กันยายนถือเป็นเดือนทองวงการกอล์ฟไทยอย่างแท้จริง เพราะไม่ว่าจะเป็นก้านเหล็กชาย หรือสวิงสาวตบเท้าสร้างชื่อเสียงไม่เฉพาะให้ตัวเองแต่ยังรวมถึงประเทศชาติต่อเนื่อง "โปรกล้วย" กุสุมา มีชัย หยิบแชมป์ไชน่า แอลพีจีเอ รายการ ซีทีบีซี เลดี้ส์ คลาสสิก 1 กันยายน 2566 , "โปรพราว" ชเนตตี วรรณแสน หยิบแชมป์แอลพีจีเอทัวร์ รายการ พอร์ทแลนด์ คลาสสิก 3 กันยายน 2566
"โปรมิ้ม" วรรษวัลย์ สังขพงษ์ หยิบแชมป์ไต้หวัน แอลพีจีเอ รายการ บีจีซี ไทยแลนด์ แอลพีจีเอ มาสเตอร์ส 8 กันยายน 2566 , "โปรมายด์" ตรีฉัฐ จีนกลับ หยิบแชมป์เลดี้ส์ ยูโรเปี้ยนทัวร์ รายการ บิ๊ก กรีน เอ๊ก โอเพ่น 10 กันยายน 2566 , "โปรก้อย" ชลดา ชยณรรย์ หยิบแชมป์ไต้หวัน แอลพีจีเอ รายการ เคนดะ ไทร์ส ทีแอลพีจีเอ 22 กันยายน 2566 , "โปรภูมิ" ศักดิ์แสนศิลป์ หยิบแชมป์เอเชียนทัวร์ รายการ หยางเต๋อ ทีพีซี 24 กันยายน , โปรธงชัย ใจดี หยิบแชมป์พีจีเอทัวร์ แชมเปี้ยนส์ (ซีเนียร์ทัวร์) รายการ เพียว อินชันแรนซ์ แชมเปี้ยนชิพ 24 กันยายน 2566
ยิ่งหากนับรวมการประกาศศักดาในมหกรรมกีฬายิ่งใหญ่สุดทวีปเอเชีย "เอเชียนเกมส์" ครั้งที่ 19 หางโจว 2022 คว้า 2 เหรียญทองจากบุคคลหญิง "เปียโน" อาภิชญา ยุบล โปรรุคกี้แอลพีจีเอทัวร์พลิกจากตามหลังก่อนรอบสุดท้าย 7 สโตรก แซงเข้าป้ายพ่วงทองทีมหญิง "เปียโน" ผนึกกำลัง "โปรปลาย" พัชรจุฑา คงกระพุนธุ์
บวกด้วย 1 เหรียญเงินทีมชาย "โปรดราก้อน" อติรุจ วินัยเจริญชัย, โปรแดนไท บุญมา, โปรภูมิ ศักดิ์แสนศิลป์ และโปรพชร คงวัดใหม่ ด้วยการชิงชัยสโตรกเพลย์ที่ เวสต์ เลค อินเตอร์แนชันนอล กอล์ฟ คอร์ส 72 หลุมนั้นรอบสุดท้ายคาบเกี่ยวได้บทสรุป วันอาทิตย์ที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา นี้เองด้วยแล้ว กันยายนจึงเป็นเดือนทองวงการกอล์ฟไทยอย่างแท้จริง ชนิดยากจะปฎิเสธ
ฉะนั้นน่าคิดตามที่ "บิ๊กรัง" รังสฤษดิ์ ลักษิตานนท์ นายกสมาคมกีฬากอล์ฟแห่งประเทศไทย เอ่ยปากถึงความสำเร็จจากเอเชียนเกมส์ล่าสุด "นับเป็นอีกความสำเร็จอีกครั้งของสมาคมฯ ก่อนเริ่มแข่งขันได้ให้โอวาทนักกอล์ฟทุกคนให้ตั้งใจสู้อย่างมีสติ เพราะคู่แข่งทำผลงานได้ดีเช่นกัน ครั้งนี้เราทำได้ 2 เหรียญทอง ซึ่งทำได้ดีกว่าปี 2014 ที่อินชอน ต้องขอชื่นชมในความทุ่มเทของนักกีฬา และสต๊าฟฟ์โค้ชทุกคน"
"แม้เราประสบความสำเร็จครั้งนี้ ทางสมาคมยังเดินหน้าพัฒนานักกีฬาต่อไป เพราะยังมีการแข่งขันอีกมากที่ทางสมาคมฯส่งนักกีฬาร่วมการแข่งขัน" "กีฬากอล์ฟบ้านเราอยู่ในการพัฒนาทิศทางที่ดีทั้งสมัครเล่นและอาชีพ เห็นได้จากนักกีฬาสร้างชื่อเสียงให้ประเทศมากมาย"
"ทำให้สมาคมฯอยากเห็นภาครัฐให้เข้ามาร่วมสนับสนุนมากกว่านี้ เพราะกีฬากอล์ฟต้องมีการฝึกซ้อมสม่ำเสมอและต้องการเงินทุนในการสนับสนุน ทั้งในการซ้อม และส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันรายการต่างๆ ที่ผ่านมาสมาคมฯ พยายามเต็มที่ แต่หากได้รับการเกื้อหนุนจากทางภาครัฐมากขึ้น จะเป็นการเปิดโอกาสให้กับนักกีฬามากกว่านี้"
หากภาครัฐเข้ามาจับมือเอกชนขับเคลื่อนให้จริงจังและต่อเนื่องกว่านี้จะไปได้อีกไกลแค่ไหน ทั้งในแง่การสร้างชื่อเสียง การยึดเป็นอาชีพหาเลี้ยงตัวและครอบครัว เพราะเมืองไทยมี ไทยแลนด์ พีจีเอทัวร์, ไทยแลนด์ ดีเวลอปเมนต์ ทัวร์, ไทยแลนด์ แชมเปี้ยนส์ ลีก, แซ็ต-ไทยแลนด์ พีจีเอ วัน เดย์ ทัวร์ ของสมาคมกีฬากอล์ฟอาชีพแห่งประเทศไทย ไหน จะ ออล ไทยแลนด์ กอล์ฟ ทัวร์ ฝ่ายหญิงมีรายการของสมาคมกีฬากอล์ฟอาชีพสตรี
รวมถึงทัวร์ภายในประเทศรอบๆ ที่เปิดโอกาสและให้สิทธิ์์แข่งขัน ไล่ระดับไหล่จนถึงเวทีใหญ่ระดับโลกพวกพีจีเอทัวร์ แอลพีจีเอทัวร์ ที่สำคัญคือเป็นแรงบันดาลใจแก่เด็กเยาวชนรุ่นสู่รุ่นถัดๆ ไป แค่ทำให้ห่างไกลยาเสพติดและอมายมุขก็เป็นมูลค่ามากมายเกินตัวเลขที่ประเมินค่าไม่ได้ด้วยซ้ำ