เคบียู สปอร์ต โพล สำรวจความเห็นเรื่อง "ความหวังและโอกาสกีฬาไทยในปี 2567" โดยความเห็นส่วนใหญ่อยากนักกีฬาไทยประสบความสำเร็จ คว้าเหรียญทองในโอลิมปิกเกมส์ กลางปี 2024 ที่ฝรั่งเศส โดยยกกีฬาเทควันโด มีโอกาส สร้างชื่อและสร้างความสุขมากที่สุด รองลงมา คือ วอลเลย์บอล และแบดมินตัน ส่วนในสิ่งที่อยากให้พัฒนา คือ อยากให้รัฐบาลส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาในทุกมิติอย่างต่อเนื่องิ
เคบียู สปอร์ต โพล (KBU SPORT POLL) โดยศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ ร่วมกับหลักสูตรการบริหารนวัตกรรมการสื่อสาร คณะนิเทศศาสตร์ ม.เกษมบัณฑิต สำรวจคิดเห็นเรื่อง "ความหวังและโอกาสกีฬาไทยในปี 2567" เพื่อสะท้อนมุมมองและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยเฉพาะแฟนกีฬาที่เกี่ยวกับความหวังและโอกาสของวงการกีฬาไทย หลังในปี 2567 เป็นปีที่วงการกีฬากีฬาไทยจะต้องกำหนดทิศทางการพัฒนาและเตรียมความพร้อมสำหรับการส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันในระดับนานาชาติหลายรายการ
สำหรับการสำรวจดังกล่าวดำเนินการผ่านระบบออนไลน์และการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ระหว่างวันที่ 3 - 5 ม.ค. 67 โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชนทั่วไปและผู้ที่สนใจข่าวสารทางการกีฬาซึ่งมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปจำนวน 1,209 คน แบ่งเป็นเพศชาย 762 คน คิดเป็นร้อยละ 63.03 เพศหญิง 447 คน คิดเป็นร้อยละ 36.97 ซึ่งผลการวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆโดยภาพรวมพบว่าความคาดหวังที่มีต่อการพัฒนาของวงการกีฬาไทย กลุ่มอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 31.07 คาดหวัง อยากให้รัฐบาลส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง รองลงมาร้อยละ 28.11 นักกีฬาทีมชาติได้รับการพัฒนาและยกระดับสู่มาตรฐานสากล, ร้อยละ 21.98 วงการกีฬาปลอดจาการทุจริตคอร์รัปชั่น, ร้อยละ 11.35 ประชาชนทุกเพศวัยตื่นตัวในการเล่นกีฬาและออกกำลังกายเพิ่มขึ้น, ร้อยละ 5.89 องค์กรกีฬามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และอื่นๆร้อยละ1.30
ส่วนความคาดหวังที่มีต่อนักกีฬากับการเข้าร่วมการแข่งขันในระดับนานาชาติ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 34.66 นักกีฬาทีมชาติไทยร่วมสร้างชื่อเสียงและคว้าเหรียญทองในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศรั่งเศส รองลงมาร้อยละ 23.80 นักกีฬาสร้างผลงานและนำความสุขมาสู่ชาวไทยอย่างต่อเนื่อง ร้อยละ 15,10 นักกีฬาทีมชาติไทยคว้าเหรียญรางวัลติด 1 ใน 5 ของการแข่งขันกีฬาเอเชียนอินดอร์และมาเชียลอาตเกมส์ ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน, ร้อยละ 12.97 นักกีฬาได้รับการพัฒนาภายใต้วิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่, ร้อยละ 10.75 นักกีฬามีระเบียบวินัย มุ่งมั่นขยันในการฝึกซ้อม และอื่นๆร้อยละ 2.72
ด้านชนิดกีฬาที่เป็นความหวังและมีโอกาสในการนำชื่อเสียงมาสู่ประเทศ ส่วนใหญ่ร้อยละ 35.90 มองว่า เทควันโด รองลงมา ร้อยละ 30.08 วอลเลย์บอลหญิง, ร้อยละ 13.54 แบดมินตัน, ร้อยละ10.71 ฟุตบอล, ร้อยละ 5.80 กอล์ฟ และอื่นๆร้อยละ 3.97
ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ ม.เกษมบัณฑิต กล่าวเพิ่มเติมว่าจากผลการสำรวจดังกล่าวจะเห็นได้ว่ากลุ่มตัวอย่างต่างคาดหวังที่จะให้รัฐบาลส่งเสริมและสนับสนุนการกีฬาในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้นี้อาจจะเป็นเพราะว่ากีฬาเป็นหนึ่งในมิติที่สำคัญสำหรับการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมให้ประเทศ ผนวกกับปัจจุบันประชาชนตื่นตัวและให้ความสนใจกับการกีฬามากขึ้นตามลำดับ รวมทั้งนายเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่สนใจต่อวงการกีฬาเช่นกัน ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับความคาดหวังของประชาชนที่มีต่อการพัฒนากีฬาของประเทศ หากรัฐบาลจะนำเสียงสะท้อนดังกล่าวไปต่อยอดและขับเคลื่อนการพัฒนาสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมก็จะเป็นประโยชน์ต่อวงการกีฬาไทยเป็นอย่างมาก
ขณะเดียวกันในปี 2567 เป็นอีกปีที่คณะนักกีฬาทีมชาติไทยจะเข้าร่วมการแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิก หรือปารีสเกมส์ 2024 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จึงคาดหวังที่จะเห็นนักกีฬาร่วมสร้างชื่อเสียงและคว้า
เหรียญทองให้กับประเทศโดยยกให้กีฬาเทควันโดเป็นชนิดกีฬาแห่งความหวังภายใต้การนำของ "เทนนิส" พานิภัค วงศ์พัฒนกิจ อย่างไรก็ตามเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาและยกระดับวงการกีฬาไทยให้ก้าวสู่มาตรฐานสากลดีงที่ทุกภาคส่วนคาดหวัง การนำปรากฏการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อวงการโดยรวมโดยเฉพาะมิติของปัญหาในปี 2566 มาถอดบทเรียนเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขก็จะส่งผลดีและเป็นประโยชน์ต่อวงการกีฬาไทยไม่มากก็น้อย ผศ.ดร.รัฐพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย