ในปี พ.ศ.2566 ที่กำลังจะมาถึง แฟนกีฬาชาวไทย จะได้ลุ้นและเชียร์ทัพนักกีฬาแห่งสยามประเทศ ลงชิงชัยมหกรรมกีฬาทั้งเอเชียและอาเซียนถึง 3 รายการ
อันประกอบด้วย ซีเกมส์ครั้งที่ 32 ที่ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 5-17 พฤษภาคม 2566, เอเชียนเกมส์ครั้งที่ 19 ณ เมืองหังโจว ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 23 กันยายน - 8 ตุลาคม 2566 และเอเชียนอินดอร์แอนด์มาร์เชียลอาร์ทเกมส์ครั้งที่ 6 ที่กรุงเทพฯและชลบุรี ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 17-26 พฤศจิกายน 2566
ด้วยเหตุนี้ สมาคมกีฬาต่างๆต้องเตรียมนักกีฬากันตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้มีความพร้อมมากที่สุด ก่อนทำศึกมหกรรมกีฬารายการใหญ่ถึง 3 ทัวร์นาเมนต์
นับเป็นโจทย์ที่ยากพอสมควร เนื่องจากแต่ละสมาคมยังไม่เคยเจอมาก่อน กับการต้องเตรียมนักกีฬาเพื่อลงล่าเหรียญทองทั้ง 3 เกมใหญ่ โดยเฉพาะซีเกมส์กับเอเชียนเกมส์ ซึ่งจะเป็นครั้งแรกในหน้าประวัติศาสตร์ที่มหกรรมกีฬาแห่งย่านอาเซียน กับมหกรรมกีฬาแห่งทวีปเอเชีย ถูกจัดขึ้นในปีเดียวกัน แถมยังมีช่วงระยะเวลาที่ห่างกันเพียง 4 เดือนอีกต่างหาก
สำหรับกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 32 ที่กัมพูชาเป็นเจ้าภาพ จะเป็นมหกรรมกีฬารายการแรก ที่ทัพนักกีฬาแห่งแดนสยาม ได้ลงชิงชัยในปี 2566 เป้าหมายที่แฟนกีฬาส่วนใหญ่อยากเห็นก็คือ เราต้องทวงบัลลังก์เจ้าเหรียญทองในกีฬาซีเกมส์กลับมาให้ได้ หลังห่างหายจากตำแหน่งนี้ไปนานนับตั้งแต่ซีเกมส์ครั้งที่ 28 ที่สิงคโปร์เป็นเจ้าภาพเมื่อปี 2558
ซีเกมส์ 3 ครั้งหลังสุด เราต้องเสียตำแหน่งเจ้าเหรียญทองให้กับชาติอื่น ไล่ตั้งแต่ ครั้งที่ 29 ที่มาเลเซียเมื่อปี 2560 ทัพนักกีฬาไทยอันดับ 2 เป็นรองมาเลเซียเจ้าภาพ, ครั้งที่ 30 ที่ฟิลิปปินส์เมื่อปี 2562 เราได้ถึงอันดับ 3 เป็นรองฟิลิปปินส์เจ้าภาพ ที่คว้าอันดับ 1 และเวียดนามที่คว้าอันดับ 2
ขณะที่ครั้งที่ 31 ที่เวียดนามเมื่อปี 2565 ซึ่งเราได้อันดับที่ 2 โดยพ่ายให้กับเวียดนามตามคาด แถมกีฬามหาชนอย่างฟุตบอลทั้งชายและหญิง ก็พลาดท่าให้กับเวียดนามในรอบชิงชนะเลิศทั้งคู่
แม้หลายคนจะแย้งว่า การที่เราไม่ได้ครองตำแหน่งเจ้าเหรียญทองในซีเกมส์ 3 ครั้งหลังสุด เป็นเพราะประเทศเจ้าภาพมักยัดกีฬาพื้นบ้าน หรืออีเวนต์ที่ตัวเองถนัดลงชิงชัยหลายเหรียญทอง จึงทำให้เจ้าภาพจัดการแข่งขัน ครองตำแหน่งเจ้าเหรียญทองแทบทุกครั้ง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในซีเกมส์ครั้งที่ 30 เมื่อปี 2562 เราไม่ได้แพ้แค่ฟิลิปปินส์เจ้าภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นรองเวียดนามที่ได้อันดับ 2 อีกด้วย
ในช่วงหลังๆ ต้องยอมรับเวียดนาม มีผลงานทางด้านกีฬาที่พัฒนาขึ้นมาก กีฬาสากลหลายชนิด อาทิ กรีฑา, ยิมนาสติก, ว่ายน้ำ รวมไปถึงกีฬายอดฮิตอย่างฟุตบอล เขาแซงเราไปแล้ว ซึ่งสิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า วงการกีฬาไทยที่เป็นพี่เต้ยในอาเซียนมาช้านาน เริ่มโดยกองทัพนักกีฬาญวน ก้าวขึ้นมาท้าทายอำนาจแล้ว
ซีเกมส์ครั้งที่ 31 เมื่อปี 2565 เรายังพออ้างได้ว่า ที่เวียดนามทำผลงานดีกว่าไทย จนครองตำแหน่งเจ้าเหรียญทองนั้น เป็นเพราะพวกเขาเป็นเจ้าภาพ ทว่าในซีเกมส์ครั้ง 32 ที่กำลังจะเกิดขึ้น ณ แผ่นดินกัมพูชา หากทัพนักกีฬาไทยมีผลงานที่เป็นรองญวนอีก เราคงจะอ้างเหตุผลนี้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว
จึงกล่าวได้ว่า มหกรรมกีฬาแห่งชาวอาเซียน ณ ดินแดนนครวัด ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 จะเป็นเวทีที่พิสูจน์ว่า ใครกันแน่คือเจ้ากีฬาแห่งย่านอาเซียนตัวจริงเสียงจริง ระหว่างไทยกับเวียดนาม
และถ้าหากเรามีจำนวนเหรียญทองที่น้อยกว่าเวียดนามอีก มันจะเป็นซีเกมส์ 3 สมัยติดต่อกันเลยมีเดียว ที่เวียดนามมีผลงานในตารางสรุปเหรียญเหนือกว่าไทย
เชื่อว่าแฟนกีฬาชาวไทยทั้งประเทศ คงไม่อยากให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะมันจะทำให้ทัพนักกีฬาญวน ก้าวขึ้นมาครองตำแหน่งเจ้ากีฬาแห่งอาเซียนอย่างเต็มตัวทันที
หวังว่าช่วงเวลาที่เหลืออีกราวๆ 5 เดือน สมาคมกีฬาต่างๆ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จะช่วยกันพัฒนานักกีฬาไทยให้พร้อมที่สุด ก่อนออกไปทำศึกซีเกมส์ครั้งที่ 32 ที่ประเทศกัมพูชา เพื่อให้ทัพนักกีฬาไทย ทวงบัลลังก์เจ้าเหรียญทองในกีฬาซีเกมส์กลับมาให้ได้ โดยมีศักดิ์ศรีของคำว่า “เจ้ากีฬาแห่งอาเซียน” เป็นเดิมพัน
ถิรพัฒน์ ณ ลำปาง