ขาดริ๊งก์หรือสายดื่มเคยสงสัยไหม ? ทำไมทุก ๆ ครั้งที่ดื่มแอลกอฮอล์ พฤติกรรมเราถึงเปลี่ยนไป..
ไม่ว่าจะกล้าพูด กล้าแสดงออกมากขึ้น บางครั้งเปลี่ยนไปเป็นคนละคน
จากคนเงียบ ๆ มาส่งเสียงดัง อย่างไม่อายใคร
บางคนเดินเซ เดินไม่ตรงทาง พยุงตัวให้อยู่กับที่ไม่ได้ ก็ยังบอกว่า
“ ไม่มาวววว.. ไม่เป็นไร.. ยังไหว.. ”
คุณเคยเป็นแบบนั้นหรือเปล่า ?
แล้วจะเกิดอะไรขึ้น..
เมื่อตัวคุณที่บอกว่า.. ยังไหว
แต่ “สมอง” ของคุณกลับ ไม่ไหวแล้ว…
และจะยิ่งอันตรายแค่ไหน เมื่อ สมองที่ไม่ไหว..
ต้องเป็นผู้ควบคุม สั่งการ ในยามที่คุณต้องขับขี่ยานพาหนะ อย่าง รถยนต์ หรือ มอเตอร์ไซค์
ทั้งๆ ที่เสี้ยววินาทีนั้น คือทางแยกแห่ง ความเป็น หรือ ความตาย..
เชิญเปิดสมอง และไขคำตอบนั้น กับภาพยนตร์โฆษณารณรงค์เรื่องล่าสุด จาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ที่หยิบข้อมูลทางการแพทย์ เรื่อง ผลกระทบของแอลกอฮอล์ต่อสมอง มาเล่าเรื่องเข้าใจยาก ให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ผ่านการ จำลองภาพการทำงานของสมอง ที่ได้รับแอลกอฮอล์จนทำงานผิดพลาด นำไปสู่อุบัติเหตุแบบที่คาดไม่ถึง…
รู้ไหมว่า ภายในสมองอันซับซ้อน สมองแต่ละส่วน จะมีการแบ่งหน้าที่ ควบคุมร่างกายของเรา ต่างกันออกไป ทั้งส่วนที่ควบคุมด้านบุคลิก ความคิด พฤติกรรม การตัดสินใจ การตอบสนอง การคิดคำนวณ หรือ การมองเห็น เป็นที่มาทำให้ พฤติกรรม การแสดงออก และ กลไกทางร่างกาย ของเราเปลี่ยนไป เมื่อแอลกอฮอล์เดินทางไปยังสมองส่วนต่าง ๆ
เพราะ “สมอง” เป็นหนึ่งในอวัยวะสำคัญ ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากแอลกอฮอล์และส่งผลไปยังการขับขี่
จากสมองที่ว่องไว.. ตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ เมื่อถูกกดด้วยฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ ก็จะทำให้ตอบสนองช้าลง จนตัดสินใจไม่ทัน ว่าจะทำอย่างไรกับเหตุการณ์ตรงหน้า
จากสมองที่เคยคิดคำนวณได้คล่องแคล่ว..เมื่อถูกกดด้วยฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ ก็จะทำให้สมอง กะระยะ ผิดพลาด มองเห็นวัตถุไกลเป็นใกล้ ใกล้เป็นไกล ทำให้เบรกไม่ทัน
จากสมองที่เคยยับยั้งชั่งใจ ควบคุมอารมณ์ได้ดี..เมื่อถูกกดด้วยฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ ก็อาจเปลี่ยนคนธรรมดาให้กลายเป็นคนอารมณ์ร้อน กล้าได้กล้าเสีย กล้าเสี่ยง คึกคะนอง และ ขับขี่ด้วยความอันตราย
3 เหตุการณ์ดังกล่าว ถูกนำมาเล่าเรื่องราวผ่านภาพยนตร์โฆษณาชุด “ดื่มเหล้า เมาถึงสมอง” ผ่านตัวละครสมองสุดจี๊ด ในสีสันชุดชมพูสุดแปลกตา เรื่อง The Loop ที่สะท้อนให้เห็นว่า แอลกอฮอล์ สามารถส่งผลให้สมองทำงานได้ผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะกระทบต่อการทำงานของสมองในหลายระบบ ซึ่งหากยังไม่หยุดพฤติกรรมเช่นนี้ ก็อาจมีจุดจบแบบในภาพยนตร์โฆษณาได้เช่นเดียวกัน
โดยผลกระทบของแอลกอฮอล์ที่มีต่อสมองและส่งผลต่อการขับขี่ ตัวอย่างเช่น
1.มองไม่เห็นคนข้ามถนน เพราะแอลกอฮอล์ส่งผลต่อการโฟกัสของดวงตา ทำให้ตาเบลอ เห็นภาพซ้อน
2.สมองสั่งเบรกไม่ทัน เพราะแอลกอฮอล์ทำให้การส่งต่อข้อมูลจากสมองสู่อวัยวะส่วนอื่นช้าลง ส่งผลให้ความสามารถในการตอบสนองต่อเหตุการณ์เฉพาะหน้าลดลง
3.ตัดสินใจผิดพลาด เพราะแอลกอฮอล์ส่งผลต่อสมองส่วนควบคุมสมาธิ ส่งผลต่อการความสามารถในการตัดสินใจเมื่อเจอเหตุการณ์เฉพาะหน้า
4.ง่วงซึม หลับใน เพราะแอลกอฮอล์ทำให้ประสาทเฉื่อยชา
5.ตากับเท้าไม่ทำงานร่วมกัน เพราะแอลกอฮอล์ทำให้การมองเห็น และการควบคุมกล้ามเนื้อ ขาดการประสานกัน
การดื่มแอลกอฮอล์ แล้วขับหรือขี่ จึงนับเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเฉพาะ 5 ปีที่ผ่านมาในช่วงเทศกาลปีใหม่ มีผู้ขับขี่ที่บาดเจ็บหรือเสียชีวิตไปกว่า 30,000 ราย สร้างความสูญเสียและความโศกเศร้าไปมากพอแล้ว…
ในช่วงปีใหม่นี้ สสส. และ ภาคีเครือข่าย จึงอยากขอชวนคนไทย “ ดื่มไม่ขับ ” รู้เท่าทันอันตรายของแอลกอฮอล์ที่มีต่อสมอง และการขับขี่ เพื่อที่จะได้กลับไปหาคนที่รักถึงบ้านอย่างปลอดภัย
กดติดตามข้อมูลข่าวสาร แคมเปญที่น่าสนใจ และกิจกรรมดีๆ จาก สสส เพิ่มเติมได้ที่ :
Facebook : Social Marketing Thaihealth by สสส.
Line : @thaihealththailand
Tiktok: @thaihealth
Youtube: SocialMarketingTH
Website : Social Marketing การตลาดเพื่อสังคม