เคบียู สปอร์ต โพล เผยผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างคนไทย ในเรื่องความเชื่อมั่นและความคาดหวังที่มีต่อรัฐบาลกับการพัฒนากีฬาชาติ เสียงส่วนใหญ่ยังไม่แน่ใจรัฐบาลชุดนี้จะพัฒนากีฬามากน้อยแค่ไหน เหตุเพราะต้องขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจและเรื่องอื่นๆที่สำคัญก่อน ส่วนความคาดหวังเรื่องสำคัญที่จะให้รัฐบาลสนับสนุน เสียงส่วนใหญ่อยากให้สนับสนุนงบประมาณให้เพียงพอและทั่วถึงเป็นอันดับแรก
จากการที่รัฐบาลภายใต้การนำของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมานั้น เพื่อสร้างการมีส่วนรวมและสะท้อนมุมมองของประชาชนในมิติที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาการกีฬาของประเทศ KBU SPORT POLLโดยศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตร่วมกับสถาบันการจัดการกีฬาเพื่อองค์กรกีฬา (WISDOM) จึงสำรวจคิดเห็นเรื่อง "ความเชื่อมั่นและความคาดหวังที่มีต่อรัฐบาลกับการพัฒนากีฬาชาติ"
สำหรับการสำรวจดังกล่าวดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 15-17 ก.ย.2567 โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชนทั่วไปซึ่งมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปจำนวน 1,207 คน โดยแบ่งเป็นเพศชาย 748 คน คิดเป็น ร้อยละ 61.98 เพศหญิง 430 คน คิดเป็นร้อยละ 35.62 และ LTBGTQIA+ 29 คน คิดเป็น ร้อยละ 2.40 ซึ่งผลการวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆโดยภาพรวมพบว่า ความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาลกับการส่งเสริมและสนับสนุนการกีฬา ส่วนใหญ่ร้อยละ 26.10 ไม่แน่ใจ รองลงมา ร้อยละ 24.50 เชื่อมั่นค่อนข้างมาก, ร้อยละ 22.60 เชื่อมั่นค่อนข้างน้อย, ร้อยละ 20.70 เชื่อมั่นมาก, ร้อยละ 4.30 เชื่อมั่นน้อย และร้อยละ 1.50 ไม่เชื่อมั่น
ความคาดหวังที่มีต่อการส่งเสริมและสนับสนุนการกีฬา ส่วนใหญ่ ร้อยละ 25.30 สนับสนุนงบประมาณการพัฒนาอย่างทั่วถึงและเพียงพอ รองลงมา ร้อยละ 22.40 ผลักดันนโยบายกีฬาเป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติ, ร้อยละ 19.80 ส่งเสริมสนับสนุนการวางรากฐานและจัดสถานที่พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกในการเล่นกีฬาและออกกำลังกายให้ประชาชนทุกเพศวัย,ร้อยละ 17.20 สนับสนุนและสร้างความเชื่อมั่นในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ, ร้อยละ 11.90 ผลักดันแผนพัฒนากีฬาแห่งชาติฉบับที่ 7 สู่การปฏิบัติ และอื่นๆร้อยละ 3.40
ปัญหาทางการกีฬาที่ต้องการให้มีการแก้ไข ส่วนใหญ่ร้อยละ 31.70 ปัญหาคอร์รัปชั่นในวงการกีฬา รองลงมา ร้อยละ 25.20 ปัญหาความสิ้นเปลืองงบประมาณและความซ้ำซ้อนในการจัดการแข่งขันกีฬาภายในประเทศ, ร้อยละ 16.10 ปัญหาขาดบุคลากรการส่งเสริมกีฬาในชุมชนและท้องถิ่น, ร้อยละ 13.60 ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในวงการกีฬา, ร้อยละ 9.80 ปัญหากฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคกับการพัฒนากีฬา และอื่นๆร้อยละ 3.60
ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต กล่าวว่า จากผลการสำรวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าจากการแถลงนโยบายในมิติที่เกี่ยวกับกีฬาของรัฐบาลนั้นหากพิจารณาถึงรายละเอียดและแนวทางการพัฒนาที่นำเสนอในภาพรวมประชาชนหรือกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ยังไม่แน่ใจว่ารัฐบาลนี้จะเดินหน้าการพัฒนาสู่การปฏิบัติได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่ารัฐบาลให้ความสำคัญเกี่ยวกับการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและอื่นๆมากกว่า ขณะเดียวกันเมื่อพิจารณาถึงความคาดหวังที่มีต่อการพัฒนากีฬาชาติผู้ตอบแบบสอบถามต่างคาดหวังที่จะให้รัฐบาลจัดสรรหรือสนับสนุนงบประมาณให้เพียงพอและทั่วถึงมาเป็นอันดับแรก
ผศ.ดร.รัฐพงศ์ เผยอีกว่า มิติที่เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดกับวงการกีฬาไทยกลุ่มตัวอย่างยังสะท้อนให้รัฐบาลตระหนักและให้ความสำคัญเพื่อนำไปสู่การแก้ไขในหลากหลายมิติโดยเฉพาะการทุจริตคอรัปชั่นตลอดจนความสิ้นเปลื้องงบประมาณอันเนื่องมาความซ้ำซ้อนของการจัดกีฬาภายในประเทศ อย่างไรก็ตามหากจะให้วงการกีฬาไทยได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาดังที่กลุ่มตัวอย่างได้สะท้อนให้เห็นนั้น การจะหวังให้นายกรัฐมนตรีและเจ้ากระทรวงที่กำกับดูแลเดินหน้าแต่เพียงฝ่ายเดียวคงจะไม่สำเร็จ แต่พลังที่สำคัญคือการมีส่วนร่วมของหน่วยงานและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และหนึ่งในมิติที่จะนำไปสู่ความสำเร็จและบรรลุเป้าประสงค์และจับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรมคงจะได้แก่ความมุ่งมั่น ความจริงจัง และจริงใจของรัฐบาล ซึ่งจากนี้ไปเวลาจะเป็นตัวชี้วัดและพิสูจน์ให้เห็นถึงผลงานที่จะตามมา