่มองไม่เห็นขวางกั้นอยู่
ทีมที่อยู่ในกลุ่มม้ามืดทั้งหลายไม่เคยก้าวข้ามกำแพงนั้นไปได้ ฟุตบอลโลกอนุญาตให้พวกเขาไปไกลที่สุดก็แค่รอบรองชนะเลิศเท่านั้น
ตลอดหนึ่งเดือนของทัวร์นาเม้นต์มีเกมแห่งทรงจำและน่าประทับใจเกิดขึ้นมากมาย แมตช์ที่น่าเบื่อและรำคาญใจมีให้เห็นบ้าง บางคู่ตามล็อก หลายคู่พลิกล็อก แต่สุดท้ายแล้วจะมีสองทีมที่ได้รับการันตีในระดับหนึ่งแล้วว่าสุดยอดก้าวข้ามกำแพงซึ่งมองไม่เห็นนั้นมาพบกันในวันสุดท้ายเสมอ
นึกๆ ดูย้อนหลังครั้งแล้วครั้งเล่า หนแล้วหนเล่า มันก็เป็นอย่างนั้น
ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในรอบแรก รอบสอง รอบควอเตอร์ไฟนั่ล รอบเซมิไฟนั่ล กำแพงที่มองไม่เห็นของฟุตบอลโลกจะสกรีนคู่ชิงที่เป็นทีมใหญ่เอาไว้ให้กับเราเสมอ
แน่นอนครับ เมื่อมาถึงตรงนี้แล้วทุกทีมย่อมเท่าเทียมกัน.. อันที่จริงทั้ง 32 ชาติที่ได้เข้ามาเล่นในรอบสุดท้ายต่างก็มีสิทธิ์หวังถึงแชมป์โลกได้เหมือนๆ กัน หากสิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้ก็คือไม่ใช่ทุกทีมที่มีศักยภาพเท่ากัน
ไม่อย่างนั้นคงไม่มีเต็งหนึ่ง เต็งสอง เต็งหก เต็งสิบ เต็งยี่สิบเอ็ด หรือเต็งบ๊วยประจำทัวร์นาเม้นต์
เพราะมาตรฐานของแต่ละทีมไม่เท่ากัน และทีมใหญ่ระดับแชมป์โลกหรือเกือบเป็นแชมป์โลกพิสูจน์เรื่องนี้มาครั้งแล้วครั้งเล่า เอาประวัติศาสตร์เก่ามาเล่าใหม่ได้เสมอ
แล้วก็ดูเหมือนฟุตบอลโลกจะให้ความสำคัญกับมัน จึงไม่เคยอนุญาตให้ทีมม้ามืดทั้งหลายได้ไขกุญแจผ่านเข้าสู่ด่านสุดท้ายเลยแม้แต่ครั้งเดียว ยิ่งกับการเป็นแชมป์ด้วยคุณต้องบ่มบารมีบางอย่างเอาไว้พอสมควรถึงจะได้เชยชมโทรฟี่ทองคำตันสูง 36.5 เซนติเมตร
ฟุตบอลโลกจึงยังไม่ได้เห็น เทพนิยายเดนส์ หรือ มหากาพย์แห่งกรีซ อย่างที่เกิดขึ้นในยูโร '92 และ 2004 หรือการคว้าแชมป์โคปา อเมริกา ของเปรู หรือโบลิเวีย
เหมือนฟุตบอลโลกหยิ่งทะนงและถือดีในศักดิ์ศรีของตัวเอง มันไม่จำเป็นต้องพึ่งพามหากาพย์หรือเทพนิยายใดๆ เพื่อยกระดับการเป็นที่พูดถึง ฟุตบอลโลกจึงอนุญาตให้บรรดาม้ามืดทั้งหลายก้าวไปได้ไกลที่สุดเพียงแค่รอบตัดเชือกเท่านั้น
ไม่อย่างนั้นเราคงได้เห็นโปแลนด์เข้าชิงที่ซานติอาโก้ เบร์นาเบว 1982 เห็นเบลเยียมปรากฏโฉมที่อัซเตก้า สเตเดี้ยม 1986 เห็นสวีเดนกับบัลแกเรียทีมใดทีมหนึ่งหรือทั้งสองทีมเข้าไปแย่งแชมป์สมัยแรกที่โรสโบวล์ปี 1994
เห็นโครเอเชียชิงกับบราซิลปี 1998 เห็นเกาหลีใต้ชิงบราซิล เห็นตุรกีชิงเยอรมัน หรือเห็นทีมโสมขาวชิงกับทีมไก่งวงไปเลยเมื่อปี 2002 กันแล้ว
ม้ามืด..
คำว่าม้ามืดนั้นบางครั้งก็มีเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างใช่กับไม่ใช่ หรือกระทั่งในความรู้สึกของบางคน บ้างก็ว่าทีมนี้แหละม้ามืด บ้างก็ว่าจะบ้าเหรอ
โครเอเชียเป็นม้ามืดไหม.. ก็อาจไม่ใช่อีกต่อไปแล้ว แต่อยู่ในข่ายทีมที่คนจับตามองว่าจะเป็นแชมป์ในกลุ่มเดียวกับ บราซิล ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมัน สเปน อาร์เจนติน่า ก่อนเริ่มทัวร์นาเม้นต์หรือเปล่าก็คงจะไม่ใช่อีกเหมือนกัน ทีมตาหมากรุกคือเต็งสิบเอ็ดก่อนฟุตบอลโลกเปิดฉาก โอกาสยังน้อยกว่า เบลเยียม โปรตุเกส เดนมาร์ก เสียอีก
จริงๆ แล้วโครเอเชียสร้างผลงานที่น่าเหลือเชื่อมากนะครับ พวกเขาเพิ่งจะเข้าร่วมฟุตบอลโลกเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1998 นี้เอง แต่กลับกลายเป็นขาประจำของศึกเวิลด์คัพมาตลอดนับจากนั้น พลาดตกรอบคัดเลือกแค่ครั้งเดียวคือปี 2010
6 จาก 7 สมัยหลังสุดจึงมีโครเอเชียในฟุตบอลโลกเสมอ และที่น่าทึ่งคือ 3 จาก 6 สมัยที่มาแข่งรวมคราวนี้ด้วยนั้นพวกเขาไปไกลถึงรอบรองชนะเลิศ หนึ่งในนั้นคือการเข้าชิงได้ด้วย
เพราะฉะนั้นสำหรับผมแล้ว โครเอเชียกลายเป็นทีมที่ถูกเลือกเทียบเท่ากับทีมยักษ์ใหญ่ทั้งหลายไปอีกทีมเรียบร้อยแล้วหลังจากการเข้าชิงเมื่อ 4 ปีก่อน เพียงแต่ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปีที่แล้วพวกเขายังน่าจะมีสถานะเป็นม้ามืดที่ไม่มีใครจับตามองอยู่ เพราะหลังจากคว้าอันดับสามเมื่อปี 1998 ได้แล้ว โครเอเชียก็ตกรอบแรกเรียบวุธในอีก 3 ครั้งที่ไปแข่ง
จะบอกว่าโครเอเชียเป็นชาติแรกที่ก้าวข้ามกำแพงสูงใหญ่ของฟุตบอลโลกไปถึงรอบชิงได้ก็อาจจะไม่ผิด แต่มันก็ไม่ได้ถูกเสียทีเดียวเหมือนกันเพราะอย่างน้อยพวกเขาก็มีอันดับสามเมื่อปี 1998 เป็นใบเบิกทาง
เหมือนที่ สเปน ซึ่งแทบไม่เคยมีตัวตนในฟุตบอลโลกเพราะเข้าอีหรอบ หมูสนามจริง สิงห์สนามซ้อม มาตลอดทุกยุกทุกสมัย ทะลุพรวดเดียวเข้าชิงและคว้าแชมป์ได้เลยเมื่อปี 2010 นั่นแหละ ทัวร์นาเม้นต์นั้นทีมกระทิงดุคือเต็งหนึ่งจากฟุตบอลอันน่าทึ่งและความสำเร็จในเวทีชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป
คือคุณต้องเป็นทีมอย่างสเปนไปเลยถึงจะก้าวข้ามกำแพงนั้นไปคว้าแชมป์ได้ คือเก่งในระดับที่เป็นยุโรปมาก่อนเข้าทัวร์นาเม้นต์นั่นแหละ มันต้องแบบนั้นไปเลย เพราะต้องไม่ลืมว่าที่ผ่านมาเคยมีแชมป์ยุโรปที่เกรียงไกรมากมายที่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน
ในฟุตบอลโลกเช่นกัน ฝรั่งเศสของ มิเชล พลาตินี่ คือตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด ขณะที่เยอรมันตะวันตกซึ่งทำได้ในปี 1974 นั้นพวกเขาข้ามกำแพงได้ไปก่อนหน้านั้นแล้วเมื่อปี 1954
การคว้าแชมป์ของสเปนเมื่อปี 2010 กับการเข้าชิงของโครเอเชียเมื่อปี 2018 จึงเป็นการก้าวข้ามกำแพงที่พอจะมีเรื่องราวรองรับอยู่
แต่กับม้ามืดอื่นๆ ทั้งหลาย พวกเขาจะจอดป้ายที่รอบตัดเชือก ไปได้ไกลที่สุดแค่นั้น
ซบิ๊กนิว โบเนี้ยก กับ เกร์เซกอร์ซ ลาโต้ ยิ่งใหญ่ขนาดไหนก็ยังพาโปแลนด์ข้ามกำแพงนี้ไปไม่ได้
ฌอง มารี พัฟฟ์ เอ็นโซ่ ชีโฟ่ แยน คูเลอมองส์ แห่งเบลเยียม
ฮริสโต้ สตอยช์คอฟ ยอร์ดาน เล็ทช์คอฟ คลาซิเมียร์ บาลาคอฟ ของบัลแกเรีย
ซโวนิเมียร์ โบบัน โรเบิร์ต โปรซิเนชกี้ ดาวอร์ ซูเคอร์ สลาเวน บิลิช แห่งโครเอเชีย
กองกำลังแห่งแทฮันมินกุกและปรากฏการณ์เติร์ก
เพราะฟุตบอลโลกมีกำแพงที่มองไม่เห็นขวางกั้นอยู่..
เราจึงได้เห็นบราซิลแย่งแชมป์โลกสมัยที่สามกับอิตาลีเมื่อปี 1970
จึงได้เห็น เยอรมันตะวันตก ชิงกับ ฮอลแลนด์ ปี 1974 เห็นอาร์เจนติน่ากับทีมกังหันสีส้มล่าแชมป์โลกสมัยแรกกันในปี 1978 เห็นอิตาลีชิงกับเยอรมันตะวันตกปี 1982
อาร์เจนติน่าชิงกับทีมอินทรีเหล็ก 2 สมัยติดในปี 1986 กับ 1990 บราซิลชิงอิตาลีอีกครั้งปี 1994 ฝรั่งเศสชิงบราซิลปี 1998
บราซิลชิงเยอรมัน 2002 อิตาลีชิงฝรั่งเศส 2006 สเปนชิงฮอลแลนด์ 2010 เยอรมันชิงอาร์เจนติน่า 2014 ฝรั่งเศสชิงโครเอเชีย 2018
หรือกระทั่งย้อนขึ้นไปในวันที่เชโกสโลวาเกียกับฮังการีเคยยิ่งใหญ่เข้าชิงชาติละ 2 สมัย หรือสวีเดนเจ้าภาพปี 1958 ก็หวังได้ถึงแชมป์โลก การผ่านเข้าชิงไม่ใช่เรื่องที่ต้องตกตะลึงพรึงเพริศอะไร
นัดชิงของฟุตบอลโลกทุกครั้งที่ผ่านมาจึงพิเศษเสมอ
เราจะไม่เห็นม้ามืดที่อยู่นอกสายตาชนิดที่ไม่เคยมีเรื่องราวใหญ่ในฟุตบอลโลกมาก่อนได้ทะลุเข้าชิงเลย
กับฟุตบอลโลกครั้งนี้ มีม้ามืดอยู่หนึ่งทีมที่กำลังสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับเรา
โมร็อกโก..
พวกเขาจะปีนข้ามกำแพงสูงใหญ่นั้นไปได้ไหม ไม่มีใครให้คำตอบได้ดีที่สุดเท่าฝรั่งเศสแชมป์เก่าอีกแล้ว
รอดูบทสรุปของ "กำแพงที่มองไม่เห็น" ของฟุตบอลโลกในคราวนี้กันครับ
-ตังกุย-