5 นักกีฬาคนพิการไทยพบกูรูนักวิทย์ฯรับคำแนะนำก่อนล่าเหรียญพาราลิมปิก

5 นักกีฬาคนพิการไทยพบกูรูนักวิทย์ฯรับคำแนะนำก่อนล่าเหรียญพาราลิมปิก
5 นักกีฬาคนพิการไทย ความหวังเหรียญรางวัลของทัพไทยในศึกพาราลิมปิก 2024 ที่ฝรั่งเศส พร้อมโค้ช ตบเท้าเข้าโครงการ "แกะเส้นทางสู่ความสำเร็จพาราลิมปิก ปารีส 2024" เฟส 2 โดยทั้ง 5 คน มีโอกาสได้พบนักวิทยาศาสตร์การกีฬาระดับกูรูที่มาร่วมให้คำแนะนำและรับฟังข้อปรึกษา "นายกไมตรี" เชื่อจะช่วยให้นักกีฬารู้จักตัวเองมากขึ้น สามารถพัฒนาทักษะ เปลี่ยนความหวังให้เป็นความจริง เพื่อสร้างรอยยิ้มแห่งความภาคภูมิใจให้กับคนไทยอีกครั้ง

สมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทำการเชิญนักกีฬาคนพิการทีมชาติไทย 5 คนที่ได้โควตาไปพาราลิมปิก 2024 เป็นที่แน่นอนแล้ว ประกอบด้วย สายสุนีย์ จ๊ะนะ, สุจิรัตน์ ปุกคำ, อำนวย เวชวิฐาน, รุ่งโรจน์ ไทยนิยม และ พิสิษฐ์ หวังผลพัฒนาศิริ และผู้ฝึกสอนในสังกัดเข้าร่วมโครงการ “แกะเส้นทางสู่ความสำเร็จพาราลิมปิก ปารีส 2024” ครั้งที่ 2 โดยศาสตราจารย์ ดร.เจริญ กระบวนรัตน์ และคณะ ร่วมให้คำแนะนำแบบตัวต่อตัว ระหว่างนักกีฬากับนักวิทยาศาสตร์การกีฬา ที่ดำเนินแคร์ รีสอร์ท อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี  เมื่อ 1-2 พ.ค.ที่ผ่านมา

นายไมตรี คงเรือง นายกสมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทยฯ เผยว่า เพื่อเป้าหมายและความสำเร็จของการแข่งขันพาราลิมปิก จึงต้องเตรียมความพร้อมของนักกีฬาและผู้ฝึกสอนกีฬาในทุกมิติ โดยเฉพาะการแสวงหาข้อมูลที่จะนำมาใช้วางแผนออกแบบโปรแกรมการฝึกซ้อมอย่างละเอียดรอบคอบในช่วงเวลาที่มีอยู่เพื่อที่จะเปลี่ยนจากความหวังให้เป็นความจริง ช่วยกันนำความสำเร็จกลับมาให้คนไทยได้ยิ้มด้วยความภาคภูมิใจทั้งประเทศ

"ในครั้งแรกของโครงการนี้จัดขึ้นที่บ้านพิมพ์วนา เขาใหญ่ เมื่อปลายเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา หนนั้นมีนักกีฬาคนพิการที่ได้โควตาไปพาราลิมปิก 2024 จากยิงธนู, ยิงปืนและปิงปอง จำนวน 7 คน ในครั้งที่สองนี้ได้เชิญนักกีฬามาร่วมอบรมจำนวน 5 คน ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่เป็นตัวความหวังในพาราลิมปิก 2024 จุดประสงค์ก็เพื่อให้ทุกคนได้มาหารือกับผู้เชี่ยวชาญถึงปัญหาและอุปสรรค ที่ไม่รู้จะคุยกับใคร จึงมารับฟังด้วยตัวเอง ถ้าเป็นในส่วนของสมาคมฯ ก็จะดำเนินการแก้ไขทันที จะไม่มีคำว่ารอ ทุกคนจะได้มีสมาธิในการพัฒนาศักยภาพตัวเอง" นายกสมาคมกีฬาคนพิการฯ กล่าว

ขณะที่ ศาสตราจารย์ ดร.เจริญ กระบวนรัตน์ หัวหน้าคณะวิทยากร เผยว่า หลักง่ายๆ ของวิทยาศาสตร์การกีฬาคืออยู่กับความเป็นจริง วิทยาศาสตร์การกีฬาไม่ใช่เครื่องมือ วิทยาศาสตร์การกีฬาเป็นธรรมชาติที่อยู่รอบตัวเรา เครื่องมือถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกเท่านั้น นักกีฬาจึงต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจกับวิทยาศาสตร์การกีฬา เพื่อที่จะสามารถปรับเปลี่ยนตัวเอง ส่วนการที่จะนำเอาทักษะมาใช้ให้เกิดประโยชน์เหนือคู่แข่งในระหว่างการแข่งขันอย่างไร ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ต้องผ่านการฝึกฝน รวมไปถึงองค์ประกอบอื่นๆ ที่จะต้องเรียนรู้เพื่อที่จะนำไปสู่โอกาส ที่จะฉกฉวยชัยชนะจากคู่ต่อสู้ ซึ่งการพูดคุยกันจะเน้นเรื่องการคิดอย่างไรให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี

นักกีฬาที่มีผลงาน ก็จะถูกคนคาดหวังเยอะ ซึ่งการที่ไปแบกความคาดหวังคนอื่นเอาไว้ ก็จะสร้างความเครียดให้กับตัวเอง ใครจะคาดหวังอย่างไรก็ไม่ต้องไปสนใจ เพราะยิ่งแบกความคาดหวังไว้เยอะก็ยิ่งทำให้เกิดความกลัวเยอะตามไปด้วย การมาพบกันในครั้งนี้จึงจะเป็นการมาช่วยพัฒนาความคิด วิธีการรับมือกับความเครียด ซึ่งนักกีฬาที่ฝึกฝนทักษะความคิดทุกวัน จะช่วยให้สามารถแก้ไขปัญหาได้เร็ว สามารถรับมือและดักทางคู่แข่งได้จนนำไปสู่ชัยชนะ" ศ.ดร.เจริญ ทิ้งท้าย


ที่มาของภาพ : -
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport