5 สิ่งที่ทีมชาติไทยต้องเผชิญใน อาเซียน คัพ 2022!!

5 สิ่งที่ทีมชาติไทยต้องเผชิญใน อาเซียน คัพ 2022!!
วันอังคารที่ 20 ธ.ค. นี้แล้ว การแข่งขัน อาเซียน คัพ 2022 ก็จะเริ่มต้น ทีมชาติไทย กับภารกิจป้องกันแชมป์สุดท้าทาย

และนี่คือ 5 สิ่งที่ทัพช้างศึกจะต้องเผชิญแน่ๆ ในรายการนี้!!

[ 1 ] แรงกดดันและความคาดหวัง

ทุกทัวร์นาเมนต์ในระดับอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นรุ่นเยาวชน หรือชุดใหญ่ สิ่งที่ทีมชาติไทย ต้องเผชิญอยู่เสมอคือ 'แรงกดดัน' และ 'ความคาดหวัง' ที่แบกอยู่บนหลังอันแข็งแรง

ด้วยความที่ครองความยิ่งใหญ่ในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาโดยตลอด ทำให้การแข่งขันกับเพื่อนบ้านในละแวกนี้ ทัพช้างศึกมักจะถูกมองว่าเป็นทีมที่เหนือกว่า ดังนั้นผล 'เสมอ' จึงไม่เพียงพอต่อความปรารถนาที่แฟนๆ อยากเห็น

'ชนะ' เท่ากับเสมอตัว แต่ถ้า 'แพ้' นี่คือเรื่องใหญ่เลย เพราะไม่มีใครในสยามประเทศต้องการเห็นทีมชาติเป็นฝ่ายปราชัย

ดังนั้นทัพช้างศึกชุดป้องกันแชมป์ มิตซูบิชิ อีเล็คทริก คัพ หรือ อาเซียน คัพ 2022 จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงสภาวะกดดันจากแฟนฟุตบอลชาวไทย ได้เลย เผลอๆ อาจจะมากว่าครั้งก่อนๆ เสียด้วยซ้ำ

วลีที่ว่า 'ก้าวข้ามอาเซียน' อาจจะถูกหยิบยกมาบ่อยครั้ง แต่เอาจริงๆ แล้วมันก็ยังวนเวียนอยู่ไม่ไปไหน เพราะคำว่า 'ศักดิ์ศรี' นี่แหละที่ทำให้การห้ำหั่นในทุกๆ การแข่งขันต่างมีความคาดหวังที่สูงลิ่วมาเกี่ยวข้อง

ยิ่งเมื่อใดที่ทีมชาติไทย อยู่ในช่วงที่ผลงานไม่สู้ดีนัก การได้แชมป์ อาเซียน คัพ จึงเป็นเหมือนสิ่งที่จะเข้ามากอบกู้ความศรัทธาให้คืนมาอีกหน

แต่ก็ต้องแลกมาด้วยแรงกดดันและความคาดหวังมหาศาลที่ถาโถมเข้าใส่ในตอนนี้

[ 2 ] ทุกเกมเยือนไม่มีคำว่าง่าย

ด้วยความที่ อาเซียน คัพ เป็นการแข่งขันระหว่างชาติในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีความเคียงชิดสนิทใกล้กันหลายๆ ประเทศ มันจึงทำให้กลายเป็นศึกฟุตบอลแห่งศักดิ์ศรีไปโดยปริยาย

แม้ว่าไทย, เวียดนาม, อินโดนีเซีย และมาเลเซีย จะเป็น 'ตัวเต็ง' ในการครองบัลลังก์เบอร์ 1 ของภูมิภาคนี้ แต่ทีมอื่นๆ ก็ไม่อาจประมาทได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกลูกหนังปัจจุบันที่มีเรื่องของ 'แท็กติก' เข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนเกม

อีกเช่นกัน ทัวร์นาเมนต์นี้ที่มีการแข่งขันในระบบเหย้า-เยือน มันจึงทำให้ทุกครั้งฝ่ายที่เป็น 'เจ้าบ้าน' มักจะมีแฟนๆ แห่แหนกันมาเป็นกำลังใจกันแบบเต็มเหนี่ยว ซึ่งสิ่งนี้แหละ เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ อาเซียน คัพ มีเสน่ห์และมนต์ขลังในตัวของมันเอง

มันจึงไม่ง่ายเลยในการต้องลงสนามในฐานะอาคันตุกะ เพราะคุณจะต้องเผชิญหน้ากับแรงกดดันมหาศาลจากผู้คนหลายหมื่นเสียงที่พร้อมใจกันตะโกนเพื่อให้กำลังใจฝั่งตนเอง และยังเป็นการข่มผู้มาเยือนไปในตัว

โปรแกรมในรอบแรกของไทย ที่อาจจะดูไม่หนักกับการพบบรูไน ที่มาใช้สนามของประเทศมาเลเซีย เป็นรังเหย้า

ส่วนอีกเกมกับอินโดนีเซีย ก็น่าจะไม่มีแฟนๆ เข้าไปชมการแข่งขัน เนื่องจากรัฐบาลของแดนอิเหนายังคงกังวลเรื่องความปลอดภัย หลังเกิดเหตุโศกนาฏกรรมเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

ทว่าถ้าทัพช้างศึก กรุยทางสู่รอบรองชนะเลิศได้สำเร็จ ไม่ว่าทีมใดในสาย บี ต่างก็หนักหน่วงทั้งนั้น

ตามหน้าสื่อต่างๆ วิเคราะห์ว่าโอกาสที่จะเป็นเวียดนาม หรือมาเลเซีย มีพอๆ กัน แต่ทุกครั้งที่ไทย ไปเยือน ก็มักจะต้องเจอกับเสียงเชียร์ที่อื้ออึงไปด้วยความตึงเครียดตลอดทั้ง 90 นาที

โดยเฉพาะกับทีมเสือเหลืองแห่งมาลายันที่มักจะสร้างปัญหาให้ทัพช้างศึกแทบทุกครั้งเมื่อต้องบุกไปในฐานะอาคันตุกะ 

นอกจากสถิติจะเป็นรองสุดกู่ เพราะว่า 6 นัด หลังสุดที่พบกันในทุกรายการ ไทย ไม่เคยชนะมาเลเซียได้เลยสักครั้ง

เท่านั้นไม่พอ การไปเยือนพวกเขา 3 เกม ล่าสุด เราตกเป็นฝ่ายปราชัยไปถึง 2 แมตช์ และได้ผลเสมอมาเพียงนัดเดียว

เรียกได้ว่าการเล่นนอกบ้านจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ทีมชาติไทย ต้องพยายามเอาตัวรอดให้ได้ หากหวังจะเก็บโทรฟี่ อาเซียน คัพ ให้อยู่กับสยามประเทศต่อไป

[ 3 ] เวียดนาม ผู้มาพร้อมความแค้น

นับตั้งแต่เวียดนาม แต่งตั้ง พัก ฮัง-ซอ ขึ้นเป็นเฮดโค้ชเมื่อปี 2017 พวกเขาก็ค่อยๆ แปรเปลี่ยนเป็นทีมที่เล่นอย่างดุดันและเกรี้ยวกราดตามสไตล์ของผู้เป็นกุนซือนั่นเอง

แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการที่ทัพดาวทองค่อยๆ พัฒนาขึ้นในทุกๆ ด้าน กระทั่งผงาดสู่การเป็น 'เบอร์ 1' ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้สำเร็จ

ทว่าการตกรอบรองชนะเลิศใน อาเซียน คัพ 2020 นั้นคือ 'บาดแผล' ที่ทำให้พวกเขาเจ็บปวดหัวใจอย่างรุนแรง เพราะผลงานในห้วงเวลานั้นอยู่ในเกณฑ์บวก ไม่ว่าจะเป็นการผ่านเข้าสู่รอบคัดเลือกฟุตบอลโลก 2022 โซนเอเชีย รอบ 12 ทีมสุดท้าย 

รวมทั้งการตะลุย เอเชียน คัพ 2019 แล้วทะลุถึงรอบ 8 ทีม สุดท้าย ก่อนจะแพ้ญี่ปุ่น 0-1 แบบที่ต่อกรกับ เดอะ บลู ซามูไร ได้แบบไม่เป็นรองเท่าใดนัก

ทุกคนในดินแดนสกุลเหงียนต่างคิดว่า อาเซียน คัพ 2020 เวียดนาม ที่กำลังมั่นใจสุดขีดจะต้องป้องกันแชมป์ได้แน่ เพราะผลงานเมื่อปี 2018 ก็ยอดเยี่ยมไร้เทียมทาน

แต่สุดท้ายกลายเป็นว่าพวกเขาปราชัยต่อไทย ไปด้วยสกอร์รวม 2 นัด 0-2 ในรูปเกมที่เป็นรองทัพช้างศึกพอสมควร ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ทำให้ ฮัง-ซอ และลูกทีมต่างชอกช้ำและรอวันที่จะล้างแค้นคืน

นอกจากการล้างตาจากความผิดหวังในครั้งเก่า ต้องอย่าลืมว่านี่คือทัวร์นาเมนต์สุดท้ายของกุนซือชาวเกาหลีใต้ กับเวียดนาม ซึ่งนั่นยิ่งทำให้พวกเขาต้องเน้นอย่างหนักเพื่อนำความสำเร็จกลับคืนมาให้ได้


[ 4 ] มาเลเซีย สายเลือดใหม่ แต่ก็ยังแข็งแกร่ง

แม้ว่าจะเคยสัมผัสกับโทรฟี่แชมป์อาเซียน เพียงหนเดียวเมื่อปี 2010 แต่มาเลเซีย ก็ยังเป็นเสือร้ายแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ดี

พวกเขาผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศได้ถึง 9 ครั้ง ซึ่งเป็นตัวเลขที่รองลงมาจากเวียดนาม กับไทย เพียง 2 ประเทศ (11 ครั้ง) เท่านั้น และนั่นบ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่ามาตรฐานของมาเลเซีย อยู่สูงเพียงใด

โดยเฉพาะกับการเผชิญหน้าไทย ที่พวกเขามักจะทำได้ดีอยู่เสมอ และเป็นอีกทีมที่สร้างปัญหาให้กับทัพช้างศึกได้บ่อยๆ 

ชัยชนะหนสุดท้ายที่ไทย มีเหนือมาเลเซีย ต้องย้อนกลับไปไกลถึงปี 2014 ซึ่งก็เป็นทัวร์นาเมนต์ อาเซียน คัพ นี่แหละ ที่เราเปิดราชมังคลากีฬาสถาน เอาชนะไป 2-0 (เลกแรก) ก่อนจะบุกไปแพ้ในเลกที่สอง 2-3 ก่อนจะคว้าแชมป์ไปด้วยสกอร์รวม 5-4 สร้างกระแสฟีเวอร์ไปทั่วทั้งแผ่นดิน

ปัจจุบัน แม้ว่าทัพเสือเหลืองชุดนี้จะไร้ผู้เล่นจาก ยะโฮร์ ดารุล ต๊ะซิม สโมสรเบอร์หนึ่งของประเทศ ที่ไม่ติดทีมมาเลยสักคน แถม 16 จาก 23 รายชื่อ ก็มีสถิติลงสนามให้มาเลเซีย ไม่ถึง 5 เกม เลยด้วยซ้ำ

เรียกได้ว่าเป็นทีมสายเลือดใหม่อย่างแท้จริง เพราะมีเพียง ซาฟาวี่ ราซิด แนวรุกป้ายแดงของ ราชบุรี เอฟซี เท่านั้นที่เจนเวทีในระดับนานาชาติ

แม้ว่าพวกเขาจะอุดมไปด้วยนักเตะที่ยังด้อยประสบการณ์ แต่ถึงอย่างนั้นกุนซืออย่าง คิม พัน-กอน ซึ่งเป็นโค้ชที่โดดเด่นในเรื่องของแท็กติกก็คงจะมีกลยุทธ์สำหรับการสู้ศึก อาเซียน คัพ 2022 เป็นแน่

ดังนั้นถึงแม้มาเลเซีย จะเป็นสายเลือดใหม่ แต่เสือเหลืองแห่งมาลายันก็ยังเป็นทีมที่แข็งแกร่งอยู่เหมือนเดิม

[ 5 ] ต้องมีแผน 2 เมื่อ ธีรศิลป์ โดนประกบติด

แม้จะอายุ 34 ปี แต่พิษสงของ ธีรศิลป์ แดงดา ยังร้ายแรงและมีอยู่รอบตัว - ในหนึ่งเกม เขาขอเพียงจังหวะเดียวเท่านั้น ก็สามารถแปรเปลี่ยนสถานการณ์ของการแข่งขันได้แล้ว

สถิติ 19 ประตู กับการเป็นดาวซัลโวสูงสุดตลอดกาลประจำทัวร์นาเมนต์คงจะบ่งบอกถึงความยิ่งใหญ่ของศูนย์หน้า บีจี ปทุม ยูไนเต็ด คนนี้ได้เป็นอย่างดี

'คลาส' ของเขายังอันตรายในทุกฝีก้าว และในศึก อาเซียน คัพ เจ้าตัวก็ผ่านการเล่นมาแล้วถึง 5 สมัย มันเป็นเรื่องที่คุ้นชินสำหรับอดีตหัวหอก อัลเมเรีย ที่รู้ว่าต้องทำเช่นไรจึงจะพาทีมไปถึงปลายทาง

นอกจากเรื่องการปิดสกอร์ที่เฉียบขาด เขายังเป็นนักเตะที่ทำให้เพื่อนรอบกายเล่นง่ายไปด้วย - 'เซ้นส์ฟุตบอล' ของ ธีรศิลป์ นั้นสามารถสร้างความแตกต่างได้เพียงเสี้ยววินาที 

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ทุกชาติต่างก็ประจักษ์เป็นอย่างดีว่าหัวหอกคนนี้เก่งกาจเพียงใด และไทย จะไปได้ไกลแน่ๆ หากศูนย์หน้าวัย 34 ปี ฟอร์มเข้าฝัก

ดังนั้น อาเซียน คัพ 2022 จึงจะเป็นทัวร์นาเมนต์ที่ ธีรศิลป์ จะต้องถูกประกบติดเป็นพิเศษ และนั่นเองที่ทำให้ อเล็กซานเดร โพลกิ้ง คงต้องหาแผนสำรองไว้เผื่อฉุกเฉิน 

ที่สำคัญต้องอย่าลืมว่า ด้วยอายุ 34 เขาคงไม่สามารถลงสนามติดๆ กันได้ตลอดทั้งรายการ ฉะนั้นถ้าต้องการเห็นศักยภาพสูงสุดของดาวซัลโวอาเซียน ก็ต้องใช้งานเท่าที่จำเป็น


ที่มาของภาพ : Siamsport / gettyimages
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport