ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ใช้โอกาสที่เดินทางมาร่วมมหกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโลกที่อังกฤษ เยี่ยมชมและตรวจค่ายมวยไทยในกรุงลอนดอน เชื่อหากค่ายมวยทั่วโลกมีมาตรฐานมากขึ้น จะยิ่งสร้างมูลค่าและความนิยม รวมถึงขยายฐานบุคลากรมวยไทย ทั้งเทรนเนอร์, นักมวย หรือค่ายมวย และปูทางไปสู้การเข้าแข่งขันในโอลิมปิก หรือ เอเชียนเกมส์
ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ใช้โอกาสที่เดินทางมาร่วมมหกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโลก (World Travel Market 2024) ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เดินทางเยี่ยมชมและตรวจค่ายมวยในกรุงลอนดอน ได้แก่ ไฟต์ ซิตี้ ยิม โดย ไฟต์ ซิตี้ ยิม เป็นค่ายมวยไทยในกรุงลอนดอน เปิดทั้งหมด 3 สาขา ซึ่งสาขาที่กกท.เดินทางมาตรวจเยี่ยมคือ มอร์เกต เป็นค่ายมวยไทยที่ก่อตั้งมาแล้ว 12 ปี มีโปรแกรมการฝึกสอนหลายรูปแบบ ทั้งคลาสมวยไทยและกีฬาต่อสู้, คลาสศิลปะการป้องกันตัวสำหรับผู้หญิง และคลาสสำหรับเด็ก มีวัตถุประสงค์หลักคือ ต้องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตของคนในเมืองผ่านกีฬามวยไทย และกีฬาต่อสู้ต่างๆ
ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย กกท. ได้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานค่ายมวยไทยในต่างประเทศเพื่อต้องการยกระดับมาตรฐานค่ายมวยไทยในต่างประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาล ที่ได้กำหนดให้ "มวยไทย" ซึ่งเป็นศิลปะการต่อสู้ประจำชาติ เป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ที่สำคัญ โดยมีคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านกีฬา ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย เป็นผู้ผลักดันนโนบายดังกล่าวให้เป็นรูปธรรม
สำหรับแนวทางการพิจารณาประกอบด้วย ความพร้อมของยิม, บุคลากร ทั้งครูมวยและเจ้าหน้าที่ รวมถึงสภาพแวดล้อมและความปลอดภัยของค่ายมวย ถ้าผ่านมาตรฐาน 4 ด้าน ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน, การบริหารจัดการ, การวางแผนและการจัดการเชิงกลยุทธ์ และการจัดการความรู้และเผยแพร่ศิลปะมวยไทย ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ที่เหนือกว่าค่ายมวยทั่วไป เช่นได้ใบประกาศนียบัตร, ป้ายรับรองมาตรฐาน รวมถึงได้สิทธิส่งผู้ฝึกสอนมาอบรมไลเซนส์ครูมวยไทย เป็นต้น ซึ่งค่ายมวย ไฟต์ ซิตี้ ยิม สาขามอร์เกต ได้รับพิจารณาผ่านเกณฑ์มาตรฐานดังกล่าวและได้รับป้ายรับรอง โดยขั้นตอนต่อไปสามารถส่งบุคลากรมาร่วมอบรมตามหลักสูตรของสำนักคณะกรรมการกีฬามวยต่อไป
ดร.ก้องศักด กล่าวว่า จากการมาเยี่ยมชมค่ายมวยไฟต์ ซิตี้ ยิม นับว่าเป็นค่ายที่ 3 ในประเทศอังกฤษ ที่ผ่านมาตรฐานของกกท. โดยค่ายนี้ยังมีอีก 2 สาขา ซึ่งกำลังตรวจสอบและให้คำแนะนำอยู่ นอกจากนี้ในประเทศอังกฤษยังมีอีก 7-8 ค่ายมวยที่กำลังยื่นขอใบรับรองเช่นกัน โดยค่ายที่ได้มาตรฐานก็จะทำให้คนที่มาเรียนมั่นใจว่าได้เรียนมวยไทยตามมาตรฐานของประเทศไทย นอกจากนี้ค่ายเองยังสามารถเข้าร่วมกับกกท. ในการส่งครูมวย หรือเทรนเนอร์ ไปฝึกเพื่อได้ไลเซนส์ครูมวยไทยระดับ เอ-บี-ซี ต่อไปด้วย เพื่อยกระดับมาตรฐานค่ายมวยในต่างประเทศต่อไป จากนี้ทั่วโลกก็จะมีมาตรฐานเดียวกัน
ผู้ว่าการกกท. กล่าวต่อว่า การสร้างมวยไทย ก็อยากทำให้ทุกค่ายมวยเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อที่จะได้มีข้อมูล ซึ่งมันจะเป็นประโยชน์ในการสร้างความนิยมของมวยไทยได้ เราตั้งใจให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก จากนี้กกท.จะมีข้อมูลว่าค่ายมวยที่ไหนได้มาตรฐานบ้าง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่มาเรียนและเพิ่มความนิยมมวยไทย
"การมีค่ายมวยที่ได้มาตรฐานมากขึ้น ก็จะขยายฐานบุคลากรมวยไทย ทั้งเทรนเนอร์, นักมวย หรือค่ายมวย ก็จะสร้างความนิยมให้สามารถผลักดันเข้าไปสู่โอลิมปิกเกมส์หรือเอเชียนเกมส์ในอนาคต นอกจากนี้ยังเป็นการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ เพราะเมื่อมีคนเรียนค่ายมวยมาตรฐานที่อังกฤษ ก็จะอยากต่อยอดไปเรียนที่ไทย เป็นผลต่อเนื่องกันไป หลายสถาบันมวยไทย ทั้งอิฟม่า (สหพันธ์สมาคมมวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ) หรือดับเบิลยูบีซี ก็เห็นพ้องว่าแนวทางนี้จะดันซอฟต์พาวเวอร์สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้" ดร.ก้องศักด กล่าวปิดท้าย