ย้อนกลับไปเมื่อราว 4 ปีก่อน บางคนคิดว่า โครเอเชีย มีโชคช่วยกับการที่พวกเขาไปถึงรอบชิงชนะเลิศของ ฟุตบอลโลก 2018 ได้ และคิดว่าพวกเขาคงไม่มีทางทำผลงานที่ยอดเยี่ยมระดับเดียวกันได้ในเร็วๆ นี้
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้พวกเขาเข้าถึงรอบรองชนะเลิศของ ฟุตบอลโลก 2022 ได้แล้ว จนทำให้ โครเอเชีย มีโอกาสที่จะได้เข้ารอบชิงชนะเลิศในศึก ฟุตบอลโลก 2 สมัยติดต่อกันเป็นทีมแรกนับตั้งแต่ที่ บราซิล เคยทำได้เมื่อตอนปี 2002 ถ้าหากสามารถผ่าน อาร์เจนตินา ในรอบรองชนะเลิศของวันที่ 13 ธันวาคมนี้ได้ (แน่นอนว่า ฝรั่งเศส ก็จะมีโอกาสแบบนั้นเหมือนกันในอีก 1 วันให้หลังที่ต้องเจอกับ โมร็อกโก)
ทั้งนี้ เครดิตส่วนหนึ่งต้องยกให้กับ ซลัตโก้ ดาลิช เทรนเนอร์ของทีมที่คุม โครเอเชีย มาตั้งแต่ปี 2017 ซึ่งวันนี้เรามีเรื่องบางอย่างเกี่ยวกับกุนซือวัย 56 ปีมานำเสนอสักหน่อย
- ชีวิตนักเตะไม่รุ่งเท่าไหร่
ดาลิช เองก็เหมือนกุนซือหลายคนที่เคยผ่านช่วงชีวิตการเป็นนักฟุตบอลมาก่อน โดยตำแหน่งที่เขาลงเล่นบ่อยที่สุดคือกองกลางตัวรับ ซึ่งตอนนั้น วลาดิเมียร์ เบียร่า อดีตยอดผู้รักษาประตูทีมชาติยูโกสลาเวียก็เห็นแววเด่นของเขาจนแนะนำเขาให้กับ ไฮจ์ดุ๊ค สปลิท ด้วย
น่าเศร้าที่ชีวิตการเป็นนักเตะของเขาไม่รุ่งเท่าไหร่นัก แม้ว่าจะได้แชมป์ ยูโกสลาฟ คัพ ร่วมกับ ไฮจ์ดุ๊ค สปลิท เมื่อฤดูกาล 1983-84 และเคยอยู่กับทีม 3 สมัย แต่เขาเป็นเหมือนเพียงอะไหล่ของทีม จากการได้ลงเล่นไปเพียง 4 นัด ในปี 1983-1986, 5 เกมในระหว่างปี 1987-88 และ 28 นัดในช่วงปี 1996-1998
ทีมที่ ดาลิช ลงเล่นให้มากที่สุดคือ วาร์เท็คส์ ทีมใน โครเอเชีย โดยเขาลงสนามให้ทีมไป 108 นัดระหว่างปี 1992-1996, 11 นัดตอนมาอยู่กับทีมแบบยืมตัวในปี 1998 และอีก 36 เกมในช่วงปี 1998-2000 ซึ่งนี่ก็เป็นสโมสรสุดท้ายในอาชีพการเล่นของเขาด้วย
- ประสบความสำเร็จในตะวันออกกลาง
ดาลิช เริ่มต้นการคุมทีมกับ วาร์เท็คส์ ทีมที่เขาแขวนสตั๊ดด้วย โดยเริ่มจากการคุมทีมแบบขัดตาทัพในปี 2004 แล้วได้รับงานแบบถาวรในปี 2005 ซึ่งหลังจากนั้นเขายังได้กุมบังเหียนสโมสรในโครเอเชียอีกหลายทีม ไม่ว่าจะเป็น ริเยก้า ระหว่างปี 2007-2008, ดินาโม ทิราน่า ในปี 2008-2009 และ สลาเวน เบลูโป้ ในปี 2009-2010 คิดเป็นระยะเวลาราว 6 ปี
อย่างไรก็ตาม เชื่อหรือไม่ว่าในการทำงานระดับสโมสรนั้น ดาลิช มีช่วงเวลาอยู่ในย่านตะวันออกกลางมากกว่าในบ้านเกิดซะอีก เพราะเขาเคยคุม อัล-ไฟซาลี่ ทีมในซาอุดิอาระเบียระหว่างปี 2010-2012, อัล-ฮิลัล อีกหนึ่งทีมของซาอุดิอาระเบียในปี 2013 และ อัล-ไอน์ ทีมของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในปี 2014-2017 หรือก็คือเขาตระเวนทำงานในย่านตะวันออกกลางราว 7 ปี ก่อนจะได้มาคุมทีมชาติโครเอเชีย
ทั้งนี้ ดาลิช ทำผลงานได้ยอดเยี่ยมอย่างมากในย่านตะวันออกกลาง อย่างเช่นการพา อัล-ฮิลัล ได้แชมป์ ซาอุดิ คราวน์ พรินซ์ คัพ ในฤดูกาล 2012-13, การนำ อัล-ไอน์ ได้แชมป์ ยูเออี โปรลีก, เพรสซิเดนท์ คัพ และ ซูเปอร์คัพ อย่างละ 1 สมัย แถมเขายังเคยนำ อัล-ไอน์ ไปถึงรอบชิงชนะเลิศของ เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ ลีก ในปี 2016 ได้ด้วย น่าเสียดายที่ก่อนเข้าเส้นชัยนั้นทีมของเขาแพ้ ชุนบุค ฮุนได มอเตอร์ส ด้วยสกอร์รวม 2 นัด 2-3
- คนพูดตรง (และแรง)
โลกฟุตบอลมีกุนซือบางคนที่พูดตามความคิดของตัวเองอย่างตรงไปตรงมาจนทำให้เกิดวลีเด็ดๆ อยู่หลายครั้ง อย่างเช่น โชเซ่ มูรินโญ่ เป็นต้น ซึ่งตัว ดาลิช เองก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน โดยส่วนหนึ่งมาจากการที่เขาเป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเองสูง
ที่จริงแล้ว ดาลิช ถึงขั้นเคยเกือบจะเปิดศึกกับคนใหญ่คนโตของสหพันธ์ฟุตบอลโครเอเชียด้วย โดยย้อนกลับไปตอนที่พา โครเอเชีย ได้รองแชมป์ ฟุตบอลโลก 2018 นั้น ดาลิช พูดเลยว่า "ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ก็ตาม แต่ผมน่ะคือโค้ชที่เก่งเป็นอันดับ 2 ของโลก และค่าเหนื่อย 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีสำหรับโค้ชอันดับ 2 ของโลกมันยังถือว่าน้อยเกินไปด้วยซ้ำ!"
"ฟังนะ เงินเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทุกคน แต่สำหรับผมแล้วมันไม่ใช่แรงจูงใจอันดับ 1 ด้วยซ้ำ ผมยังเหลือสัญญาอีก 2 ปี และผมก็จะอยู่กับทีมตามนั้น ผมทนไม่ไหวหรอกที่จะให้คนที่เตะบอลแค่ 2 ครั้งในชีวิตมาตัดสินตำแหน่งของผมในซุ้มม้านั่งสำรองของ โครเอเชีย ที่จริงผมน่ะหาเลี้ยงตัวเองได้ แต่ผมจะไม่ทนให้ใครก็ตามมาเล่นกับอิสระของผมแล้วพยายามไล่ผมในช่วงเวลาเพียง 2 เดือนหรอก"
นอกจากนี้ เขายังเคยพูดถึงผลงานของตัวเองอีกว่า "ผมน่ะสร้างชื่อด้วยตัวของผมเอง ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ยากที่สุด แต่ผมก็เชื่อมั่นในตัวเอง ผมไม่เคยกังขาในตัวเองเลยในตอนที่ โครเอเชีย ติดต่อมาหาผม ผมรู้ดีว่าเรามีนักเตะเก่งๆ หลายคนและผมสามารถทำให้ทีมประสบความสำเร็จได้ ผมน่ะไม่เหมือนกุนซือคนอื่นๆ ในทวีปยุโรปหรอกนะที่อาจจะได้งานเพียงเพราะพวกเขามีชื่อเสียงโด่งดัง ผมไม่ได้เป็นพวกที่มีคนประเคนทุกอย่างมาให้"
- เด็กเกร็ดบอล -