ยกน้ำหนักสร้างฮีโร่ต่อเนื่อง 6 โอลิมปิกหลังสุดกวาด 17 เหรียญ

ยกน้ำหนักสร้างฮีโร่ต่อเนื่อง 6 โอลิมปิกหลังสุดกวาด 17 เหรียญ
ยกน้ำหนัก ยังถือเป็นกีฬาความหวังที่แฟนกีฬาชาวไทยยังไว้ใจได้เสมอ ยามลงแข่งขันในเวทีใหญ่ระดับบิีกเบิ้ม อย่าง ศึกโอลิมปิกเกมส์​

ในศึก "ปารีส 2024" เป็นอีกหนึ่งครั้ง ที่เหล่าจอมพลัง รวมถึงทีมงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง รวมใจกันทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ ก่อนจะคว้ารวม 2 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดงกลับบ้าน จากโควตาเข้าร่วมชิงชัยรอบสุดท้าย 4 ที่นั่ง คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ได้เหรียญ ก็สูงถึง 75 เปอร์เซ็นต์

ส่ง 4 รุ่น ได้มา 3 เหรียญ แบ่งเป็น 2 เงิน 1 ทองแดง นี่คือการคัมแบ็กเวทีโอลิมปิกเกมส์ที่ยอดเยี่ยมของทีมจอมพลังไทย หลังถูกแบนไปในการแข่งขันเมื่อปี 2021 เนื่องจากปัญหาเรื่องสารต้องห้าม

"เสธ.ยอด" พลตรี อินทรัตน์​ ยอดบางเตย

 "เสธ.ยอด" พลตรี อินทรัตน์ ยอดบางเตย นายกกิตติมศักดิ์สมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ยอมรับถึงความผิดพลาดจากการใช้เจลทารักษาอาการบาดเจ็บให้นักกีฬานั้น มีผลทำให้ตัวยา ซึ่งถูกประกาศให้เป็นสารต้องห้ามแทรกซึมเข้าในเส้นเลือด จนนักกีฬาถูกตรวจพบว่ามีสารต้องห้าม และมีผลให้ทีมต้องพลาดลงแข่งขันในแมตช์สำคัญๆมากมายราว 3 ปี ซึ่งก็รวมถึงโอลิมปิก 2020 ซึ่งจัดขึ้นในปี 2021 ด้วย 

กับโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ สมาคมระมัดระวังในเรื่องสารต้องห้ามเป็นอย่างมาก หลังได้รับบทเรียนในคราวก่อน ขณะเดียวกันก็วางแผนการทำงานกันแบบยาวๆตั้งแต่เนิ่นๆ จนได้โควตาเข้ามาแข่งขันในรอบสุดท้าย  4 ที่นั่ง แบงเป็นชาย 2 คน และหญิง 2 คน น่าเสียดายที่ในแมตช์คัดเลือกโอลิมปิกเกมส์ 2024 สนามสุดท้ายที่เมืองไทย เมื่อช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา จอมพลังไทยคว้าตั๋วเพิ่มไม่ได้ ทำให้หลุดไปจากเป้าที่สมาคมหวังจะมีจอมพลังลุยรอบสุดท้าย 6 คนไป 

การเก็บตัวแบบเข้มข้นอย่างต่อเนื่องแบบข้ามปี ควบคู่ไปการใช้วิทยาศาสตร์การกีฬา โภชนาการกีฬา และจิตวิทยากีฬา เข้ามาเสริมเพิ่มจากการฝึกบนฟลอร์ที่ใส่เรื่องเทคนิคและความแข็งแรงเข้าไป ช่วยให้จอมพลังไทยที่รอบนี้มาแบบเงียบๆ แต่ก็มีความพร้อมที่ดีมากๆ แม้ทั้ง 4 คน ต่างไม่เคยผ่านเวทีโอลิมปิกเกมส์มาก่อนเลยก็ตาม

ธีรพงศ์​ ศิลาชัย

เหรียญแรกของทีมจอมพลังไทยต้องบอกว่าเซอร์ไพรส์กันทั่วประเทศ กับ เหรียญเงินของ "ฟ่าง" ธีรพงศ์ ศิลาชัย จอมพลังหนุ่มวัย 20 ปี จากศรีสะเกษ ซึ่งฟอร์มการยกดีมากๆ ยกผ่านทั้ง 6 ครั้ง ก่อนจะคว้าเหรียญเงินในรุ่น 61 กก.มาครองได้อย่างเซอร์ไพรส์ 

เคล็ดไม่ลับที่ทำเจ้าตัว สร้างเซอร์ไพรส์ในครั้งนี้ คือ การมีหัวจิตหัวใจที่นิ่งและเยือกเย็น โดยเจ้าตัวเปิดใจหลังเกม พยายามโฟกัสแค่ตัวเอง และลูกเหล็กที่อยู่ตรงหน้าเท่านั้น ส่วนในเกมการแข่งขัน ที่มีการเรียกเหล็กแข่งเกทับกัน โค้ชจะทำหน้าที่วางเกมให้เอง ซึ่งในรุ่นของ "ฟ่าง" คู่แข่งถึง 5 คน ซึ่งก็รวมถึงอินโดนีเซีย ที่มีดีกรีระดับแชมป์โลก ยังพลาดยกรูดไม่มีสถิติบนเวทีโอลิมปิก

 สุรจนา คำเบ้า

ในวันเดียวกัน "ออย" สุรจนา คำเบ้า จะคว้าเหรียญทองแดง ซึ่งเป็นเหรียญที่สองให้ทีมจอมพลังอย่างต่อเนื่อง กับการแข่งขันในรุ่น 49 กก.หญิง 

ให้หลังหนึ่งวัน "เวฟ" วีรพล วิชุมา จอมพลังความหวังอันดับ 1 ของทีม ก็มาคว้าเหรียญเงินที่ 2 ให้กับทีม และเป็นเหรียญที่สามให้กับทัพไทย จากรุ่น 73 กก.ชาย ซึ่ง "เสธ.ยอด" แอบเสียดายเล็กๆ โดยบอกว่า หาก วีรพล ยกสแนตช์ได้ดี ผ่านได้ทั้ง 3 ครั้งตามแผน มีโอกาสไปถึงเหรียญทองเลย 

วีรพล วิชุมา

น่าเสียดายที่ในวันสุดท้าย 11 ส.ค.2567 "ส้ม" ดวงอักษร ใจดี พลาดเหรียญรางวัลในรุ่นมากกว่า 81 กก.หญิงไป โดยทำดีสุุุดด้วยการจบอันดับที่ 6 ในรุ่นใหญ่สุดที่มีแต่ตัวตึงจากทั้งเอเชีย, ยุโรป และ เมริกา ซึ่งเราเพิ่งส่งนักกีฬารุ่นใหญ่ๆแบบนี้เข้าร่วมเป็นครั้งแรก นับแต่หมดยุคของ ปวีณา ทองสุก ที่เคยคว้าเหรียญทอง โอลิมปิก ในรุ่น 75 กก. 

ภาพรวม 2 เหรียญ 1 เหรียญทองแดง กับการคืนสนามโอลิมปิกครั้งแรกในรอบ 8 ปี ถือว่าน่าพอใจมากๆ หากดูถึงปัจจัยอื่นๆ ประกอบ โดยเฉพาะในเรื่องสำคัญ อย่าง เรื่องประสบการณ์ของ 4 จอมพลัง ที่ต่างก็ไม่เคยผ่านเวทีโอลิมปิกเกมส์มาก่อน แต่ทุกคนทำได้ยอดเยี่ยม นิ่งพอและเอาชนะความกดดันนั้นได้ 

ดวงอักษร ใจดี

3 เหรียญรางวัลโอลิมปิก จากศึก "ปารีส 2024" ยังทำให้ทีมยกน้ำหนักไทยยังคงไม่ไร้ซึ่งฮีโร่ที่คว้าเหรียญรางวัลในโอลิมปิกเกมส์ต่อไปเป็นหนที่ 7 นับตั้งแต่ได้เหรียญแรกในปี 2000 จาก เกษราภรณ์ สุตา ที่สร้างประวัติศาสตร์คว้าเหรียญแรกให้ทัพจอมพลังไทย ในรุ่น 58 กก.หญิง จากการได้เหรียญทองแดง จากนั้นตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา เหล่าจอมพลังจะสลับกันขึ้นมาสร้างความสำเร็จโดยตลอด 

ผลงานและความสำเร็จที่ออกมา ตอบแทนการลงทุนที่คุ้มค่าของทีมที่วางแผนและวางระบบการบริหารจัดการได้ค่อนดีสอดรับไปกับการสร้างนักกีฬาให้แข็งแกร่งด้วยเทคนิค ควบคู่ไปกับการสร้างนักกีฬาให้มีวินัยในทุกๆรุ่นทุกๆชุด ซึ่งสิ่งนี้ "เสธ.ยอด" เผยได้ใช้ในการสร้างนักกีฬาในทุกๆชุดที่ประสบความสำเร็จมา และยืนยันสิ่งนี้จะพานักกีฬาทุกคนไปสู่จุดหมายปลายทางแห่งความสำเร็จได้จริง 

ยกน้ำหนัก

สำหรับการแข่งขันโอลิมปิก 2028 ที่ลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา เราอาจจจะได้เห็นนักกีฬาชุดนี้อีกอย่างน้อย 3 คน ที่อายุยังน้อย คือ "ฟ่าง-เวฟ-ออย" และน่าจะอยู่ในจุดที่พีคพอดิบพอดี ในการตามล่าความฝันและความสำเร็จที่นั่นอีกครั้ง รวมถึงอาจมีนักกีฬารุ่นใหม่ๆ ซึ่งสมาคมได้เตรียมและวางแผนเอาไว้แล้ว ก้าวขึ้นสร้างผลงานให้เป็นตำนานบทใหม่อีกครั้งก็เป็นได้ ซึ่งเป้าหมายในครั้งหน้าคงไม่ใช่แค่มีเหรียญอย่างเดียว แต่อาจมองและหวังไปถึงการก้าวไปคว้าเหรียญทองให้ใด้อีกครั้ง ต่อจากปี 2016

** 17 เหรียญรางวัลในโอลิมปิกเกมส์ ของทีมยกน้ำหนัก **
ปี 2000 :
เกษราภรณ์ สุตา เหรียญทองแดง รุ่น 58 กก.หญิง 
ปี 2004 :
อุดรพร พลศักดิ์ เหรียญทอง รุ่น 53 กก.หญิง

ปวีณา ทองสุก เหรียญทอง รุ่น 75 กก.หญิง 

อารีย์ วิรัฐถาวร เหรียญทองแดง รุ่น 48 กก.หญิง 

วันดี คำเอี่ยม เหรียญทองแดง รุ่น 58 กก.หญิง
ปี 2008 :
ประภาวดี เจริญรัตนธารากูล เหรียญทอง รุ่น 53 กก.หญิง

เพ็ญศิริ เหล่าศิริกุล เหรียญทองแดง รุ่น 48 กก.หญิง

วันดี คำเอี่ยม เหรียญทองแดง รุ่น 58 กก.หญิง
ปี 2012 :
พิมศิริ ศิริแก้ว เหรียญเงิน รุ่น 58 กก.หญิง 

ศิริภุช กุลน้อย เหรียญทองแดง รุ่น 58 กก.หญิง 
ปี 2016 :
โสภิตา ธนสาร เหรียญทอง รุ่น 48 กก.หญิง 

สุกัญญา ศรีสุราช เหรียญทอง รุ่น 58 กก.หญิง 

พิมศิริ ศิริแก้ว เหรียญเงิน รุ่น 58 กก.หญิง 

สินธุ์เพชร์ กรวยทอง เหรียญทองแดง รุ่น 56 กก.ชาย
ปี 2021 :
ไม่ได้เข้าร่วมแข่งขัน 
ปี 2024 :
ธีรพงศ์ ศิลาชัย เหรียญเงิน รุ่น 61 กก.ชาย

วีรพล วิชุมา เหรียญเงิน รุ่น 73  กก.ชาย 

สุรจนา คำเบ้า เหรียญทองแดง รุ่น 49 กก.หญิง

ที่มาของภาพ : -
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport