ถนนที่คนเดินพลุกพล่านสุดในโดฮามีชื่อว่าซุค วาคิซ(Souq Waqif)โดยเป็นตลาดนัดที่เต็มไปด้วยร้านขายของพื้นเมือง ให้เห็นภาพง่ายๆก็อารมณ์เดียวกับตลาดจตุจักรของบ้านเราเพียงแต่จะไซส์เล็กกว่า แน่นอนว่าช่วงเทศกาลบอลโลกก็จะทำให้ยิ่งหนาแน่นเข้าไปอีก พวกแฟนบอลจากชาติต่างๆก็มักมารวมตัวกัน
ผมได้ไปลองชิมอาหารแบบอาหรับแท้ๆก็ในตลาดแห่งนี้ เอาว่าไว้โอกาสหน้าจะนำมาเขียนแชร์ประสบการณ์กัน สำหรับวันนี้มีเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้กันอยากนำเสนอ นั่นก็คือเรื่องของเหยี่ยว บางคนอาจสงสัยแล้วว่ามันพิเศษตรงไหนกับแค่สัตว์ปีกที่ก็พบเจอได้ทั่วไป?
เพราะมันเป็นนกประจำชาติของประเทศกาตาร์ครับ ในซุค วาคิซเองก็มีดงร้านขายเหยี่ยวโดยสิ่งที่ทำให้ทั้งตกใจและเข้าใจยิ่งขึ้นก็คือในนั้นมีโรงพยาบาลที่เอาไว้รักษาเหยี่ยวโดยเฉพาะด้วย นั่นบ่งบอกถึงความสำคัญ
ป้ายหน้าร้านที่มีทั้งภาษาอังกฤษกับอาราบิคเขียนไว้ว่า"Birds Center, Falcon Sale & Accessories"
ซึ่งพอไถลหัวเข้าไปในก็เจอเหยี่ยวหลายสิบตัวอวดร่างอันสง่างาม ในนั้นคนขายก็แต่งชุดประจำชาติแบบอาหรับ เขาสปีกอิงลิชได้บ้างแต่พอถามเยอะเข้าก็ทำท่าว่าต้องพูดอาหรับเท่านั้น
อย่างไรก็ตามจากที่ได้คุยรวมกับสอบถามคนท้องถิ่นอื่นๆก็ได้ข้อมูลมาพอควรว่าทำไมเหยี่ยวถึงเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญสำหรับพวกกาตารี่
1. มันเป็นนกที่มีตำนานผูกพันธ์มานาน ย้อนไปยุคที่ดินแดนทะเลทรายยังปกคลุมไปทั่วประเทศ พวกเผ่าเร่ร่อนก็ต้องเลี้ยงเหยี่ยวไว้ติดตัวเสมอเพื่อใช้มันเอาไว้ไปล่านกมาใช้ทำอาหาร
2. ทุกวันนี้เหยี่ยวเป็นสัตว์เลี้ยงของคนรวยในกาตาร์ บางคนก็ซื้อไปเพื่อเป็นของขวัญให้เพื่อนสนิทหรือญาติผู้ใหญ่ที่เคารพ
3. แน่นอนเมื่อเป็นสัตว์ของคนรวย ราคาของมันก็ย่อมแพง อย่างร้านที่ผมไปนั้นก็มีราคาถูกสุดที่ 5,000 ริยาล(ราว 50,000บาท)แต่ที่ได้ยินมาราคาสูงสุดของมันทะลุได้ถึงหลักล้านริยาลได้เลย อยากแปลงเงินไทยก็ให้คูณสิบเข้าไปครับ
4. ให้แยกตามสายพันธุ์ก็มีเหยี่ยวถึงกว่า60สปีชี่ส์แต่มีสองสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในกาตาร์ได้แก่Peregrine(บินเร็วที่สุดถึง389กิโลเมตรต่อชั่วโมง)กับSaker(แข็งแรงและสวยงาม)
5. การเลี้ยงเหยี่ยวยังบ่งบอกได้ถึงศักดินาของกาตารี่ ยิ่งมีตัวแพงแค่ไหนก็ยิ่งเหมือนประกาศฐานะความร่ำรวยเท่านั้น เหยี่ยวจึงไม่ใช่สัตว์เลี้ยงที่พวกแรงงานต่างชาติที่อพยพมาสามารถหามาเลี้ยงได้ คนกลุ่มนี้รายได้เฉลี่ยตก1,500-3,000ริยาลต่อเดือนเท่านั้น ในกาตาร์จึงมีสถานที่ไว้ฝึกซ้อมเหยี่ยวด้วยเพื่อทำให้มันเชื่องและทำให้มันรักเจ้าของ ยังมีการเล่าด้วยว่าสิ่งที่เหยี่ยวแสดงออกมาก็จะไม่ต่างจากคนเลย มันมีความรู้สึกดีใจ-เสียใจเหมือนคนทั่วไป
ก็ไม่ใช่แค่มีร้านหรือสองร้านเท่านั้น พอออกมาจากร้านนี้เดินไปก็เจออีกร้าน พอเดินไปอีกหน่อยก็เจออีกร้านซึ่งวันที่ผมไปก็มีนักท่องเที่ยวเข้าไปแวะชมเช่นกัน นี่คือสิ่งที่เชื่อกันว่าเป็นหนึ่งในวิถีชีวิตของกาตารี่ที่ต้องมาทำความรู้จัก
อย่างไปอังกฤษก็ต้องไปสนามฟุตบอล เข้าผับ/บาร์
อย่างไปบราซิลก็ต้องไปสลัม ไปดูเด็กๆวิ่งไล่เตะบอลตามชายหาดหรือถนนดินลูกรัง
ละแวกนั้นในซุค วาคิซก็ยังมีลานฝึกม้าด้วย ผมไปคุยกับคนที่ดูแลม้าซึ่งมาจากบังคลาเทศบอกว่าเป็นคอกม้าที่เลี้ยงไว้เพื่อส่งต่อให้ตำรวจใช้งาน
เอาแค่นี้ก็ทำให้ได้เห็นถึงบางร่องรอยของกาตาร์แล้ว
คนใช้แรงงานมาจากต่างชาติซึ่งเท่าที่ผมเจอมานอกจากบังคลาเทศก็ยังมีอินเดีย, เนปาล, ศรีลังกาและฟิลิปปินส์
"คนกาตาร์เป็นคนมีเงินกันทั้งนั้นจึงไม่มีมาทำงานแบบนี้หรอก อยากเจอพวกเขาก็ต้องไปในตัวเมือง ไปดูตามถนนรถหรูที่วิ่งกันนั่นแหละ"พนักงานคนขายอาหารที่มาจากอินเดียเคยบอกผมไว้เมื่อหลายวันก่อน
นี่เป็นเรื่องจริงครับ แม้แต่เจ้าหน้าที่เพรสของมีเดียเท่าที่เจอมาก็ยังไม่ได้มีเชื้อสายกาตาร์เลย อีกเรื่องก็คงเพราะว่าจากผลสำรวจมีเพียงประมาณ10%เท่านั้นแหละจากจำนวนประชาการเหยียบสามล้านที่เป็นกาตารี่
ประเทศเล็กๆแต่เปี่ยมด้วยศักยภาพสามารถจัดบอลโลกได้ก็มาจากน้ำมันกับก๊าส
กาตาร์เปลี่ยนไปมากในรอบ60-70ปีมานี้ พูดง่ายๆก็นับจากที่ขุดเจอแหล่งขุมทรัพย์จนเอาน้ำมันออกขายกลายเป็นหนึ่งในชาติที่รวยสุดของโลกนั่นแหละ มีตึกระฟ้าชูคอเต็มไปหมด มีสนามบอลสร้างใหม่ที่ทันสมัย มีระบบขนส่งที่ครอบคลุมไปหมดแต่ก็มีสิ่งหนึ่งที่คงอยู่คู่กับคนกาตาร์ไม่เคยเปลี่ยน
นั่นก็คือเหยี่ยว
"ไก่ป่า"