โพลชี้คนกรุงเทพฯเลือกออกกำลังจากการเดินและวิ่งมากที่สุด

โพลชี้คนกรุงเทพฯเลือกออกกำลังจากการเดินและวิ่งมากที่สุด
เคบียู สปอร์ต โพล ชี้คนกรุงเทพฯส่วนใหญ่นิยมการเดินออกกำลังกายมากที่สุด ตามด้วยการวิ่ง ส่วนความถี่โดยเฉลี่ยในการออกกำลังกายอยู่ที่ 1-3 ครั้งต่อสัปดาห์

จากปรากฎการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและความผันผวนทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างต่อเนื่องนั้น KBU SPORT POLL (เคบียู สปอร์ต โพล) โดยศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ร่วมกับสถาบันการจัดการกีฬาเพื่อองค์กรกีฬา (WISDOM) ได้สำรวจความคิดประชาชน ที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง(เทศบาลเมือง เทศบาลนครและกรุงเทพมหานคร) เพื่อสะท้อนมุมมองในมิติที่เกี่ยวกับการออกกำลังกาย เรื่อง “คนเมือง กับวิถีการออกกำลังกาย”

สำหรับการสำรวจดังกล่าวดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ระหว่างวันที่ 1-3 พ.ย. 2567 โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชนทุกกลุ่มสาขาอาชีพที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองซึ่งมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,186 คนแบ่งเป็น เพศชาย 512 คน คิดเป็นร้อยละ 43.16, เพศหญิง 646 คน คิดเป็นร้อยละ 54.47, LTBGTQIA 28 คน คิดเป็นร้อยละ 2.37 ซึ่งผลการวิเคราะห์ในภาพรวมพบว่า

ความสนใจในการออกกำลังกาย ส่วนใหญ่ ร้อยละ 32.50 สนใจมาก รองลงมา ร้อยละ 31.28 สนใจค่อนข้างมาก, ร้อยละ 18.30 สนใจค่อนข้างน้อย, ร้อยละ 12.92 สนใจน้อย และร้อยละ 5.00 ไม่สนใจเลย ส่วนกิจกรรมที่นิยมใช้ในการออกกำลังกาย ส่วนใหญ่ ร้อยละ 26.36 เดิน, รองลงมา ร้อยละ 23.50 วิ่ง, ร้อยละ 20.18 ปั่นจักรยาน, ร้อยละ 13.90 กีฬาชนิดต่างๆ, ร้อยละ 8.76 ว่ายน้ำ, ร้อยละ 5.73 เวทเทรนนิ่ง/เต้นแอโรบิค และอื่นๆร้อยละ 1.57

ระยะเวลาหรือความถี่ในการออกกำลังกาย ส่วนใหญ่ ร้อยละ 34.90 ระยะเวลา 1-3 วัน/สัปดาห์ รองลงมา ร้อยละ 26.35 ไม่แน่นอนแล้วแต่โอกาส, ร้อยละ 25.84 ทุกวัน และร้อยละ 12.91 ระยะเวลา 4-6 วัน/สัปดาห์ ส่วนสถานที่ในการออกกำลังกาย ส่วนใหญ่ร้อยละ 24.12 ที่พัก รองลงมา ร้อยละ 22.60 สนามกีฬาใกล้ที่พัก, ร้อยละ 18.24 สวนสาธารณะใกล้ที่พัก, ร้อยละ 15.30 สถานบริการฟิตเนส, ร้อยละ 11.90 สถานศึกษาใกล้าที่พัก และอื่นๆร้อยละ 7.84

จากการเปลี่ยนแปลงและความผันผวนทางเศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อการออกกำลังกายหรือไม่ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 29.44 เห็นว่าส่งผลกระทบน้อย รองลงมา ร้อยละ 24.61 ส่งผลกระทบค่อนข้างน้อย, ร้อยละ 23.07 ส่งผลกระทบค่อนข้างมาก, ร้อยละ 14.59 ส่งผลกระทบมาก และร้อยละ 8.29 ไม่ส่งผลกระทบเลย

ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต  กล่าวว่า จากผลการสำรวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าถึงแม้ในปัจจุบันสังคมจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงและความผันผวนทางเศรษฐกิจก็ตามแต่ผู้คนทั่วไปโดยเฉพาะผู้ที่พักอาศัยในเขตเมืองยังให้ความสำคัญและสนใจการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันหากพิจารณาถึงกิจกรรมหรือประเภทการออกกำลังกายที่นิยมนำมาใช้เป็นวิถีในการปฏิบัติซึ่งสอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและการประหยัดกลุ่มตัวอย่าง ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับกิจกรรมการเดิน-วิ่ง เป็นหลัก

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาในภาพรวมวันนี้ถึงแม้ผู้คนส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบจากสภาพความตกต่ำของเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่องก็ตาม แต่ด้วยการออกกำลังกายเป็นหนึ่งในมิติที่เป็นประโยชน์และส่งผลดีต่อสุขภาพปัญหาหรืออุปสรรคต่างๆจึงไม่สามารถจะหยุดยั้งการให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายของผู้คนในสังคมได้เช่นกัน


ที่มาของภาพ : -
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport