ถึงแม้จะไม่ใช่ทีมชาติ แต่การที่แชมป์ประเทศไทยปีล่าสุด อย่างทัพหวายทหารอากาศ พ่าย 3 นัดติด ไล่ตั้งแต่แพ้ (เจ้าภาพ) เซลังงอร์ พิสตันส์ (อันดับ 3 ลีกมาเลเซีย) 0-2 เซต ตามด้วยแพ้ เปรัก ไบสัน (รองแชมป์ลีกมาเลเซีย) 1-2 เซต และแพ้ อินเดีย ไฟเตอร์ส (ตัวแทนจากอินเดีย) 1-2 เซต ตกรอบแรกแบบหมดสภาพ
ในศึกตะกร้อเอสทีแอลแชมเปี้ยนคัพ 2024 ที่รัฐเซลังงอร์ ประเทศมาเลเซีย นับว่าสร้างความตกตะลึงให้กับสาวกตะกร้อชาวไทยได้ไม่น้อย เพราะผู้เล่นที่ขนไปทำศึก มีรายชื่อนักกีฬาที่อยู่ในแคมป์ทีมชาติครั้งล่าสุดถึง 4 คนด้วยกัน อันประกอบด้วย "ซ้ายสั่งตาย" ศิริวัฒน์ สาขา แบ๊กจอมเก๋าที่ติดทีมชาติหลายสมัย, "ต้น" วิชาญ เต็มโคตร ตัวชงดีกรีเหรียญทองเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 ในประเภททีมชุดชาย, "เซียงแปดสูบ" พิเชษฐ์ พันแสน ตัดฟาดเท้าหนักดีกรี 2 เหรียญทองเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 ทั้งประเภททีมเดี่ยวและทีมชุดชาย และ "ภู" ภูตะวัน โสภา ตัวฟาดรูปร่างสูงยาว ดีกรีเหรียญทองทีมชุดชายในกีฬาซีเกมส์ 2 ครั้งหลังสุด โดยมี "กาย" ณิชกุล สีหะไกร ในตำแหน่งตัวเสิร์ฟเพียงคนเดียว ที่ไม่ได้อยู่ในแคมป์ทีมชาติ
การมีขุมกำลังที่อยู่ในแคมป์ทีมชาติ เดินทางไปทำศึกถึง 4 คน (จากนักกีฬาทั้งหมด 5 คน) กล่าวได้ว่า สามารถหวังถึงแชมป์ได้เลย แม้จะไปเล่นในถิ่นเสือเหลืองก็ตาม
ความพ่ายแพ้ 3 นัดติด ปราชัยแม้กระทั่งทีมจากประเทศอินเดีย ที่เป็นลูกไล่ไทยในกีฬาเตะลูกหวายมาโดยตลอด ได้ทำให้แฟนตะกร้อ ต่างงงเป็นไก่ตาแตกไปตามๆกันว่า มันเกิดอะไรขึ้น ในประเด็นนี้ ทีมข่าวสยามสปอร์ต ขอชำแหละและวิเคราะห์ถึงสาเหตุความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้น ซึ่งก็มี 3 ประเด็นด้วยกัน
1.เตรียมพร้อมไม่ดีพอ หลังแมตช์ที่แพ้ อินเดีย ไฟเตอร์ส 1-2 เซต จนมีสถิติแพ้ 3 นัดรวด พร้อมกับตกรอบแรกแบบไม่สวยงาม "ซ้ายสั่งตาย" ศิริวัฒน์ สาขา แบ๊กจอมเก๋าที่ติดทีมชาติไทยมา 10 กว่าปี ได้กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมก่อนมาแข่งในครั้งนี้ ของทีมทหารอากาศ ยังไม่ดีพอ ซึ่งเมื่อดูจากผลงานในสนามมันก็เป็นเช่นนั้น
ตรงกันข้ามกับหลายทีมในมาเลเซีย ที่ได้มีการเตรียมทีมกันอย่างต่อเนื่อง เพราะก่อนแข่งรายการนี้ ตะกร้อลีกอาชีพในบ้านเขาอย่าง เอสทีแอล พรีเมียร์ 2024 (STL PREMIER 2024) เพิ่งปิดลีกไปหมาดๆ การแข่งลีกมาตลอดหลายเดือน และเตรียมทีมต่อเนื่องมาจนถึงศึกเอสทีแอลแชมเปี้ยนคัพ 2024 จึงทำให้สโมสรจากมาเลเซียมีความพร้อมมากกว่าทหารอากาศนั่นเอง
2.ไม่ได้เลือกผู้เล่นที่ดีที่สุดไปทำศึก ที่จริงแล้ว ในสังกัดทหารอากาศ ยังมีนักตะกร้อมากฝีมืออีกหลายคน โดยเฉพาะ "ยาวปืนใหญ่" สิทธิพงษ์ คำจันทร์ ที่ได้รับการยกย่องจากแฟนตะกร้อ ให้เป็นตัวเสิร์ฟที่ดีที่สุดของประเทศไทยในเวลานี้ พร้อมกับไล่ล่าความสำเร็จมาสู่ทัพตะกร้อทีมชาติไทยมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงตัวฟาดเจ้าของฉายามือปราบสัมภเวสี "น็อต" วรายุทธ์ จันทรเสนา ที่มีส่วนสำคัญ กับการทัพหวายไทยคว้า 2 เหรียญทอง(ทีมชุด-ทีมเดียว) เอเชียนเกมส์ครั้งที่ 19 ที่เมืองหางโจว ประเทศจีน เมื่อปีก่อน
หากทีมหวายลูกทัพฟ้า ใส่ชื่อสองคนนี้ ไปผนึกกำลังร่วมกับ ศิริวัฒน์, วิชาญ และ พิเชษฐ์ ศักยภาพทีมจะแข็งแกร่งขึ้นกว่านี้อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม สต๊าฟโค้ชของทหารอากาศ คงจะมองถึงการสร้างสายเลือดใหม่ขึ้นมาทดแทนรุ่นพี่ในอนาคตด้วย จึงใส่ชื่อ ณิชกุล กับ ภูตะวัน ไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในทัวร์นาเมนต์นี้ เพื่อเป็นกำลังสำคัญหวายกองทัพอากาศในภายภาคหน้าต่อไป
3.คู่แข่งพัฒนาขึ้น ต้องยอมรับว่า ช่วงหลังๆมาเลเซียพัฒนาขึ้นมา และไม่ใช่แค่ทีมชาติเท่านั้น แต่หลายสโมสรเริ่มผลิตนักตะกร้อสายเลือดใหม่ที่น่าจับตามองขึ้นมาประดับวงการ อาทิ ซูห์รี่ ซิน ตัวเสิร์ฟของ เซลังงอร์ในวัย 24 ปี ที่หลุดจากทีมชาติมาเลเซียไปนาน ก็กลับมาทำผลงานได้ดีอีกครั้ง โดยแมตช์ที่เจอกับทหารอากาศ สามารถเสิร์ฟเรียกแต้มเป็นกอบเป็นกำจนคว้าชัยเหนือทีมลูกทัพฟ้าไป 2-0 เซต
นอกจากนี้ อินเดีย ไฟเตอร์ส ทีมจากอินเดีย ก็สำแดงให้เห็นแล้วว่า นักตะกร้ออินเดียในช่วงหลังๆไม่ธรรมดา มีลูกเสิร์ฟที่รุนแรงขึ้น แถมศักยภาพการขึ้นฟาดหน้าตาข่ายของพวกเขา ก็ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนหลายเท่าตัว
การที่อินเดียมีมาตรฐานดีขึ้น นับเป็นผลดีไม่น้อย เพราะจะทำให้กีฬาตะกร้อ เป็นที่แพร่หลายมากยิ่งขึ้นนั่นเอง อย่างน้อยให้กีฬาชนิดนี้ กระจายความนิยมไปสู่ภูมิภาคเอเชียใต้บ้าง มิใช่นิยมอยู่แต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพียงภูมิภาคเดียว
เครดิตภาพ : SepakTakraw League