นับว่าเป็นผลงานที่ยอดเยี่ยมในแบบเหนือความคาดหมายเลยก็ว่าได้ สำหรับผลงานของทัพนักเตะโต๊ะโค้งทีมชาติไทย กับวีรกรรมคว้าถึง 4 แชมป์และอีก 1 เหรียญทองแดง ในศึกเทคบอลชิงแชมป์โลก 2024 ที่นครโฮจิมินห์ซิตี้ ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 4-8 ธันวาคม 67 ที่ผ่านมา
สำหรับผลงานชิ้นโบว์ดังกล่าว ทีมเทคบอลไทยได้ 4 เหรียญทองจาก “หยก” จุฑาทิพย์ กันทะธง จากประเภทเดี่ยวหญิง ซึ่งรอบชิง สามารถล้างแค้น ราฟาเอลล่า ฟอนเตส จิเมเนส จากบราซิลไปอย่างระทึก 2-1 เซต 10-12, 12-10 และ 12-9
ตามด้วย “หยก” จุฑาทิพย์ กันทะธง กับ “นิด” สุภาวดี วงศ์คำจันทร์ จากประเภทคู่หญิง หลังรอบชิง เอาชนะคู่เต็งจากฮังการีอย่าง เปตรา เพชี่ กับ คริสติน่า เอซ 2-0 เซต 12-9 ทั้งสองเซต ซึ่งนับว่าเป็นการป้องกันแชมป์ได้อีกด้วย
จากนั้น “สอ” สรศักดิ์ เทาศิริ กับ “ตุ้ม” จีรติ จันทร์เลียง ก็สามารถคว้าแชมป์โลกในประเภทคู่ชายได้อย่างสะใจ แม้ว่าจะทั้งคู่จะเพิ่งลงแข่งในศึกชิงแชมป์โลกเป็นหนแรกก็ตาม จากการเฉือน อาเดรียน ดุสเซก กับ มาเร็ก ปอกวาบป คู่ตัวเต็งจากโปแลนด์ไปอย่างฉิวเฉียด 2-1 เซต 12-10, 9-12 และ 12-9 แถมยังเป็นแชมป์โลกสมัยแรกของทั้งคู่อีกด้วย
ปิดท้ายด้วยผลงานของ “ต้น ราชนาวี” พักตร์พงษ์ เดชเจริญ กับ “นิด” สุภาวดี วงศ์คำจันทร์ ที่สามารถป้องกันแชมป์โลกได้อย่างสวยงาม หลังสยบคู่เต็งแชมป์อีกคู่อย่าง บาลัซซ์ คัตซ์ กับ คริสติน่า เอซ จากฮังการีไปได้ 2-1 เซต 10-12, 12-4 และ 12-10
ด้านประเภทเดี่ยวชายแม้ “เก่ง บ้านบะขาม” บุญคุ้ม ทิพย์วงศ์ จะไปไม่ถึงตำแหน่งแชมป์ เนื่องจากในรอบรองชนะเลิศ ต้านทานเทพเทคบอลตัวจริงอย่าง อาปอร์ โยกีเดก อันดับ 1 ของโลกจากโรมาเนียไม่ไหว แต่ก็คว้าเหรียญทองแดงมาครอง
เท่ากับว่าในศึกชิงแชมป์โลกหนนี้ ทัพเทคบอลไทยมีเหรียญติดไม้ติดมือกลับสู่มาตุภูมิทุกคน โดยที่ไม่มีคนใด ต้องกลับบ้านมือเปล่า
จากวีรกรรมการคว้าแชมป์ถึง 4 ประเภท และเหรียญทองแดงอีก 1 อีเวนต์ ของทัพนักเตะโต๊ะโค้งไทย เชื่อว่าได้สร้างเซอร์ไพรส์ให้กับคนในวงการเทคบอลโลกได้ไม่น้อย
เพราะเอาเขาจริง ไทยเพิ่งเล่นกีฬาชนิดนี้ได้เพียง 4-5 ปีเท่านั้น โดยสมาคมกีฬาเทคบอลแห่งประเทศไทย เพิ่งก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2563 หรือเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมานี้เอง แต่เพราะเหตุใด ถึงได้ผงาดขึ้นมาเป็นเจ้าเทคบอลโลก ได้เร็วถึงเพียงนี้
แรกเริ่มเดิมที ตอนเทคบอลเข้ามาสู่แดนสยามช่วงแรกๆ สมาคมกีฬาตะกร้อแห่งประเทศไทย ได้เป็นผู้ดูแล เนื่องจากทักษะการเล่นตะกร้อกับเทคบอลไม่ต่างกันมาก สามารถนำชั้นเชิงการเตะลูกพลาสติก มาประยุกต์ใช้ในเกมเตะโต๊ะโค้งได้
จากนั้นเมื่อสมาคมกีฬาเทคบอลแห่งประเทศไทยได้ถือกำเนิดขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 เป็นต้นมา โดยมี พล.อ.รณชัย มัญชุสุนทรกุล เป็นนายกสมาคมคนแรก ได้มีการแต้งตั้ง “โค้ชโจ้” สมศักดิ์ ดวงเมือง และ “โค้ชอ๊อด” วีระชัย แสงสว่าง ขึ้นมาเป็นผู้ฝึกสอน
ด้วยการที่กีฬาชนิดนี้ ยังใหม่สำหรับคนไทย จึงทำให้โค้ชทั้งสอง ต้องทำงานหนักเป็นพิเศษ กับการจับนักตะกร้อ มาปรับตัวเล่นเทคบอล
หลายคนอาจจะมองว่าไม่ยากมาก แต่หารู้ไม่ว่า การนำนักตะกร้อ ที่ชินกับการเล่นคอร์ตขนาดใหญ่(13.40 ม. X 6.10 เมตร) มาเตะลงบนโต๊ะโค้งขนาดเล็ก(3 ม. X 1.7 ม.) มันเป็นอะไรที่ยากสุดๆ เพราะหากเตะแรงบอล บอลก็จะออก แต่หากเตะเบาไป บอลก็ไม่ข้ามเน็ต เรียกได้ว่ากว่าจะปรับตัวได้ต้องใช้เวลานานหลายเดือน
เมื่อทุกอย่างลงตัว “โค้ชโจ้” และ “โค้ชอ๊อด” ได้ส่งไม้ต่อให้กับ “โค้ชโอ๊ต” เรวัต ผาบชมภู กับ “โค้ชแนน” ศิรินภา พรหนองแสน เข้ามาสานต่อ
จากการที่นำนักตะกร้อมาเตะเทคบอล จึงทำให้นักกีฬาแต่ละคนนำทักษะการฟาดเข้ามาประยุกต์ใช้ไปด้วย ก่อนที่ลูกฟาดนี่แหละ ที่จะกลายเป็นท่าไม้ตาย นำเทคบอลไทย ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว บนเวทีโลก
ในศึกชิงแชมป์โลก 2023 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เราได้แชมป์โลกมา 2 ประเภทจาก คู่หญิง(จุฑาทิพย์ กันทะธง กับ สุภาวดี วงศ์คำจันทร์) และ คู่ผสม(พักตร์พงษ์ เดชเจริญ กับ สุภาวดี วงศ์คำจันทร์) พร้อมกับได้อีก 1 เหรียญเงินจากเดี่ยวหญิง (จุฑาทิพย์ กันทะธง) และอีก 1 เหรียญทองแดงจากคู่ชาย (บุญคุ้ม ทิพย์วงศ์ กับ พักตร์พงษ์ เดชเจริญ)
พอมาในศึกชิงแชมป์โลก 2024 ที่เพิ่งปิดฉากลงไป เราทำผลงานได้ดีขึ้น จนคว้าแชมป์โลกถึง 4 ประเภท และอันดับ 3 อีก 1 ประเภท อย่างที่ได้กล่าวไปในย่อหน้าแรกๆ มันทำให้ทุกชาติได้เห็นแล้วว่า ทีมเทคบอลไทยร้ายกาจเพียงใด
ที่ผ่านมา มีหลายชาติ พยายามแก้ทางลูกฟาด ไม่ว่าจะเป็นการเสิร์ฟตัดเกมรุก เพื่อไม่ให้ไทยตั้ง ชง และฟาดได้ รวมไปถึงการถอยไปอยู่แดนหลังเกือบติดป้ายโฆษณา เพื่อรับมือกับลูกฟาดอันทรงพลัง แต่ก็ยังทำไม่สำเร็จ
เชื่อว่าหลังจากนี้ ทัพเทคบอลจากชาติอื่น คงจะกลับไปทำการบ้านมากขึ้น เพื่อหาวิธีแก้ทางลูกฟาดของเราให้ได้
อีกทั้ง พวกเขาก็คงมีความคิดที่จะหัดฟาดให้เป็นด้วย เพราะหากปล่อยให้นักเทคบอลไทยขึ้นฟาดเพียงชาติเดียวแบบนี้ คงไม่มีทางต่อกรกับทีมไทยได้อย่างแน่นอน
ขอบคุณภาพ : ฝ่ายพัฒนากีฬาเป็นเลิศ Elite Sports Development Department