คิดจะเดินทางกลับบ้านช่วงเทศกาลอย่างปลอดภัย นอกจากความปลอดภัยต่อสุขภาพร่างกายแล้ว ยังต้องให้ปลอดภัยต่อเงินในกระเป๋าของท่านอีกด้วย เพราะสำหรับ “เรื่องเล็ก ๆ ” ในสายตาของใครหลายคนนั้น บอกได้เลยว่าถ้าถูกจับ ค่าปรับ “ไม่เล็ก” กันเลยทีเดียว อาทิ
ใบขับขี่ ถือว่าเป็นเอกสารสำคัญที่กรมการขนส่งทางบก ออกให้กับบุคคลเพื่อแสดงว่ามีคุณสมบัติสามารถขับขี่รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์บนท้องถนนได้ การขับขี่รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ หรือยานพาหนะอื่น ๆ โดยไม่มีใบขับขี่ หรือมีแต่ไม่สามารถแสดงต่อเจ้าหน้าที่เมื่อถูกเรียกตรวจ มีความผิดโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือ จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนคนที่ใบขับขี่หมดอายุ หรือ ถูกเพิกถอนใบขับขี่ ปรับไม่เกิน 2,000 บาท
ส่วนผู้ที่ใช้โทรศัพท์ขณะขับขี่ ซึ่งปัจจุบันกำลังเป็นภาพที่เห็นจนชินตา รู้หรือไม่ว่าเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุจนถึงขั้นบาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิตมากขึ้นกว่า 20 เท่า เพราะทำให้ผู้ขับขี่เสียสมาธิปฏิกิริยาตอบสนองช้าลง และทำให้ต้องละสายตาออกจากเส้นทางเฉลี่ย 4.6 วินาที หากใช้ความเร็วรถที่ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะมีผลเทียบเท่ากับการปิดตาขับรถถึง 100 เมตร โทษปรับสูงสุดสำหรับผู้ที่ใช้โทรศัพท์ขณะขับขี่ 4,000 บาท และถูกตัดแต้มใบขับขี่ 1 คะแนน
เทศกาลกลับบ้านแบบนี้ แน่นอนว่าลูกเล็กเด็กแดงต้องเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษ กฎหมายเรื่อง “การกำหนดที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตราย และวิธีการป้องกันอันตราย ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ พ.ศ. 2566” หรือ กฎหมายคาร์ซีท (Car Seat) สำหรับเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี มีผลบังคับใช้แล้ว หากละเลย มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และกฎหมายยังระบุให้ใช้คาร์ซีท 2 แบบ ได้แก่ 1. ที่นั่งนิรภัยชนิดนั่งหันไปทางด้านหลังรถและที่นั่งนิรภัยชนิดนั่งหันไปทางด้านหน้ารถ 2. ที่นั่งพิเศษแบบที่นั่งเสริมที่ไม่มีพนักพิง (Booster Seat) โดยที่นั่งทั้ง 2 แบบข้างต้น ต้องมีระบบยึดเหนี่ยวตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอีกด้วย
ส่วนสายซิ่งต้องยิ่งระวัง เพราะการแข่งรถในทางสาธารณะ รวมกลุ่มกันชักชวนให้แข่งรถตั้งแต่ 5 คันขึ้นไป, ดัดแปลงสภาพรถ, มีการนัดหมายล่วงหน้าเพื่อแข่งรถ, มีการแสดงออกถึงพฤติกรรมให้เห็นว่ากระทำการแข่งรถ ถือว่าผู้ขับขี่มีโทษ 2 ใน 3 ฐานแข่งรถในทาง มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 10,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ ในขณะที่ผู้ประกาศหรือผู้ชักชวนให้เกิดการแข่งรถในทางสาธารณะ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 20,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ และโทษนี้ยังครอบคลุมไปถึงร้านที่ช่วยแต่งรถให้ มีโทษ 2 ใน 3 ฐานแข่งรถในทาง มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 10,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ
แต่ที่ต้องขีดเส้นใต้เน้นๆ เพราะมีการเพิ่มโทษปรับจากเดิมถึง 4 เท่า ตามประกาศใช้กฎหมายจราจรฉบับใหม่ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2565 กำหนดให้ในหลายกระทงความผิด ได้แก่
• ขับรถเร็วเกินกำหนด เพิ่มจาก 1,000 เป็น 4,000 บาท
• ขับรถย้อนศร เพิ่มจาก 500 เป็น 2,000 บาท
• ฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง โทษปรับสูงสุดขยับจากไม่เกิน 1,000 บาท เป็น 4,000 บาท
• ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย เพิ่มจาก 500 เป็น 2,000 บาท
• ไม่หยุดรถให้คนข้ามตรงทางม้าลาย โทษปรับสูงสุดขยับจากไม่เกิน 1,000 บาท เป็น 4,000 บาท
• ไม่สวมหมวกกันน็อก โทษปรับสูงสุดขยับจากไม่เกิน 500 บาท เป็น 2,000 บาท
• ดื่มแล้วขับครั้งแรก จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับ 5,000 – 20,000 บาท ถูกพักใบขับขี่ ไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือถูกเพิกถอนใบขับขี่
• ทำผิดซ้ำข้อหาเดิม ดื่มแล้วขับภายใน 2 ปี จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับ 50,000-100,000 บาท ถูกพักใช้ใบขับขี่ ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือถูกเพิกถอนใบขับขี่
• ดื่มแล้วขับทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บ จำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท และถูกสั่งพักใช้ใบขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือยกเลิกใบอนุญาตขับขี่
• ดื่มแล้วขับจนทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บสาหัส จำคุกตั้งแต่ 2-6 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000-120,000 บาท และถูกสั่งพักใช้ใบขับขี่ไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือยกเลิกใบอนุญาตขับขี่
• ดื่มแล้วขับจนทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต จำคุกตั้งแต่ 3-10 ปี ปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท และยกเลิกใบอนุญาตขับขี่ทันที
• การตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด ถ้าเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ถือว่าเมาสุรา
• ยกเว้นผู้ขับขี่ใน 4 กรณีต่อไปนี้ ถ้ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถือว่าเมาสุรา คือ 1.ผู้ขับขี่ที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปีบริบูรณ์, 2.ผู้ขับขี่ที่มีใบขับขี่ชั่วคราว (ใบขับขี่อนุญาตแบบ 2 ปี), 3.ผู้ขับขี่ที่มีใบขับขี่ประเภทอื่น ซึ่งใช้แทนกันไม่ได้ และ 4.ผู้ขับขี่ที่ถูกยกเลิกใบขับขี่ หรืออยู่ระหว่างการพักใช้งานใบขับขี่
• สำหรับกรณีที่ไม่เป่าแอลกอฮอล์ จะถือว่า “ดื่มแล้วขับ” ทันที ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถูกศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ (มาตรา 160 ตรี)
• นอกจากจะต้องเสียค่าปรับ ขึ้นศาล และเสียประวัติแล้ว บางกรณีจะโดนคุมประพฤติ และต้องบำเพ็ญประโยชน์ พร้อมเครื่องติดตามตัวตลอด 24 ชม. และอาจมีคำสั่งห้ามออกจากที่พักตั้งแต่ 22.00-04.00 น. โดยระยะเวลาคาดโทษนั้น จะขึ้นอยู่กับศาลจะพิจารณาคดี เพื่อลดความเสี่ยงที่จะก่อความผิดซ้ำ
และเพื่อให้ทุกคนมีแนวทางการขับขี่อย่างปลอดภัย ในช่วงเทศกาลแห่งความสุข อย่าลืม ! ดาวน์โหลดคู่มือ #Saveสมอง จากอุบัติเหตุการขับขี่ โหลดฟรีและอ่านเวอร์ชันออนไลน์ได้ คลิกเลย : https://www.thaihealth.or.th/?p=353265
กดติดตามข้อมูลข่าวสาร แคมเปญที่น่าสนใจ และกิจกรรมดีๆ จาก สสส เพิ่มเติมได้ที่ :
Facebook : Social Marketing Thaihealth by สสส.
Line : @thaihealththailand
Tiktok: @thaihealth
Youtube: SocialMarketingTH
Website : Social Marketing การตลาดเพื่อสังคม