เคบียู สปอร์ต โพล เผยประชาชน ส่วนใหญ่คาดหวังที่จะเห็นกีฬาแห่งชาติได้รับการพัฒนาและยกระดับไปสู่มาตรฐานสากล และเปิดพื้นที่ในการสร้างนักกีฬาเพื่อรับใช้ประเทศในอนาคต
จากการที่จังหวัดจันทบุรี จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ (จันท์เกมส์) ครั้งที่ 49 ระหว่างวันที่ 9 -19 ธ.ค. 2567 นั้น เพื่อเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมและสะท้อนมุมมองของประชาชนในมิติที่เกี่ยวกับการจัดการแข่งขัน KBU SPORT POLL โดยศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตร่วมกับสถาบันการจัดการกีฬาเพื่อองค์กรกีฬา (WISDOM) จึงสำรวจความคิดเห็นเรื่อง "มหกรรมกีฬาแห่งชาติกับมิติการพัฒนาและความคาดหวัง"
สำหรับการสำรวจดังกล่าวดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ระหว่างวันที่ 21-23 พ.ย. 2567 โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ที่สนใจกีฬาและประชาชนทั่วไปจำนวน 1,132 คน แบ่งเป็นเพศชายจำนวน 631 คน คิดเป็นร้อยละ 55.75 เพศหญิง จำนวน 478 คน คิดเป็นร้อยละ 42.22 LTBGTQIA+ จำนวน 23 คน คิดเป็นร้อยละ 2.03 ซึ่งผลการวิเคราะห์ในภาพรวมพบว่า
การรับทราบการจัดการแข่งขันกีฬาแห่งชาติครั้งที่ 49 (จันท์เกมส์) ส่วนใหญ่ร้อยละ 37.09 ไม่ทราบ รองลงมาร้อยละ 32.67 ไม่ได้ติดตาม และร้อยละ 30.24 ทราบ ส่วนความสนใจที่จะติดตามการแข่งขัน ส่วนใหญ่ร้อยละ 37.20 สนใจ รองลงมาร้อยละ 35.86 ยังไม่ได้ตัดสินใจ และร้อยละ 26.94 ไม่สนใจ
ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความสนใจในการติดตามการแข่งขัน ส่วนใหญ่ร้อยละ 26.32 เป็นมหกรรมกีฬาสำคัญระดับประเทศ รองลงมาร้อยละ 24.38 มีโอกาสได้ติดตามผลงานนักกีฬาในจังหวัดตนเอง, ร้อยละ 21.93 มีโอกาสได้ติดตามพัฒนาการของนักกีฬาในจังหวัดต่างๆ, ร้อยละ 19.40 มีโอกาสได้ติดตามพัฒนาการของการจัดการแข่งขัน, ร้อยละ 6.10 ทุก 2 ปีจะมีโอกาสได้ติดตามชมและเชียร์ และอื่นๆร้อยละ 1.87
ความคาดหวังที่มีต่อการพัฒนาและยกระดับการจัดการแข่งขัน ส่วนใหญ่ร้อยละ 21.75 คาดหวังให้มีการยกระดับการจัดการแข่งขันสู่มาตรฐานสากล รองลงมาร้อยละ 19.30 คาดหวังให้เป็นพื้นที่ในการสร้างนักกีฬาเพื่อรับใช้ประเทศ, ร้อยละ 17.80 คาดหวังให้มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวและสร้างรายได้ในพื้นที่, ร้อยละ 13.53 คาดหวังให้เกิดแรงจูงใจสำหรับการเล่นกีฬาและออกกำลังกายของประชาชน, ร้อยละ 12.42 คาดหวังให้การจัดการแข่งขันคุ้มค่ากับงบประมาณ, ร้อยละ 11.35 คาดหวังให้มีการเตรียมความพร้อมด้านสถานที่จัดการแข่งขันและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และอื่นๆร้อยละ 3.85
ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลการสำรวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าถึงแม้การแข่งขันกีฬาแห่งชาติจะเป็นหนึ่งในมหกรรมที่สำคัญของประเทศก็ตามแต่เมื่อพิจารณาถึงการรับทราบในการจัดการแข่งขันในครั้งนี้พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยังไม่ทราบ และที่น่าสนใจประเด็นหลักๆที่ประชากรกลุ่มตัวอย่างมีความคาดหวังต่อการจัดการแข่งขันในครั้งนี้ส่วนใหญ่คาดหวังที่จะให้มหกรรมกีฬาแห่งชาติได้รับการพัฒนาและยกระดับไปสู่มาตรฐานสากล และเหนืออื่นใดซึ่งถือว่าเป็นหัวใจหลักของการจัดการแข่งขันที่สำคัญคือการเปิดพื้นที่ในการสร้างนักกีฬาเพื่อรับใช้ประเทศในอนาคต
เพื่อให้มหกรรมกีฬาแห่งชาติเป็นเกมการแข่งขันที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่สนใจของประชาชนและแฟนกีฬาทั่วประเทศการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ในฐานะเจ้าของเกมและจังหวัดที่จะเป็นเจ้าภาพในครั้งต่อไปควรจะมีการถอดบทเรียนหรือนำฐานข้อมูลการสำรวจไปใช้ประกอบในการจัดการแข่งขันครั้งต่อไปก็จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและยกระดับวงการกีฬาไทยให้เจริญรุดหน้าเเท่าเทียมกับนานาชาติที่ประสบความสำเร็จมาก่อนหน้านี้