โทษฐานที่ ไทยลีก 3 กำลังจะเข้าสู่รอบ 'แชมเปี้ยนส์ ลีก' หรือรอบชิงตั๋วเลื่อนชั้นสู่ ไทยลีก 2 ว่าแล้ว 'SIAMSPORT' จึงคัดสรรเหตุผลดีๆ ว่าเหตุไฉน ฟุตบอลท้องถิ่นจึงมีความสำคัญต่อวงการลูกหนังสยามประเทศ โดยเราขอแบ่งเป็น 4 ข้อเน้นๆ ให้คุณได้อ่านกัน!!
[ 1 ] สร้างรากฐานของแฟนฟุตบอล
ปฏิเสธไม่ได้ว่าฟุตบอลคือกีฬา 'อันดับ 1' ของโลก ความนิยมของลูกกลมๆ ที่มี 22 ผู้เล่นในสนามห้ำหั่นกันเป็นที่แพร่หลายทุกซอกหลืบทั่วทั้งปฐพี ด้วยรูปเกมอันตื่นเต้นเร้าใจตลอด 90 นาที ที่หลายครั้งได้สร้างปรากฏการณ์จนต่อยอดถึงธุรกิจมหาศาล
ปัจจัยหลักที่ทำให้กีฬาลูกหนังครองใจผู้คนนั่นคือ 'บรรยากาศ' ในการเชียร์ของแฟนๆ ที่เข้าชมเกมการแข่งขัน
แม้มาตรฐานฟุตบอลไทย จะยังห่างไกลจากชาติชั้นนำของทวีป แต่เรื่องของความคลั่งไคล้ สยามชนคนขวานทองก็ไม่มีทางแพ้ใครในโลกเช่นกัน
ดังนั้นแฟนฟุตบอลจึงเป็นสิ่งสำคัญของการพัฒนาวงการลูกหนังในทุกๆ ท้องที่ สังเกตได้จากประเทศที่ผู้คนให้ความสนใจในกีฬาชนิดนี้ที่จะเข้ามาให้กำลังใจทีมรักกันแบบเต็มความจุบนอัฒจันทร์ ไม่ว่าคุณจะอยู่ในลีกสูงสุดหรือลีกล่างลงไป
เมื่อใดที่ผู้คนให้ความสนใจในสโมสร ย่อมส่งต่อถึงการสนับสนุนในรูปแบบเงินตราที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว และมันคือรายได้ที่จะนำไปพัฒนาในส่วนต่างๆ ซึ่งเมื่อใดที่มีฐานแฟนคลับอย่างมั่นคง ย่อมล่อตาล่อใจให้สปอนเซอร์เข้ามาอัดฉีดเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ต่อองค์กรนั้นๆ
เท่านั้นไม่พอ การที่จังหวัดต่างๆ นั้นมีหลายอำเภอ ซึ่งการที่ผู้คนที่มีถิ่นฐานบ้านไกลจากตัวเมือง ทำให้โอกาสการเข้าถึงฟุตบอลอาชีพมีน้อยกว่าพื้นที่อื่นๆ แต่ถ้ามีสโมสรของจังหวัด พวกเขาเหล่านั้นก็สามารถขยับเข้าใกล้ความเป็นจริงได้มากขึ้น
มันคือการเติบโตจากฐานล่างไปสู่ยอดพีระมิด เพราะถ้ารากแข็งแรง มันก็จะส่งผลดีไปยังส่วนต่างๆ ด้วยเช่นกัน
[ 2 ] กระจายรายได้รอบชุมชน
ตามแต่ละจังหวัด เรื่องของอาชีพการงานนั้นอาจจะไม่ได้มีการแข่งขันสูงเหมือนในเมืองใหญ่ๆ ที่ต่างต้องฟาดฟันกันในทุกวี่วัน
ดังนั้นเมื่อมีสโมสร 'ฟุตบอล' ของจังหวัด มันจึงเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างงาน, สร้างรายได้ให้กับผู้คนในแต่ละท้องถิ่นในหลากหลายอาชีพ
พ่อค้า-แม่ขาย ก็สามารถนำสินค้าหรืออาหารของตนเองมาจำหน่ายให้กับผู้คนที่มายังสนามแข่งขัน ทั้งแฟนๆ ของทีมเจ้าบ้านหรืออาคันตุกะจากต่างแดน
การคมนาคมก็คึกคัก เนื่องจากไม่ได้มีแค่ผู้คนในท้องถิ่นเท่านั้นที่ต้องการเข้าชมการแข่งขัน หากแต่ทีมเยือนเองก็ต้องใช้รถ-ใช้ถนนเพื่อสัญจรสู่สนาม
ที่พักหรือโรงแรมก็ได้อานิสงส์ไปด้วย เนื่องจากแฟนๆ จากต่างถิ่น ถ้าต้องเดินทางไกล คงต้องจ้องห้องพักสำหรับค้างคืน ซึ่งก็เป็นอีกช่องทางที่ช่วยเสริมสร้างรายได้
แหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดนั้นๆ ก็ได้ประโยชน์ไปด้วยเช่นกัน ยิ่งถ้าเป็นจังหวัดที่มีชื่อเรื่องธรรมชาติ ไม่ว่าจะป่าเขา, ลำเนาไพร รวมไปถึงท้องทะเล การที่มีผู้คนมาเยี่ยมเยียน ก็เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในแต่ละท้องถิ่นนั่นเอง
[ 3 ] ความภาคภูมิแห่งท้องถิ่น
'กีฬาสร้างคน คนสร้างชาติ' วลีอมตะที่ใช้ได้กับทุกยุคสมัย และมันย่อมส่งถึงฟุตบอล ซึ่งเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงจิตใจคนไทย ทั้งประเทศ
ทีมชาติคือตัวแทนของคนทั้งประเทศ ขณะเดียวกัน สโมสรก็เปรียบเสมือนตัวแทนของผู้คนในท้องถิ่นนั้นๆ มันคือสัญลักษณ์ของชุมชนที่หลอมรวมให้ผู้คนเข้าสู่สนามด้วยเป้าหมายเดียวกัน
ฟุตบอลเป็นกีฬาที่มีเรื่องของอารมณ์และความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นการที่มีสโมสรเกิดขึ้นในท้องถิ่น มันจึงเป็นเหมือนศูนย์รวมจิตใจให้ผู้คนในแถบนั้นอยากเข้ามามีส่วนร่วมกับทีมของตนเอง ซึ่งถ้าไปได้ดี ฐานของแฟนๆ ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ยิ่งถ้ามีนักเตะที่เป็นคนที่เติบโตมาจากย่านนั้นๆ ก็จะยิ่งเพิ่มมูลค่าของความภาคภูมิทางจิตใจให้กับแฟนๆ มากขึ้น เพราะมันคือผลิตผลจากท้องถิ่นนั่นเอง
เมื่อมีสโมสรที่เป็นของจังหวัด จึงเป็นตัวแทนในหลากแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นการมาเจอกันของผู้คนในชุมชน, เกิดการกระตุ้นทางเศรษฐกิจ ซึ่งพอมีการแข่งขันทุกๆ สัปดาห์ มันจึงค่อยๆ ซึมซับกลายเป็นวัฒนธรรมของท้องถิ่นที่ต้องร่วมแรงร่วมใจมาเชียร์ทีมรัก จนเกิดความภาคภูมิในท้องถิ่นของตนเอง
[ 4 ] เพิ่มตัวเลือกสู่ทีมชาติ
แม้ว่าโอกาสที่นักเตะภูธรที่เล่นอยู่ในลีกระดับล่างจะก้าวไปติดทีมชาติไทย มีค่อนข้างน้อย แต่ใช่ว่าจะไม่เคยมีเลยซะทีเดียว ตัวอย่างชัดเจนเช่น สิโรจน์ ฉัตรทอง, เลอสันต์ เทียมราช และ ชานุกูล ก๋ารินทร์ คือผู้เล่นที่เติบโตมาจากทีมต่างจังหวัด ก่อนจะค่อยๆ ไต่เต้าจนติดธงไตรรงค์บนอกซ้ายในเวลาต่อมา
แน่นอนว่ามาตรฐานของลีกรองๆ ลงไปย่อมต่ำกว่าลีกสูงสุด แต่ถ้าไม่มีลีกเหล่านี้รองรับ มันก็เหมือนไม่มีฐานที่มั่นคงเพื่อเฟ้นหาบุคลากรที่เก่งกาจที่สุดเมื่อเดินไปถึงปลายทาง
การแข่งขันในทุกๆ สัปดาห์ เป็นเหมือนการขัดเกลาฝีเท้าให้นักเตะได้พัฒนาตนเองขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเชื่อได้เลยว่าผู้เล่นทุกคนต่างก็มีความฝัน ต่างก็ปรารถนาจะได้เงินเดือนสูงๆ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งถ้าพวกเขาฝึกฝนให้เชี่ยวชาญจนเป็นที่หมายปองของสโมสรที่ใหญ่กว่าเดิม มันก็เป็นการต่อยอดให้กับตนเองในอนาคต
นอกจากนี้ บรรดาทีมใหญ่ก็มักจะส่งแข้งเยาวชนในสังกัดให้กับสโมสรในลีกล่าง เพื่อเป็นการสั่งสมประสบการณ์การแข่งขันจริง เนื่องจากยังไม่มีที่ว่างให้กับพวกเขาเหล่านั้นในทีมชุดใหญ่ ซึ่งการที่นักเตะอายุน้อยได้ลงสนามในทุกๆ สัปดาห์ ย่อมค่อยๆ เก่งขึ้นอย่างแน่นอน
พอมีนักเตะที่มีศักยภาพสูงเพิ่มขึ้น การแข่งขันก็ย่อมเข้มข้นตามโดยธรรมชาติ ซึ่งประโยชน์สูงสุดก็ตกอยู่กับทีมชาติแหละ ที่จะมีผู้เล่นมากหน้าหลายตาให้เลือกใช้ เพราะพวกเขาผ่านการคัดกรองจากฟุตบอลลีกที่แข็งแกร่งมาแล้วนั่นเอง