ทฤษฎีปีเสือ...แชมป์ยังไม่เคยซ้ำหน้า

ทฤษฎีปีเสือ...แชมป์ยังไม่เคยซ้ำหน้า
ในเช้าวันที่อาร์เจนติน่าทำให้แฟนๆ โล่งอกด้วยชัยชนะนัดสำคัญเหนือเม็กซิโก เรามาคุยกันเบาๆ ดีกว่าครับ

ฟุตบอลโลกกับทฤษฎีสมคบคิดเป็นของคู่กัน

สังเกตเอาเถิดครับ เวิลด์คัพจะครั้งไหนก็ครั้งนั้นจะต้องมีเรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นเสมอ การจับเอาเรื่องนู้นนี้นั้นมาเชื่อมโยงกันเพื่อโน้มน้าวให้เราเชื่อว่าทีมนี้ทีมไหนจะเป็นแชมป์โลก

ลักษณะคล้ายๆ กับตอนที่ลิเวอร์พูลเข้าชิงแชมเปี้ยนส์ ลีกกับเรอัล มาดริด เมื่อปี 2018 นั่นแหละครับ ทฤษฎีปลิวว่อนและชวนให้เคลิบเคลิ้มไปด้วย ไม่ว่าเรื่องที่มันเป็นปีเดียวกับที่เจ้าชายราชวงศ์วินเซอร์แห่งสหราชอาณาจักรเสกสมรส (1981-2005-2018) เป็นปีเดียวกับที่ไอน์ทรัค แฟร้งค์เฟิร์ต ได้แชมป์เดเอฟเบ โพคาล (1981-2018) เป็นปีเดียวกับที่ลิเวอร์พูลบุกชนะทีมจากโปรตุเกสบนเส้นทางสู่แชมป์ (1978-1984-2018) เป็นปีเดียวกับที่พระสันตะปาปาสิ้นพระชมม์ (1978-2005)

แต่สุดท้าย ซีเนดีน ซีดาน แกเร็ธ เบล และพลพรรคราชันชุดขาวกระทืบทฤษฎีสมคบคิดนั้นจมดินที่เคียฟ

เอาเข้าจริงแล้วผมยังไม่ค่อยเห็นทฤษฎีสมคบคิดไหนเกิดขึ้นจริงหรอกครับ เท่าที่ได้สัมผัสมันก็มีอยู่บ้างเช่นอาถรรพ์ห้องแต่งตัวฝั่งทิศใต้ของมิลเลนเนียม สเตเดี้ยม ที่ทีมซึ่งอยู่ฝั่งนั้นแพ้เรียบวุธ 12 ครั้งติดต่อกันไม่ว่าจะนัดชิงเอฟเอ คัพหรือนัดชิงเพลย์ออฟเลื่อนชั้น ก่อนที่ สโต๊ค ซิตี้ จะทุบอาถรรพ์นั้นได้เมื่อปี 2002

กับฟุตบอลโลกก็เต็มไปด้วยทฤษฎีสมคบคิด เท่าที่สังเกตส่วนใหญ่มาจากฝั่งทีมชาติอังกฤษ แต่คงจะเป็นเพราะเราอยู่ใกล้สื่อเมืองผู้ดีมากกว่าสื่อชาติอื่นๆ เลยได้รับรู้เรื่องราวจากพวกเขามากกว่า เพราะความจริงแล้วแต่ละชาติก็คงจะมีทฤษฎีสมคบคิดเข้าข้างตัวเองกันทั้งนั้น ถ้าจะพยายามหาเหตุผลมารองรับคำตอบที่เราตั้งธงเอาไว้แล้วจริงๆ มันก็ทำได้ไม่ยากหรอก

มันก็สนุกดีเหมือนกันนะครับ ได้เห็นไอเดีย ได้เห็นจินตนาการ ได้ทึ่งกับการจับนั่นมาชนนี่ การชักแม่น้ำทั้งห้ามารองรับเหตุผล หลายครั้งต้องคิดในใจว่า โอ้โห.. มันคิดได้ไงวะเนี่ย 555

หนึ่งในทฤษฎีสมคบคิดฟุตบอลโลกที่ผมรักที่สุดคือเมื่อครั้งฟุตบอลโลก 1998

ก็อังกฤษเจ้าเก่านั่นแหละครับที่ออกแบบทฤษฎีนี้มา เขาเริ่มต้นด้วยการเอาแชมป์โลกของทีมชาติอิตาลีในปี 1982 เป็นตัวตั้ง แล้วก็นับเดินหน้า-ถอยหลังไปทีละสมัย แล้วเราก็จะเห็นภาพชัดเจนว่า แชมป์โลกปี 1998 ถูกกำหนดเอาไว้แล้วว่าเป็นทีมสิงโตคำรามแหงๆ พระเจ้าคงวางเอาไว้อย่างนั้นแน่ เพราะมันบังเอิญเกินไป

  • 1966 อังกฤษ
  • 1970 บราซิล
  • 1974 เยอรมันตะวันตก
  • 1978 อาร์เจนติน่า
  • #1982อิตาลี
  • 1986 อาร์เจนติน่า
  • 1990 เยอรมันตะวันตก
  • 1994 บราซิล
  • 1998 ???

เอาอิตาลี 1982 เป็นตัวตั้ง แชมป์โลกก่อน/หลังจากนั้นหนึ่งสมัยคืออาร์เจนติน่าเหมือนกัน แชมป์โลกก่อน/หลังจากนั้นสองสมัยคือเยอรมันตะวันตกเหมือนกัน แชมป์โลกก่อน/หลังจากนั้นสามสมัยคือบราซิลเหมือนกัน

เพราะฉะนั้น แชมป์โลกก่อนหน้านั้นสี่สมัยคืออังกฤษ แชมป์โลกปี 1998 ที่เป็นฟุตบอลโลกหลังจากปี 1982 สี่สมัยก็ต้องเป็นอังกฤษสิ

ยอมรับตามตรงครับว่าทึ่งและชื่นชมไอเดียคนต้นคิดจริงๆ คำถามเดิมจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง "โอ้โห.. มันคิดได้ยังไงวะเนี่ย" แล้วผมก็จับตาดูอังกฤษเป็นพิเศษเลยเพราะความน่าเชื่อถือของทฤษฎีนี้ล้วนๆ

สุดท้ายทีมสิงโตคำรามถูกอาร์เจนติน่าถีบกระเด็นตกรอบสองฟร้องซ์ 98 (ฮา)

นั่นแหละครับชะตากรรมของทฤษฎีสมคบคิด จะมองว่าสนุกมันก็สนุก จะมองว่าไร้สาระมันก็ไร้สาระ หรือจะมองว่ามันมีเหตุผลก็อาจจะเป็นอย่างนั้น

ฟุตบอลโลกครั้งที่แล้วผมนึกสนุกคิดทฤษฎีสมคบคิดของตัวเองขึ้นมาแบบมั่วๆ

ตั้งชื่อเอาไว้ว่าทฤษฎีปีหมา

ใช่ครับ.. ทฤษฎีปีหมา เพราะเวิลด์คัพ 2018 ฟาดแข้งกันในปีจอ

แชมป์โลกในทฤษฎีสมคบคิดของผมคราวนั้นจะเป็นของบราซิลครับ..

เพราะทุกๆ ปีจอนับถอยหลังจาก 2018 ไป แชมป์โลกจะอยู่ในมือของชาติเพียง 2 ชาติเท่านั้นคือ ไม่ บราซิล ก็ อิตาลี

ไม่น่าเชื่อ.. แต่มันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ

  • ปี 2018 ???
  • ปี 2006 อิตาลี
  • ปี 1994 บราซิล
  • ปี 1982 อิตาลี
  • ปี 1970 บราซิล
  • ปี 1958 บราซิล
  • ปี 1946 (ไม่มีแข่ง)
  • ปี 1934 อิตาลี

มันเหมือนเรื่องบังเอิญนะครับ แต่จะบังเอิญอะไรมาตั้ง 6 รอบกินเวลา 72 ปีนับตั้งแต่ปี 1934 ถึง 2006 ทุกนักษัตรปีจอแชมป์โลกจะเป็นบราซิลหรืออิตาลีเท่านั้นไม่มีชาติอื่นเลย

ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เสียแล้ว มันอาจจะเป็นลิขิตจากสวรรค์หรือความลับแห่งจักรวาลที่ผมค้นพบโดยบังเอิญก็ได้

ว่าแล้วผมก็เลยปั้นทฤษฎีปีจอขึ้นมา ตั้งต้นที่แชมป์โลก 2018 จะเป็นของ บราซิล หรือ อิตาลี ตามดวงสมพงศ์แห่งปีหมา และเมื่ออิตาลีตกรอบคัดเลือกไม่ได้ไปรัสเซียกับเขาด้วยก็ฮั่นแน่.. ทีมเซเลเซาแหงๆ ตามทฤษฎีเป๊ะ

แล้วผมก็เลยจับตามองบราซิลเป็นพิเศษ ทีมแซมบ้าเป็นเต็งหนึ่งตามเคยซะด้วยในศึกรัสเซีย 2018

ผลก็คือเนย์มาร์กับพรรคพวกพาทีมแซมบ้าแหกโค้งโดนเบลเยียมถีบร่วงในรอบ 8 ทีมสุดท้าย ปิดฉากทฤษฎีปีหมาของผมไปอย่างบ้าบอที่สุด (ฮา)

จุดจบของทฤษฎีสมองใสทั้งหลายก็ประมาณนี้แหละครับ ไม่ล้มก็เหลว ไม่เห็นจะเคยได้ผลสักอัน

แล้วกับฟุตบอลโลกคราวนี้ล่ะครับ จะมีทฤษฎีอะไรขึ้นมาให้ลุ้นกันสนุกๆ อีกไหม

ผมมาคิดเล่นๆ ด้วยความที่ยังคงติดใจในทฤษฎีปีนักษัตร มันต้องแก้ตัวได้สิ

ว่าแล้วจากทฤษฎีปีหมาก็มาสู่ทฤษฎีปีเสือ เพราะฟุตบอลโลกครั้งนี้เตะกันในปีขาล

สิ่งที่ค้นพบนั้นก็ทำให้ผมสะท้าน สั่นไปทั้งตัว ขนหัวลุกซู่ (เรื่องโอเวอร์ขอให้บอก)

เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในปีหมากับปีเสือมันตรงข้ามกันเลย ถ้าเปรียบเป็นสีก็เหมือนขาวกับดำ เปรียบเป็นทิศก็เหมือนซ้ายกับขวา เปรียบเป็นสมดุลธรรมชาติก็เหมือนหยินกับหยาง

ทฤษฎีปีหมา แชมป์จะตกอยู่ในมือ บราซิล หรือไม่ก็ อิตาลี เท่านั้น (ก่อนจะมาถูกฝรั่งเศสที่ไม่ดูตาม้าตาหมาอะไรเลยใช้ไม้ตีวิ่งหางจุกตูดไปเรียบร้อย)

แต่ทฤษฎีปีเสือ แชมป์ยังไม่เคยซ้ำหน้ากันเลย

เฮ้ย.. บ้าน่า พูดเป็นเล่น

จริ๊งงง.. ฟุตบอลโลก 7 ครั้งที่ฟาดแข้งกันในปีเสือ แชมป์โลกไม่เคยซ้ำหน้ากันเลย

  • ปี 1938 อิตาลี
  • ปี 1950 อุรุกวัย
  • ปี 1962 บราซิล
  • ปี 1974 เยอรมันตะวันตก
  • ปี 1986 อาร์เจนติน่า
  • ปี 1998 ฝรั่งเศส
  • ปี 2010 สเปน
  • ปี 2022 ???

เจาะลึกลงไปในรายละเอียด ห้าครั้งแรกมีสิ่งที่เหมือนกันอย่างหนึ่งคือทุกครั้งเป็นการคว้าแชมป์โลกสมัยที่สองของทีมนั้นๆ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น อิตาลี 1938, อุรุกวัย 1950, บราซิล 1962, เยอรมันตะวันตก 1974 หรืออาร์เจนติน่า 1986

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1998 ถ้าผมเอาทฤษฎีปีเสือไปใช้ คำตอบมันจะมีเพียงหนึ่งเดียวคืออังกฤษ เพราะทีมสิงโตคำรามเป็นทีมเดียวในเวลานั้นที่มีโอกาสคว้าแชมป์โลกเป็นสมัยที่สอง

มันสอดคล้องกับทฤษฎีสมคบคิดที่เอา อิตาลี 1982 เป็นตัวตั้งของสื่ออังกฤษเลยนะครับ ยิ่งคิดก็ยิ่งขนลุกจริงๆ และแน่นอนว่าผลที่ออกมาก็น่าอับอายพอๆ กัน (ฮา)

แต่ในเมื่อปี 1998 แชมป์โลกกลายเป็นฝรั่งเศสที่เริ่มนับหนึ่ง ทฤษฎีปีเสือคล้ายจะบิดตัวเองเป็นเรื่องของแชมป์โลกทีมใหม่ เพราะมันตามมาด้วยสเปนคว้าแชมป์โลกสมัยแรกในปี 2010

หัวใจของทฤษฎีนี้ยังอยู่ นั่นคือแชมป์โลกในปีเสือไม่เคยซ้ำหน้ากัน แต่กลายพันธุ์เป็นแชมป์โลกหน้าใหม่แทน

หรือบางทีอาจจะผสมรวมกันเลยก็ได้ คือปีเสือเป็นปีที่จะมีแชมป์โลกสมัยที่สอง หรือไม่ก็แชมป์โลกหน้าใหม่

เพราะฉะนั้นกับฟุตบอลโลกครั้งนี้ถ้าเอาทฤษฎีปีเสือมาคำรามโฮกก็จะเห็นภาพแชมป์อยู่หลายทีม

ถ้าอนุรักษ์นิยมหน่อยก็.. อังกฤษ

ถ้าชอบอะไรใหม่ๆ ก็เพียบเลยครับ.. ฮอลแลนด์ เบลเยียม โปรตุเกส โครเอเชีย พร้อมจะเป็นแชมป์โลกทีมใหม่ด้วยกันทั้งนั้น

สำหรับผมผู้ผิดหวังมาจากทฤษฎีปีหมา ไม่อยากให้ทฤษฎีปีเสือเป็นความจริงหรอกครับ (มันก็ไม่ได้สำคัญอะไรขนาดนั้นอยู่แล้วล่ะ)

ผมยังเป็นพวกหัวเก่าอยู่นิดหน่อยและไม่ได้เชียร์อังกฤษ ยังคงอยากให้ทีมจากละตินกลับมาเป็นแชมป์โลกอีกครั้ง

เอ๊ะ.. เหมือนผมจะมองข้ามอะไรบางอย่างไปจากทฤษฎีปีเสือ ลองหยิบมันมาดูอีกทีซิ

  • ปี 1938 อิตาลี ยุโรป
  • ปี 1950 อุรุกวัย ละติน
  • ปี 1962 บราซิล ละติน
  • ปี 1974 เยอรมันตะวันตก ยุโรป
  • ปี 1986 อาร์เจนติน่า ละติน
  • ปี 1998 ฝรั่งเศส ยุโรป
  • ปี 2010 สเปน ยุโรป
  • ปี 2022 ???

ปีเสือ 7 ครั้งที่ผ่านมาแชมป์โลกเป็นของละตินกับยุโรปเท่านั้น และไม่เคยมีทวีปไหนได้สามเสือติดต่อกัน

ลองรวบรวมหลักการของทฤษฎีนี้ดูอีกที

  • แชมป์โลกไม่ซ้ำหน้า เพราะฉะนั้นจะไม่ใช่ อิตาลี อุรุกวัย บราซิล เยอรมัน อาร์เจนติน่า ฝรั่งเศส หรือ สเปน
  • ทีมนั้นจะเป็นแชมป์โลกสมัยที่สอง หรือไม่ก็เป็นแชมป์โลกทีมใหม่
  • ไม่ใช่ยุโรป
  • และต้องเป็นละติน

ขมวดไปขมวดมา อ้าวเฮ้ย.. ไปออกเอกวาดอร์เฉยเลย ยินดีกับ เอนเนร์ วาเลนเซีย และชาวคณะด้วยครับ!

ป.ล. อย่าซีเรียสกันนะครับ ผมแค่เขียนเพลินๆ ต้อนรับวันอาทิตย์ จับนู่นชนนี่ไปเรื่อยแล้วก็ไม่ได้จริงจังว่าเอกวาดอร์จะเป็นแชมป์.. ใครเตะผมล้มน่ะไม่เป็นไร แต่อย่าซ้ำนะ ถ้าซ้ำผมลุกขึ้นมาผงาด (ฮา)

ป.ล.2 อย่างน้อยเอกวาดอร์ก็ยังไม่ตกรอบนะ..

ป.ล.3 ใครมีทฤษฎีสมคบคิดของตัวเองบ้างเอามาอวดกันสนุกๆ หน่อยครับ

ตังกุย


ที่มาของภาพ : gettyimages
BY : ตังกุย
ณัฐพล ดำรงโรจน์วัฒนา
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport