โพลระบุ"ตะกร้อ-ฟุตบอล"กีฬาคนไทยคาดหวังต้องทองเท่านั้น

โพลระบุ"ตะกร้อ-ฟุตบอล"กีฬาคนไทยคาดหวังต้องทองเท่านั้น
เคบียู สปอร์ต โพล สำรวจคิดเห็นประชาชนไทย เรื่อง "ความหวังและโอกาส กับความสำเร็จของทัพนักกีฬาไทยในกัมพูชาเกมส์" ส่วนใหญ่มองโอกาสคว้าเจ้าเหรียญทองซีเกมส์ ครั้งที่ 32 มีค่อนข้างน้อย มอง ตะกร้อ มีโอกาสคว้าเหรียญทองให้กับทีมกีฬาไทยมากที่สุด รองลงมาคือ วอลเลย์บอล, ฟุตบอล, เทควันโด และกรีฑา ยกฟุตบอล เป็นเหรียญทองแห่งศักดิ์ศรี ที่ต้องคว้ามาครองให้ได้ในการแข่งขันครั้งนี้ รองลงมา คือ เซปักตะกร้อ

จากการที่ทัพนักกีฬาทีมชาติไทยจะเข้าร่วมการแข่งขันมหกรรมกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ระหว่างวันที่ 5-17 พ.ค.66 ที่ประเทศกัมพูชานั้น เพื่อเป็นการสะท้อนมุมมองและสร้างการมีส่วนร่วมของแฟนกีฬาที่มีต่อโอกาสและความสำเร็จของคณะนักกีฬาในกัมพูชาเกมส์ KBU SPORT POLL (เคบียู สปอร์ต โพล) โดยศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ ม.เกษมบัณฑิต จึงสำรวจคิดเห็นเรื่อง "ความหวังและโอกาส กับความสำเร็จของทัพนักกีฬาไทยในกัมพูชาเกมส์" 

สำหรับการสำรวจดังกล่าวดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ระหว่างวันที่ 18-20  เม.ย.66โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชนทั่วไปและผู้ที่สนใจข่าวสารทางการกีฬาซึ่งมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปจำนวน 1,408 คน โดยแบ่งเป็นเพศชาย 815 คน คิดเป็นร้อยละ 57.89 เพศหญิง 593 คน คิดเป็นร้อยละ 42.11 ซึ่งผลการวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆโดยภาพรวมพบว่า

ความสนใจที่จะติดตามการแข่งขัน กลุ่มอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 88.07 สนใจ รองลงมา ร้อยละ 8.63 ยังไม่ตัดสินใจ และร้อยละ 3.30 ไม่สนใจ ด้านความหวังและโอกาสกับการเป็นเจ้าเหรีญทอง ส่วนใหญ่ ร้อยละ 32.81 มองว่ามีโอกาสค่อนข้างน้อย รองลงมา ร้อยละ 27.59  มีโอกาสน้อย ร้อยละ 20.13 ไม่แน่ใจ  ร้อยละ 14.85 มีโอกาสค่อนข้างมาก ร้อยละ3.08 มีโอกาสมาก และร้อยละ1.54 ไม่มีโอกาสเลย 

ส่วนชนิดกีฬาที่เป็นความหวังและมีโอกาสในการสร้างชื่อเสียงให้ประเทศ  ส่วนใหญ่ ร้อยละ 26.94 เซปักตะกร้อ รองลงมา ร้อยละ 24.01 วอลเลย์บอล ร้อยละ 23.88 ฟุตบอล ร้อยละ15.75 เทควันโด ร้อยละ 7.80 กรีฑา และอื่นๆร้อยละ1.62  ด้านเหรียญทองแห่งศักดิ์ศรีที่แฟนกีฬาคาดหวัง ส่วนใหญ่ร้อยละ 33.15 มองว่าต้องได้เหรียญทองฟุตบอล รองลงมา ร้อยละ 31.09 เซปักตะกร้อ ร้อยละ 27.53 วอลเลย์บอล ร้อยละ 5.11 กรีฑา ร้อยละ 2.63 มวยสากล  และอื่น 0.49

ขณะที่ปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของนักกีฬาไทย ส่วนใหญ่ ร้อยละ 28.63 สมรรถนะและความสามารถของนักกีฬา รองลงมา ร้อยละ 24.89 ระยะเวลาในการฝึกซ้อม ร้อยละ 21.50 สมรรถนะของผู้ฝึกสอน ร้อยละ15.33 งบประมาณและการสนับสนุนของผู้เกี่ยวข้อง  ร้อยละ 7.80 การตัดสินที่ยุติธรรม/แรงเชียร์จากแฟนกีฬา  และอื่นๆร้อยละ 1.85

ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ ม.เกษมบัณฑิต กล่าวเพิ่มเติมว่าจากผลการสำรวจดังกล่าวจะเห็นได้ว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ตื่นตัวและให้ความสนใจต่อการติดการการแข่งขันในระดับที่สูงมาก ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่ากีฬาซีเกมส์เป็นมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ของภูมิภาคอาเชียนที่คนไทยติดตามมาอย่างต่อเนื่อง และหากพิจารณาในมุมมองต่างๆจะพบว่าแฟนกีฬาต้องการเห็นนักกีฬาทีมชาติไทยมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จและนำความสุขมาสู่ชาวไทยทั้งประเทศ

เหนืออื่นใดในการแข่งขันครั้งนี้แฟนกีฬาที่ติดตามข่าวสารคงจะเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่าทัพนักกีฬาไทยคงจะยากกับการมีความหวังหรือโอกาสในการเป็นเจ้าเหรียญทอง แต่อย่างไรก็ตามหากมองในมิติของเหรียญทองแห่งศักดิ์ศรีของประเทศแฟนกีฬาต่างเทไปที่กีฬาฟุตบอล และเซปักตะกร้อเป็นหลักและที่น่าสนใจชนิดกีฬาที่มีความหวังและโอกาสในการสร้างชื่อให้ประเทศสำหรับการเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่กีฬาสากลเป็นหลัก ซึ่งกรณีนี้คงสอดคล้องกับการวิเคราะห์ของการกีฬาแห่งประเทศไทยก่อนที่เกมการแข่งขันจะเริ่มขึ้น


ที่มาของภาพ : -
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport