ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการกกท. เผยค่าลิขสิทธิ์ซีเกมส์ ครั้งที่ 32 จำนวน 28 ล้านบาท ที่กัมพูชาตั้งค่าราคาขายให้ประเทศไทยนั้นแพงเกินจริงไปมาก และสูงกว่าค่าลิขสิทธิ์เดิมที่ไทยเคยจ่ายให้เวียดนามเจ้าภาพหนก่อนถึง 80 เท่า ระบุยังคงดำเนินการเจรจากับกัมพูชาต่อไป เพื่อหาตัวเลขที่เหมาะสม รับหากไม่ซื้อลิขสิทธิ์รายการนี้ก็สามารถทำได้ เพราะไม่ผิดกฎมัสต์แครี่และมัสต์แฮฟ แต่ไม่อยากทำแบบนั้น เพราะอาจส่งผลในแง่ของการพัฒนากีฬา และกกท.ต้องการให้แฟนๆกีฬาได้ชมและเชียร์นักกีฬาไทย
ความคืบหน้าเรื่องลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่ประเทศกัมพูชา ซึ่งจะมีระหว่างวันที่ 5-17 พ.ค.นี้ ซึ่งไทยยังคงไม่บรรลุผลการเจรจาในการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดกีฬาซีเกมส์รอบนี้ เนื่องจากเจ้าภาพตั้งค่าลิขสิทธิ์สำหรับประเทศไทยเอาไว้สูงถึง 800,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 27.6 ล้านบาท
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ได้ออกมาเปิดเผยว่า เดิมทีมนตรีซีเกมส์จะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดที่แท้จริง ทว่ามีข้อบังคับให้กับประเทศเจ้าภาพว่า สามารถที่จะดำเนินการเรื่องลิขสิทธิ์ได้ เพราะฉะนั้นกัมพูชาก็ใช้สิทธิ์ตรงนี้ในการดำเนินการผ่านเอเยนซี่ ซึ่งไทยก็ได้รับการติดต่อมาเรียกร้องค่าลิขสิทธิ์อยู่ที่ 800,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 27.6 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ไทยยังมองว่าเป็นตัวเลขที่สูงเกินไป ซึ่งหน้าที่ของ กกท.เป็นเพียงแค่ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ในการถ่ายทอด และไปพูดคุยกับกัมพูชา
ดร.ก้องศักด เผยอีกว่า ตอนนี้ กกท.ได้จัดทำรายละเอียด เพื่อให้คณะกรรมการโอลิมปิคไทยฯ รับผิดชอบโดยตรง โดยสิ่งที่ไทยได้สื่อสารไปคือราคาสูงเช่นนี้ คงไม่สามารถดำเนินการซื้อได้ ยิ่งเปรียบเทียบกับครั้งก่อนๆ ที่มีความแตกต่างกันชัดเจน โดยครั้งก่อนจะเรื่องของค่าธรรมเนียมที่ทุกประเทศยอมรับได้ แต่ครั้งนี้ต้องมีการเรียกค่าลิขสิทธิ์ที่สูงเกินจริงไปเป็นจำนวนมากเกินกว่าที่เราจะรับได้ ดังนั้นจึงต้องมาไล่เช็คข้อมูลให้รอบด้านว่า ประเทศเพื่อนบ้านเรามีประเทศไหนที่จ่ายแล้วบ้าง ซึ่งเท่าที่ทราบก็ยังไม่มีประเทศใดที่จ่ายราคาแพงเช่นนี้ อย่างไรก็ตาม เจ้าภาพกัมพูชาได้แจ้งมาแล้วสามารถพูดคุยเจรจากันได้ตามความเหมาะสม
"เวลานี้เราอยู่ในช่วงที่หารือกับคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ว่าราคาแบบนี้จำเป็นจะต้องลดลงมาอีก ให้มีความเหมาะสม และใกล้เคียงกับครั้งที่ผ่านมา อาจจะเพิ่มบวกขึ้นเล็กน้อยตามสภาวะเศรษฐกิจ รวมทั้งเงินเฟ้อ แต่ค่าลิขสิทธิ์ที่สูงขึ้นก้าวกระโดดหลายเท่าตัวตรงนี้ ต้องยอมรับว่า กกท.ไม่ได้วางงบประมาณไว้รองรับขนาดนั้น"
ผู้ว่าการ กกท.กล่าวเพิ่มเติมว่า สุดท้ายแล้วถ้าไม่มีการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดซีเกมส์ก็ถือว่าไม่ผิดกฎมัสต์แฮฟ มัสต์แคร์รี่ แต่ถ้าถ่ายทอดสดต้องทำตามกฎนี้ ทั้งนี้หากมองเรื่องของการพัฒนากีฬา ถ้าไม่มีการถ่ายทอด ก็จะไม่มีกระแสร่วมกันเชียร์ให้กำลังใจนักกีฬาไทย แต่ถ้าราคาขนาดนี้ต้องมาพิจารณาว่าคุ้มค่าหรือไม่ สิ่งที่จะขาดไปแน่นอนหากไม่มีการถ่ายทอดคือ เราจะไม่มีโอกาสได้เชียร์นักกีฬาแบบสดๆ ต้องอาศัยช่องทางอื่นๆ ซึ่งยากลำบากต่อคนทั่วไป กรณีหากมีการถ่ายทอดสดเราก็จะไปติดเรื่องกฎมัสต์แฮฟ มัสต์แคร์รี่ ทำให้การดึงเอกชนมาร่วมค่อนข้างยากลำบาก ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เคยพูดไว้ตั้งแต่ตอนฟุตบอลโลก 2022 แล้ว แต่ยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นกฎนี้ก็ยังเป็นอุปสรรคอยู่
"เรายังไม่สามารถที่จะพูดตัวเลขได้ เพราะเราอยู่ในช่วงที่กำลังพูดคุยกับโอลิมปิคไทยฯ ซึ่งเราทราบจำนวนตัวเลขที่เคยใช้ในซีเกมส์ครั้งที่ผ่าน ๆ มาเป็นตัวตั้ง แต่อาจจะบวกขึ้น 5-10 เปอร์เซ็นต์เราก็ยังพอรับได้ตามภาวะเศรษฐกิจ แต่ถ้าขึ้นมาหลายเท่าตัวแบบนี้คิดว่าเป็นเรื่องผิดปกติ เชื่อว่าหลายประเทศก็รู้สึกแบบนั้นเหมือนกัน และเท่าที่คุยกับหลายประเทศก็ยังไม่ได้ตกลง เราต้องสะท้อนไปให้ถึงทางคณะกรรมการโอลิมปิกของกัมพูชาด้วยว่า ไทยและหลายประเทศคิดว่าคาแพงเกินไป เพราะการตัดสินใจทั้งหมดเป็นของโอลิมปิกกัมพูชา"
ต่อข้อถาม หากไทยเรามีงบประมาณจำกัด สามารถเลือกซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดกีฬายอดนิยม เช่น ฟุตบอล และวอลเลย์บอล ได้หรือไม่ ดร.ก้องศักด กล่าวว่า เรื่องนี้ก็อยู่ในข้อหารือ ที่จะพูดคุยกับทางเอเยนซี ที่ได้รับมอบหมายจากฝ่ายจัดการแข่งขัน ซึ่งทราบว่าตอนนี้เจ้าภาพมี 3 แพ็คเกจให้เลือก คือ แพ็คเกจใหญ่ ถ่ายทอดสดครอบคลุม 16 ชนิดกีฬา และแพ็คเกจกลาง รวมถึงแพ็คเกจเล็กสุด
ทั้งนี้ การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ผ่านมา มีการเก็บค่าธรรมเนียมถ่ายทอดสด โดยซีเกมส์ 2021 ที่เวียดนาม คิดราคาเพียง 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 350,000 บาท ส่วนซีเกมส์ 2019 ที่ฟิลิปปินส์ คิดราคาเพียง 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 175,000 บาท ซึ่งในการเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์ของกัมพูชาต่อไทยในการลิขสิทธิ์รอบนี้ ถือว่ามากกว่าครั้งที่แล้วถึง 80 เท่า