นานสะใจคนดู! ปิแอร์ลุยจิ คอลลิน่า หนึ่งในผู้ผลักดันกฎทดเวลาบาดเจ็บแบบใหม่

นานสะใจคนดู! ปิแอร์ลุยจิ คอลลิน่า หนึ่งในผู้ผลักดันกฎทดเวลาบาดเจ็บแบบใหม่
แค่ช่วง 2 วันแรกของศึก ฟุตบอลโลก 2022 มันก็มีเรื่องที่ให้คนพูดถึงกันหลายเรื่องแล้ว ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการที่มันมีการทดเวลาบาดเจ็บเยอะมากจนทำให้แฟนบอลต้องนั่ง (หรือยืน) เชียร์กันนานกว่าปกติ

เกมที่ อังกฤษ ชนะ อิหร่าน 6-2 นั้น มีการทดเวลาบาดเจ็บในครึ่งแรก 14.08 นาที ส่วนของครึ่งหลังอยู่ที่ 13.08 นาที คิดรวมกันเป็น 27.16 นาที ส่วนเกมที่ ฮอลแลนด์ ทุบ เซเนกัล 2-0 มันมีการทดเวลาบาดเจ็บในครึ่งหลังถึง 10.03 นาที ขณะที่การเสมอกันระหว่าง สหรัฐอเมริกา กับ เวลส์ ก็ต้องทดเวลาบาดเจ็บในครึ่งหลัง 10.34 นาทีด้วยกัน

แน่นอน ที่ผ่านมาอาจจะมีบางเกมที่มีการทดเวลาบาดเจ็บเยอะ อย่างเช่นเกม คาราบาว คัพ เมื่อปี 2019 นัดระหว่าง เบอร์ตัน อัลเบี้ยน กับ บอร์นมัธ ที่มีการทดเวลาบาดเจ็บนานถึง 28 นาทีจากการที่ไฟดับจนต้องหยุดเตะไปพักใหญ่ แต่ที่ผ่านมาอัตราการเกิดเกมแบบนั้นจะมีนานๆ ครั้ง ไม่ได้เกิดถี่ยิบอย่างในศึก ฟุตบอลโลก 2022 

ทั้งนี้ คนสำคัญที่ทำให้เกิดการทดเวลาบาดเจ็บนานถึงหลายนัดในศึก ฟุตบอลโลก 2022 ไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็น ปิแอร์ลุยจิ คอลลิน่า อดีตกรรมการระดับโลกนั่นเอง

แฟนบอลรุ่นใหม่ที่อาจจะไม่คุ้นชื่อของ คอลลิน่า นั้น เราต้องขอเกริ่นก่อนว่านี่คือคนที่เคยได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็น "กรรมการที่ดีที่สุดในโลก" แน่นอนว่ามันมีบางจังหวะที่เขาตัดสินผิดพลาด แต่จังหวะที่เขาตัดสินได้ถูกต้องนั้นมีเยอะกว่ามากจนเรียกได้ว่าคุณภาพโดยรวมในการตัดสินของเขามันสูงระดับเกิน 5 ดาว แถมเขายังเป็นคนที่เข้มงวดและไม่ยอมโอนอ่อนให้กับนักเตะหรือกุนซือคนไหนง่ายๆ ด้วย จนทำให้คนทั้งนับถือและยำเกรงเขา

แม้ว่าจะแขวนนกหวีดไปตั้งแต่ปี 2005 แต่ตัว คอลลิน่า เองก็ยังวนเวียนอยู่ในแวดวงฟุตบอล โดยปัจจุบันเขาเป็นประธานคณะกรรมการของวงการผู้ตัดสินประจำสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) แถมยังมีตำแหน่งอยู่ในบอร์ดบริหารสมาคมฟุตบอลนานาชาติ (ไอเอฟเอบี) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลกฎและข้อบังคับของวงการลูกหนังด้วย

สำหรับตัว คอลลิน่า เองนั้น พยายามที่จะปรับเปลี่ยนกฎการทดเวลาบาดเจ็บตั้งแต่ศึก ฟุตบอลโลก 2018 ที่ประเทศรัสเซียเป็นเจ้าภาพแล้ว และเมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาเขาก็มองว่าช่วงเวลาที่เกมเตะกันในสนามจริงๆ มีเพียงนิดเดียว ส่วนที่เหลือหมดไปกับเรื่องอื่นๆ อย่างเช่นการฉลองประตูที่นานเกินไป, การทุ่ม, การเตะเปิดเกมจากปากประตู หรือการใช้แท็กติกถ่วงเวลา

คอลลิน่า ให้สัมภาษณ์กับ กัลเชียโทรี่ บรูตติ สื่อของอิตาลีเมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า "ในฐานะแฟนบอลแล้วน่ะผมต้องเสียเงินซื้อตั๋วเข้าไปชมเกมในสนาม หรือไม่ก็นั่งดูอยู่หน้าจอทีวีที่บ้าน แต่ผมได้เห็นเกมเล่นกันจริงๆ แค่ 44, 45 หรือ 46 นาทีเท่านั้น ครึ่งหนึ่งของตั๋วที่ผมเสียเงินซื้อมันหมดไปกับเวลาที่ไม่ได้มีการเตะบอลกัน เวลาส่วนใหญ่ที่เสียไปน่ะมันไปอยู่กับลูกทุ่มหรือไม่ก็การเตะจากปากประตู"

"จริงอยู่ว่าเรื่องเหล่านี้เป็นส่วนประกอบหลักของเกมฟุตบอล แต่ใช้เวลาไปกับลูกทุ่มทั้งหมดรวมแล้ว 8-9 นาทีเนี่ยนะ ? ลูกตั้งเตะจากปากประตูกินเวลารวมกัน 8-9 นาทีงั้นเหรอ ? พอคิดได้แบบนั้นเราเลยมานั่งพิจารณากัน ถ้าเราจะให้มันมีความเที่ยงตรงมากขึ้นสักนิดแล้วล่ะก็ เราก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับยุคที่การทดเวลาบาดเจ็บ 9 นาทีจะเป็นเรื่องปกติ ปัจจุบันการทดเวลา 9 นาทีดูเป็นเรื่องที่น่าตกใจ แต่เราจำเป็นต้องทำให้คนที่อยากดูเกมมีโอกาสได้ดูการเล่นจริงๆ มากกว่านี้สักนิด"

ดังนั้น หลังจากหารือกันอย่างละเอียดแล้วนั้น คอลลิน่า และผู้ที่เกี่ยวข้องเลยออกกฎว่าหลังจากนี้ไปมันจะมีการชดเชยเวลาที่เสียไปให้เหมาะสมมากขึ้น นั่นก็คือทุกเหตุการณ์ที่ทำให้เกมหยุดเล่น "จะถูกนำไปนับรวมเป็นช่วงทดเวลาบาดเจ็บทั้งหมดแบบไร้ข้อยกเว้นใดๆ ทั้งนั้น" ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่มีคนได้รับบาดเจ็บ, จังหวะเปลี่ยนตัว, การตั้งใจถ่วงเวลา หรือแม้แต่การฉลองประตู

ทั้งนี้ ในช่วงไม่นานก่อนที่ศึก ฟุตบอลโลก 2022 จะเริ่มขึ้นนั้น คอลลิน่า ก็เคยเกริ่นแล้วว่าให้เตรียมเจอกับเกมที่จะมีการทดเวลาบาดเจ็บแบบนานๆ หลายนัดได้เลย "สิ่งที่เราทำได้ใน รัสเซีย คือการทำให้มันมีการทดเวลาบาดเจ็บอย่างถูกต้องมากกว่าเดิม เราขอบอกกับทุกคนเลยว่าอย่าได้แปลกใจถ้าหากพวกเขาจะเห็นผู้ตัดสินที่ 4 ชูป้ายไฟฟ้าที่บอกว่าจะมีการทดเวลานาน 6, 7 หรือ 8 นาที"

"ถ้าคุณอยากจะให้มันมีการเล่นในสนามมากขึ้น เราก็ต้องเตรียมพร้อมสำหรับการทดเวลาบาดเจ็บนานๆ ลองนึกภาพตามดูนะว่าสมมุติมีเกมหนึ่งมีการทำได้ 3 ประตู ซึ่งปกติแล้วการฉลองน่ะจะกินเวลา 1 นาที ไม่ก็ 1 นาทีครึ่ง นั่นหมายความว่าเมื่อมีการทำ 3 ประตู คุณก็จะเสียเวลาไปถึง 5 หรือ 6 นาทีเลย"

"สิ่งที่เราอยากจะทำคือการทำให้การทดเวลาบาดเจ็บในแต่ละครึ่งมันเป็นไปด้วยความเที่ยงตรง ซึ่งผู้ตัดสินที่ 4 สามารถทำแบบนั้นได้ (หมายถึงคำนวณว่าต้องทดเวลาบาดเจ็บนานเท่าไหร่) เราเคยประสบความสำเร็จอย่างนั้นกับที่ รัสเซีย ไปแล้ว และเราก็คาดหวังว่าที่ กาตาร์ มันจะเป็นแบบนั้นเช่นกัน"

ด้วยเหตุนี้ หลังจากนี้มันเลยน่าจะมีอีกหลายเกมที่จะมีการทดเวลาบาดเจ็บกันเป็นเวลานาน และแฟนๆ ก็อาจจะต้องเตรียมเสบียงมารอมากกว่าที่คิดเพื่อที่จะได้ดูเกมจนจบในแต่ละครึ่งได้โดยไม่ต้องลุกไปหาของกินเพิ่มนั่นเอง


- เด็กเกร็ดบอล -


ที่มาของภาพ : gettyimages
BY : เด็กเกร็ดบอล
เด็กเกร็ดบอล
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport