4 สัญญาณชี้บอลไทยไม่เปรี้ยง-ทำค่าลิทธิ์ลดฮวบ

4 สัญญาณชี้บอลไทยไม่เปรี้ยง-ทำค่าลิทธิ์ลดฮวบ
ผลพวงจากการประชุมเรื่องสิทธิประโยชน์ ไทยลีก ทำให้วงการลูกหนังแดนสยามร้อนเป็นไฟ โดยเฉพาะเรื่องลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดที่ถูกระบุว่าลดลงเหลือเพียง 50 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ครั้งหนึ่งเคยทะลุแตะหลักพันล้าน ดังนั้น 'SIAMSPORT' จึงค้นคว้าหา 4 สัญญาณบ่งชี้ว่าเพราะเหตุใดมันจึงเกิดขึ้นได้ในยุคปัจจุบัน!?

[ 1 ] จำนวนผู้ชมลดลง

   'ผู้ชม' คือปัจจัยสำคัญต่อกีฬาทุกประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับฟุตบอลที่ต้องการสนับสนุนจากเหล่าผู้เล่นคนที่ 12 เพื่อเป็นทั้งกำลังใจให้กับนักเตะในสนาม รวมไปถึงการจ่ายเงินสำหรับบัตรเข้าชมเกมและซื้อสินค้า ซึ่งจะทำให้แต่ละสโมสรมีรายได้หมุนเวียน

   ในประเทศใหญ่ๆ ที่พัฒนาทางด้านฟุตบอล พวกเขาไม่ต้องกังวลกับเรื่องของจำนวนผู้ชมในแต่ละเกม ยกตัวอย่างเช่นอังกฤษ ที่มีแฟนๆ สมัครเป็นสมาชิกตั๋วปีเกินกว่า 59 เปอร์เซ็นต์ในทุกๆ ทีม ไม่เว้นแม้แต่กระทั่งลีกระดับล่างที่ผู้คนในท้องถิ่นก็ให้การสนับสนุนสโมสรอย่างเต็มเหนี่ยว

   แน่นอนว่าในช่วงที่โควิด-19 ระบาดไปทั่วทั้งโลก ไวรัสร้ายตัวนี้สร้างความสะเทือนไปทุกหนแห่ง และฟุตบอลก็ได้รับผลกระทบมหาศาล โทษฐานที่แฟนๆ ไม่สามารถเข้าไปชมการแข่งขันแบบชิดติดขอบสนามได้

   แต่สุดท้ายเมื่ออะไรต่อมิอะไรคลี่คลาย หลายๆ ประเทศเริ่มผ่อนปรนมาตรการต่างๆ จนในที่สุดก็กลับสู่สภาวะปกติ ทุกอย่างดำเนินต่อไปได้ ทว่าก็ต้องใช้เวลาพอสมควรในการฟื้นฟู ซึ่งถ้ามีการจัดการที่ชาญฉลาด สภาวะที่เคยติดขัด ก็จะถูกขจัดไปแบบไหลลื่นและมีแบบแผน

   อย่างไรก็ตาม ในเมืองไทย กลับกลายเป็นว่าจำนวนผู้เข้าชมการแข่งขันลดลงอย่างชัดเจน ไม่เพียงแค่ลีกสูงสุด แต่มันรวมไปถึงลีกรองด้วย 

   สนามต่างๆ ที่เคยเนืองแน่นไปด้วยฝูงชนกลับเหลือที่ว่างบานตะไท ซึ่งมันมาจากหลายๆ ปัจจัยที่ทำให้แฟนฟุตบอลพากันถอยหนี และก็อยู่นอกเหนือการควบคุมจากบรรดาสโมสรอีกต่างหาก

[ 2 ] มาตรฐานการตัดสินการแข่งขัน

   แม้ว่าทุกวันนี้จะมีเทคโนโลยีผู้ช่วยผู้ตัดสินหรือ วีเออาร์ (VAR) เข้ามาใช้ระหว่างการแข่งขัน ซึ่งทำให้ความเชื่อมั่นในแต่ละเกมสูงขึ้น ทว่าปัญหาก้ำกึ่งก็มักจะมีให้ถกเถียงกันตลอดทุกสัปดาห์

   ไทยลีก - ลีกสูงสุดอาจจะดูมีให้เห็นน้อยหน่อย แต่ก็ใช่ว่าจะไร้ซึ่งปัญหา เพราะที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าหลายๆ ทีมที่เสียประโยชน์จากการทำหน้าที่ในสนามของกรรมการต่างก็ออกมาร้องเรียนไปยังส่วนกลาง และก็มีการลงโทษให้เห็นสม่ำเสมอ ในกรณีที่พบเห็นว่ามีความผิดจริง

   บทลงโทษกับการตัดสินผิดพลาดอาจจะทำให้ฝ่ายที่เสียประโยชน์รู้สึกเป็นธรรมขึ้นมาหน่อย แต่สิ่งที่เสียหายมากกว่าคือคะแนนที่ควรจะได้ กลับกลายเป็นสูญเปล่า และมันส่งผลกระทบตามมาในภายหลัง

   คนทำทีมหลายๆ คนเริ่มท้อกับตาชั่งที่เอียงข้าง แฟนฟุตบอลเหนื่อยหน่ายกับความมหัศจรรย์ของลูกหนังไทย ภาพเดิมๆ ถูกฉายซ้ำไป-ซ้ำมาด้วยบทเดิมๆ แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงมันได้สักที

   ยิ่งในลีกระดับล่าง การทำหน้าที่ของผู้ตัดสินนั้นถูกตั้งคำถามถึงความเที่ยงธรรมบ่อยครั้งเหลือเกิน และพอฟุตบอลไม่สนุก ไม่ได้สู้กันแบบตรงไป-ตรงมา มันจึงทำให้แฟนๆ รู้สึกเสื่อมศรัทธา จากนั้นพวกเขาก็จะค่อยๆ หายหน้าออกจากสนามไปโดยปริยาย

[ 3 ] ผลงานทีมชาติตกต่ำ

   ด้วยความที่ลีกของเมืองไทย พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ทุกๆ ปี ซึ่งมันคือผลพวงจากการแข่งขันที่เข้มข้นของแต่ละฤดูกาล กระทั่งยกระดับฝีเท้าของนักฟุตบอลในประเทศ ก่อนส่งต่อถึงทีมชาติที่ได้อานิสงส์ไปด้วยเต็มๆ 

   อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทัพช้างศึกชุดใหญ่จะได้แชมป์ อาเซียน คัพ ทั้ง 2 ครั้งหลังสุด (2020 และ 2022) แต่ส่วนหนึ่งต้องบอกว่ามาตรฐานของผู้เล่นไทย นั้นสูงกว่าคู่แข่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานานแล้ว มันจึงไม่แปลกที่จะครองบัลลังก์เบอร์หนึ่งในย่านนี้ได้ต่อเนื่อง

   ทว่าถ้าไม่ใช่ทีมชุดใหญ่ เราไปไม่ถึงดวงดาวเลยสักชุด 

   เอาที่เห็นภาพชัดที่สุดกับรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ที่ห่างเหินจากเหรียญทอง ซีเกมส์ มาตั้งแต่ปี 2019 หรือก็ราวๆ 5 ปี ติดต่อกันแล้ว ทั้งๆ ที่ก็พยายามส่งผู้เล่นชุดที่ดีที่สุดเพื่อหวังหวนคืนสู่ความยิ่งใหญ่ให้ได้ แต่ก็ไม่สำเร็จสักที

   หากมองลงไปที่ชุดยู-21, ยู-19 หรือล่าสุดสดๆ ร้อนๆ กับยู-17 ที่เพิ่งปราชัยต่อเกาหลีใต้ 1-4 ชวดตั๋วลุย เวิร์ล คัพ ไปอย่างน่าเสียดาย ก็น่าจะเห็นกันว่ามีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไขกันต่ออีกมากมาย

   ทัวร์นาเมนต์แข่งขันระดับเยาวชนน้อยเกินไป, สโมสรไม่ให้ความร่วมมือในการส่งนักเตะอายุน้อยในสังกัดมาเล่น, การพัฒนาไม่กระจายเป็นวงกว้าง หากแต่ถูกผูกขาดอยู่กับสโมสรใหญ่ที่มีแรงดึงดูดมากกว่า และอะไรต่อมิอะไรที่ทำให้การพัฒนาสะดุดในบางช่วง

   พอผลงานของทีมชาติไม่เป็นไปดั่งหวัง การจะไปขอสปอนเซอร์ต่างๆ ก็ทำได้ยากขึ้น ยิ่งกับยุคหลังโควิด-19 ที่แต่ละบริษัทก็รัดเข็มขัด การใช้จ่ายถูกจำกัด มันจึงส่งผลให้เงินสนับสนุนลดลงไปด้วย และมันก็พ่วงมายังฟุตบอลลีกแบบไม่อาจหลีกเลี่ยงเช่นกัน

[ 4 ] สปอนเซอร์ขาดความมั่นใจ

   ในยุคที่ฟุตบอลไทย เฟื่องฟู สปอนเซอร์ต่างทยอยเดินหน้าเข้ามาสนับสนุนกันทุกช่องทาง ป้ายโฆษณา, สกอร์บอร์ด, ซุ้มกิจกรรม, สื่อออฟไลน์-ออนไลน์และอะไรอีกมากมายต่างก็มีพื้นสำหรับขายของ

   พอมีเงินอุดหนุนเข้ามา มันจึงทำให้ส่วนกลางสามารถสร้างระบบเพื่อหมุนเวียนให้ลีกมีสภาพคล่อง กระจายรายได้ไปสู่สโมสรแบบเท่าเทียม จนทุกอย่างเดินหน้าอย่างราบรื่น อาจจะมีติดขัดบ้างในบางที แต่ก็ผ่านไปได้ด้วยดีเสมอ

   ทว่าในยุคปัจจุบันที่ยังคลุมเครือในบางสิ่ง โดยเฉพาะกับเรื่องลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดที่ตอนแรกเป็นข่าวใหญ่โตเมื่อปี 2021 กับกรณีที่ เซ้นส์ เอนเตอร์เทนเมนต์ เข้ามาถือลิขสิทธิ์ด้วยสัญญาระยะยาว 8 ปี ที่มีมูลค่าถึง 1.2 หมื่นล้านบาท

   แต่ทำไปทำมา กลายเป็นว่าปีต่อมาต่างฝ่ายต่างแยกย้ายกันดื้อๆ จนทำให้ต้องพึ่งพา AIS ในการถ่ายทอดสดเรื่อยมา กระทั่งจบฤดูกาล 2022-23

   จากกรณีเกิดขึ้น น่าจะทำให้สปอนเซอร์รายอื่นๆ ต้องชั่งใจพอสมควร หากว่าจะมาสนับสนุน ไทยลีก เพราะอาจจะเกิดข้อขัดแย้งขึ้นได้ในอนาคต ซึ่งไม่เป็นผลดีกับทุกฝ่าย

   พอรายได้ฝืดเคือง การจะเดินหน้าโครงการต่างๆ ก็ติดขัดและมันนำมาซึ่งการพัฒนาที่ไม่ต่อเนื่อง กระทั่งลงเอยด้วยการที่สโมสรต่างๆ ต้องมาร่วมหารือเพื่อแก้ปัญหาเมื่อถึงปลายเหตุเสียแล้ว


ที่มาของภาพ : -
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport