กิจกรรมมวยไทย มาสเตอร์คลาส 7 ประเทศ ผลตอบรับทะลุเป้าทั้งด้านผู้เข้าร่วมงานที่ได้รับความสนใจล้นหลาม รวมไปถึงสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ได้สูงถึง 1,366,132,139 บาทเมื่อดูในภาพรวม การผลักดันมวยไทยซอฟต์พาวเวอร์ตลอดปี สร้างการรับรู้ไปกว่า 190 ประเทศทั่วโลก ยังบรรลุผลเกินเป้าหมายในอีกหลายด้านเช่นกัน ทั้งตัวเลขนักมวย ผู้ฝึกสอนชาวไทย และต่างชาติ เพิ่มมากขึ้น ส่วนมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวม มีมากถึง 2,336 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าตัวเลขที่คาดการณ์ไว้ที่ 2,334 ล้านบาท
หลังจากที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านกีฬา และสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ร่วมกันจัดงานมวยไทย มาสเตอร์ คลาสใน 7 ประเทศ ระหว่างเดือนกันยายน ถึง ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา เพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์กีฬามวยไทย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในซอฟต์ พาวเวอร์ที่สำคัญของประเทศ ปรากฎว่า ผลการดำเนินงานเป็นไปในทิศทางที่ดี และมีกระแสตอบรับที่ดีเยี่ยมจากชาวต่างชาติ ในการทำกิจกรรมต่างๆ อาทิ การตรวจเยี่ยมยิมมวยไทย, การรับรองมาตรฐานค่ายมวยไทยในต่างประเทศ และการเปิดคลินิกสอนการออกอาวุธแม่ไม้มวยไทย
อีกทั้งการจัดงานดังกล่าว นอกจากจะสร้างการรับรู้ไปยังชาวต่างชาติ ที่สนใจในกีฬามวยไทยแล้ว ยังสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศไทยได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย โดยจะเห็นได้จากตัวเลขผู้เข้าร่วมกิจกรรมคลินิกมวยไทย ซึ่งมีการลงทะเบียนเต็มโควตา 300 คน ในทุกประเทศ ขณะที่บางประเทศยอดมีผู้เข้าร่วมงานทะลุเป้าหมาย เกินกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ โดยในจำนวนดังกล่าว มีผู้ที่แสดงความสนใจเดินทางมาเยือนประเทศไทย เพื่อเรียนมวยไทยเพิ่มเติมควบคู่ไปกับการท่องเที่ยว โดยมีตัวเลขที่น่าสนใจแต่ละประเทศ ดังนี้
1.ประเทศออสเตรเลีย มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,837 บาท/คน, มีผู้เข้าร่วมงาน 300 คน, ผู้ที่สนใจจะมาไทย 138 คน, จำนวนผู้ติดตามที่คาดว่าจะมาไทย 200 คน, มูลค่าทางเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมมวยไทย มาสเตอร์ คลาส 98,761,285 บาท
2.ประเทศจีน มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 3,530 บาท/คน, มีผู้เข้าร่วมงาน 300 คน, ผู้ที่สนใจจะมาไทย 242 คน, จำนวนผู้ติดตามที่คาดว่าจะมาไทย 388 คน, มูลค่าทางเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมมวยไทย มาสเตอร์ คลาส 334,625,078 บาท
3.ประเทศแคนาดา มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 3,116 บาท/คน, มีผู้เข้าร่วมงาน 300 คน, ผู้ที่สนใจจะมาไทย 129 คน, จำนวนผู้ติดตามที่คาดว่าจะมาไทย 200 คน, มูลค่าทางเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมมวยไทย มาสเตอร์ คลาส 156,861,885 บาท
4.ประเทศสหรัฐอเมริกา มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 2,809 บาท/คน, มีผู้เข้าร่วมงาน 318 คน, ผู้ที่สนใจจะมาไทย 154 คน, จำนวนผู้ติดตามที่คาดว่าจะมาไทย 246 คน, มูลค่าทางเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมมวยไทย มาสเตอร์ คลาส 168,866,703 บาท
5.ประเทศฝรั่งเศส มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 2,550 บาท/คน, มีผู้เข้าร่วมงาน 308 คน, ผู้ที่สนใจจะมาไทย 110 คน, จำนวนผู้ติดตามที่คาดว่าจะมาไทย 220 คน, มูลค่าทางเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมมวยไทย มาสเตอร์ คลาส 137,071,211 บาท
6.ประเทศอิตาลี มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 2,635 บาท/คน, มีผู้เข้าร่วมงาน 317 คน, ผู้ที่สนใจจะมาไทย 232 คน, จำนวนผู้ติดตามที่คาดว่าจะมาไทย 372 คน, มูลค่าทางเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมมวยไทย มาสเตอร์ คลาส 239,519,484 บาท
7.ประเทศสิงคโปร์ มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 3,713 บาท/คน, มีผู้เข้าร่วมงาน 300 คน, ผู้ที่สนใจจะมาไทย 159 คน, จำนวนผู้ติดตามที่คาดว่าจะมาไทย 254 คน, มูลค่าทางเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมมวยไทย มาสเตอร์ คลาส 230,426,492 บาท
สรุปรวมมูลค่าทางเศรษฐกิจ ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมมวยไทย มาสเตอร์ คลาสในครั้งนี้ สูงถึง 1,366,132,139 บาท นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานในปี พ.ศ.2567 ทั้งในไทยและต่างประเทศ ก็บรรลุผลเกินเป้าหมายในอีกหลายด้านเช่นกัน จากการสร้างการรับรู้ไปกว่า 190 ประเทศทั่วโลก โดยมีผลการดำเนินงานดังนี้
1.จำนวนบุคลากรในวงการกีฬามวยไทย ผู้ฝึกสอน (คนไทย) 772 คน สูงกว่าตัวเลขที่คาดการณ์เอาไว้ที่ 700 คน, นักมวย (ต่างชาติ) 4,546 คน สูงกว่าตัวเลขที่คาดการณ์เอาไว้ที่ 4,520 คน และผู้ฝึกสอน (ต่างชาติ) 190 คน สูงกว่าตัวเลขที่คาดการณ์เอาไว้ 120 คน
2.จำนวนค่ายมวย เป็นค่ายมวยในไทยมีจำนวน 721 ค่าย สูงกว่าตัวเลขที่คาดการณ์เอาไว้ที่ 500 ค่าย, ค่ายมวยในต่างประเทศมีจำนวน 70 ค่าย สูงกว่าตัวเลขคาดการเอาไว้ที่ 50 ค่าย
3.มูลค่าทางเศรษฐกิจ 2,336 ล้านบาท สูงกว่าตัวเลขที่คาดการณ์เอาไว้ที่ 2,334 ล้านบาท