ที่ผ่านมา ไทยสนับสนุนการดำเนินงานของเอเปค ในการส่งเสริมการค้าการลงทุนอย่างเสรีและเปิดกว้างมาโดยตลอด ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากการที่ไทยได้ลงนามให้การรับรอง“วิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. 2040 (APEC Putrajaya Vision 2040)” ซึ่งเป็นเอกสารกำหนดทิศทางของเอเปคในอีก 20 ปีเมื่อปี พ.ศ. 2563
นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2564 ไทยยังได้รับรอง “แผนปฏิบัติการเอาทีอารอ (Aotearoa Plan of Actions)” ซึ่งเป็นแผนปฏิบัติการเพื่อนำวิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. 2040 ไปปฏิบัติให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม
ในฐานะเจ้าภาพการจัดประชุม APEC ในปีนี้ ไทยจะผลักดันประเด็นใหม่ ๆ โดยเฉพาะการค้าการลงทุน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยไทยจะมุ่งเน้นไปที่การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และการปรับหลักการของเอเปคไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจยุคหลังโควิด-19 ที่ยั่งยืนและสมดุล
ประเด็นที่ไทยมุ่งผลักดันให้เป็นรูปธรรมและเป็นผลลัพธ์ในการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ 1) ส่งเสริมการค้าการลงทุนเสรีและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเอเปค ผ่านการเจรจาเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ในบริบทของการเติบโตหลังโควิด-19 ที่จะต้องยั่งยืน สมดุล และเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน 2) ส่งเสริมการเดินทางที่สะดวกและปลอดภัย ผ่านการจัดตั้งกลไก APEC Safe Passage Taskforce เพื่อหารือแนวทางในการส่งเสริมการเดินทางที่สะดวกและปลอดภัย เช่น การอำนวยความสะดวกอาชีพสำคัญ, การส่งเสริมการใช้ โครงสร้างพื้นฐานสาธารณะที่สำคํญ (Public Key Infrastructure) ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านสุขภาพในภูมิภาค และการขยายกลุ่มผู้ใช้บัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปค (APEC Business Travel Card - ABTC) ให้ครอบคลุมมากขึ้น และ 3) ส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุมในเอเปค ด้วยการจัดทำเอกสารผลลัพธ์ระดับผู้นำ เพื่อเร่งการพัฒนาตามแผนงานของเอเปคไปสู่การเติบโตอย่างเข้มแข็ง ยืดหยุ่น ยั่งยืน ครอบคลุม และสมดุลในยุคหลังโควิด-19 ตามแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) ซึ่งมีหัวใจสำคัญอยู่ที่ “ความสมดุลของทุกสิ่ง”