ฉลองเปิดเมืองนักวิ่งไทย-ต่างชาติ 2 หมื่นคนตบเท้าร่วมกรุงเทพมาราธอน

 ฉลองเปิดเมืองนักวิ่งไทย-ต่างชาติ 2 หมื่นคนตบเท้าร่วมกรุงเทพมาราธอน
กลับมาอีกครั้งกับตำนานงานวิ่งมาราธอนประเพณีสุดยิ่งใหญ่แห่งมหานครกรุงเทพ ในโอกาสฉลองเปิดเมืองกรุงต้อนรับการกลับมาใช้ชีวิตสุดเจิดจรัส สดใส และสนุกสนานของชาวกรุงเทพฯอีกครั้งใน "กรุงเทพมาราธอน ครั้งที่ 33" ในปี 2022 โดยนับเป็นการกลับมาจัดแข่งขันอีกครั้งในรอบ 3 ปี โดยงานจะมีขึ้นในช่วงเช้าตรู่วันอาทิตย์ที่ 20 พ.ย. 65 ที่ถนนสนามไชย เขนพระนคร กรุงเทพฯ

ล่าสุดเมื่อ 28 ก.ย.65 ได้มีการจัดแถลงข่าวความพร้อม ที่้ห้องเทวกรรมรังรักษ์ สโมสรทหารบก ได้รับเกียรติจาก พลโท สัมพันธ์ ยังพะกูล นายกสมาคมนักวิ่งเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย สุนทรี เสริญสุขสัมฤทธิ์ รองผู้อำนวยการสำนัก วัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร, บงกชรัตน์ โมลี ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวและกีฬาแห่งชาติ กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา รวมถึง พลตรี วรวุธ ทองศรีงาม ที่ปรึกษาฝ่ายประชาสัมพันธ์การแข่งขัน กรุงเทพมาราธอน 2022 ครั้งที่ 33 ร่วมเป็นเกียรติ 

พลโท สัมพันธ์ ยังพะกูล เปิดเผยว่า สมาคมนักวิ่งเพื่อสุขภาพก่อตั้งขึ้นมากว่า 30 ปี มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมและผลักดันให้คนทุกเพศทุกวัยใส่ใจและออกกำลังกาย สำหรับการแข่งขันกรุงเทพมาราธอนนั้น จัดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2531 โดยยึดเอาวันอาทิตย์ที่สัปดาห์ที่ 3 ในเดือนพ.ย.ของทุกๆปีเป็นวันจัดการแข่งขัน น่าเสียดายที่หลังจากจัดการแข่งขันครั้งที่ 32 เมื่อปี 2562 ไปแล้ว อีก 2 ปีถัดมา ทั้งในปี 2563 และ2564 ไม่สามารถจัดการแข่งขันได้ เพราะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 

"ในวันที่ 1 ต.ค.65 ซึ่งเป็นวันที่ไทยจะลดระดับโรคโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตรายมาเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ถือเป็นนิมิตรหมายอันดี ที่จะทำให้การแข่งขันครั้งที่ 33 ในปีนี้กลับมาคึกคักและยิ่งใหญ่เหมือนครั้งที่ผ่านๆมารับการเปิดเมืองและประเทศ โดยหนนี้ มีนักวิ่งเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นคนก็จริง แต่เราก็จะยังคงให้ความสำคัญและเฝ้าระวังโรคโควิด-19 เช่นดังเดิม โดยกำหนดเงื่อนไขให้นักวิ่งที่เข้าร่วมต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อย 2 เข็ม และต้องตรวจ ATK ก่อนร่วมการแข่งขัน 24 ชม. หรืออย่างน้อย 48-72 ชม."

สุนทรี เสริญสุขสัมฤทธิ์  เผยว่า กทม.รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ได้มีส่วนร่วมในการจัดการแข่งขันรายการสำคัญรายการนี้ ซึ่ง อ.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร ได้ยืนยันว่าพร้อมที่จะสนับสนุนการแข่งขันรายการนี้อย่างเต็มที่ เพราะถือเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของกทม.ให้กลับมาคึกคักอีกครั้งในสังคมหลังการระบาดของโควิด-19 อีกทั้งยังเป็นการเฉลิมฉลองพระชนมพรรษา 90 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในปี 2565 ด้วย 

ด้าน บงกชรัตน์ โมลี  เผยว่า กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา มุ่งเน้นและส่งเสริมการจัดกีฬาและส่งเสริมให้คนในประเทศออกกำลังกาย เพื่อมีสุขภาพที่แข็งแรงอยู่แล้ว ซึ่งการจัดศึกกรุงเทพมาราธอน ก็นับว่าสอดคล้องกับการแนวนโยบายของกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เชื่อว่าการที่นักวิ่งไทยและต่างชาติไม่ต่ำกว่า 20,000 คน รวมถึงนักวิ่งที่จะร่วมวิ่งผ่านเวอร์ชวลรันในรายการนี้ด้วย จะสร้างสีสันและความคึกคักให้วงการกีฬาไทยเป็นอย่างมากทีเดียว

สำหรับระยะของการแข่งขันศึก กรุงเทพมาราธอน ครั้งที่ 33 แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ประกอบด้วย 42.195 กม., 21.1 กม., 10.55 กม. และ 5 กม. โดยเส้นทางการแข่งขันจะออกสตาร์ทกันบริเวณถนนสนามไชย เขตพระนคร มีฉากหลังเป็นพระบรมหาราชวังอันงดงาม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์คู่บ้านคู่เมืองกรุงเทพฯ และนักวิ่งจะมีโอกาสได้วิ่งผ่านทัศนียภาพที่สวยงามทั้ง วัดพระแก้ว, ป้อมพระสุเมรุ, ถนนราชดำเนิน, สะพานพระราม 8 และถนนพุธมณฑล 

โดยในระยะมาราธอน 42.195 กม.แบ่งการแข่งขันออกเป็นเพศชายและเพศหญิง โดยเพศชาย แบ่งเป็นช่วงอายุ 18-29 ปี, 30-39 ปี, 40-49 ปี, 50-59 ปี และ 60 ปีขึ้นไป ส่วนเพศหญิง แบ่งเป็นช่วงอายุ 18-29 ปี, 30-39 ปี, 40-49 ปี, 50-59 ปี และ 60 ปีขึ้นไป  โดยผู้ชนะเลิศทั้งชายและหญิงนานาชาติ จะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในขนาดพิเศษ เทียบเท่าถ้วยพระราชทานต้นแบบ พร้อมเงินรางวัล 60,000 บาท  (ผู้ชนะโอเวอร์ออลจะไม่ได้ถ้วยและเงินรางวัลในกลุ่มอายุอีก)   ส่วนผู้ชนะการแข่งขันอันดับ 1-5 ชายและหญิงของแต่ละกลุ่มอายุ จะได้รับถ้วยพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเงินรางวัลตั้งแต่ 5,000 - 30,000 บาท 

นอกจากนี้ยังมีเงินรางวัลสำหรับผู้ทำลายสถิตินานาชาติและคนไทยรายการนี้ในระยะมาราธอน 42.195 กม.ด้วย โดยผู้ทำลายสถิติจะได้เงินรางวัลคนละ 100,000 บาท โดยสถิตินานาชาติ ฝ่ายชาย รายการนี้อยู่ที่ 2.16.10 ชม. ทำไว้เมื่อปี 2553 ส่วนฝ่ายหญิงอยู่ที่เวลา 2.41.37 ชม. ทำไว้เมื่อปี 2554 ด้านสถิติคนไทย ฝ่ายชาย ทำไว้ 2.25.00 ชม. เมื่อปี 2553 ส่วนฝ่ายหญิง ทำไว้ 2.50.00 ชม. เมื่อปี 2554 

ด้าน ระยะฮาล์ฟมาราธอน 21.1 กม. แบ่งแข่งขันออกเป็นเพศชายและหญิง อายุ 16-29 ปี, 30-39 ปี, 40-49 ปี, 50-59 ปี และ 60 ปีขึ้นไป โดยผู้ที่คว้ารางวัลอันดับ 1-5 ชายและหญิง ของแต่ละกลุ่มอายุ จะได้รับรางวัลเป็นถ้วยเกียรติยศพร้อมเงินรางวัล ตั้งแต่ 3,000 - 10,000 บาท โดยยังมีเงินรางวัลสำหรับผู้ทำลายสถิตินานาชาติในสนามนี้ให้คนละ 30,000 บาท ซึ่งสถิตินานาชาติฝ่ายชาย อยู่ที่ 1.06.03 ชม. ทำไว้เมื่อปี 2555 ส่วนฝ่ายหญิง 1.18.46 ชม. ทำไว้เมื่อปี 2554 

ส่วนระยะมินิมาราธอน 10.55 กม. แบ่งการแข่งขันเป็น เพศชาย รุ่นอายุ 12-19 ปี, 20-39 ปี และ 40 ปีขึ้นไป ส่วนเพศหญิง รุ่นอายุ 12-19 ปี, 20-34 ปี และ 35 ปีขึ้นไป โดยผู้คว้าอันดับ 1-5 ในแต่ละรุ่นอายุมีถ้วยรางวัลและเงินรางวัลมอบให้ และประเภทไมโครมาราธอน 5 กม. เป็นกิจกรรมเดิน-วิ่ง เพื่อสุขภาพ ซึ่งเปิดให้ทุกคนทุกรุ่นได้ร่วมสนุกกับกิจกรรมวิ่งเพื่อสุขภาพที่ดีและมีส่วนร่วมในชุมชน โดยไม่มีการบันทึกเวลาและไม่มีมการมอบรางวัลให้กับผู้เข้าร่วม

กิจกรรมนี้

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมรายละเอียดของการแข่งขันและสมัครขันขันได้ที่ www.bkkmarathon.com และ www.gotorace.com หรือสมัครได้ด้วยตนเองที่สมาคมนักวิ่งเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ตั้งแต่เวลา 10.00 - 16.00 น. ที่ราชมังคลากีฬาสถาน ห้อง 243 โซน W3 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กทม.10240 หรือโทร 02-280-7667 และ 02-628-8313 โดยนักวิ่งที่จบการแข่งขันในระยะมาราธอนและฮาล์ฟมาราธอนทุกคนจะได้รับเสื้อผู้พิชิตเส้นชัยด้วย



ที่มาของภาพ : -
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport