เคบียูฯโพลชี้แฟนกีฬาไทยคาดหวัง"นครสวรรค์เกมส์"จัดมาตรฐานสากล

เคบียูฯโพลชี้แฟนกีฬาไทยคาดหวัง"นครสวรรค์เกมส์"จัดมาตรฐานสากล
เคบียู สปอร์ต โพล เผยมุมมองแฟนกีฬาไทยที่มีต่อการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 38 ซึ่งจะมีขึ้น จ.นครสวรรค์ 25 มี.ค. -3 เม.ย.นี้ โดยมุมมองส่วนใหญ่เผย อยากเห็นมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศของกลุ่มนักกีฬาเยาวชน จัดแข่งขันได้มาตรฐานสากล พร้อมหวัง "นครสวรรค์เกมส์" จะสร้างแรงจูงใจในการเล่นกีฬาและออกกำลังกายของประชาชน

จากการที่ จ.นครสวรรค์ จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 38 หรือ "นครสวรรค์เกมส์" ระหว่างวันที่ 25 มี.ค. -3 เม.ย. 66 นั้น เพื่อเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมและสะท้อนมุมมองในมิติที่เกี่ยวกับการจัดการแข่งขัน KBU SPORT POLL (เคบียู สปอร์ต โพล) โดยศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ ม.เกษมบัณฑิต ได้สำรวจความคิดเห็นเรื่อง "มหกรรมกีฬาเยาวชนแห่งชาติกับมิติการพัฒนาและความคาดหวังศึกษากรณีนครสวรรค์เกมส์"

สำหรับการสำรวจดังกล่าวดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ระหว่างวันที่ 8-10 มี.ค. 66โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ที่สนใจกีฬาและประชาชนทั่วไปจำนวน 1,123 คน แบ่งเป็นเพศชายจำนวน 701 คน คิดเป็นร้อยละ 62.43 เพศหญิง จำนวน 422 คน คิดเป็นร้อยละ 37.57 ซึ่งผลการวิเคราะห์ในภาพรวมพบว่า ความสนใจที่จะติดตามการแข่งขัน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 41.05 ยังไม่ตัดสินใจ รองลงมา ร้อยละ 39.87 สนใจ และร้อยละ 19.08 ไม่สนใจ ส่วนสื่อหรือช่องทางที่จะติดตามการแข่งขัน ส่วนใหญ่ร้อยละ 33.06 โซเชียลมีเดีย รองลงมาร้อยละ 24.31 วิทยุโทรทัศน์, ร้อยละ 18.44 หนังสือพิมพ์, ร้อยละ 10.61 วิทยุกระจายเสียง, ร้อยละ 8.11 สนามการแข่งขัน และอื่นๆร้อยละ 5.47

ด้านความคาดหวังที่มีต่อการพัฒนาและยกระดับการจัดการแข่งขัน อันดับ 1 ร้อยละ 25.03 ยกระดับการจัดการแข่งขันสู่มาตรฐานสากล, อันดับ 2 ร้อยละ 21.55 ยกระดับมาตรฐานความพร้อมของสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ, อันดับ 3 ร้อยละ 17.46 พัฒนาและต่อยอดนักกีฬาดาวรุ่งสู่ทีมชาติ, อันดับ 4  ร้อยละ 15.97 นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่มาประยุกต์ใช้ในการจัดการแข่งขัน, อันดับ 5 ร้อยละ 12.09 สร้างการมีส่วนร่วมในการชมและเชียร์ และอื่นๆร้อยละ 7.90 

ขณะที่ความคาดหวังและประโยชน์จากการจัดการแข่งขัน อันดับ 1ร้อยละ 24.33 สร้างแรงจูงใจในการเล่นกีฬาและออกกำลังกายของประชาชน, อันดับ 2 ร้อยละ 22.39 สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับพื้นที่และชุมชน, อันดับ 3 ร้อยละ 19.11 สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดเจ้าภาพ, อันดับ 4 ร้อยละ 16.09  เผยแพร่แหล่งท่องเที่ยวและศิลปวัฒนธรรม, อันดับ 5 ร้อยละ 12.11 สร้างการมีส่วนร่วมของภาครัฐ/เอกชนและภาคประชาชน และอื่นๆร้อยละ 5.97

ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร ผอ.ศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ ม.เกษมบัณฑิต เผยว่า จากผลการสำรวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าประเด็นหลักๆที่ประชากรกลุ่มตัวอย่างมีความต้องการและคาดหวังที่จะเห็นจากการจัดแข่งขันส่วนใหญ่คาดหวังที่จะให้มหกรรมกีฬาเยาวชนแห่งชาติได้รับการพัฒนาและยกระดับไปสู่มาตรฐานสากลและเหนืออื่นใดซึ่งถือว่าเป็นหัวใจหลักของการจัดการแข่งขันที่สำคัญคือการพัฒนาและต่อยอดนักกีฬาดาวรุ่งป้อนเข้าสู่ทีมชาติขณะที่ความคาดหวังและผลประโยชน์จากการจัดการแข่งขันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ให้ความสำคัญการสร้างแรงจูงใจในการเล่นกีฬาและออกกำลังกายของประชาชนและการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับพื้นที่และชุมชนตามลำดับ


ที่มาของภาพ : -
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport
X