โอลิมปิกส์ สมัยใหม่ 2024 หรือในภาษาฝรั่งเศส Jeux olympiques d'été de 2024 คืนนี้ชมกันได้ตั้งแต่ 00.30 น.เวลาบ้านเรา
ทางฟรีทีวี ช่อง7,PPTV36 หรือทาง เปย์ ทีวี ทรู วิชันส์ , ออนไลน์ทาง AIS play สะดวกทางไหน ชมทางนั้น
ถ้าถามว่าอยากดูอะไรในพิธีเปิด
ดู soft power นั่นแหละครับ
อีเว้นต์กีฬาระดับโลก เหมือนเป็นการจัดแข่งขันกีฬา แต่เอาเข้าจริงๆ มันยิ่งกว่าการจัดแข่งกีฬา.... มันคือการบริหารจัดการ "ทุกงาน" โดย "กีฬา" คือตัวเชื่อมทุก "งานบริหาร" เข้าด้วยกัน
แล้ว soft power ในโอลิมปิก 2024 คืออะไร
เยอะแยะ...ผมว่าคนอ่านรู้เยอะกว่าผม โดยเฉพาะแบรนด์สินค้าระดับโลก แนวๆแฟชั่น คงไม่ต้องขยายความ แต่เชิงวัฒนธรรม, ประวัติศาสตร์ ที่เป็น soft power ของฝรั่งเศสนั้นน่าจะเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้ว
โอลิมปิก 2024 คือการประกาศศักดาเชิง soft power ของประเทศมหาอำนาจที่เคยล่าอาณานิคมอย่างฝรั่งเศสผ่านการกีฬาที่ชื่อ โอลิมปิก เกมส์
อย่างไรก็ตาม....ภาพกว้างๆ มันเป็นแบบนั้น เอาเข้าจริงๆ สิ่งที่อยากชมในแนวๆของผม คงมีแค่เรื่อง การแสดง, ทัพเรือนักกีฬา, การจุดคบเพลิง อันเป็นไฮไลต์สุดท้ายที่ผมชอบดู
ที่สำคัญนี่คือพิธีเปิดที่จัดกันนอกสนามกีฬาแถมลงแม่น้ำ กลางมหานครปารีสซะอีก
อันนี้เทห์อย่างมีสไตล์ที่สุด
ดูว่าเขาจะทำกันไงเพราะต้องควบคุมอะไรเยอะ
สภาพอากาศอันนี้คุมไม่ได้
แสง...สี....เสียง....ขบวนเรือขนนักกีฬา, เจ้าหน้าที่ ลองแม่น้ำแซน
ส่วนตัวผมเองเคย "ฟลุค" ทำข่าวโอลิมปิก1 ครั้งที่ ริโอ เดอ จาไนโร 2016 นั่นเอง
ที่ว่าฟลุค คือว่า....ในสายงานสยามสปอร์ตแล้วนั้นการทำข่าวโอลิมปิกของผมในฐานะที่อยู่กองข่าวกีฬาต่างประเทศ ดูยากมากจากโคต้า ที่ต้องจัดสรรปันส่วนให้ทีมข่าวกีฬาในประเทศ ซึ่งแน่นอนเกาะติดนักกีฬาไทยเป็นหลัก
กองข่าวกีฬาต่างประเทศ อยู่ในโคต้า ไปประจำที่อังกฤษ, บอลยูโร,บอลโกปา อเมริกา และ ฟุตบอลโลก ซะมากกว่า แน่นอนผมก็ได้โคต้าไปประจำการที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ 2 ปี (1996-98) ส่วนอีเว้นต์ฟุตบอลอื่นๆนั้นผมไม่เคยไปเลยแม้แต่ครั้งเดียว
ขณะที่โอลิมปิก นั้นยิ่งห่างไกลจากเส้นทางการทำงานของผมแต่ชีวิตคนเรามันก็มีเรื่องคาดไม่ถึงด้วยเพราะเมื่อครั้งที่โอลิมปิก บราซิล 2016 นั้นทีมข่าวกีฬาช่อง7 มีโคต้าว่าง จึงส่งมาให้ผม แต่ต้องเดินทางไปทำข่าวหลังจากเปิดการแข่งขันไปแล้ว 4-5 วัน
โอลิมปิกครั้งแรกและครั้งเดียวของผม ได้ทำให้เกิดการบันทึกว่านี่คือการเดินทางไกลที่สุดในการไปทำข่าวยังต่างประเทศ รวมทั้งใช้เวลาเดินทางนานที่สุดเช่นกัน
จากสุวรรณภูมิ-ดูไบ 6-7 ช.ม. แวะทรานสิต 3 ช.ม. ก่อนไปยังริโอ เดอ จาไนโร อีก 14 ช.ม. นั่นเท่ากับผมเดินทางจากประเทศไทยไปบราซิล 1 วัน พอดี
บางทีพี่ๆที่ช่อง7 เค้าคงไม่อยากบินไกลมั้งเลยส่งโคต้านี้มาให้ผม 55
โอเค นั่นคือครั้งแรกและน่าจะเป็นครั้งเดียวในชีวิตที่ผมได้เกาะติดโอลิมปิกเกม และได้เป็นพยานบันทึกประวัติศาสตร์เหรียญทองฟุตบอลชายครั้งแรกของคนบราซิล นำโดยกัปตัน เนยมาร์ ณ เมกกะลูกหนังของโลกฟุตบอลอย่าง มาราคานา สเตเดี้ยม
ความน่าสนใจของโอลิมปิก ยังคงเป็นไปเหมือนเดิมในนามของกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติทั้งเชิงตัวเลขและคุณภาพของทุกเรื่องไม่ใช่ผลแข่งขันเท่านั้น
1 ตัวเลขโอลิมปิก
206 ชาติสมาชิก ร่วมแข่งOlympic 2024 และทีม ผู้อพยพ Refugee Olympic Team ทีมพิเศษโอลิมปิกตัว Individual Neutral Athletes ย่อยึดจากภาษาฝรั่งเศส คือ AIN ได้แก่นักกีฬารัสเซียและเบลารุส ไม่มีธงชาติ ไม่ได้ร่วมพิธีเปิด ไม่มีชื่อในเหรียญรางวัล แต่ร่วมแข่งขันได้ตามปกติ
โดยสหรัฐ ส่งนักกีฬาร่วมแข่งขันมากสุด 592 คน
เจ้าภาพ ฝรั่งเศส 573 คน
ออสเตรเลีย 460 คน
Refugee Olympic Team (37)
AIN 32 คน
ทวีปเอเชีย
ญี่ปุ่น 403 คน
จีน 388 คน
เกาหลีใต้ 141 คน
ไทย 51 คน
-ชิงชัยทั้งหมด 329 ทอง 32 ชนิดกีฬา
-ทองแรก ยิงปืน27 ก.ค. ทองสุดท้าย 11 ส.ค. บาสเก็ตบอลหญิง
-กีฬาใหม่ครั้งแรก “เบรคแด้นส์” 2 ทอง
-คาราเต้,เบสบอล ไม่มีแข่ง
-กรีฑา มีเงินรางวัลจาก สหพันธ์กรีฑาโลก
ทองได้ £34,700 หรือ 1 ล้าน 8 แสนบาท!!
-ส่วนเจ้าเหรียญทองนั้น USA - จีน จะประกาศศักดา แข่งกันเหมือนเดิม
ครั้งก่อน USA เฉือน1 ทอง 39-38 แต่เหรียญรวมของ USA เยอะกว่า!! 113-89
ส่วนอันดับ3 ญี่ปุ่น 27 ทอง
ส่วนไทยแลนด์ 1 ทอง 1 ทองแดง
พานิภัค วงค์พัฒนกิจ
ส่วนทองแดงคือมวยสากลหญิง สุดาพร สีสอนดี
-600,000 คน ตัวเลขผู้ชมที่คาดว่าจะชมพิธีเปิดในกรุงปารีส
-220,000 ตั๋วฟรีให้ผู้ชมริมฝั่งแม่น้ำด้านบน
-104,000 ตั๋วจำหน่ายผู้ชมริมฝั่งแม่น้ำอย่างใกล้ชิด
-พิธีเปิดใช้เรือ 94 บรรทุกเจ้าหน้าที่และนักกีฬากว่า 9,000 คน ระยะทางล่องแม่น้ำแซน 6 ก.ม. ผ่านจุดสำคัญๆ มหาวิหาร นอเทรอ ดาม,พิพิธภัณฑ์ลูฟว์ จนถึง Trocadero ที่ฉากหลังเป็นหอไอเฟล
-80 จอภาพขนาดยักษ์เปิดถ่ายทอดสดพิธีเปิดทั่วปารีส
-ตำรวจ 45,000 นาย, หน่วยปฏิบัติการพิเศษ 20,000 นาย และทหารอีก 18,000 นาย ดูแลความปลอดภัยทั่งมหานครปารีส
-1,500 ล้านคนทั่วโลกชมถ่ายทอดสดพิธีเปิดการแข่งขัน
2 soft power เจ้าภาพ
ตั้งแต่การออกแบบเหรียญรางวัลจนถึงพิธีเปิดการแข่งขัน.....เราได้เห็นวัฒนธรรม, ประวัติศาสตร์ชาติฝรั่งเศสอย่างเด่นชัดอีกครั้ง ซึ่งจริงๆ ทุกคนรู้และเข้าใจดีอยู่แล้วว่าทุกคนรับอิทธิพลแห่งวัฒนธรรม, การใช้ชีวิต, อาหารการกิน...และความเชื่อต่างๆนานาที่เป็น soft power ฝรั่งเศส
แค่การออกแบบเหรียญรางวัลโอลิมปิกที่กลุ่ม LVMH ซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์ของโอลิมปิก ครั้งนี้ก็เหลือรับประทายแล้ว เมื่อเห็นโลโก้ หลุยส์ วิตตอง เราเห็นถึงการการันตีความมีระดับของเหรียญที่ควรค่าแก่การต่อสู้แย่งชิงเพื่อครอบครองให้ได้
ไอเดียในการใช้วัสดุผลิตจากชิ้นส่วนของเหล็กที่ใช้สร้างหอไอเฟลระหว่างปี 1887-1889 โน่นเลย ส่วนไอเดียของเหรียญรางวัลมีสามแนวคิด hexagon ทรงหกเหลี่ยมของหอไอเฟลไว้กลางเหรียญ ล้อมรอบด้วยโครงทอง, เงินและทองแดงที่เป็น radiance หรือรัศมีกระจายรอบทรงกลมของเหรียญ มองจากภายนอกเห็นแสงสะท้อนของ gem-setting หรือรูปลักษณ์แบบอัญมณีนั่นเอง
นี่แค่น้ำจิ้ม....เท่านั้นนะ
3ใครมาบ้าง
นอกจาก ปธ. เอมมานูเอล มาครง , ปธ โอลิมปิก โทมัส บาค แล้วยังมีผู้นำชาติใหญ่ๆทยอยมากันอย่าง นายกฯป้ายแดง เซอร์ เคียร์ สตารเมอร์ของ ยูเค, นายกฯเยอรมนี โอลาฟ โชลส์ , เจ้าชายซาอุ โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน, ปธ ยูเครน โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี้
ส่วน โจ ไบเดน ส่ง จิลล์ ไบเดน ภริยามาร่วมงาน ขณะที่ ท่านประธาน สี จิ้ง ผิง ไม่มา
4งานแสดง..พิธีเปิด
ผู้อำนวยการแสดง Thomas Jolly ใช้งบประมาณ 150 ล้านเหรียญสหรัฐ (5,000 ล้านบาท) ส่วนเรื่องคิวงานแสดงนั้น อันนี้ผมไม่ได้คิวถ่ายทอดสดว่ามีอะไรบ้าง เลยไม่รู้จริงๆ แต่มีข่าวเล็ดลอดออกมาจาก เลอ ปารีเซียง บอกว่า Juliette Armanet นักร้อง-นักแต่งเพลงชาวฝรั่งเศส จะขับร้องเพลง Imagine ระหว่างล่องแม่น้ำแซน
ส่วนโชว์ใหญ่นั้นแน่นอน...นักร้องเลือดฝรั่งเศส-มาลี ชื่อดังอย่าง อายา นากามูร่า จัดเต็ม ส่วนที่คาดกันนั้นยังมี เซลีน ดิออน และ เลดี กาก้า จะจับคู่กันร้อง เท็จจริงอย่างไรรอชมคืนนี้ แต่คงไม่หนีสองคนนี้แน่ๆเพราะพลันที่เธอสองคนก้าวเท้าถึงแผ่นดินฝรั่งเศส สื่อก็ลงข่าวเรียบร้อยแล้วว่า "ชัวร์"
จะเป็นเพลง La Vie En Rose หรือ Hymne à l’Amour ของ Edith Piaf ยอดนักร้องแนวคาบาเร่ต์ ในตำนานของชาวฝรั่งเศส หรือทั้งสองเพลง ก็รอชมกัน
5 ใครจุดคบเพลิง
สเตจสุดท้ายคือสเตจที่ 68 ผ่านหมู่บ้านนักกีฬา,ศูนย์กีฬาทางน้ำ, สตั๊ด เดอ ฟร้องส์ ก่อนถึงริมฝั่งแม่น้ำแซนเพื่อล่องเรือ โดยช่วงสุดท้ายนี้มีชื่อ Snoop Dogg ศิลปินฮิปฮอป ในตำนานวัย 52 ปี จะเป็นผู้ถือคบเพลิงละแวก แซงต์ เดนิส ส่วนไม้สุดท้ายใครจุดคบเพลิงนั้น ก็เป็นเรื่องปกติที่จะอุบไต๋เอาไว้
ทางสำนักข่าวรอยเตอร์ส เก็งเอาไว้ 5 คนครับ
-มารี-โชเซ เปเรช
เจ้าของสามทองโอลิมปิกวิ่ง 200-400 เมตรวัย 56 ปีที่ถูกยกให้เป็นยอดนักกรีฑาที่ดีสุดในโอลิมปิกของคนฝรั่งเศส
-โอมาร์ ซี
นักแสดงเชื้อสายแอฟริกัน ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักแสดงที่มีแฟนๆชื่นชอบมากสุดคนหนึ่งกับผลงาน The Untouchables" หรือล่าสุดซีรีส์ Lupin ใน เนตฟลิกส์ มียอดวิวว 100 ล้าน
-ซีเนอดีน ซีดาน
ไม่ต้องมีคำบรรยายใดๆ สักคำที่ลึกซึ้ง รู้กันนะพวกเรา
-โทมัส เปสเกต์
นักบินอวกาศ ที่เคยอยู่ในห้วงอวกาศนานเกือบ 400 วัน เป็นนักบินอวกาศที่มีประสบการณ์มากสุดของยุโรป
-กลุ่มผู้รอด 13/11/15
แอน ฮิดัลโก นายกเทศมนตรีปารีส สนับสนุนให้กลุ่มผู้รอดชีวิตจากเหตุโจมตีและฆ่าประชาชนโดยกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงเมื่อ 13 พ.ย.2015 ซึ่งสังหารผู้คนไป 130 ราย
อันนี้รอยเตอร์สเก็ง อาจพลิกโผก็ได้ ใครจะรู้ 5555
6 เรื่องของการจุดคบเพลิง
การจุดคบเพลิงโอลิมปิกที่ผมชื่นชอบนั้นมีหลายครั้งอย่างเช่นปี 1996 ที่แอตแลนตา โมฮัมหมัด อาลี หรือ แคสเซียส เคลย์ ยอดมวยโลกเป็นผู้จุดคบเพลิง
อาลี คือยอดมวยรุ่นใหญ่ที่เป็นตำนานของคนทั่วโลก เริ่มต้นโด่งดังจากการได้เหรียญทองโอลิมปิกที่กรุงโรม 1960 ทั้งที่เป็นมวยโนเนมอายุ 18 ปีเท่านั้นเอง
ชกไฟต์หนึ่งผู้ชมตามดูเป็นล้านๆ คน ยิ่งใหญ่สุดๆในช่วงเวลา20 ปีของการเป็นยอดมวยโลก ครั้งนั้นแอตแลนต้าเก็บเป็นความลับว่าใครคือคนจุดคบเพลิง พอเป็น โมฮัมหมัด อาลี คนก็ชื่นชมกัน
อีกครั้งก็ปี 2008 หลี่ หนิง ยอดนักยิมนาสติกเจ้าของ6 เหรียญทองโอลิมปิก ในลีลา ผาดโผนแบบวิชากำลังภายใน ให้สมกับเอกลักษณ์ วัฒนธรรม เส้าหลินของจีน และกำลังภายในที่โด่งดังไปทั่วโลก
ถ้าถามว่าครั้งไหนประทับใจที่สุดในการจุดคบเพลิงสำหรับผมต้องปี 1992 ที่บาร์เซโลนา กับ อันโตนีโอ เรโบโย ลิยาน นักยิงธนูพาราลิมปิก 3 สมัย (เป็นโปลีโอตั้งแต่ 8 เดือน) กับการยิงธนูไฟจุดคบเพลิงลงกระถางอย่างแม่นยำ
ครั้งนั้นเจ้าภาพบาร์เซโลนา เน้นแนวคิดคือยิงธนู จึงมีการคัดเลือกนักยิงธนูกว่า 200 คน โดยยิงตอนเช้า และจำลองสภาพอากาศ รวมทั้งมีเครื่องเป่าลม เพื่อให้นักยิงธนู ได้ทดสอบความแม่นยำ ผ่านอุปสรรคเหล่านี้ เพื่อวันจริงเกิดสภาพอากาศไม่เป็นใจนั่นเอง
เรโบโย ผ่านการคัดเลือก4 คนสุดท้าย....และที่สำคัญเขาได้รับคัดเลือกก่อนพิธีเปิด 2 ช.ม. หลังจากเขายิง 700 ครั้งเข้าเป้า 698 ครั้ง ทำให้ฝ่ายจัดการแข่งขันมั่นใจอย่างยิ่ง
มีข่าวลือเล่าอ้างว่า....เรโบโย ยิงไม่ตรงกระถางไปตกบ้านเรือนแถวนั้น แต่ปิดข่าวกัน เท็จจริงยังไง ฟังหูไว้หูละกันเนอะ ที่แน่ๆ คันธนู และลูกธนูนั้น ปัจจุบันเก็บอยู่ในพิพิธภัณฑ์โอลิมปิกที่โลซานน์ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์
ส่วนใครจุดคบเพลิงแล้วจุดยังไงรอชมคืนนี้
บทสรุป...การจัดอีเว้นต์กีฬาทั้งระดับภูมิภาค,ทวีป และระดับโลก มันไม่ใช่แค่ "จัดแข่งขันกีฬา"
มันคือการ "บริหารจัดการ" ในทุกเรื่องโดย "กีฬา" คือเครื่องมือ
บริหารการแข่งขัน คือจัดแข่ง
บริหารการขนส่งสาธารณะ
บริหารการรักษาความปลอดภัย
บริหารการท่องเที่ยว
บริหารงานบุคคล....
มันคือการทำงานองค์รวมของทุกเรื่องเข้าด้วยกันก่อนมุ่งหน้าสู่เกมกีฬา
โอลิมปิก 2024 ครั้งนี้ฝรั่งเศสคาดหวังว่าพวกเขาจะได้ชดเชยหลายสิ่งหลายอย่างที่หายไป สร้างความเชื่อมั่นให้นานาชาติมองว่าฝรั่งเศสคือเมืองท่องเที่ยวที่ปลอดภัย ปราศจากการจลาจล,จี้ชิงวิ่งราว, ปล้นทรัพย์ถึงขั้นอาชญากรรม
คาดหวังรายได้จากการท่องเที่ยว...คาดหวังความสำเร็จในการทำงาน
โอลิมปิกจึงไม่ใช่แค่ "การจัดการแข่งขันกีฬา" หากแต่มันคือภาพของการบริหารจัดการอีเว้นต์กีฬาระดับโลก โดยเจ้าภาพฝรั่งเศส ที่จะสะท้อนให้เราเห็นความคาดหวังในความสำเร็จทุกเรื่องนับจากพิธีเปิดจนถึงวันสุดท้ายของการแข่งขัน 11 ส.ค.
JACKIE
ข้อมูลประกอบเรื่อง
รอยเตอร์ส, เอพี, Olympic.com, nbc , เลอ ปารีเซียง