สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ จัดการเสวนา “เราจะ Stop Fake, และ Spread Facts เพื่อเราและสังคม ? เพื่อสร้างพลังแห่งการตื่นรู้ด้านดิจิทัล เอาชนะข้อมูลบิดเบือน ระบุเนื้อหาประเภทสุขภาพและการเมือง ถูกบิดเบือนมากที่สุด
เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2566 ที่โรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน กรุงเทพฯ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ร่วมกับ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ได้จัดโครงการ หยุดข้อมูลลวง...Stop Fake, Spread Facts “ร่วมปลุกสังคม รู้เท่าทันข้อมูลลวง” โดยภายในงานได้จัดเสวนาหัวข้อ "เราจะ Stop Fake, และ Spread Facts เพื่อเราและสังคม?"
โดยมี พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.),คุณมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย,คุณระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรัญญ์ทิตา ชนะชัยภูวพัฒน์ หัวหน้าโครงการ และ นักวิชาการ, คุณธัญวรัตม์ จุลสุคนธ์ ผู้แทนเยาวชน จากยูนิเซฟร่วมวงเสวนา นอกจากนี้ภายในงานยังมีการอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับสื่อมวลชนและประชาชน หลักสูตร “How to Stop Fake and Fact Check Telling" พร้อมทั้งมอบเกียรติบัตรแก่ผู้เข้าร่วมการอบรม
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรัญญ์ทิตา ชนะชัยภูวพัฒน์ หัวหน้าโครงการ และ นักวิชาการ กล่าวว่า โครงการรณรงค์หยุดข้อมูลลวง Stop Fake, Spread Facts ได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนมีวิจารณญาณ รู้เท่าทันข่าวสาร ข้อมูลสารสนเทศจากสื่อต่างๆ ให้สื่อมวลชนทุกแขนงประกอบวิชาชีพอย่างมีจรรยาบรรณ สื่อสารข้อมูลข่าวสารใดๆ ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม และร่วมรณรงค์กำกับดูแลแก้ไขปัญหาข้อมูลลวง โดยโครงการมีกิจกรรมต่างๆ ประกอบด้วย 1.ทำโครงการวิจัย รวม 4 โครงการที่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทั้งสื่อมวลชนและประชาชนผูรับสารทั่วประเทศ 2.จัดระดมความคิดเห็นจากตัวแทนบุคลากรในสายงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ สื่อออนไลน์ นักกฎหมาย นักวิชาการ และประชาชน ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวม 10 จังหวัด 3.จัดทำคู่มือ “รู้เท่าทันข่าวลวง” สำหรับภาคสื่อมวลชนและภาคประชาชน 4. ผลิตภาพยนตร์โฆษณารณรงค์รู้เท่าทันข้อมูลลวง เผยแพร่ผ่านโทรทัศน์ และ สื่อออนไลน์ และ 5. จัดกิจกรรมรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจด้านการรู้เท่าทันข้อมูลลวง สำหรับสื่อมวลชนและประชาชน 10 จังหวัด
ด้าน คุณระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวถึง "บทบาทของสมาคมฯ ในการขับเคลื่อนโครงการเพื่อสังคม" ว่า โครงการนี้เริ่มต้นจากกลุ่มหัวหน้าโครงการรวมถึงนักวิชาการหลายๆท่าน ที่ร่วมกันมาคุยกับสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ เราทราบดีว่าปัญหาของข่าวปลอมปัญหาของคำว่า Misinformation คำนี้ บางท่านบอกว่าเป็นคำใหม่ แต่จริงๆแล้วเป็นคำที่ถูกใช้มาตลอด หรือ Misleading ที่ถูกใช้มาตลอด ยกตัวอย่างการส่งข้อมูลผ่านแอปพลิเคชันว่าปลอมหรือไม่ปลอม แต่ส่งเลยด้วยความเป็นห่วงเป็นใยด้วยความรู้สึก ว่ามีคนส่งมาแล้วและก็เป็นเรื่องของสุขภาพ แล้วพอเราได้อ่านก็รู้สึกว่าดีเลยส่งต่อถึงเพื่อนข้างบ้าน แต่เมื่อเข้าไปอ่านจริงๆแล้วพบว่าปลอม แบบนี้ใครๆก็เป็นสื่อได้คำนี้ถูกพูดมานานแล้วครับ ฉะนั้นข้อมูลที่ท่านอ่านเราจะทำยังไงที่เราจะรวบรวมและประมวลผลและเรียบเรียงออกมาเป็นเล่มหนังสือได้
นอกจากนี้ คุณระวี ได้ยกตัวอย่างว่า ล่าสุดได้เดินทางไปต่างประเทศเพื่อคุยเรื่อง Fake news กับ Misinformation สิ่งที่พูดคุยร่วมกันอย่างเช่นประเทศญี่ปุ่น,เกาหลี,อเมริกา หรือ ในอังกฤษก็ตาม แต่ละประเทศจะมี ‘ไบเบิล’ว่าอะไรก็ตามที่ควรจะทำอะไรที่ไม่ควรทำ อะไรที่เป็น Fake news อะไรที่เป็น Misinformation เพื่อเป็นคู่มือเตือนใจ เป็น Policy ของประเทศในการใช้ แต่ประเทศไทยยังไม่มี ในฐานะสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ที่มีสมาชิกกว่า 40 ราย ได้หารือกับหัวหน้าโครงการว่าเราควรน่าจะทำโครงการนี้ขึ้นมา แล้วก็เสนอทาง กองทุน กทปส.และได้รับการอนุมัติให้ทำและเชื่อว่าจะได้รับประโยชน์ในเรื่องนี้และจะเป็น Policy ในการใช้เป็นคู่มือว่าเราควรและไม่ควรทำอะไร
จากนั้น ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) , ได้แสดงปาฐกถา ในหัวข้อ “Strengthen Digital Competency to Win the Fight Against Disinformation: พลังแห่งการตื่นรู้ด้านดิจิทัล เพื่อเอาชนะข้อมูลบิดเบือน” โดยเริ่มจากพูดคุยเรื่อง Stop Fake, Spread Facts ร่วมขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงทางสังคม ในบริบท Next Normal
Next Normal เป็นคำที่ถูกสร้างขึ้น มา โดย McKinsey ความหมายก็คือต้องมี Before และ After
Before คือ Before Digital Transformation และผูกโยงกับอีกสิ่งหนึ่งก็คือเรื่องของโควิด คือช่วงโควิดเรายังไม่ Transform แต่พอเกิดโควิดขึ้นมาเราถูกบีบ ให้ Transform อย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ Next normal ในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ และเกี่ยวข้องอย่างไรกับการสื่อสาร เมื่อก่อนเรามองการสื่อสารอาจจะมองไปบางส่วนถ้าเป็นนักนิเทศศาสตร์ก็จะเน้นในเรื่องของการสร้างเนื้อหาขึ้นมาเป็นหลักแต่พอมาอยู่ในกระบวนการที่ อยู่ในช่วงของ Next Normal เนื้อหาบิดเบือน (Misinformation) ที่จะคอมพลีทแล้ว เวลาเราดูเรื่องกระบวนการสื่อสารเราต้องดูทั้งกระบวนการ คือดูตั้งแต่ Infrastructure ดู Platform ที่ทำจากแอปอะไรต่างๆ ที่เป็นการถูกใช้ประโยชน์ขึ้นมา จนกระทั่งถึงเรื่องของ Content เรื่องของ Device อะไรต่างๆ ซึ่งจริงๆ คือหน้าที่ ของ กสทช.คือเราต้องดูทั้งหมดแต่อาจจะยังดูไม่ถึงออนไลน์ในแง่ของกฏหมายแต่เราก็พยายามศึกษาอยู่
นอกจากนี้ยังได้ยกตัวอย่างแนวทางที่เกี่ยวกับ Misinformation ขององค์กรกำกับดูแลในต่างประเทศ อาทิ OFCOM ของอังกฤษ FCC ของสหรัฐ ACMA ของออสเตรเลีย , IMDA ของสิงค์โปร KCC และ KCSC ของเกาหลี ,CRTC ของแคนาดา และ NCC ของไต้หวัน ซึ่งเหล่านี้จะดูแลได้ทั้งหมดทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ส่วนหนึ่งจะเน้นในเรื่องของเด็ก
มาในส่วนของ Digital Service Act สหภาพยุโรป จะมีลักษณะคล้ายๆกันแต่ให้เพลทฟอร์มเป็นผู้ประเมินอย่างชัดเจนทั้งประเมินความเสี่ยงต่อเด็กและเนื้อหาในส่วนของเนื้อหากุข้อมูลเท็จข่าวลวงต่างๆซึ่งทางภาครัฐก็จะคอยตรวจสอบอีกที
เมื่อหันมามองในส่วนของไทยกับอาเซียนบ้าง โดยของไทยในช่วงปี 2019-2021 ซึ่งเป็นข้อมูลจากทาง Trusted Media Summit APAC 2022 ก็จะพบว่าเรื่องสุขภาพเป็นประเด็นหลัก รองลงมาก็จะเป็นอาชญากรรมไซเบอร์ และการเมือง อีกอย่าง Misinformation สิ่งที่สังเกตุได้ก็คือจะไม่อยู่ใน แพลตฟอร์มเดียว อันไหนที่มี Engagement เยอะๆ จะข้ามแพลตฟอร์ม ทั้งที่อยู่ใน ทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊ก และยิ่งทำเป็นอินโฟกราฟิกให้น่าสนใจก็จะทำให้คนเชื่อมากขึ้น
ในส่วนแนวทางการแก้ไขและบรรเทาผลกระทบจาก Misinformation ยกตัวอย่างสำคัญอาทิ การตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างละเอียด,การสร้างความตระหนักรู้และให้การศึกษากับสาธารณะ, การสร้างศักยภาพทางการวิจัยแบบสหสาขาวิทยาการและเชิงวิพากษ์,การส่งเสริมความโปร่งใสจากตัวกลางออนไลน์,การสร้างความแข็งแกร่งให้กับสื่อที่มีคุณภาพ,กระบวนการกับกับดูแลกันเองของสื่อ,การร่วมตรวจสอบเฝ้าระวังสื่อจากสังคมและสุดท้ายคือการใช้กฏหมายแต่จะพยายามให้ใช้น้อยที่สุด
สำหรับ 4 องค์ประกอบ ในการรับมือ Misinformation และเนื้อหาที่เป็นอันตรายในบริบท Next normal ประกอบด้วย 1.นำระบบ Algorithms, Automation และ Human Curation มาใช้ 2. การสร้าง Social Data Science ที่วิเคราะห์วิพากษ์ 3.การตีความกฏหมายภายใต้บริบทแห่งความสัมพันธ์ทางอำนาจ และ 4.พัฒนาศักยภาพการผลิตสื่อ
สุดท้ายในประเด็นที่จะต้องพิจารณาต่อไปคือการรับมือ Misinformation ไม่ใช่อะไรที่เราทำได้เองเฉพาะประเทศเราประเทศเดียวต้องเป็นอะไรที่เป็นความร่วมมือหรือว่าเป็นแนวทางเป็นมาตรฐานที่จะต้องดูในระดับ
นานาชาติ ยกตัวอย่างการดีลกับโกบอลแพลตฟอร์ม หากใช้อาเซียนให้เป็นประโยชน์น่าจะเกิดผลมากขึ้น อีกอย่างเราควรจะให้แพลตฟอร์มแสดงความโปร่งใส ซึ่งเป็นความท้าทายในประเทศของเรา
จากนั้น เข้าสู่ช่วงของการเสวนา ในหัวข้อ “How to Stop Fake - Spread Facts for safe Thai society ? เราจะ Stop Fake, และ Spread Facts เพื่อเราและสังคม ?" เป็นการเสวนาจากมุมมองของนายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่ออาวุโส,ผู้แทนภาครัฐ,ผู้แทนเยาวชนและผู้แทนภาคประชาชน โดยมี ดร.ศรัญญ์ทิตา ชนะชัยภูวพัฒน์ หัวหน้าโครงการ และ นักวิชาการ เป็นผู้ดำเนินการเสวนาในครั้งนี้
เริ่มที่ พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ได้มาแชร์ประสบการณ์ในส่วนของ Stop Fake, และ Spread Facts โดยกล่าวว่า “จริงๆแล้วเราเคยประสบปัญหาในเรื่องของการหลอกลวงมาตลอดโดยเฉพาะเรื่องของไซเบอร์แต่ว่ามันทวีความรุนแรงมากเพราะว่าตอนนี้เราเจอหน้ากันน้อยลงจากเรื่องของโควิดอย่างหนึ่งที่เราจะเห็นได้คือ เราไปธนาคารกันน้อยลง เราพึ่งในเรื่องของโมบายแบงค์กิ้งมากขึ้น และก็สถิติในการใช้งานโมบายแบงค์กิ้งบ้านเราติดเป็นอันดับ 1 ของโลก มา 3 ปีซ้อน และมักจะได้ยินข่าวว่าทางตู้เอทีเอ็ม ก็ถูกถอนการติดตั้งไป สาขาธนาคารก็ถูกปิดไปจึงทำให้เราพึ่งพาในโลกของโซเบอร์มากขึ้น ซึ่งตรงนี้เป็นช่องทางที่เรื่องของ Misinformation และการหลอกลวงต่างๆเกิดง่ายขึ้น และมุมมองในตัวของหน่วยงานเราเอง เรื่องหลักเลยคือดูแลในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานทั้งประเทศให้ปลอดภัยรวมถึงธนาคารด้วย ซึ่งในฝั่งของธนาคารตัวระบบหลักอาจจะปลอดภัยแต่ในส่วนของผู้ใช้ 1 ธนาคารที่มีผู้ใช้ 30 ล้านคน มีเคสถูกหลอกทุกวันในรูปแบบของการที่ถูกหลอกให้โอนเงิน หลอกให้กลัว เช่นหลอกว่า คุณมีพัสดุส่งผ่าน ดีเอสเอล แล้วผิดกฎหมาย พวกนี้ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องของการหลอกลวง ซึ่งสุดท้ายแล้วสร้างผลกระทบทั้งในเรื่องของเงินทองหรือถึงขั้นทำให้เสียชีวิต ยกตัวอย่างเช่นเด็กคนหนึ่งถูกหลอกให้เอาเงินพ่อ-แม่ ไปลงทุน สุดท้ายหาทางออกไม่ได้ต้องฆ่าตัวตาย ซึ่งจำนวนเงิน แค่ 17,000 บาทเท่านั้น
เพราะฉะนั้นประเด็นตรงนี้ในปัญหาเรื่องไซเบอร์รวมถึงการหลอกลวงกันในเรื่องต่างๆสร้างผลกระทบจริงๆทั้งในแง่ของเรื่องเศรษฐกิจในเรื่องของชีวิตและความมั่นคงของเรา”
ด้าน คุณระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวว่า“ช่วงเวลานี้เรามีความสุ่มเสี่ยงสูงมาก เรากำลังใกล้ในเรื่องของการยุบสภาฯหรือไม่ยุบสภาฯเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้งการเมืองกำลังร้อนแรงในช่วงเวลาที่ผ่านมาหลังจากปีใหม่ผมได้ยินคนในวงการยุคดิจิทัลพูดกันมากเกี่ยวกับการปรับปรุงอัลกอริทึมของเฟซบุ๊ก สิ่งนี้อันตราย
อันตรายอย่างไรหากใครเคยได้ยินว่าเฟซบุ๊กกำลังดันข้อความที่เป็น Text-Template บนพื้นหลังของ Facebook ที่จะทำให้ได้ยอดการเข้าถึงมากกว่าโพสต์ปกติ ยกตัวอย่างเช่นการพิมพ์เพื่อรายงานข่าว Breaking
News และก็พิมพ์ข้อความโดยมีพื้นสีข้างหลังจะทำให้ดันยอด Read มากเป็นพิเศษ ประเด็นปัญหานี้ครับ ระบบอัลกอลิทึมของแพลตฟอร์มดันยอดจริงหรือเปล่าไม่รู้แต่จะค้างอยู่หลายวัน สมมติว่าสำนักข่าวหนึ่งรายงานข่าว Breaking News ไฟไหม้ที่หนึ่ง สถานที่แห่งหนึ่งซึ่งยอด Read เยอะมาก แต่ว่าจะค้างอยู่ 3 วัน ลองคิดว่า ถ้าคนไม่เห็นในวันที่โพสต์เช่นโพสต์ในวันจันทร์ จากนั้นมีคนมาพบ ว่าเป็น Breaking News ไฟไหม้ซึ่งดับไปแล้วในวันนั้น แล้วเขามาเห็นโพสต์นั้น ในวันพุธเขาจะตระหนกขนาดไหนและเขาไม่รู้มาก่อนว่าเกิดไฟไหม้ คนที่ตระหนกจะแคปภาพนั้นและแชร์ต่อ พอแชร์ไปบอกเพื่อนต่อเพื่อนที่มีบ้านใกล้กับที่เกิดเหตุก็เกิดความตระหนก ที่กล่าวมานั่นคือ Misinformation เพราะเราไม่รู้ว่า อัลกอริทึม ว่าจะเกิดอะไรขึ้นและนี่คือเคสปัจจุบันที่เป็นอยู่ และยังมีอีกหลายเคสมากที่เป็นแบบนี้ ดังนั้นความระมัดระวังของเราเองต้องเพิ่มในเรื่องของการเรียนรู้และเข้าใจแพลตฟอร์ม”
ด้านคุณ มงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้กล่าวเสริมว่า “ที่คุณรวี พูดถึงทำให้ผมซึ่งเรียนมาทางนิเทศศาสตร์ ของ จุฬาฯโดยตรง และก็เรียนมาทางสาขาหนังสือพิมพ์ ผมนึกถึงต้องเรียกว่าสูงสุดต้องคืนสู่สามัญ ซึ่งตอนนี้ข่าวทางออนไลน์ทั้งหลายซึ่งเน้นการสร้างความสนใจและคลิกเข้าไปอ่านเป็นหลัก แต่ลืมพื้นฐานอย่างหนึ่งคือ ‘ใคร,ทำอะไร,ที่ไหน,เมื่อไหร่,อย่างไร’ ที่สอนกันในวารสารนิเทศศาสตร์ เพราะถ้าในข่าวนั้นได้กำกับชัดเจนว่าเกิดเมื่อไรอย่างไรและยังคงอยู่ ต่อให้ไปโพสต์อีก 3 วันอีก 5 วัน หรือ อีก 2 ปี ในเนื้อข่าวก็บอกอยู่แล้วว่า เหตุเกิดเมื่อไร ก็จะลดปัญหาไปได้มาก แต่ว่าเรามักจะไปสูงแล้วไม่กลับไปดูสามัญครับ”
เมื่อถามว่า ในช่วงที่ผ่านมา สมาคมมีแนวทางรับมืออย่างไรกับปัญหาข่าวเท็จ,ข่าวบิดเบือนอย่างไร ?
คุณ ระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่วว่า “การทำงานสื่อสารมวลชนตั้งแต่อดีต ไม่ว่าจะยุคไหนไม่ว่าจะเป็นไทยหรือต่างประเทศ ย่อมจะมีโอกาสที่จะทำให้เกิด Misinformation หรือ Fake news ได้เสมอจากสื่อมวลชนยกตัวอย่างสำนักข่าวต่างประเทศสำนักหนึ่งกำลังรายงานข่าวเหตุจับตัวประกันและกราดยิง
หลักการสื่อสารมวลชนเมื่อเกิดเหตุแล้วยังไม่คอนเฟิร์ม เราจะใช้คำว่า มีรายงานข่าวว่า เช่นเดียวกับในหนังสือพิมพ์ก็ยังใช้อยู่ และในทีวีทั่วโลกก็ใช้เช่นกัน ยกตัวอย่าเช่น “มีรายงานข่าวว่าเกิดเหตุกราดยิง” ยังไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร แต่รายงานก่อน ซึ่ง CNN และ BBC รวมถึงสื่อต่างประเทศทำ สำหรับการรายงานผ่านทีวีจะไม่มีปัญหา เพราะมีคำว่ามีรายงานข่าวว่าเมื่อผ่านเวลาไปเมื่อเช็กเพิ่มได้เขาจะรายงานต่อว่ารายงานข่าวนั้นจริงหรือไม่จริงหรือไม่ครบ แต่ว่าปัญหาบนออนไลน์ไม่ใช่อย่างนั้น พอมีคำว่ารายงานข่าว ด้านผู้ชมหรือคนดูในประเทศไทยจะเข้าใจว่าคือข่าวแล้วและทำการแชร์ต่อ เมื่ออีก 1 ชั่วโมงผ่านไป สำนักข่าวเดิมก็ตอบว่ารายงานข่าวดังกล่าวนั้น สมมติ มีคนเสียชีวิต 5 คน รายงานข่าวนั้น ปรากฏว่าเป็นคนบาดเจ็บ 4 เสียชีวิต 1 และคอนเฟิร์มแล้ว แต่ไม่ได้แชร์อันที่ 2 แต่แชร์ อันแรกก่อน เพราะอันแรกมันคือความตื่นตระหนก และคนส่วนใหญ่มักยังไม่เข้าใจว่า คำว่ารายงานข่าวนั้นยังไม่คอนเฟิร์มซึ่งยังไม่ใช่ข่าว อันนี้คือสิ่งที่สื่อในสมาคมฯ กำลังทำอยู่นั่นคือ Spread Facts ออกไป
ให้เร็วที่สุดคือสิ่งสำคัญ ซึ่งที่กล่าวมาการรายงานข่าวที่เป็น Breaking News เราก็ยังคงต้องทำอยู่ แต่จะทำอย่างไรให้เมื่อ Breaking News ถูกปล่อยออกไปแล้วจะทำอย่างไรสำหรับ Facts information ที่ตามหลังมาต้องไปด้วย แต่ว่าปัญหาของเราคือการทำงานกับออนไลน์กับอัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มเราควบคุมไม่ได้เราไม่ทราบว่าจะถึงคนที่รับสารหรือเปล่าอันนี้คือข้อควรระวัง”
ตารางการจัดกิจกรรม “Facts-story Festival” ทั่วประเทศ
สำหรับกิจกรรมรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจด้านการรู้เท่าทันข้อมูลลวง “Facts-story Festival” ครั้งต่อไป มีดังนี้ วันที่ 7 ก.พ. โรงแรมคลาสสิค คามิโอ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, วันที่ 14 ก.พ. โรงแรมบางแสน เฮอริเทจ จังหวัดชลบุรี, วันที่ 17 ก.พ. โรงแรมแคนทารี เบย์ จังหวัดระยอง, วันที่ 28 ก.พ. โรงแรมท็อปแลนด์ จังหวัดพิษณุโลก, วันที่ 3 มี.ค. โรงแรมเอ็มเพรสพรีเมียร์ จังหวัดเชียงใหม่, วันที่ 14 มี.ค. โรงแรมสุนีย์แกรนด์ จังหวัดอุบลราชธานี, วันที่ 17 มี.ค. โรงแรมเซ็นทาราคอนเวนชันเซ็นเตอร์ จังหวัดอุดรธานี, วันที่ 28 มี.ค. โรงแรมคริสตัล หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และ วันที่ 31 มี.ค. โรงแรมเซ็นทารา อ่าวนาง บีช รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดกระบี่