"ไมตรี"เสนอกองทุนฯปรับแก้เกณฑ์สนับสนุนนักกีฬาคนพิการ

"ไมตรี"เสนอกองทุนฯปรับแก้เกณฑ์สนับสนุนนักกีฬาคนพิการ
นายไมตรี คงเรือง นายกสมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทยคนใหม่ โพสต์เสนอ 6 แนวคิดเสนอกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ปรับปรุงระเบียบการให้เงินรางวัลสำหรับนักกีฬา ผู้ฝึกสอน และสมาคมกีฬากลุ่มคนพิการ รับอยากให้ปรับเงินรางวัลสำหรับนักกีฬาทุกระดับการแข่งขัน ให้มีสัดส่วนเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ของคนปกติเหมือนกันทุกรายการ แนะหนุนเงินรางวัลมหกรรมกีฬาคนพิการชิงชนะเลิศแห่งโลก ที่รับรองโดยสหพันธ์กีฬาประเภทความพิการ หรือคณะกรรมการพาราลิมปิกสากล แต่ขอให้ระบุชื่อเกมส์ ไม่ต้องตีความโดยไม่ต้องตีความ เชื่อจะเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจอย่างดีให้นักกีฬา เจ้าหน้าที่ และสมาคม

นายไมตรี คงเรือง นายกสมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทยคนใหม่ ออกมาโพสต์เสนอแนวความคิด ถึงประเด็นเรื่องการทำประชาพิจารย์ การยกร่างปรับปรุงระเบียบการให้เงินรางวัลสำหรับนักกีฬา ผู้ฝึกสอน และสมาคมกีฬา ของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ หลังตนเองมีโอกาสได้เข้าประชุม เพื่อรับฟังและหารือในประเด็นนี้ เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา

นายไมตรี ร่ายผ่านหน้าเฟซบุ๊คตัวเองว่า ในส่วนของกลุ่มสมาคมกีฬาคนพิการ ได้เสนอประเด็นสำคัญเพื่อปรับปรุง 6 ประการ ดังนี้ 

ประการที่หนึ่ง การปรับเรื่องเงินรางวัลสำหรับนักกีฬา ทุกระดับการแข่งขัน ให้มีสัดส่วนเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ของคนปกติ เหมือนกันทุกรายการ ตัวอย่าง เหรียญทองของโอลิมปิกเกมส์ ได้เงินรางวัล 12 ล้านบาท ของพาราลิมปิกเกมส์ ได้ 7.2 ล้านบาท, เอเชียนเกมส์ ได้ 2 ล้านบาท เอเชียนพาราเกมส์ ได้ 1 ล้านบาท ควรขยับเป็น 1.2 ล้านบาท, ซีเกมส์ ได้ 3 แสนบาท อาเซียนพาราเกมส์ ได้ 2 แสนบาท อาจจะต้องลดมาอยู่ที่ 1.8 แสนบาท ชิงแชมป์โลกคนปกติ ได้ 1.5 ล้านบาท คนพิการได้ 2 แสน บาท ของคนพิการควรขยับมาที่ 9 แสนบาท, ชิงแชมป์เอเชีย คนปกติได้ 6 แสนบาท คนพิการได้ 7.5 หมื่นบาท ของคนพิการควรได้ 4.2 แสนบาท ซึ่งเรามองในการขยับค่าเหรียญรางวัลของคนพิการก็ขยับขึ้นตามลำดับ ณ ตอนนี้รับได้ที่ 60 เปอร์เซ็นต์ของเงินรางวัลทั่วไป แต่ก็ควรมีฐานสัดส่วนที่ 60 เปอร์เซ็นต์เท่ากันทุกระดับแข่งขัน ถ้าทำไม่ได้ แก้ไขไม่ได้ ก็จะสู้ต่อว่า ควรได้เท่ากับคนปกติ ใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน

ประเด็นที่สอง เรื่องเงินรางวัลมหกรรมกีฬาคนพิการชิงชนะเลิศแห่งโลก รับรองโดยสหพันธ์กีฬาประเภทความพิการ หรือคณะกรรมการพาราลิมปิกสากล (ขอให้ระบุชื่อเกมส์ ไม่ต้องตีความโดยไม่ต้องตีความ) เพราะแต่ละประเภทความพิการ มีสหพันธ์ และรายการมหกรรม wolrd game เป็นเฉพาะ ดังนี้

1. world abilitySport Games มหกรรมกีฬาคนพิการทางด้านร่างกายและการเคลื่อนไหวชิงชนะเลิศแห่งโลก (รวมสมองด้วย), 

2. IBSA World Games มหกรรมกีฬาคนตาบอดชิงชนะเลิศแห่งโลก, 

3. Virtus Global Games มหกรรมกีฬาคนพิการทางปัญญาชิงชนะเลิศแห่งโลก

4. World Games for the Deaf มหกรรมกีฬาคนหูหนวกชิงชนะเลิศแห่งโลก

ประเด็นที่สาม เพิ่มรายการแข่งขัน เอเชียนยูธ พาราเกมส์เข้าไปอีก 1 มหกรรมกีฬา ในหมวดที่ 1 การให้เงินรางวัล คือรายการ เอเชียนยูธ พาราเกมส์ ที่ส่งแข่งขันโดยคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย พร้อมเงินรางวัล

ประเด็นที่สี่ดึงกีฬาคนหูหนวก เข้ามาอยู่ในกลุ่มของกีฬาคนพิการ โดยไม่ต้องไปตั้งเกณฑ์แยกออกไป แยกระดับเงินรางวัลไปอีกต่างหาก ซึ่งเหมือนคนอีกกลุ่ม และที่สำคัญปัจจุบัน ถือว่ากีฬาคนหูหนวกอยู่ในกลุ่มของคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย

ประเด็นที่ห้า ในหมวดของพาราลิมปิกเกมส์ และเอเชียนพาราเกมส์ ให้หมายรวมทั้งพาราลิมปิกเกมส์ฤดูหนาว และเอเชียนพาราเกมส์ ฤดูหนาว ด้วย เพราะเมืองไทยเริ่มพัฒนามาได้ร่วม 2 ปีแล้วคือ วีลแชร์เคอร์ลิ่ง และฮอกกี้น้ำแข็ง

ประเด็นที่หก เรื่องเงินรางวัลสำหรับต้นสังกัด เดิม กองทุนให้เงินรางวัลกับสมาคมร้อยละ 30 ของเงินรางวัลนักกีฬาทั้งหมด (โดยแยกกับเงินรางวัลนักกีฬา ไม่เกี่ยวข้องกัน) แต่ยอดรวมต้องไม่เกิน 10 ล้านบาท

แต่สำหรับสมาคมกีฬาคนพิการ ต้องนำร้อยละ 30 นี้ ไปให้ต้นสังกัด 70 เปอร์เซ็นต์ (ชนิดกีฬาต่างๆที่เป็นสมาชิกสมาคม) และเข้าสมาคมเพียง 30 เปอร์เซ็นต์)

ดังนั้น เนื่องจากสมาคมกีฬาคนพิการ ต้องดูแลหลายชนิดกีฬา ดังนั้นการอั้นสมาคมละไม่เกิน 10 ล้านบาท ก็ทำให้เงินเข้าชนิดกีฬาต่างๆก็จะลดอัตราส่วนตามเพดาน ทำให้ชนิดกีฬาต่างๆขาดประโยชน์ ในการนำเงินดังกล่าวไปพัฒนาทีม จึงเสนอปรับปรุงเพิ่มเติม ดังนี้

ให้สมาคมกีฬา ได้รับเงินรางวัลในอัตราร้อยละสามสิบ ของเงินรางวัลทั้งหมดในแต่ละชนิดกีฬา ที่นักกีฬาได้รับ แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกินวงเงิน 6,000,000 บาท(หกล้านบาทถ้วน) ในแต่ละชนิดกีฬา และให้สมาคมกีฬาจัดสรรเงิน ดังกล่าวให้ สมาคม ชมรม ต้นสังกัดของนักกีฬา เป็นจำนวนเงินในอัตราร้อยละแปดสิบ ของเงินรางวัลที่ได้รับ ให้กับสมาคม ชมรม ต้นสังกัดของนักกีฬาในกรณีที่นักกีฬาไม่มี ชมรมสังกัด ให้สมาคมกีฬาเป็นผู้พิจารณาดำเนินการตามวัตถุประสงค์ต่อไป

ทั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาต่อเนื่องสำหรับการพัฒนากีฬาคนพิการของแต่ละชนิดกีฬา ได้อย่างเต็มที่

โดยทั้งหมด คือเริ่มปฐมบท เรื่องสวัสดิการเงินรางวัล สำหรับนักกีฬาคนพิการ หลายคนอาจจะมีคำถาม ว่าทำไมไม่ขอปรับเท่ากับคนปกติทั่วไปเลย ก็ตอบคำถามไปเลย ก่อนจะมีดราม่า ถ้าสู้เท่ากัน 100 เปอร์เซ็นต์จะยากขึ้น โอกาสสำเร็จเป็นไปได้น้อย (เราต้องมีการอ้างอิง หลายๆอย่าง) เราค่อยๆขยับ เพราะมองในมุมการขยับของกีฬาคนพิการ จากอดีต ถึงปัจจุบัน ก็ถือได้ว่าหน้ามือเป็นหลังมือแล้ว

นอกจากเงินรางวัล เรื่องการเก็บตัวที่ต่อเนื่อง ระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่าน เราก็ได้เท่ากับคนปกติแล้ว ตั้งแต่หลังปี 2016 โครงการโร้ดทูโตเกียว และโร้ดทูปารีส

เรื่อง การจัดซื้ออุปกรณ์ฝึกซ้อมและแข่งขัน เราก็ได้ไม่น้อยกว่าคนปกติแล้ว เทคโนโลยีใหม่ๆ ขาเทียม วีลแชร์แข่งขัน เราก็ได้กันอย่างถ้วนหน้า เรื่องโอกาสไปแข่งขันต่างประเทศ เราได้เกือบจะ 100 เปอร์เซ็นต์ตามแผนงานของเราแล้วเรื่อง การเข้าถึงทุนการศึกษา สวัสดิการทุนชีวิต เราได้ 100 เปอร์เซ็นต์ของทุกคนที่ส่งมาตามคุณสมบัติที่กำหนด เรื่องการรักษาพยาบาล การดูแล ระหว่างการเป็นนักกีฬาคนพิการทีมชาติไทย ก็ได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว (ตอนนี้เรากำลังผลักดัน พูดถึงอดีตนักกีฬา เจ้าหน้าที่ ผู้ฝึกสอน อีกหลายประเด็น)

ดังนั้นผมหวังว่า หากร่างนี้ สามารถผ่านไปได้ดังที่เสนอไป ก็จะขยับอีกขั้น สำหรับเงินรางวัลนักกีฬาคนพิการ ในภาพรวม หน้าที่ของเราบ้างละ สมาคม นักกีฬา ผู้ฝึกสอน ทุกๆคน ทุกๆชนิดกีฬา ร่วมกันสร้างผลงานที่ดี ให้กับประเทศชาติ ให้สาสมกับที่เราได้รับการสนับสนุน การดูแลอย่างดีขึ้นมาเรื่อยๆ  เมื่อผลงานดี มีชื่อเสียง ต่อไป การพูดอะไร ก็จะมีน้ำหนัก และง่ายขึ้นมุ่งสู่ปารีส 2024 ให้ประสบความสำเร็จล้นหลามไปเลยยยพี่น้อง อันนี้คือที่ตนเสนอ ส่วนจะได้เต็มร้อยหรือเปล่า มาช่วยกัน


ที่มาของภาพ : -
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport
X