เคบียู สปอร์ต โพลเผยแฟนกีฬาส่วนใหญ่อยากเห็นการปรับปรุงและพัฒนาของทัพนักกีฬาไทย เพื่อให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยความเห็นส่วนใหญ่ผิดหวังที่ทำได้ 12 ทอง ไม่ถึงเป้า 15 ทองที่ตั้งเป้ากันเอาไว้ในศึกเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 มองผลงานนักกีฬาไม่สัมพันธ์กับจำนวนที่ส่งเข้าร่วม อย่างไรก็ตามยังพร้อมให้กำลังใจนักกีฬาและชื่นชมกลุ่มกีฬาที่ทำผลงานได้โดดเด่น โดยเฉพาะ ตะกร้อ, เทควันโด, กอล์ฟ และวอลเลย์บอล
KBU SPORT POLL (เคบียู สปอร์ต โพล) โดยศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตสำรวจคิดเห็นเรื่อง "ปรากฎการณ์ทัพนักกีฬาไทยในหางโจวเกมส์ 2022" จากการที่นักกีฬาทีมชาติไทย เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 หรือ "หางโจว 2022" ระหว่างวันที่ 23 ก.ย.- 8 ต.ค. 66 ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน หลังพบกว่าการแข่งขันดังกล่าว มีปรากฎการณ์ที่เกี่ยวข้องกับกับนักกีฬาทีมชาติไทยในหลากหลายมิติ จึงทำการสำรวจเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและสะท้อนมุมมองของประชาชนในมิติที่เกี่ยวกับปรากฎการณ์ดังกล่าว
การสำรวจครั้งนี้ดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ระหว่างวันที่ 8 - 10 ต.ค. 66โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชนทั่วไปและผู้ที่ติดตามข่าวสารทางการกีฬา ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,119 คน โดยแบ่งเป็นเพศชาย 702 คน คิดเป็นร้อยละ 62.74 และเพศหญิง 417 คน คิดเป็นร้อยละ 37.26 ซึ่งผลการวิเคราะห์โดยภาพรวมพบว่า ปรากฎการณ์ที่เกี่ยวกับพัฒนาการของนักกีฬาทีมชาติไทยในการเข้าร่วมการแข่งขันกลุ่มอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 41.43 สะท้อนให้เห็นว่าควรปรับปรุง รองลงมา ร้อยละ 32.06 คงเดิม, ร้อยละ 22.18 ดีขึ้น และร้อยละ 4.33 ไม่แสดงความคิดเห็นปรากฎการณ์ที่สร้างความประทับใจให้กับแฟนกีฬา ส่วนใหญ่ ร้อยละ 31.01 นักกีฬาคว้าเหรียญรางวัลและสร้างชื่อเสียงให้ประเทศ รองลงมา ร้อยละ 27.85 นักกีฬามุ่งมั่นและทุ่มเทเพื่อประเทศชาติ, ร้อยละ 20.18 การแจ้งเกิดของนักกีฬาดาวรุ่ง, ร้อยละ 10.66 วางแผนสนับสนุนการเตรียมการนักกีฬาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง, ร้อยละ 8.07 การตื่นตัวและมีส่วนร่วมในการเชียร์ของแฟนกีฬา และอื่นๆร้อยละ 2.23
ปรากฎการณ์ที่สร้างความผิดหวังให้กับแฟนกีฬา ส่วนใหญ่ ร้อยละ 29.61 นักกีฬาไม่สามารถคว้าเหรียญทองได้ตามเป้าหมาย รองลงมา ร้อยละ 27.93 ผลงานนักกีฬาไม่สัมพันธ์กับจำนวนที่ส่งเข้าร่วม, ร้อยละ 23.40 นักกีฬาวอลเลย์บอล พลาดการเข้าชิงเหรียญทอง, ร้อยละ 13.82 นักกีฬาประสบปัญหาการบาดเจ็บและถอนตัวจากการแข่งขัน, ร้อยละ 5.07 การเอนเอียงของผู้ตัดสินในบางชนิดกีฬา และอื่นๆร้อยละ 1.17
ส่วนชนิดกีฬาที่สร้างผลงานได้อย่างโดเด่น อันดับหนึ่ง ร้อยละ 81.62 เซปักตะกร้อ, อันดับสอง ร้อยละ 80.30 เทควันโด, อันดับสาม ร้อยละ 76.31 กอล์ฟ, อันดับสี่ ร้อยละ 75.90 วอลเลย์บอลหญิง, อันดับห้า ร้อยละ 67.45 กรีฑา/เรือใบ, อันดับหก ร้อยละ 64.00 อีสปอร์ต, อันดับเจ็ด ร้อยละ 63.54 วินเซิร์ฟ/เรือพาย, อันดับแปด ร้อยละ 61.60 มวยสากล, อันดับเก้า ร้อยละ 58.90 จักรยาน, อันดับสิบ ร้อยละ 56.10 ยกน้ำหนัก /ฟุตบอล
ส่วนแนวทางการพิจารณาในการส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันครั้งต่อไป ส่วนใหญ่ ร้อยละ 27.66 พิจารณาส่งเฉพาะชนิดกีฬาที่มีความหวังในการคว้าเหรียญทอง, รองลงมา ร้อยละ 25.03 พิจารณาส่งเฉพาะชนิดกีฬาที่ผ่านเกณฑ์และมีโอกาสในการคว้าเหรียญรางวัล, ร้อยละ 22.92 พิจารณาส่งในปริมาณที่เหมาะสมและคุ้มกับงบประมาณเตรียมการ, ร้อยละ 16.08 พิจารณาส่งตามความเหมาะสมและความพร้อมของแต่ละชนิดกีฬา, ร้อยละ 5.66 พิจารณาส่งเฉพาะชนิดกีฬาสากลที่มีการแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์ และอื่นร้อยละ 2.65
ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลการสำรวจดังกล่าวหากพิจารณาในมิติที่กลุ่มตัวอย่างสะท้อนมุมมองออกมานั้นส่งผลให้เห็นถึงปรากฎการณ์และผลงานของทัพนักกีฬาไทยในหลากหลายมิติโดยเฉพาะพัฒนาการในภาพภาพรวมตลอดจนผลงานของชนิดกีฬาต่างๆที่ไม่เป็นไปตามเป้าและจะต้องปรับปรุงกันต่อไป
อย่างไรก็ตามหนึ่งในปรากฏการณ์ของทัพนักกีฬาที่น่าสนใจสำหรับการเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้และเป็นการบ้านให้การกีฬาแห่งประเทศไทยในฐานะผู้มีส่วนสำคัญสำหรับการเตรียมการนักกีฬารวมทั้งสมาคมกีฬาต่างๆตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องพึงนำข้อสังเกตหรือข้อมูลไปพิจารณาโดยเฉพาะเรื่องปริมาณนักกีฬาที่ส่งเข้าร่วมไม่สัมพันธ์กับผลงานหรือเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งหากในอนาคตจะได้มีการวางแนวทางหรือกำหนดกฎเกณฑ์อย่างชัดเจนสำหรับการส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันในมหกรรมกีฬาต่างๆก็จะเป็นประโยชน์และส่งผลต่อการพัฒนาวงการกีฬาไทยสืบไป ผศ.ดร.รัฐพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย