ซอฟต์พาเวอร์มวยไทยเห็นผลทันตา ยอดพุ่งเท่าตัวในทุกด้าน "บิ๊กเอ" ผศ.พิมล ศรีวิกรม์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านกีฬา ยิ้มรับผลรายงาน เข้าเป้า ทั้งเศรษฐกิจและจะดึงเงินเข้าประเทศปีนี้ 2,334 ล้านบาท และปีหน้าจะเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว แถมมีนักมวยไทย ที่เป็นชาวต่างชาติ มากถึง 4,520 คนในปี 67 ด้านครูมวยอาชีพในเมืองไทย และในต่างประเทศยอดเพิ่มจำนวนมาก และตอนนี้มีกิจกรรมมวยไทยในต่างประเทศ 200 ประเทศทั่วโลก ในปี 2567 และเพิ่มขึ้น 250 ประเทศทั่วโลก ในปี 2568
ผศ.พิมล ศรีวิกรม์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านกีฬา ครั้งที่ 7/2567 พร้อมด้วย นายไพฑูร ชุติมากรกุล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านกีฬา นายปรีชา ลาลุน รองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย และคณะอนุกรรมการฯ เข้าประชุมพร้อมเพรียงกัน ที่ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา (อาคาร 25 ชั้น) การกีฬาแห่งประเทศไทย เมื่อ 14 พ.ค.67 โดยในที่ประชุม ได้สรุปความคืบหน้าในการดำเนินงาน มวยไทยซอฟต์พาวเวอร์ ของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านกีฬา ที่เป็นเป้าหมาย Quick Win ระยะเวลาภายใน 100 วัน และ 180 วัน
สำหรับสิ่งที่ดำเนินการไปแล้ว คือการเปิดศูนย์ทดสอบสมรรถนะมวยไทย ร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรง รับรองผู้ฝึกสอนที่จะไปปฏิบัติหน้าที่ต่างประเทศ, การจัดอบรมผู้ฝึกสอนระดับ C-License เพื่อการันตีและต่อยอดสู่มาตรฐานฝีมือแรงงานสาขาผู้ฝึกสอนมวยไทย รองรับความต้องการของต่างประเทศ, การส่งผู้ฝึกสอนมวยไทย ระดับ License ที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน เข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมและเผยแพร่มวยไทย ในประเทศซาอุดิอาระเบีย, การออกวีซ่า NON ED สำหรับนักท่องเที่ยวชุดแรกที่มีความตั้งใจมาเรียนมวยไทย ณ ค่ายมวย จังหวัดภูเก็ต, การจัดงาน master class ณ ประเทศอังกฤษ และตรวจเยี่ยมค่ายมวยไทย ในต่างประเทศ เพื่อรับรองมาตรฐานต่อไป
ทั้งนี้ในที่ประชุมยังได้ สรุปเป้าหมายของการดำเนินโครงการภายใต้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านกีฬา ที่ขับเคลื่อน มวยไทยซอฟต์พาวเวอร์ โดยตั้งเป้า 1. มูลค่าทางเศรษฐกิจ เพิ่มมูลค่า 2,334 ล้านบาท ในปี 2567 และเพิ่มขึ้นเป็น 4,000 ล้านบาท ในปี 2568, 2. เพิ่มนักมวยไทยอาชีพ (ต่างชาติ) 4,520 คน ในปี 2567 และเพิ่มขึ้นเป็น 5,600 คน ในปี 2568, 3. เพิ่มนักนักมวยไทยอาชีพ (ชาวไทย) 6,032 คน ในปี 2567 และเพิ่มขึ้นเป็น 9,300 คน ในปี 2568, 4. เพิ่มผู้ฝึกสอนมวยไทยอาชีพ (ชาวไทย) 700 คน ในปี 2567 และเพิ่มขึ้นเป็น 1400 คน ในปี 2568, 5. เพิ่มผู้ฝึกสอนมวยไทยอาชีพ (ต่างชาติ) 120 คน ในปี 2567 และเพิ่มขึ้นเป็น 240 คน ในปี 2568, 6. เพิ่มค่ายมวยมาตรฐาน (ในประเทศ) 500 ค่าย ในปี 2567 และเพิ่มขึ้น 1,000 ค่าย ในปี 2568, 7. เพิ่มค่ายมวยมาตรฐาน (ต่างประเทศ) 50 ค่ายทั่วโลก ในปี 2567 และเพิ่มขึ้น 61 ค่ายทั่วโลก ในปี 2568, 8. การรับรู้กิจกรรมมวยไทยในต่างประเทศ 200 ประเทศทั่วโลก ในปี 2567 และเพิ่มขึ้น 250 ประเทศทั่วโลก ในปี 2568 และที่ประชุมได้นำเสนอความคิดเห็นในด้านต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ที่ดีในการพัฒนามวยไทยซอฟต์พาวเวอร์ต่อไป