การทดเวลาของฟุตบอลโลก 2022

การทดเวลาของฟุตบอลโลก 2022
เวลาผ่านไปเร็วมากเลยนะครับ พ้นค่ำคืนนี้ไปเราก็มาถึงครึ่งทางของรอบ 16 ทีมสุดท้ายกันแล้ว

ยังคงสนุกอยู่กับดราม่าลุ้นเข้ารอบทั้งหลายกันอยู่เลย นี่ไปๆ มาๆ เราผ่านรอบแบ่งกลุ่มกันมาแล้วและอีก 2-3 วันก็จะได้ 8 ทีมสุดท้ายของฟุตบอลโลกครั้งนี้แล้ว

เวลาเดินเร็วเหมือนเคย ยิ่งช่วงที่เรามีความสุขก็ยิ่งรู้สึกว่ามันผ่านไปเร็วจริงๆ

ช่วงเวลาที่ฟุตบอลโลกเตะกันวันละ 4 คู่ กระจายออกไปเป็น 4 เวลาคือช่วงที่ผมชอบที่สุด เพราะมันเหมือนเราเดินเข้าไปสู่เทศกาลอะไรสักอย่าง เป็นเทศกาลที่มีแต่ฟุตบอลเตะกันทั้งวันทั้งคืน

เหมือนงานวัด เหมือนงานเฟสติวัล เหมือนงานชุมนุมคอนเสิร์ตใหญ่ๆ

เราได้ดูฟุตบอลกันตาแฉะ เริ่มนับหนึ่งตั้งแต่ห้าโมงเย็นไล่เรื่อยไปสองทุ่ม ห้าทุ่ม ตีสอง

สนุกมาก

ฟุตบอลโลกครั้งนี้เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเหมือนเคย ที่เป็นพระเอกหน่อยก็คงจะเป็นระบบ SAOT (Semi-Automated Offside Technology) ที่ทำกราฟฟิกให้เห็นเลยในจังหวะล้ำ-ไม่ล้ำหน้า

หรือที่ฮือฮามากๆ ก็คือจังหวะทำประตูชัยของญี่ปุ่นในเกมสุดท้ายรอบแรกกับสเปนที่ คาโอรุ มิโตมะ ตวัดบอลกลับเข้ามาในสนามโดยที่ขอบของลูกบอลแทบจะแตะขอบเส้นหลัง

จากที่คิดว่าออก ก็เลยกลายเป็นยังไม่ออก

จริงๆ ตรงนี้เป็นกฎที่มีอยู่เดิมอยู่แล้วนะครับ บอลจะออกจากการเล่นก็คือต้องพ้นเส้นขอบสนามออกไปทั้งใบแล้วเท่านั้น ให้ลองนึกถึงเทคโนโลยีโกลไลน์ที่ใช้กันอยู่ก็ได้ บอลเข้าหรือไม่เข้าให้เรามองจากด้านบนลงมาตรงๆ ขอบของลูกฟุตบอลต้องไม่สัมผัสกับขอบของเส้นประตูจึงจะถือว่าข้ามเส้นไปแล้ว

เพียงแต่โกลไลน์นั้นใช้ในพื้นที่ครอบคลุมแค่เส้นประตู ไม่เกี่ยวกับเส้นหลังหรือเส้นข้างสนาม มันจึงไม่ได้ส่งสัญญาณว่าออกหลังหรือยังไปให้ผู้ตัดสินใจเสี้ยววินาทีเหมือนอย่างโกลไลน์ มันยังเป็นการใช้สายตาตัวเองกะเอาของผู้ช่วยผู้ตัดสินอยู่ดี

ผมไม่แน่ใจว่าจังหวะดังกล่าวผู้ตัดสินในห้อง VAR อาศัยภาพจากกล้องตัวไหนมาพิจารณาว่าบอลออกหรือยังไม่ออกนะครับ หรือข้อมูลจากชิพที่ฝังอยู่ในลูกฟุตบอล Al-Rihla เพื่อใช้ในระบบ SAOT นั้นมีบทบาทแค่ไหนในกรณีนี้

เข้าใจว่าทีม VAR น่าจะพิจารณาจังหวะนี้จากภาพช้าและการช่วยเหลือบางส่วนจากชิพในลูกฟุตบอล ส่วนภาพกราฟฟิคต่างๆ ที่เราเห็นในโลกโซเชียลว่าบอลแค่แตะขอบเส้นหลังยังไม่ออกเต็มใบนั้นน่าจะเกิดขึ้นตามมาทีหลัง (คือน่าจะไม่ใช่ภาพที่ผู้ตัดสินในห้อง VAR เห็น)

กระนั้นกรณีของมิโตมะในประตูนี้ก็ทำให้แฟนบอลหลายคนเข้าใจกติกาเรื่อง "ต้องข้ามเส้นไปทั้งใบ" นี้มากขึ้น เพราะแม้กติกาข้อนี้จะมีอยู่มาตั้งนานของมันแล้วก็เถอะ แต่บางคนยังเข้าใจว่าแค่บอลข้ามเส้นไปเกินครึ่งใบหรือฐานของลูกบอลหลุดข้ามเส้นไปแล้วก็ถือว่าข้ามอยู่เลย

ชิพที่ฝังในลูกบอลยังเป็นประโยชน์ในบางกรณีได้อีกครับ อย่างลูกโหม่งของ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ที่ไม่ได้สัมผัสโดนลูกเปิดของ บรูโน่ แฟร์นันด์ส ข้อมูลการสั่นสะเทือนของมันก็แสดงชัดว่าไม่มีการสัมผัสบอลจริงๆ ซึ่งแม้จะเป็นข้อมูลที่ปล่อยออกมาทีหลังโดยบริษัทอาดิดาสผู้ผลิตลูกฟุตบอล แต่เชื่อว่าทีมผู้ตัดสินน่าจะมีการใช้ประโยชน์จากข้อมูลตรงนี้ร่วมไปกับการดูภาพช้าซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วย

ฟุตบอลมีความเปลี่ยนแปลงของมันมาตลอดอยู่แล้วเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่สุด เป้าหมายก็ชัดเจนคือต้องการทำให้เกมดีขึ้น สนุกขึ้น เป็นประโยชน์กับวงการมากขึ้น

ลองดูเรื่องการกำหนดให้เกมสุดท้ายของแต่ละกลุ่มต้องลงสนามพร้อมกันก็ได้ครับ ก่อนหน้านี้ไม่ได้มีความระแวดระวังเรื่องนี้กันเลยจนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ที่ทีมชาติอาร์เจนติน่าเจ้าภาพไล่ถล่มเปรู 6-0 ในนัดสุดท้ายของรอบแบ่งกลุ่มรอบสองเมื่อปี 1978 เป็นเชื้อให้เกิดความคิดเรื่องนี้ขึ้น

สกอร์ครึ่งโหลนั้นทำให้ทีมฟ้าขาวแซงหน้าบราซิลเข้าชิงด้วยผลต่างประตูได้เสีย เราจึงได้เห็นความสำคัญของมันอย่างชัดเจน (ทั้งบราซิลและอาร์เจนติน่าเตะนัดสุดท้ายในวันเดียวกัน แต่อาร์เจนติน่าลงเตะหลังบราซิลสองชั่วโมงครึ่ง ทำให้รู้เงื่อนไขที่ตัวเองต้องการตั้งแต่ก่อนลงสนาม)

เรื่องคำครหาว่าอาร์เจนติน่าจ้างเปรูล้มบอลนั้นเป็นเรื่องหนึ่งนะครับ ทุกวันนี้ก็ยังคงมีคำครหานี้อยู่ สำหรับผมคิดว่าทีมฟ้าขาวไม่จำเป็นต้องจ้างเปรูล้มบอลหรอก แค่การลงสนามต่อหน้ากองเชียร์ของตัวเอง เสียงเชียร์ดังกระหึ่ม มาตรฐานที่เหนือกว่า และเป้าหมายที่ชัดเจนตรงหน้าว่าต้องถล่มสี่ประตูขึ้นไปให้ได้ มันก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในตัวมันเองอยู่แล้ว

แต่แก่นแท้ของเรื่องนี้อยู่ตรงที่ไม่ควรมีใครได้ลงสนามโดยรู้เงื่อนไขของตัวเองและทีมอื่นร่วมกลุ่มไม่สามารถทำอะไรได้เนื่องจากลงสนามครบตามโปรแกรมไปแล้วต่างหาก

เกมนั้นเป็นเชื้อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในเวลาต่อมา (ฟีฟ่าเปลี่ยนกฎให้ทั้งสองเกมในนัดสุดท้ายต้องลงเตะพร้อมกันเป็นครั้งแรกเมื่อฟุตบอลโลก ปี 1986) ซึ่งถ้าเรามองดูเรื่องอื่นๆ ของเกมลูกหนังก็จะพบว่าฟุตบอลนั้นปรับเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสมมาโดยตลอด

จากวันนั้นถึงวันนี้เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นบ้างในเกมลูกหนัง ถ้าลองมาไล่เรียงกันดูก็จะพบว่ามีมากมายจนคาดไม่ถึงเชียวล่ะครับ

ที่มาของมันอาจจะมาจากฟุตบอลโลกบ้าง ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปบ้าง ฟุตบอลระดับสโมสรบ้าง แต่ในภาพรวมมันคือความเปลี่ยนแปลงเพื่อก้าวเดินไปข้างหน้าร่วมกัน

เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่การมีใบเหลืองใบแดงซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยมี การเปลี่ยนตัวที่เมื่อก่อนยังอนุญาต ระบบการเล่นที่สมัยก่อนใช้กองหน้ามากกว่ากองหลัง กฎล้ำหน้าที่ยุคก่อนยังไม่มี

การตัดสินหาผู้ชนะด้วยการยิงจุดโทษตัดสิน ผู้รักษาประตูห้ามใช้มือรับบอลที่เพื่อนร่วมทีมส่งมาให้ การชูป้ายบอกจำนวนนาทีที่ทดเวลา การสกรีนชื่อผู้เล่นเพิ่มเติมลงไปนอกจากเบอร์เสื้อ การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยตัดสินทั้งโกลไลน์และ VAR ฯลฯ

จริงๆ แล้วไม่ใช่ทุกความเปลี่ยนแปลงที่จะได้ผลน่าพอใจและถูกใช้งานต่อไปหรอกนะครับ ความเปลี่ยนแปลงในบางเรื่องก็ไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดีมากนักและต้องหยุดใช้ไปในที่สุด อย่างกฎโกลเด้นโกลที่โดยเนื้อหาของมันน่าสนใจมาก แต่กลับไม่ตอบโจทย์ความต้องการจริงๆ

กฎโกลเด้นโกลมีขึ้นเพื่อให้คู่ต่อสู้กล้าเปิดเกมรุกเข้าใส่กันมากขึ้นในช่วงต่อเวลาพิเศษ เพราะถ้าคุณทำประตูได้ก็จะเป็นผู้ชนะทันที แต่เมื่อนำมาใช้ในทางปฏิบัติเราจึงได้เห็นปัญหาใหม่เกิดขึ้นคือแต่ละทีมไม่กล้าเปิดเกมรุกเพราะกลัวว่าจะเสียประตูและไม่มีโอกาสแก้ตัว

แม้จะเปลี่ยนมาเป็นกฎซิลเวอร์โกลที่ผ่อนคลายลงบ้าง แต่มันก็ไม่ได้ผลอยู่ดี ในที่สุดก็ต้องเปลี่ยนกลับไปใช้การต่อเวลาครึ่งละ 30 นาทีอย่างเก่า

เรื่องโกลเด้นโกลนั้นเกิดขึ้นในฟุตบอลรายการของสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) นะครับ ฟุตบอลโลกซึ่งอยู่ในการดูแลของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ก็เคยเอามาใช้เหมือนกัน (แต่ไม่ได้เอาซิลเวอร์โกลมาใช้) บางกฎของยูฟ่าอย่างการนับผลงานที่เจอกันโดยตรงหรือ Head to head ของทีมที่มีคะแนนเท่ากันในรอบแบ่งกลุ่มยังคงใช้อยู่ในรายการของพวกเขา ส่วนฟีฟ่ายังไม่เคยเปลี่ยนเรื่องนี้และยังคงใช้การนับผลต่างประตูได้เสียมาก่อน

กับฟุตบอลโลกครั้งนี้ยังมีความเปลี่ยนแปลงอีกเรื่องหนึ่งที่เรียกเสียงฮือฮาได้มากก็คือการทดเวลาที่แตกต่างไปจากความเคยชินของเราอย่างแท้จริง ซึ่งผมคิดว่ามันน่าจะกลายเป็นเทรนด์หรือแนวทางปฏิบัติต่อไปในวงกว้างด้วย

ปัญหาของการทดเวลาคือเรื่องที่อยู่ตรงหน้าเราเหมือนเส้นผมที่บังภูเขา ทุกคนรู้ดีว่าฟุตบอลมีการทดเวลา แต่ไม่เคยใส่ใจมันมากนักว่าการทดเวลาควรจะทดเวลาที่สูญเสียไปอย่างซื่อสัตย์และจริงจังกับมันอย่างแท้จริงแค่ไหน

คล้ายกับการสักแต่ว่าทด ทดกันแบบพอประมาณ จนกลายเป็นความเคยชิน

ถ้าไม่มีการบาดเจ็บต้องปฐมพยาบาลนานๆ ก็ทดเวลาในครึ่งหลังสัก 4-5 นาทีเป็นที่รู้กัน ต่อให้ในเวลามีจังหวะบอลหยุดมากน้อยแค่ไหนก็เถอะ

แต่มันไม่ใช่กับฟุตบอลโลกครั้งนี้ ซึ่งผมมองว่าความละเอียดของฟีฟ่าในเรื่องนี้สมควรได้รับคำชื่นชม เพราะพวกเขาไม่เอาอีกแล้วกับการทดเวลาแบบประมาณเอาหรือประเมินเอาตามหลักเกณฑ์บางอย่างที่กำหนดไว้ เช่นเปลี่ยนตัวทดกี่นาที มีประตูทดกี่นาที ส่วนเรื่องบาดเจ็บไม่ว่าจริงหรือหลอกใช้ประมาณเอา

ถ้าในเกมมีนักเตะนอนถ่วงเวลา เป็นตะคริว หรือบาดเจ็บปฐมพยาบาลเล็กๆ น้อยๆ หลายครั้ง ทำไมต้องประมาณเอาด้วยล่ะ ทำไมถึงไม่ทดเวลาที่หายไปอย่างจริงจังและให้ความสำคัญกับมัน

กลยุทธการถ่วงเวลาที่ทำให้คุณได้เปรียบคู่ต่อสู้อย่างที่เคยมีมาด้วยเวลาที่ทดกับเวลาที่หายไปจริงๆ ไม่สอดคล้องกันก็จะใช้ไม่ได้อีก

เราเสียเวลาให้กับการถ่วงเวลามามากแล้ว ถ้าไม่ปรับไม่เปลี่ยน มันก็จะอยู่กับเราต่อไปอย่างนั้นฃ

กับฟุตบอลโลกครั้งนี้เป็นการคิดใหม่โดยแท้ ถ่วงเท่าไหร่ทดเท่านั้น.. ไม่โกง หรือคุณอาจจะเจ็บจริงก็ได้ไม่ได้ว่าอะไรสักหน่อย แต่เจ็บเท่าไหร่ก็ทดเท่านั้นไง ไม่ดีหรือ 

มันไม่ใช่เรื่องของการถ่วงเวลาเพียงอย่างเดียวนะครับ แต่มันหมายถึงการทดเวลาที่เสียไปจากจังหวะใหญ่ๆ ที่เกมต้องหยุดด้วย เช่น เจ็บเล่น เจ็บจริง เปลี่ยนตัว บอลตายนานๆ พวกนี้ทดตามจริงหมด (ไม่ได้ทดทุกครั้งที่บอลตายจริงๆ เช่นลูกออกหรือรอเตะฟรีคิก รอเตะมุม เพราะไม่อย่างนั้นคงต้องทดเวลากันประมาณครึ่งชั่วโมง)

พอฟีฟ่านำมาใช้ในฟุตบอลโลกครั้งนี้อย่างเด็ดขาด เราถึงได้รู้ตัวว่าที่ผ่านมาเราถูกเบียดบังเวลาในการดูฟุตบอล 90 นาทีไปมากขนาดไหน

ผมคนหนึ่งล่ะครับที่ยกมือเห็นด้วยกับการทดเวลาของฟุตบอลโลก 2022 มอบตำแหน่งแมนออฟเดอะแมตช์ หรือ Change of the tournament ให้มันไปเลย

พรีเมียร์ลีกอังกฤษอาจจะประกาศว่าพวกเขาจะไม่นำเอาแนวทางนี้ไปใช้ แต่ผมค่อนข้างมั่นใจว่ามันจะเกิดขึ้นแน่ไม่ช้าก็เร็ว เพราะเป็นประโยชน์กับวงการจริงๆ

ที่สำคัญคือเมื่อคุณทดเวลาที่เสียไปตามความเป็นจริงและใช้กฎเกณฑ์นี้เป็นหลัก เมื่อวันเวลาผ่านไปเรื่อยๆ กลยุทธถ่วงเวลาไร้สาระจะค่อยๆ หายไปเอง เพราะถ้าคุณใช้วิธีนี้ตีกินมาตลอดและเมื่อถึงวันหนึ่งรู้ว่า สามนาทีที่นอนกลิ้งไปกลิ้งมาในสนามจะถูกนำไปทดแบบเต็มๆ ในช่วงทดเวลาไม่ใช่ประเมินแบบตีเหมาว่าเอาไปแค่นาทีเดียวก็แล้วกันเพราะเดี๋ยวไปรวมกับเรื่องอื่นๆ มันจะทดนานเกินไปอย่างที่ผ่านๆ มา คุณก็จะเข็ดขยาดและเลิกทำมันไปเอง

คำว่าทดเวลาก็จะกลับมาศักดิ์สิทธิ์ในความหมายของมันจริงๆ

การทดเวลาควรมีให้กับการบาดเจ็บและการเสียเวลาอย่างอื่นที่จำเป็นจริงๆ ไม่ใช่จากเรื่องไม่เป็นเรื่องที่มาเบียดบังเวลาของเกมราวกับกาฝากอย่างกลยุทธถ่วงเวลา

กลิ้งไปเถอะ กลิ้งไปตามสบาย เห็นป้ายทดเวลา 9 นาทีบ้าง 10 นาทีบ้าง 12 นาทีบ้าง 14 นาทีบ้าง เดี๋ยวก็จะเลิกกลิ้งกันไปเอง.. แล้วเวลาที่ควรจะเป็นของเกมฟุตบอล ก็จะกลับมาเป็นของเกมฟุตบอลอีกครั้ง

ตังกุย


ที่มาของภาพ : getty images
BY : ตังกุย
ณัฐพล ดำรงโรจน์วัฒนา
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport