"นันท์นภัส โกละ" จากนักปิงปองเยาวชนสู่โค้ชพาราทีมชาติไทย

"นันท์นภัส โกละ" จากนักปิงปองเยาวชนสู่โค้ชพาราทีมชาติไทย
ระบบวงจรของชีวิตนักกีฬานั้น ส่วนใหญ่จะเริ่มต้นการเป็นนักกีฬาตั้งแต่สมัยเป็นเยาวชน ตั้งแต่เล็กแต่น้อย หากมีความสามารถสูงก็อาจจะได้ไปอยู่ในกลุ่มของนักกีฬาเยาวชนทีมชาติ หรือหากโดดเด่นถึงขนาดเทียบเคียงรุ่นใหญ่ ก็อาจจะได้ไปติดธงทีมชาติไทยชุดใหญ่โดยปริยาย

ในอีกมุมหนึ่ง หากนักกีฬาที่ไม่สามารถไปถึงระดับทีมชาติชุดใหญ่ได้และอายุอานามเลยระดับเยาวชนแล้ว ต้องบอกว่าอัตราส่วนมีมากกว่าคนที่ติดทีมชาติแน่นอนนั้น ก็จะหารายการเล่นได้น้อยลง ยิ่งหากชนิดกีฬานั้นๆ ไม่ได้มีระบบแข่งขันระดับลีกอาชีพ หรือรายการแข่งขันรองรับได้มากที่ควร ก็แทบจะเรียกได้ว่านักกีฬาชนิดนั้นๆ แทบจะไม่ได้มีอนาคตกับเส้นทางสายกีฬาที่พวกเขารักไปเลยก็ว่าได้

"เทเบิลเทนนิส" หรือ "ปิงปอง" เป็น 1 ในกลุ่มชนิดกีฬาดังกล่าวที่ไม่ได้มีลีกอาชีพที่แข็งแรง นักกีฬาที่หลุดรุ่นเยาวชนแล้วไม่สามารถทะยานขึ้นทีมชาติไทยได้ จำเป็นเหลือเกินที่จะต้องหาอาชีพรองรับ เพราะการติดทีมชาติไทยแม้เพียงปีเดียวหรือครั้งเดียวในชีวิต ก็สามารถที่จะทำให้นักกีฬาคนนั้นหาช่องทางในการมีเครดิตไปขอเข้ารับราชการสายต่างๆ ได้แล้ว ทางออกของนักกีฬาปิงปองกลุ่มนี้ที่เป็นอัตราส่วนใหญ่ในประเทศไทยนั้น ถ้าไม่ได้หันไปทางการเรียนเข้าระบบเด็กไทยปกติ หรือมีธุรกิจส่วนตัว ก็มักจะผันตัวเองไปเป็น "โค้ชสอนปิงปอง"

"ตอง" นันท์นภัส โกละ นักเทเบิลเทนนิสสาวไทยดีกรีแชมป์หญิงเดี่ยวเยาวชนอาเซียน ปี 2017 ที่ประเทศสิงคโปร์ เป็นนักปิงปองไทยคนล่าสุดที่ตัดสินใจเลือกเส้นทางนี้ไปเป็นที่เรียบร้อย ทั้งที่วัยของเจ้าตัวยังเพียงแค่ 22 เท่านั้น และเจ้าตัวก็เพิ่งมีผลงานในฐานะนักกีฬาที่ยอดเยี่ยมหลังคว้า 2 เหรียญทองกีฬาแห่งชาติในประเภททีมหญิงและหญิงคู่ให้กับต้นสังกัดกรุงเทพมหานครได้ 2 สมัยติดต่อกัน ปี 2566 และ 2567

นันท์นภัส โกละ เริ่มฉายแววแจ้งเกิดในวงการเทเบิลเทนนิสไทยตั้งแต่วัยเพียง 9 ขวบ "หนูน้อยตอง" ได้แชมป์แรกในชีวิตกับรายการกีฬากรมพลศึกษา รุ่นอายุไม่เกิน 10 ปี จากนั้นก็สามารถไปคัดเลือกผ่านเป็นตัวแทนนักกีฬาเทเบิลเทนนิสรุ่นโฮปส์ (ไม่เกิน 12 ปี) ของประเทศไทย และผ่านการคัดเลือกในการเข้าแคมป์และทดสอบในระดับเอเชียก่อนจะได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปเข้าร่วมรายการ "เทเบิลเทนนิส เวิลด์ โฮปส์ 2011" ที่ประเทศออสเตรีย ซึ่งรายการนั้น “หนูน้อยตอง” จบอันดับที่ 3 ของโลก และในปีต่อมา “ตอง” ก็ยังแสดงศักยภาพคัดผ่านไปถึงรอบเวิลด์โฮปส์อีกสมัยแม้บั้นปลายจะไม่ถึงตำแหน่งแชมป์ก็ตาม โดยในปี 2012 นั้น ตองได้ไปเข้าร่วมที่ประเทศแคนาดา

ในช่วงอายุ 13-15 เป็นช่วงที่ "ตอง" ฟอร์มพีคมากๆ ไม่ว่าจะคัดอะไรหรือแข่งรายการไหนๆ ในเวทีรุ่นอายุช่วงนี้เจ้าตัวก็แทบจะได้แชมป์หมด และไปไกลถึงแชมป์หญิงเดี่ยว 15 ปีอาเซียนอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งเจ้าตัวเผยว่า ที่เริ่มเล่นปิงปองตอนแรกเพราะคุณพ่อที่เป็นอดีตนักปิงปองระดับจังหวัดของสุราษฎร์ธานีให้ลองหัดเล่น แล้วในช่วงแรกเราก็ไม่ได้เป็นแชมป์อะไรแต่เหมือนโค้ชหลายๆ คนเห็นเราดูเป็นใจสู้ ก็เลยมีคนติดต่อมาให้ย้ายมาเล่นจริงจังที่กรุงเทพฯ ซึ่งก็คือ "โค้ชกุ้ง" ธิดาพร วงศ์บุญ โค้ชคนแรกของตน

"เอาจริงๆ ช่วงนั้นหนูก็ไม่ได้อยากย้าย แต่ก็ทำทุกอย่างตามที่คุณพ่อแนะนำ แต่พอได้รางวัลจากรายการต่างๆ บ่อยๆ เข้าตัวเองก็เริ่มมีเป้าหมายในการเล่นกีฬาชนิดนี้ รวมถึงการได้เดินทางไปเที่ยวตามต่างจังหวัดและต่างประเทศด้วย มันก็เลยเริ่มทำให้เราชอบปิงปองมากขึ้นเรื่อยๆ" นันท์นภัส กล่าว

ลูกเด้งสาวไทยเผยว่า ในช่วงอายุได้ 16-17 มีอารมณ์ท้อเกิดขึ้น เป็นมากถึงขนาดคิดอยากเลิก ประมาณว่าพอขึ้นมาเล่นในรุ่นอายุไม่เกิน 18 แพ้บ่อย เพราะเริ่มต้องเจอกับรุ่นพี่เยาวชนทีมชาติ รวมทั้งเวลานั้นเป็นอารมณ์ช่วงวัยรุ่นด้วย ติดเพื่อนด้วย แต่ตอนนั้นโชคดีหลังจากที่ย้ายมาจาก "โค้ชกุ้ง" มาอยู่กับ "พี่บอล" อิสระ เมืองสุข และ "พี่น้อง" อนิศรา เมืองสุข พี่น้องอดีตทีมชาติไทยชื่อดัง พี่ๆ ทั้ง 2 ก็เหมือนช่วยดึงสติเรากลับมา

ในช่วงวัย 16-18 ตอง อาจจะไม่ได้เป็นที่พูดถึงถึงผลงานเหมือนช่วงม.ต้น แต่ระดับฝีมือของเจ้าตัวก็จะแตะอยู่ในแรงค์ต้นๆ ของประเทศไทยเสมอ จากนั้นหลังช่วงอายุ 18 ตอง ได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยธนบุรี แล้วก็ได้รับการประสานติดต่อให้ไปเล่นลีกอาชีพต่างประเทศครั้งแรกในชีวิตที่ประเทศสเปน เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยเป็นทีมในลีก 2 ที่มีชื่อว่า "อามิเรส" ซึ่งระบบแข่งขันจะเป็นการพบกับคน 17 คน และเจ้าตัวก็ทำผลงานดีมากด้วยการเอาชนะได้ถึง 16 คน แต่ด้วยระยะเวลาที่ไปได้แค่ 3 เดือนจึงกลับมาใช้ชีวิตที่ไทย

ประเด็นก็คือ เมื่อ "ตอง" อายุเกินรุ่นเยาวชนแล้วไม่สามารถคัดติดทีมชาติชุดใหญ่ "ตอง" จึงสามารถเล่นได้เพียงรุ่นประชาชนที่มีคู่แข่งระดับประเทศรวมถึงนักกีฬาทีมชาติบางคนเข้าร่วมท้าทายแชมป์ ปัญหาที่ตามมาก็คือรายได้ที่หายไป

วันหนึ่ง "ตอง" นึกถึงเรื่องการเป็น "โค้ช" ขึ้นมา เพราะอย่างน้อยก็ยังใกล้ชิดกับกีฬาที่ตนเองรัก จึงเปิดสมัครรับสอนเด็ก โดยช่วงแรก "ตอง" รับสอนพาร์ทไทม์ให้กับกลุ่มเด็กน้อยอายุ 5-6 ขวบ กลุ่ม 7-8 คน สัปดาห์ละ 2 วัน ก่อนที่ช่วงหลังจะเป็นการรับสอนคนโตขึ้นมา มีทุกรุ่นอายุแบบตัวต่อตัว วันละ 2 ชั่วโมง นั่นทำให้ปัจจุบัน "ตอง" นันท์นภัส โกละ เป็นโค้ชรับสอนปิงปองเต็มตัว จึงไม่ได้กลับไปถึงสโมสรอามิเรสอีกแม้ฝั่งนั้นเขาจะติดต่อมา เพราะด้วยเม็ดเงินที่ตองหาได้ทุกวันนี้แทบจะมากกว่าค่าจ้างจากสโมสรลีก 2 ของสเปนเสียด้วยซ้ำ

"การเป็นโค้ชทุกวันนี้มันทำให้หนูได้เปลี่ยนมุมมอง เพราะตอนเป็นนักกีฬาเรามีหน้าที่แค่ซ้อมกับแข่ง แต่พอมาเป็นโค้ชเราแทบจะเปลี่ยนมายด์เซ็ต เข้าใจมุมมองของโค้ชมากขึ้น เพราะหน้าที่ของโค้ชนั้นต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น เอาใจใส่นักเรียน ซึ่งตอนนี้หนูก็กำลังไปได้ดีกับบทบาทใหม่ค่ะ มีโอกาสได้ไปโค้ชข้างสนามให้กับนักกีฬาที่ต่างประเทศอย่างฟิลิปปินส์และมาเลเซียมาแล้วด้วย ส่วนการแข่งขันของตัวเองตอนนี้หลักๆ ก็จะเป็นกีฬามหาวิทยาลัย, กีฬาแห่งชาติ, แมตช์ออลไทยแลนด์ หรือชิงแชมป์ประเทศไทย หากเวลาเราได้ก็จะไปแข่งค่ะ" สาวตองกล่าว

ทว่าล่าสุด "ตอง-นันท์นภัส" กำลังกระโดดก้าวไปอีกระดับสำหรับเส้นทางอาชีพใหม่ในการเป็นโค้ช ซึ่งเรื่องได้เริ่มจากการที่ทีมเทเบิลเทนนิสคนพิการไทยภายใต้การดูแลของสมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ต้องหาสถานที่ฝึกซ้อมแห่งใหม่หลังจากที่ไปใช้ศูนย์ฝึกกีฬาในร่ม การกีฬาแห่งประเทศไทย อยู่นานหลายปี แล้วทางทัพปิงปองพาราไทยก็ได้มีคอนแท็คกับทางทีมเทเบิลเทนนิสสังกัดมหาวิทยาลัยธนบุรีที่ "ตอง" สังกัดและซ้อมอยู่ จึงได้มาซ้อมอยู่ร่วมกัน และทางทีมปิงปองพาราไทยกำลังต้องการโค้ชผู้หญิงเพิ่ม ซึ่งตองก็เปิดสอนโค้ชอยู่แล้ว จึงได้ตกลงที่จะช่วยสอนทัพเทเบิลเทนนิสพาราไทยและได้ไปเป็นโค้ชคุมนักกีฬาแข่งข้างสนามในรายการต่างๆ แล้วด้วย

เมื่อถามถึงเป้าหมายชีวิตของ นันท์นภัส โกละ เวลานี้นั้น เจ้าตัวตอบว่า เป้าหมายชีวิตตอนนี้คงอยากจะตั้งใจสอนนักกีฬาให้ดีที่สุดเพราะด้วยปีหน้าจะมีการแข่งขันอาเซียนพาราเกมส์ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพด้วย ความรู้สึกของตนทุกวันนี้เวลาที่เราเห็นพี่ๆ เขาที่ร่างกายไม่สมบูรณ์เหมือนเรา แต่เขาตั้งใจซ้อมเต็มที่มากๆ ตรงนี้มันช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เราด้วย ให้เราสู้เวลาที่เราท้อ รวมทั้งตอนที่เราเองแข่งด้วย

"ถ้าถามว่าชอบบทบาทไหนมากกว่าก็คงต้องบอกว่าชอบเป็นนักกีฬาค่ะ เพราะเราไม่ต้องรับผิดชอบใคร สู้ในกีฬาที่เรารักด้วยตัวเอง แต่เป็นคนโค้ชหนูก็ชอบมาก เพราะมันเป็นกีฬาที่หนูรักด้วยน่ะค่ะ สำหรับหนูแล้ว เสน่ห์ของกีฬาปิงปองคงจะเป็นเรื่องของความเร็วของลูกปิงปอง ได้ขยับตัวตลอดเวลาและได้ฝึกสมาธิ ส่วนเสน่ห์ของการเป็นโค้ช หนูว่า หนูชอบเห็นคนอื่นมีความสุข เวลาเห็นเด็กหรือคนที่ตัวเองสอนแข่งชนะ เมื่อเขาดีใจ แต่เรารู้สึกว่าเราดีใจกว่า กลับกัน เวลาเขาผิดหวัง แต่เราก็รู้สึกเสียใจกว่าด้วยค่ะ" นักปิงปองสาวกล่าวด้วยรอยยิ้ม

ประวัติส่วนตัว

ชื่อ : นันท์นภัส โกละ (นักเทเบิลเทนนิสและโค้ชเทเบิลเทนนิสคนพิการ)

ชื่อเล่น : ตอง อายุ : 22 ปี

เกิด : 21 มกราคม 2545

น้ำหนัก : 58 กก. 

สูง : 156 ซม.

ภูมิลำเนา : จังหวัดสุราษฎร์ธาน

การศึกษา : ปริญญาตรี สาขาการจัดการ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยธนบุรี

โค้ชคนแรก : "โค้ชกุ้ง" ธิดาพร วงศ์บุญ

ผลงาน : เหรียญทองทีมหญิงและหญิงคู่ มหาวิทยาลัยอาเซียน ปี 2022 ที่จ.อุบลราชธานี, เหรียญทองหญิงเดี่ยวรุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี เทเบิลเทนนิสเยาวชนชิงแชมป์อาเซียน 2017 ที่ประเทศสิงคโปร์, เหรียญทองทีมหญิงและหญิงคู่ กีฬาแห่งชาติ ปี 2566 ที่จ.กาญจนบุรี และ ปี 2567 ที่ จ.จันทบุรี


ที่มาของภาพ : -
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport