ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการกกท. เผยแผนงานใหญ่ปี 2566 มีทั้ง โครงการ "เนชั่นแนล สปอร์ต ปาร์ค" เฟสแรก ที่พร้อมจะเดินหน้าเต็มตัว โดย กกท. เตรียมประกาศหาเอกชนมาร่วมลงทุนก่อสร้างดำเนินการ คาดใช้เวลาในการคัดเลือก อย่างเร็วสุด 6 เดือน ขณะเดียวกัน เตรียมเดินหน้า สร้างศูนย์กีฬาทางน้ำ "อควอติกเซ็นเตอร์" ภายในสนามกีฬาหัวหมาก ให้เสร็จทัน ก่อนเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ปี 2025 ด้วย ส่วนกีฬาเชิงท่องเที่ยว "สปอร์ตทัวริซึม" ตั้งเป้าหมายช่วยประเทศสร้างรายได้ หมื่นล้านบาท
ตามที่ คณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย (บอร์ดกกท.) ได้ให้ความเห็นชอบแนวทาง โครงการเนชั่นแนล สปอร์ต ปาร์ค (Smart National Sports Park) เมื่อ 26 ส.ค. 2563 ซึ่งเป็นการพัฒนาพื้นที่ภายในสนามกีฬาหัวหมาก เพื่อให้บริการด้านการกีฬา และให้มีการดำเนินการเชิงพาณิชย์ ควบคู่กันไป โดยวางแผนไว้ 3 เฟสหลักๆ เฟสแรก ปี 2563-2565 เฟส 2 ปี 2566-2569 และเฟส 3 ปี 2570-2575 กรอบงบประมาณรวมกว่า 12,000 ล้านบาท รายละเอียดโครงการ จะมีการปรับปรุงอินดอร์ สเตเดี้ยม, สนามราชมังคลากีฬาสถาน, สร้างศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม, ศูนย์พัฒนาบุคลากรกีฬา, สร้างอาคารที่พักนักกีฬา 800 เตียง และ 1,200 เตียง, อาคารที่พักสำหรับประชาชน, ที่พักบุคลากรสูง 4 ชั้น, ศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ, ศูนย์กีฬาทางน้ำ, ศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา, ศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านกีฬา
ต่อมาได้ข้อสรุปรูปแบบการลงทุน จะเปิดโอกาสให้เอกชน ออกแบบตามขอบเขตการพัฒนากิจกรรมกีฬา ตามที่กกท.กำหนด และเอกชนเป็นผู้ลงทุนโครงการทั้งหมด โอนทรัพย์สินตกเป็นของกรมธนารักษ์ ภายใต้การกำชับโครงการของกกท. และให้เอกชนเข้ารับจ้างบริหาร รับผิดชอบค่าบำรุงรักษา บริหารจัดการโดยการดูแลของกกท. ภายใต้สัญญาดำเนินการ 30 ปี โดยให้เวลาช่วงก่อสร้างไว้ที่ 3 ปี ซึ่งหลักการนี้ ได้มีการปรับแก้กฎหมายรองรับแล้ว จะทำให้กกท. ไม่เป็นภาระทางการเงินต่อภาครัฐ
ล่าสุด ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการกกท.ที่เป็นผู้ดำเนินการในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง เปิดเผยว่า โครงการ "สมาร์ท เนชั่นแนล สปอร์ต ปาร์ค" ในเฟสแรก คาดว่าจะใช้งบประมาณ 5,000-7,000 ล้านบาท โดยจะมีการปรับปรุงสนามกีฬาหัวหมาก 4 ส่วน ส่วนแรก ปรับปรุงราชมังคลากีฬาสถาน ภูมิทัศน์โดยรอบ พื้นที่จอดรถ ให้จัดกีฬาระดับโลก ได้มาตรฐานโลก, ส่วน 2 โครงการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมกีฬา เป็นการดำเนินการพื้นที่บริเวณสนามฟุตบอล 1 กกท. และสมาคมกีฬาเปตองเดิม พัฒนาเป็นศูนย์สำหรับส่งเสริมอุตสาหกรรมกีฬา ยกระดับสนามซ้อมฟุตบอลพร้อมลู่วิ่ง 400 เมตร ขึ้นไปบนดาดฟ้าอาคาร ส่วน 3 โครงการศูนย์พัฒนาบุคลากรกีฬา เป็นการพัฒนาพื้นที่บริเวณลานจอดรถด้านหน้าอาคารเฉลิมพระเกียรติ พัฒนาเป็นอาคารศูนย์ประชุม เพื่อรองรับการประชุมต่าง ๆ ของกกท. และส่วนที่ 4 โครงการพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ ในราชมังคลากีฬาสถาน และโครงการก่อสร้างอนุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร
"ตอนนี้ กกท. ได้จัดทำร่างข้อบังคับกกท. ว่าด้วยการร่วมดำเนินโครงการของกกท. พ.ศ..... เพื่อให้สามารถใช้ดำเนินกระบวนการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมโครงการ ให้เป็นไปตามกฎระเบียบปฎิบัติภายในของกกท. และ/หรือ ให้สอดคล้องกับพรบ. จัดตั้งกกท. และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ร่างดังกล่าว ได้ผ่านกระบวนการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมายของกกท. และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจแล้ว ซึ่งเมื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และประธานบอร์ดกกท. ลงนามแล้ว ก็จะได้ประกาศเชิญเอกชน มาร่วมโครงการ และจะมีการคัดเลือกเอกชนที่พร้อมที่สุด ก่อนลงนามร่วมกัน เพื่อเดินหน้าโครงการใหญ่ครั้งนี้ ซึ่งคาดว่าจะเร่มได้ในปี 2566 ตามขั้นตอนต่อไป"
ดร.ก้องศักด กล่าวต่อว่า เมื่อข้อบังคับกกท.ดังกล่าว ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา กกท. ก็สามารถดำเนินการตามข้อบังคับได้ทันที ซึ่งจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลในเรื่องนี้โดยเฉพาะ จากนั้นก็จะประกาศหาเอกชนมาร่วมลงทุน คาดว่าจะใช้เวลาอย่างเร็วสุด 6 เดือน หรือช้าสุด 1 ปี เมื่อได้เอกชนที่พร้อม ก็จะลงสนามในสัญญา ร่วมทุนทำงานกันต่อไป
"โครงการนี้ จะก่อให้เกิดการพัฒนาด้านกีฬา ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรมกีฬา และการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางการกีฬา กิจกรรมต่อเนื่องในพื้นที่ด้านการส่งเสริมสุขภาพ ความรู้ มีศูนย์ประชุมของสมาคมกีฬา และการศึกษาด้านวิชาการกีฬา วิทยาศาสตร์การกีฬา รวมถึงยังจะมี พิพิธภัณฑ์กีฬา ซึ่งจะทำในรูปแบบดิจิทัล อินเตอร์แอคทีฟ เพิ่มขึ้นอีกแห่ง เพื่อเป็นการให้ความรู้ และเป็นแหล่งข้อมูลทางการกีฬา ให้กับประชาชน"
"ผมเชื่อว่าโครงการนี้ จะส่งผลต่อการพัฒนากิจกรรมการกีฬาไปในอีกระดับหนึ่งในอนาคต สอดรับกับยุทธศาสตร์ทางการกีฬาของประเทศ รวมทั้งการพัฒนาราชมังคลากีฬาสถาน ให้เป็นสนามที่มีมาตรฐานในระดับนานาชาติ โดยให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน ทำให้ กกท.ไม่เป็นภาระทางการเงินต่อภาครัฐ" ดร.ก้องศักด กล่าว
นอกจากนี้ ผู้ว่าการกกท. ยังกล่าวต่อว่า ในส่วนของการสร้างศูนย์กีฬาทางน้ำ ครบวงจร ครอบคลุมทุกประเภทของกีฬทางน้ำ อควอติกเซ็นเตอร์ ภายในสนามกีฬาหัวหมาก ก็ต้องเร่งดำเนินการ เพื่อให้พร้อมรองรับการเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ในปี 2025 รวมถึงการผลักดันงาน "สปอร์ตทัวริซึม" ก็ต้องทำต่อเนื่อง ให้เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวจากชาติต่างๆ ยิ่ง จีน กำลังเปิดประเทศ ก็น่าจะมีผู้สนใจ ทั้งกีฬาและท่องเที่ยว เดินทางเข้ามามากขึ้น ในส่วนนี้จะช่วยประเทศในด้านมูลค่าเศรษฐกิจกีฬา ซึ่งปีนี้ กกท. วางเป้าหมายตัวเลขไว้ที่ประมาณหมื่นล้านบาท