14 ปีคลุกคลีบอลไทย "ประธานฮาย" แห่งทัพ "กว่างโซ้ง" ร่ายยาวหลังเห็นญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ ทะลุ 16 ทีมบอลโลก 2022 ชี้ชัดอยากเห็นผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่เกี่ยวข้องกับวงการฟุตบอล มองความสำคัญในการสร้างรากฐานด้วยเยาวชนเสียที งง ไม่ได้ใช้เงินจากรัฐแม้แต่บาทเดียว ทั้งที่ 1 ปีต้องจ่ายภาษีกันหลักสิบล้านบาท ถามงบประมาณหายไปไหน ถึงไม่งอมืองอเท้า ทำเรื่องที่คิดว่าเป็นรากฐานที่สำคัญ ยันถ้าไม่ให้ความสำคัญกับรากฐานเยาวชน เมื่อไหร่บอลไทยจะสู้กับชาติอื่นได้ ลั่นรอชาตินี้หรือต้องรอชาติหน้า !?
ปวิศรัฐฐ์ ติยะไพรัช ประธานสโมสรลีโอ เชียงราย ยูไนเต็ด ทีมแกร่งแห่งศึกไทยลีก ได้ออกมาเปิดใจผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ในช่วงที่ฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้าย ที่ประเทศกาตาร์ กำลังทำการแข่งขันกันอยู่ในเวลานี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งมี 2 ทีมทวีปเอเชียอย่าง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สามารถผ่านเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้ายได้สำเร็จ โดยมองว่าหากประเทศไทยจะมีโอกาสไปเล่นในฟุตบอลโลก ผู้ใหญ่ในวงการฟุตบอลควรให้ความสำคัญกับรากฐานคือ เยาวชน มากกว่านี้
"ประธานฮาย" เปิดใจว่า "เห็นญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เข้ารอบ 16 ทีมสุดท้าย ฟุตบอลโลก ก็ได้แต่คิดว่าไทยจะมีโอกาสหรือเปล่า ชาตินี้จะได้เห็นทีมชาติไทยไปฟุตบอลโลกหรือไม่ เมื่อไหร่ที่บ้านเราจะให้ความสำคัญกับการสร้างรากฐานด้วยเยาวชนเสียที เมื่อไหร่ที่จะจริงจังกับ เรื่องของ “คน” ให้คนไทยได้มีศักยภาพจากทั้งการศึกษาและการเรียนรู้ เพราะศักยภาพของคน คือต้นตอ คือรากฐาน ที่จะทำให้คนคนนั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้"
"หันมามองที่ฟุตบอลระดับสโมสร หากสโมสรใดไม่ได้ไปเล่นระดับ AFC Champions League แทบจะไม่มีการตรวจเรื่อง อะคาเดมี่หรือการพัฒนาเยาวชน ทั้งที่เรื่องนี้ควรต้องเป็นหนึ่งในเรื่องหลัก"
"ไม่โทษที่หลายสโมสร ไม่ทำอะคาเดมี่ เพราะก็เข้าใจว่า ลำพังแค่เอาตัวรอดในลีก ต้องใช้ทุนจำนวนมากมหาศาล เกินกว่ารายได้ที่พึงจะได้ จากเศรษฐกิจและค่าครองชีพแบบในยุคนี้ โดยเฉพาะกับการที่ลีกของเราไม่มีเพดานค่าเหนื่อยจำกัด ทีมไหนมีเงินมาก หาเงินได้มาก ก็ย่อมมีโอกาสที่มากเป็นธรรมดา ส่วนหลาย ๆ สโมสรที่ลำบากจากทั้งโควิดและพิษเศรษฐกิจ จะเจียดเวลาหรือเงินทุนไปลงที่อะคาเดมี่ จึงเป็นไปได้ยากมาก"
"มันถูกต้องที่ว่า เงินซื้อความสำเร็จไม่ได้ เงินไม่ได้ตอบโจทย์ได้ทุกอย่าง แต่การจะรันได้หลายอย่างก็ต้องใช้เงิน! (อยากจะได้รายได้ที่ได้ก้าวกระโดด ก็ต้องมีสตาร์ การจะมีสตาร์ก็ต้องใช้งบ วนเป็นไก่กับไข่)"
"หากยังไม่ต้องเอ่ยถึงระดับเยาวชน ที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจ ลำพังเอ่ยเฉพาะระดับลีกอาชีพ นี่ผ่านมาหนึ่งเลก หรือ ครึ่งฤดูกาลก็แล้ว นอกจากที่ถูกลดค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด (ของไทยลีก 1 จาก 20 ล้าน เหลือ 14 ล้านต่อฤดูกาล) หลายสโมสรก็ได้แต่รอคอยว่า เมื่อไหร่กันแน่นะที่จะได้รับค่าสิทธิ์นี้ สำหรับบางสโมสร 14 ล้าน อาจจะถือเล็กน้อยมาก เพราะใช้ไม่ถึงเดือน แต่สำหรับบางสโมสร 14 ล้าน ก็อยู่ได้หลายเดือนทีเดียว!"
"ลำพังแค่ใช้เวลาถามเรื่องค่าลิขสิทธิ์ฯ ก็ยากลำบากไม่พอ ดูฟุตบอลโลกไปเรื่อย ๆ ก็ยังได้คำถามเพิ่มมาอีกว่า เมื่อไหร่ที่กระทรวงฯ กกท. หรือ สมาคมฯ จะวางแผนกับเรื่องของเยาวชนให้จริงจัง ให้ครอบคลุมทั่วภูมิภาคพื้นในประเทศ"
"ในฐานะที่คลุกคลีในวงการฟุตบอลไทยมา 14 ปี เป็นประธานสโมสรเชียงรายยูไนเต็ดมาเกือบ 4 ปี เราพยายามพัฒนาเยาวชน เริ่มตั้งแต่ทำ MOU กับหลายโรงเรียนในจังหวัด จนกระทั่งปัจจุบัน เราสร้างแคมป์ชื่อฟุตบอลจีเนียสให้เยาวชน 50 กว่าคน มาอยู่ด้วยกัน ดูแลเรื่องโภชนาการเองทั้งหมด สร้างห้องฟิตเนสให้ใหม่ เพราะเรามองว่าเรื่องนี้สำคัญมาก และรอไม่ได้แล้ว"
"ตอนนี้เด็ก ๆ อยู่ในแคมป์มาเกือบ 4 เดือนแล้วค่ะ บอกตรง ๆ ว่า ไม่ได้ใช้เงินจากรัฐแม้แต่บาทเดียว ทั้งที่ปีหนึ่ง ๆ พวกเราก็จ่ายภาษีกันหลักสิบล้านบาท มีแต่ความสงสัยว่างบประมาณหายไปไหนบ้าง ถึงไม่งอมืองอเท้า ทำเรื่องที่คิดว่าเป็นรากฐานที่สำคัญ แต่การที่ไม่มีใครเหลียวแล บอกได้คำเดียวว่า เริ่มท้อ"
"ไม่แปลกที่จะเกิดปรากฏการณ์ คนอยากย้ายประเทศ เพราะถ้าอยู่แล้ว ไม่มีโอกาสเติบโต ไม่มีพื้นที่แห่งโอกาส มันรู้สึกเหนื่อยและท้อแค่ไหน อยากถามว่า ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองกำลังทำอะไรอยู่ ถ้าเราไม่ให้ความสำคัญกับรากฐานคือ “เยาวชน” ถ้าเราไม่ให้ความสำคัญกับ “คน” เมื่อไหร่ที่เราจะสู้กับชาติอื่นได้กันคะ” #ชาตินี้หรือต้องรอชาติหน้า"