หลายคนเลือกที่จะเลิกบุหรี่โดยหันมาใช้ ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ แต่นี่เป็นความเข้าใจผิด ๆ เพราะบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ และ ‘บุหรี่ไฟฟ้า อันตรายกว่าที่คิด’ ทั้งในแง่ของการใช้ในชีวิตและผลกระทบต่อสุขภาพ เพราะมีทั้งสารนิโคติน สารเคมี และโลหะหนักนานาชนิด
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสารก่อมะเร็ง เป็นภัยอันตรายต่อปอด ซึ่งการที่บุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินและมีไอระเหยที่มีกลิ่นหอมต่างๆ จะทำให้เกิดการเสพติดง่ายขึ้น นี่คือภัยคุกคามต่อสังคมขนาดย่อมและอันตรายกว่าที่คิดทั้งกับตัวคนสูบและคนรอบข้าง แม้ว่าสาเหตุการสูบบุหรี่ของแต่ละคนจะต่างกัน การเยียวยาตัวเองให้หลุดพ้นจากสิ่งดังกล่าว คงหนีไม่พ้น ‘จิตใจ’ ของตัวเอง
การสูบบุหรี่จึงไม่ต่างจากเปิดประตูเชื่อมผู้คนนับล้านชีวิตให้ตกอยู่ในวังวนการเสพติดนิโคติน อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่ทำให้ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าหันมาใช้แอลกอฮอล์ รวมถึงกัญชา โคเคน เฮโรอีนมากขึ้นไปอีก เนื่องจากผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าในตลาดมากกว่าร้อยละ 95 มีสารนิโคตินเป็นส่วนผสมอยู่ในน้ำยา ดังนั้นการสูบบุหรี่ไฟฟ้านอกจากจะไม่ช่วยให้เลิกบุหรี่มวนได้จริงแล้ว ยังทำให้เสพติดสารนิโคตินได้มากกว่า และมีโอกาสเสพติดทั้งคู่อีกด้วย นี่คือคำกล่าวของ นพ.นภารัตน์ อมรพุฒิสถาพร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
ต้องยอมรับว่าสามารถพบเห็นการสูบบุหรี่ไฟฟ้าได้ทั่วไป อาจเป็นเพราะผู้สูบมองว่า ‘กลิ่น’ ที่มาจากบุหรี่ไฟฟ้านั้นหอมหวาน ไม่ทำอันตรายต่อผู้ได้รับควัน แต่จากการศึกษาของ ศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา อาจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) บุหรี่ไฟฟ้านั้นอันตรายกว่าที่คิด เสี่ยงต่อการที่ปอดถูกเผา โดยพบว่าไอที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้าสูงถึง 300 องศาเซลเซียส เป็นความร้อนที่สูงเกิน 100 องศาเซลเซียส ความร้อนระดับนี้สามารถเข้าไปเผาทำลายเซลล์เยื่อบุการหายใจ ตั้งแต่หลอดลม ไปจนถึงเยื่อบุผนังถุงลมโป่งพอง ส่งผลให้ปอดแต่ละข้างต้องทำงานหนัก หากถูกทำลายไปเรื่อยๆ จะนำไปสู่โรคถุงลมโป่งพอในท้ายที่สุด
คำลวงจากผู้ขาย
ผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าพยายามกล่าวอ้างว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่มวน เพราะเป็นเพียงไอน้ำไม่มีการเผาไหม้เหมือนบุหรี่มวน แต่แท้จริงแล้วบุหรี่ไฟฟ้า อันตรายกว่าที่คิด นอกจากมีสารพิษ ยังมีไอสารพิษที่เข้าลึกลงไปทำร้ายปอดได้อย่างรวดเร็ว และที่สำคัญการออกแบบรูปลักษณ์ของบุหรี่ไฟฟ้าให้เป็นตัวการ์ตูนหรือดีไซน์ที่สวยงาม พร้อมกลิ่นที่น่าสนใจ จึงทำให้เด็กๆ หลงเข้าใจว่าเป็นของเล่นและกลับต้องตกเป็นเหยื่อโดยไม่รู้ตัว
อีกหนึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้สูบมองว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตราย เป็นเพราะการออกแบบรูปลักษณ์ให้เข้ากับกลุ่มผู้ใช้งาน เพื่อทำให้ดึงดูดนักสูบทั้งหน้าเก่าหน้าและหน้าใหม่ให้เข้าสู่วงจรนี้ไม่จบสิ้น แถมผู้สูบยังสามารถเลือกปรับปริมาณสารนิโคตินได้ตามต้องการ ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้อยากลิ้มลองแบบไม่ลังเลที่จะหันมาใช้บุหรี่ไฟฟ้า และจากการสำรวจพบว่า คนที่เปลี่ยนมาใช้บุหรี่ไฟฟ้านอกจากจะเลิกบุหรี่ไม่ได้แล้ว ยังมีแนวโน้มติดบุหรี่มากขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งทำให้เลิกได้ยากเพราะเสพติดนิโคตินที่อยู่ในน้ำยา และเด็กยังมีแนวโน้มตกหลุมพรางกลิ่นหอมของบุหรี่ไฟฟ้าได้เร็วกว่าปกติด้วย ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการและสุขภาพด้านต่างๆ เมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น
ปัจจุบัน ยิ่งเป็นเรื่องยากในการควบคุมการซื้อขาย จากรายงานสุขภาพคนไทย ประจำปี 2566 ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า เมื่อแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเติบโตขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชัน Line, YouTube, Facebook, X (Twitter) และ Instagram ผู้บริโภคโดยเฉพาะเยาวชนกลุ่มอายุ 15-18 ปี หรืออายุน้อยกว่านี้ สามารถซื้อบุหรี่ไฟฟ้าหรือบุหรี่มวนได้ง่ายกว่าในอดีตที่ผ่านมา
สิ่งที่น่ากังวลคือ ในไอระเหยหรือควันบุหรี่ไฟฟ้ามีผลกระทบต่อสมอง สามารถดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้การเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนเสื่อมถอยได้ เพราะช่วงแรกของสมองจะหลั่งสารทำให้ผ่อนคลายก็จริง แต่นิโคตินจะมีส่วนทำลายสมองและระบบความจำ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่สมองกำลังพัฒนา
กฎหมายบุหรี่ไฟฟ้าทั่วโลก : ไทยอยู่ตรงไหน? ทำไม ? ‘บุหรี่ไฟฟ้า อันตรายกว่าที่คิด’
นโยบายในการดำเนินการเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าของแต่ละประเทศย่อมมีความแตกต่างกัน มีทั้งอนุญาตให้ซื้อขายได้อย่างเสรี ไปจนถึงการห้ามนำเข้าทุกรูปแบบ แต่หลายคนไม่ทราบว่า บุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศไทย ห้ามนำเข้า ห้ามขาย ห้ามบริการ ห้ามส่งเสริมการขายโดยระบบคอมพิวเตอร์ แต่ในปัจจุบัน โลกออนไลน์เข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตผู้คน จึงพบว่ามีบุหรี่ไฟฟ้าถูกลักลอบนำเข้าจำนวนมาก รวมถึงมีการขายกันอย่างแพร่หลายผ่านช่องทางออนไลน
เรียกได้ว่าเป็นโจทย์ใหญ่ของไทยในการปกป้องเด็กและเยาวชน รวมถึงประชาชนคนไทยจากบุหรี่ไฟฟ้าก็ว่าได้ เพราะที่ผ่านมา พบปัญหาเด็ก-เยาวชนแอบซื้อขายทางอินเทอร์เน็ต ทำให้นักเรียนมัธยมเริ่มเข้าวงจรสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น นี่ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น หากแต่ยังเป็นปัญหาเช่นเดียวกันทั่วโลก
กฎหมายประเทศไทยจัดให้บุหรี่ไฟฟ้าชนิดใช้ความร้อนแบบไม่เผาไหม้เป็นบุหรี่ไฟฟ้าประเภทหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลไทยพยายามอย่างหนักในการปกป้องคนไทยจากอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า โดยสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายหลายหน่วยงาน สร้างโมเดล ‘ประสาน 3 พลัง’ ได้แก่ พลังนโยบาย พลังวิชาการ และพลังสังคม
ความพยายามของรัฐบาลยังไม่หมดเพียงเท่านั้น วันที่ 7 มิถุนายน 2567 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ให้ความเห็นในที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) หลังมีมติเห็นชอบ มติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น การปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้าว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้เดินหน้าปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าอย่างหนัก จนนำไปสู่การจับกุมและตรวจยึดของกลางได้ในหลายกรณี และเชื่อว่าจำนวนตัวเลขผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าจะต้องลดลง นี่คือวาระของชาติในการป้องกันและปราบปรามการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย
บทลงโทษสำหรับผู้ขาย ผู้ให้บริการ และผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า
‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ถูกระบุให้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ตามคำชี้แจงของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าจะมีความผิดโดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าลักลอบนำเข้าจะมีโทษจำคุกไม่เกิน10 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากกระทำผิดสามารถได้รับบทลงโทษตามกฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่
1. พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 ห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ตั้งแต่บารากู่ดั้งเดิม-ไฟฟ้า และบุหรี่ไฟฟ้าที่มีสารนิโคตินเป็นส่วนประกอบ หากฝ่าฝืนมีบทลงโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
2. พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 ระบุอย่างชัดเจนว่าห้ามนำเข้ามาสู่ราชอาณาจักรไทย โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ครอบครองหรือรับฝากบุหรี่ไฟฟ้า มีความผิดตามมาตรา 246 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. ประกาศกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ.2557 ระบุให้สินค้าดังกล่าวเป็นของต้องห้าม นั่นหมายถึงห้ามนำเข้ามาในประเทศไทยโดยเด็ดขาด หากฝ่าฝืนโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ
ดังนั้น การนำเข้า การผลิต การจำหน่าย ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย ส่วนผู้ครอบครองและใช้บุหรี่ไฟฟ้า เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 246 ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย
หากพบเห็นการจำหน่ายหรือให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า สามารถแจ้งเบาะแสไปที่สายด่วนสคบ. 1166 (โดยข้อมูลการแจ้งเบาะแส สคบ. จะเก็บไว้เป็นความลับ) และร้องเรียนหรือแจ้งผ่านระบบออนไลน์ได้ที่ระบบร้องทุกข์ผู้บริโภคหรือโมบายแอปพลิเคชัน OCPB Connect ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือสถานีตำรวจในท้องที่
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นภาพรวมที่สะท้อนชัดเจนว่า ‘บุหรี่ไฟฟ้า อันตรายกว่าที่คิด’ ทุกวันนี้แม้จะมีแพทย์ นักวิชาการ งานวิจัย รวมถึงกฎหมายเข้ามาควบคุม ออกมาตีแผ่เบื้องลึก เบื้องหลังความร้ายกาจของบุหรี่ไฟฟ้า แต่หากมองภาพใหญ่ระดับชาติยังพบว่า ผู้คนจำนวนมากยังไม่รู้ ไม่เข้าใจว่าการสูบหรือการพกพา ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ไปไหนมาไหนเป็นเรื่องผิดกฎหมายในประเทศไทย ขณะที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องในระบบกระบวนการยุติธรรม เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เจ้าหน้าที่รัฐ ยังไม่มีมาตรการจัดการเด็ดขาดเรื่องกฎหมายต่อผู้สูบ ผู้นำเข้า และผู้ขายบุหรี่ไฟฟ้า สิ่งเหล่านี้อาจเป็นฉนวนเหตุที่ส่งผลร้ายต่อสุขภาวะหรือสุขภาพของคนไทย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย จึงผลักดันให้เกิดการรณรงค์เรื่องบุหรี่ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยปี 2567 มีการทำกิจกรรมรณรงค์ ‘บุหรี่ไฟฟ้า อันตรายกว่าที่คิด’ ผ่านสปอตโฆษณา 2 ตัว เพราะ สสส. ต้องการจุดประกาย สานพลัง ให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ปลอดบุหรี่ไฟฟ้า 100%