ยอดอัดฉีดฮีโร่โอลิมปิก ปารีส 2024 ของไทย จากผลงาน 1 เหรียญทอง 3 เหรียญเงิน 2 เหรียญทองแดง รวมมากกว่า 74.22 ล้านบาทแล้ว
โดย“เทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ที่คว้าเหรียญทอง เทควันโด รุ่น 49 กิโลกรัมหญิง ตัวเลข อยู่ที่ 18.88 ล้านบาท รองลงมาเป็น 3 เหรียญเงินของไทย “วิว” กุลวุฒิ วิทิตศานต์, “ฟ่าง” ธีรพงศ์ ศิลาลัย และ “เวฟ” วีรพล วิชุมา ได้ไปคนละ 13.1 ล้านบาท ส่วนเหรียญทองแดง “ออย” สุรจนา คำเบ้า ได้ 9.02 ล้านบาท และ “บี” จันทร์แจ่ม สุวรรณเพ็ง ได้ 7.02 ล้านบาท
หลังจาก ทัพนักกีฬาทีมชาติไทย ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ปารีส 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ด้วยการคว้าไปได้แล้ว 1 เหรียญทอง 3 เหรียญเงิน 2 เหรียญทองแดง โดย 1 เหรียญทอง ได้จาก “เทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ เทควันโด รุ่น 49 กิโลกรัมหญิง ซึ่งได้สร้างประวัติศาสตร์ เป็นนักกีฬาไทยคนแรก ที่คว้าได้ 3 เหรียญในกีฬาโอลิมปิก และยังเป็นคนแรกที่ได้เหรียญทองสมัยที่ 2 ติดต่อกัน ส่วน 3 เหรียญเงิน จาก “วิว” กุลวุฒิ วิทิตศานต์ แบดมินตัน ชายเดี่ยว, “ฟ่าง” ธีรพงศ์ ศิลาชัย ยกน้ำหนัก รุ่น 61 กิโลกรัมชาย, “เวฟ” วีรพล วิชุมา ยกน้ำหนัก รุ่น 73 กิโกลัมชาย และ 2 เหรียญทองแดง จาก “ออย” สุรจนา คำเบ้า ยกน้ำหนัก รุ่น 49 กิโลกรัมชาย และ “บี” จันทร์แจ่ม สุวรรณเพ็ง มวยสากล รุ่น 66 กิโลกรัมหญิง
ในส่วนของเงินรางวัลที่นักกีฬาแต่ละคนจะได้รับ ในเวลานี้ จะมาจาก กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) จะมอบเงินรางวัลให้กับนักกีฬาทีมชาติไทย ที่คว้าเหรียญรางวัลในโอลิมปิกเกมส์ แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ดังนี้ รูปแบบแรก เหรียญทอง 12 ล้านบาท, เหรียญเงิน 7.2 ล้านบาท และเหรียญทองแดง 4.8 ล้านบาท (จ่ายเป็นเงินก้อนอัตราร้อยละ 50 ส่วนอีกร้อยละ 50 แบ่งจ่ายเป็นรายเดือนในระยะเวลา 4 ปี) รูปแบบที่ 2 คือ การแบ่งจ่ายเป็นเงินก้อนทั้งหมดในครั้งเดียว เหรียญทอง ได้ 10 ล้านบาท, เหรียญเงิน 6 ล้านบาท และเหรียญทองแดง 4 ล้านบาท ซึ่งนักกีฬาที่มีสิทธิ์เลือกรับเงินรางวัลรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง
ขณะที่ คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ จะมอบเงินเดือนให้นักกีฬา เป็นระยะเวลา 20 ปี โดย เหรียญทอง ได้รับเงินเดือนในอัตรา เดือนละ 12,000 บาท (รวมเป็นเงิน 2.88 ล้านบาท), เหรียญเงิน ได้รับเงินเดือนในอัตรา เดือนละ 10,000 บาท (รวมเป็นเงิน 2.4 ล้านบาท) และเหรียญทองแดง ได้รับเงินเดือนในอัตรา เดือนละ 8,000 บาท (รวมเป็นเงิน 1.92 ล้านบาท) โดยนักกีฬาจะได้รับเงินเดือนดังกล่าวทันทีในเดือนถัดไป หลังจากที่คว้าเหรียญโอลิมปิกเกมส์
นอกจากนี้ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ร่วมมอบเงินรางวัลอัดฉีดนักกีฬาทีมชาติไทย เหรียญทอง 1 ล้านบาท, เหรียญเงิน 5 แสนบาท และเหรียญทองแดง 3 แสนบาท ส่วน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้เฉพาะนักกีฬายกน้ำหนัก เหรียญทอง 5 ล้านบาท, เหรียญเงิน 3 ล้านบาท และเหรียญทองแดง 2 ล้านบาท ขณะที่ คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล กรรมการคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซีเมมเบอร์) รองประธานสหพันธ์แบดมินตันโลก และนายกสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ มอบเงินส่วนตัวให้ “วิว” กุลวุฒิ วิทิตศานต์ ที่ได้เหรียญเงิน แบดมินตัน ชายเดี่ยว ซึ่งเป็นเหรียญประวัติศาสตร์ในกีฬาโอลิมปิก 1.5 ล้านบาท ด้าน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ก็มอบเงินรางวัล 1.5 ล้านบาท ให้เฉพาะ "วิว" กุลวุฒิ วิทิตศานต์ เช่นเดียวกัน
ยังรวมถึง จากการที่ นายสิริชัย วงศ์พัฒนกิจ พ่อของ “เทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ แชมป์โอลิมปิกเกมส์ 2 สมัย ซึ่งเดินทางไปให้กำลังใจลูกสาว พร้อม "เบสบอล" ศราวิน วงศ์พัฒนกิจ พี่ชายของ “เทนนิส” และครอบครัวได้เดินทางไปให้กำลังจอมเตะสาวไทย ที่สนามแข่งขันกรุงปารีส ได้โพสต์ขอบคุณ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ไปเชียร์ถึงสนามแข่งขัน พร้อมจัดเลี้ยงวันเกิดให้ และให้เงินอัดฉีดส่วนตัว 3 ล้านบาท อีกด้วย
ทำให้ยอดรวมเงินรางวัลอัดฉีด ของ “เทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ที่คว้าเหรียญทอง เทควันโด รุ่น 49 กิโลกรัมหญิง โอลิมปิก ปารีส 2024 ขยับไปอยู่ที่ 18.88 ล้านบาทแล้ว รองลงมาเป็น 3 เหรียญเงินของไทย ไม่ว่าจะเป็น “วิว” กุลวุฒิ วิทิตศาสตร์ แบดมินตัน ชายเดี่ยว, “ฟ่าง” ธีรพงศ์ ศิลาลัย ยกน้ำหนัก รุ่น 61 กิโลกรัมชาย และ “เวฟ” วีรพล วิชุมา ยกน้ำหนัก รุ่น 73 กิโกลัมชาย ได้ไปคนละ 13.1 ล้านบาท ส่วนเหรียญทองแดง ในรายของ “ออย” สุรจนา คำเบ้า ยกน้ำหนัก รุ่น 49 กิโลกรัม ได้ 9.02 ล้านบาท และ “บี” จันทร์แจ่ม สุวรรณเพ็ง มวยสากล รุ่น 66 กิโลกรัมหญิง ได้ 7.02 ล้านบาท