การผ่าตัดหมอนรองกระดูกคอผ่านกล้อง...วิธีการรักษาภาวะหมอนรองกระดูกคอเสื่อมกดทับ เส้นประสาทเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน

การผ่าตัดหมอนรองกระดูกคอผ่านกล้อง...วิธีการรักษาภาวะหมอนรองกระดูกคอเสื่อมกดทับ เส้นประสาทเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน
การผ่าตัดหมอนรองกระดูกคอผ่านกล้อง (Anterior Cervical Discectomy and Fusion) ปัจจุบันใช้สำหรับผู้ป่วยภาวะหมอนรองกระดูกคอเสื่อมกดทับเส้นประสาท มักพบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีอาการเริ่มต้นคือ ปวดต้นคอ ปวดคอร้าวลงแขน ชาแขนหรือชามือ ในรายที่มีการกดทับของเส้นประสาทมากอาจมีอาการ อ่อนแรงของมือ เช่น รู้สึกติดกระดุมไม่ถนัด เขียนหนังสือแล้วลายมือไม่เหมือนเดิม หรืออาการอ่อนแรงของขา ทำให้มีอาการเดินเซได้ หรืออาการอ่อนแรงของขา ทำให้มีอาการเดินเซได้ หรือในบางรายอาจมีการขับถ่ายปัสสาวะอุจจาระที่ผิดปกติไป

ซึ่งบทความให้ความรู้โดย ผศ.นพ. ปิลันธน์ ใจปัญญา ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลัง และการผ่าตัดกระดูกสันหลังแบบส่องกล้อง ศูนย์กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ โรงพยาบาลนวเวช ได้อธิบายวิธีสังเกตอาการ แนวทางการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดหมอนรองกระดูกคอผ่านกล้อง รวมทั้งข้อดีและความสี่ยงที่เกิดขึ้น สำหรับนำไปสังเกตตนเองและคนรอบข้าง หากมีอาการดังกล่าวจะได้เข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที

สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจาก... 

 หมอนรองกระดูกคอเคลื่อนกดทับเส้นประสาท 

 กระดูกคอเสื่อมกดทับเส้นประสาท

 หินปูนเกาะเส้นเอ็นหลังกระดูกคอ เป็นต้น 

การรักษาเบื้องต้น มักเริ่มด้วยการทานยาและการทำกายภาพบำบัด แต่หากอาการปวดหรือชาของคุณ ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาและกายภาพบำบัด หรือมีการทำงานของระบบประสาทที่ผิดปกติ

การรักษาด้วยการผ่าตัดหมอนรองกระดูกคอผ่านกล้อง หรือ Anterior Cervical Discectomy and Fusion หรือ ACDF อาจช่วยให้อาการของคุณดีขึ้น และกลับไปมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

การผ่าตัด ACDF เหมาะสำหรับใครบ้าง?

 ผู้ป่วยที่มีอาการปวดคอหรือชาแขนที่เกิดจากหมอนรองกระดูกหรือกระดูกคอเสื่อมกดทับเส้นประสาท และอาการไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา/การทำกาพภาพบำบัด

 มีการกดทับของไขสันหลังและเส้นประสาทมากจนมีความผิดปกติของระบบประสาทรุนแรง หรือผลเอกเรย์คอมพิมเตอร์พบโพรงประสาทส่วนคอตีบแคบ ที่แพทย์ประเมินแล้วว่าควรรักษาโดยการผ่าตัด และไม่ควรรอผลการรักษาด้วยการกินยา/ทำกายภาพ

 หมอนรองกระดูกคอเคลื่อนกดทับเส้นประสาท

 หมอนรองกระดูกคอเสื่อม

 กระดูกคอเสื่อมกดทับเส้นประสาท

 โพรงประสาทส่วนคอตีบแคบ

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด

โดยปกติก่อนที่ผู้ป่วยจะเข้ารับการผ่าตัดบริเวณกระดูกสันหลังส่วนคอหรือส่วนอื่นๆ ผู้ป่วยจะได้รับการประเมินความพร้อมสำหรับการผ่าตัดโดย อายุรแพทย์ และ/หรือ วิสัญญีแพทย์ ซึ่งจะประเมินความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางระบบหัวใจและหลอดเลือด และจะทำการให้ยาต่าง ๆ เพื่อเตรียมร่างกายให้มีความพร้อมสำหรับการผ่าตัด

  งดยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาต้านเกร็ดเลือด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น Aspirin, Plavix และ Warfarin เป็นต้น

  งดอาหารเสริม เช่น สมุนไพร เมล็ดแปะก๊วย โสม น้ำมันตับปลา ยาลูกกลอน อย่างน้อย 7 วันก่อนผ่าตัด

  งดสูบบุหรี่ และ งดการดื่มแอลกอฮอล์ อย่างน้อย 2 สัปดาห์ ก่อนวันผ่าตัด

  ทำการงดน้ำและอาหาร 8 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด เพื่อลดโอกาสเกิดการสำลักอาหารระหว่างดมยาสลบ

  พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้ปลอดโปร่งก่อนการผ่าตัด  

การผ่าตัด ACDF ประกอบด้วย 2  ขั้นตอนหลัก

1. การผ่าตัดนำหมอนรองกระดูกออก (Discectomy) – ผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด ACDF มักมีหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอที่เสื่อมหรือบาดเจ็บ และเคลื่อนไปกดทับเส้นประสาท ในการผ่าตัด ACDF ศัลยแพทย์จะทำการผ่าตัดนำหมอนรองกระดูกคอที่ผิดปกติออก เพื่อลดการกดทับเส้นประสาท และ สร้างพื้นที่สำหรับการใส่อุปกรณ์ทดแทนหมอนรองกระดูก

2. การใส่อุปกรณ์ทดแทนหมอนรองกระดูกเพื่อเชื่อมข้อต่อ  (Fusion) - หลังจากที่นำหมอนรองกระดูกที่มีปัญหาออกไปแล้ว ศัลยแพทย์จะทำการใส่อุปกรณ์ทดแทนหมอนรองกระดูก หรือทำการปลูกถ่ายกระดูกเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเชื่อมติดกันของกระดูกคอ นอกจากนี้กระดูกคอส่วนที่มีปัญหามักจะมีความหลวมของข้อต่อ เมื่อผู้ป่วยมีการขยับคอและศีรษะ จะทำให้กระดูกไปกระแทกกับเส้นประสาทและทำให้เกิดอาการผิดปกติต่าง ๆ ได้ ในบางรายจึงมีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ เพื่อเสริมความมั่นคงของข้อต่อ เช่น สกรู หรือ แผ่นโลหะ เป็นต้น

ข้อดีของการผ่าตัด ACDF

  ลดการกดทับของเส้นประสาทและไขสันหลัง และเสริมความมั่นคงของกระดูกคอ

  แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กประมาณ 3-5 ซม.

  อัตราเสียเลือดน้อย

  มีการตัดทำลายกล้ามเนื้อคอน้อย

  ฟื้นตัวไว นอนโรงพยาบาลไม่นาน ลดภาระค่าใช้จ่ายระหว่างพักฟื้น

ระยะเวลาการผ่าตัด

ระยะเวลาการผ่าตัดขึ้นอยู่กับจำนวนข้อต่อกระดูกที่ต้องทำการผ่าตัด การผ่าตัดกระดูกคอ 1 ข้อ จะใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง จำนวนข้อถัด ๆ ไป จะใช้ระยะเวลาการผ่าตัดเพิ่มขึ้นข้อละประมาณ 1 ชั่วโมง

ความเสี่ยงของการผ่าตัด ACDF

การรักษาด้วยการผ่าตัดมีความเสี่ยงโดยทั่วไป ได้แก่ ความเสี่ยงจากการดมยาสลบซึ่งเป็นความเสี่ยงที่สามารถควบคุมได้ ขึ้นกับชนิดการผ่าตัด อัตราการเสียเลือด อายุ และ โรคประจำตัวของผู้ป่วย โดยก่อนการผ่าตัดจะต้องมีการตรวจประเมินร่างกายอย่างละเอียดโดย วิสัญญีแพทย์ และ อายุรแพทย์  

สำหรับความเสี่ยงของการผ่าตัดกระดูกสันหลังที่หลายคนกังวล ได้แก่

  การบาดเจ็บต่อเส้นเลือดหรือเส้นประสาท และก่อให้เกิดความทุพพลภาพหลังผ่าตัด ความเสี่ยงเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ แต่อัตราเกิดน้อยกว่า 3 % และส่วนใหญ่มีอาการเพียงชั่วคราวและสามารถหายเองได้มีส่วนน้อยมากที่เกิดความผิดปกติแบบถาวร ซึ่งความเสี่ยงเหล่านี้สามารถควบคุมได้ด้วยประสบการณ์และความชำนาญการในการผ่าตัด และการรักษาผู้ป่วยของแพทย์เฉพาะทาง

  ภาวะแทรกซ้อนที่จำเพาะต่อการผ่าตัด ACDF ที่อาจเกิดขึ้นได้ ได้แก่ เสียงแหบ เสียงเปลี่ยน กลืนติด กลืนเจ็บ เป็นต้น แต่อาการมักดีขึ้นตามลำดับหลังการผ่าตัด

จากอาการเหล่านี้ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงภาวะเส้นประสาทและไขสันหลังส่วนคอถูกกดทับคนไข้ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจาก หมอนรองกระดูกคอเคลื่อนกดทับเส้นประสาท กระดูกคอเสื่อมกดทับเส้นประสาท หินปูนเกาะเส้นเอ็นหลังกระดูกคอ เป็นต้น ดังนั้นหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคนี้สามารถเข้ามารับการปรึกษากับแพทย์ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการรักษาและเพื่อผลการรักษาที่ดีที่สุด โดยสอบถามรายละเอียดและขอรับคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ โรงพยาบาลนวเวช โทร. 1507 I Line: @navavej


ที่มาของภาพ : โรงพยาบาลนวเวช
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport