กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกับ เทศบาลนครยะลา และคณะกรรมการสมัชชาสุขภาพจังหวัดยะลา จัดเวทีสมัชชาสุขภาพจังหวัดยะลา เพื่อการขับเคลื่อนแพลตฟอร์มเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลสถิติการออกกำลังกายและการเล่นกีฬาของประชาชน (Calories Credit Challenge: CCC) ภายใต้แนวคิดโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model)
เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 ณ ห้องประชุมเทศบาลนครยะลา นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมการประชุมสมัชชาสุขภาพจังหวัดยะลา เพื่อการขับเคลื่อนแพลตฟอร์มเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลสถิติการออกกำลังกาย และการเล่นกีฬา ของประชาชน (Calories Credit Challenge: CCC) ภายใต้แนวคิดโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) โดยมีนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นางบงกชรัตน์ โมลี ผู้อำนวยการกองนโยบาย การท่องเที่ยวและกีฬาแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะทำงาน นายรัฐ จิโรจน์วณิชชากร นายทนงศักดิ์ ศุภทรัพย์ ,ดร.สัจจวัฒน์ จารึกศิลป์ และรองศาสตราจารย์ ดร.วรรณชลี โนริยา เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้
สาระสำคัญของการขับเคลื่อนแพลตฟอร์ม Calories Credit Challenge: CCC ที่มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นที่เป็นเศรษฐกิจใหม่กับแนวคิด BCG Model โดยนำข้อมูลสถิติการออกกำลังกาย การเล่นกีฬา และกิจกรรมทางกายของชาวจังหวัดยะลา บนแพลตฟอร์มCCC ที่เป็นสินทรัพย์สำคัญมาสร้างคุณค่าเพื่อยกระดับเศรษฐกิจท้องถิ่นเพื่อความยั่งยืนไปพร้อมกับการมีสุขภาพที่ดี ชุมชนที่เข้มแข็งและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในที่ประชุมมีมติการขับเคลื่อน 4 ประเด็น
1.จัดโมเดลพื้นที่นำร่องเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและรูปธรรมการขับเคลื่อนกิจกรรมการออกกำลังกายภายใต้แนวคิดโมเดลเศรษฐกิจใหม่ CCC x BCG ทั้งในเชิงบุคคลและเชิงพื้นที่
2.ส่งเสริมและผลักดันให้หน่วยงานและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมบูรณาการในการสร้างมาตรฐานของข้อมูลในแพลตฟอร์มและนวตกรรมเทคโนโลยีที่จัดเก็บข้อมูลกลาง เพื่อสนับสนุนให้สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์และมีการเชื่อมโยงข้อมูลสถิติการออกกำลังกายและเล่นกีฬาตามแนวการพัฒนาประเทศภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจใหม่
3.ส่งเสริมและผลักดันให้หน่วยงานและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมบูรณาการในการสร้างวิถีของการออกกำลังกาย หรือจัดให้มีการออกกำลังกายรูปแบบต่างๆ โดยกำหนดให้มีการจัดอาหารรองรับจากเครือข่ายเกษตรกรหรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ตามแนวทาง BCG Economy ซึ่งประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และ เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)
4.สนับสนุนการออกกำลังกาย การท่องเที่ยวเชิงกีฬา และการจัดแข่งขันกีฬา ทั้งในพื้นที่เขตเมืองและชุมชน ที่เพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจฐานราก โดยการให้ความสำคัญกับการสนับสนุนให้ชุมชนและท้องถิ่นได้มีส่วนร่วม กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและสร้างรายได้ให้กับชุมชน
ทั้งนี้ ข้อเสนอเชิงนโยบายและรูปธรรมในการขับเคลื่อนจากเวทีสมัชชาสุขภาพจังหวัดยะลา จะถูกรวบรวมและเสนอต่อที่ประชุมสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น และสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 15 พ.ศ.2565 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-22 ธันวาคม 2565 ณ โรงแรมเซ็นทารา แจ้งวัฒนะ นนทบุรี เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนระดับนโยบายและสร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องระยะต่อไป