การตกรอบแรกของทีมชาติไทย U17 ในศึกชิงแชมป์เอเชีย 2025 ทั้งที่เอเชียได้โควตาฟุตบอลโลกเพิ่มเป็น 8 ทีม สะท้อนโครงสร้างฟุตบอลเยาวชนไทยที่ยังไม่ชัดเจน ต้นน้ำที่ไม่แข็งแรงจะส่งผลถึงชุดใหญ่ในอนาคต แล้วไทยควรเริ่มปฏิรูปจากตรงไหน หากอยากไปฟุตบอลโลกให้ได้จริง?
การตกรอบแรกแบบไม่ได้ลุ้นของทีมชาติไทยรุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี ในการแข่งขันชิงแชมป์เอเชีย 2025 พร้อมกับหมดลุ้นไปเล่นฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย แม้ว่าจะมีการเพิ่มจำนวนทีมขึ้นมาจากเดิม 32 ทีม เป็น 48 ทีม ทวีปเอเชียได้รับโควตา 8 ทีม แต่เรายังดูห่างไกล อะไรคือสาเหตุที่ฟุตบอลระดับเยาวชนมีอันต้องร่วงโรย ความสามารถในการต่อกรกับคู่แข่งระดับเอเชียยังดูห่างชั้น
ยิ่งโอกาสที่ดูเหมือนง่ายในเรื่องของโควตาที่เพิ่มขึ้น แต่กลับกลายเป็นยาพิษติดสลบจุดจบเกิดขึ้นเรื้อรังถ้าไม่เอาจริงเอาจังหลังจากนี้ 17 ปี ชิงแชมป์โลกจัดขึ้นทุกปี ขาประจำเอเชียมีอยู่แล้วอย่างน้อย 4 ทีม หากว่าทีมที่ต่อยอดไปได้เรื่อยๆมากกว่า 4 ทีมข้างต้น มันจะเพิ่มช่องห่างจากเราไปเรื่อยๆจนถึงทีมชาติชุดใหญ่เพราะเด็กกลุ่มนี้จะโตขึ้นบนถนนฟุตบอลอย่างก้าวกระโดด
การไปฟุตบอลโลกด้วยโครงสร้างที่ดี (มีคุณภาพเข้มข้น) กลายเป็นการเก็บกินผลผลิตที่ยั่งยืน เยาวชนที่ดีมีคุณภาพคือต้นน้ำที่ดีที่จะถูกกระจายออกไปปลายน้ำก็ไม่หม่นหมองสยองขวัญเล่นทีลุ้นทีว่าเมื่อไรจะมีโอกาส และทุกครั้งที่เยาวชนไทยตกรอบก็มักนำสิ่งต่างๆออกมาวิเคราะห์แต่ไม่ลงมือทำจนกลายเป็นเรื่องเจนตา ซึ่งเป้าหมายที่ตั้งไว้มันต้องเริ่มจากการลงมือทำระดมแรงระดมสมองระดมงบประมาณมาใส่ในระบบ
หลักการบริหารจัดการ
การจะทำโครงสร้างให้แข็งแกร่งจุดเริ่มต้นคือคนในฝ่ายบริหารนั่นคือสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย จะเอาจริงเอาจังแค่ไหนกับการยกระดับเยาวชนแบบจริงจังและเข้าใจความหมายของมันจริงๆว่าลงทุนครั้งนี้เพื่ออะไร? การลงทุนกับเยาวชนคือสร้างความยั่งยืนจุดแรกที่จะส่งความมั่งคั่งความสำเร็จในอนาคต แม้จะใช้เงินเยอะแต่ผลผลิตก็เยอะตามมา
ทรัพยากรล้นแต่ไม่มีเวทีมาตรฐาน
ทุกวันนี้สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยเริ่มต้นการอบรมหนักหน่วงมาแบบเต็มรูปแบบร่วม 10 ปี พร้อมกับการขึ้นทะเบียน อะคาเดมี่ทั่วประเทศ คำถามคือจะสร้างประโยชน์ต่อเนื่องในการเพิ่มนักเตะคุณภาพระดับยุวชนและเยาวชนเข้ามาสู่ระบบได้อย่างไร? ทั้งๆที่มีของอยู่ในมือมากมายแต่ต่อยอดไม่ได้ในภาพรวมใหญ่ การสร้างเวทีมาตรฐานให้เกิดการคัดกรองจึงเป็นเรื่องสำคัญโดยสมาคมฯเป็นคนกำหนดทิศทาง ให้กลุ่มคนเหล่านี้เข้ามาในระบบไม่ว่าจะเป็น นักเตะ,โค้ช,ผู้ตัดสิน,นักวิทยาศาสตร์การกีฬา,แมวมอง,สโมสร,โรงเรียน,ฯ แล้วกำหนดชัดเจนว่ารายการนี้คือรายการที่จะใช้ในการคัดเลือกนักเตะสู่ระบบเยาวชนทีมชาติ ทุกฝ่ายจะได้พุ่งเข้ามาหารายการที่มาตรฐานและทราบถึงปลายทาง แม้กระทั่งผู้ปกครองก็จะรู้ว่าลูกๆ จะไปเริ่มจุดไหนในการเป็นผู้เริ่มต้น
กำหนดคุณสมบัติลีกเยาวชน
ลีกเยาวชนและรายการฟุตบอลที่จะต้องพูดคุยกันในรอบปฏิทินการแข่งขัน 1 ปี มีรายการอะไรบ้าง? การทำงานต้องสอดคล้องกันของหน่วยงานที่มีหน้าที่พัฒนาฟุตบอลของประเทศ ทั้ง สมาคมฟุตบอลฯ,กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา,การกีฬาแห่งประเทศไทย,กรมพลศึกษาฯ ใน 1 ปี ควรมีรายการอะไรบ้าง? และจำนวนเกมในแต่ละรุ่นควรได้รับมากน้อยแค่ไหน? ลีกเยาวชนของประเทศจะกำหนดคุณสมบัติอย่างไร? เช่นฟุตบอลชิงแชมป์โลกมีรุ่นอายุ 17,20 ปี ลีกที่จะรองรับควรจะมีรุ่นอายุที่เหมาะสมเพื่อให้เทิร์นเป็นตัวเลือกในการเล่นแต่ละรุ่นได้ทัน เช่นถ้ามี 17 ปี ชิงแชมป์เอเชีย,ชิงแชมป์โลก ควรเป็นลีก ยู 15,16 ส่วน 20 ปี ชิงแชมป์เอเชีย ,ชิงแชมป์โลก ควรเป็นลีก ยู 18,19
โดยในรอบหนึ่งปีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดเลยว่าจะมีรายการอะไรบ้างที่ให้โค้ชไปสเก๊าท์นักเตะทีมชาติ แต่ลีกเยาวชนจำเป็นต้องมีอย่างเร่งด่วนแบบได้คุณภาพ และอาจจะเสริมการแข่งขันแบบเอฟเอคัพไปในบางรุ่นเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งทางสภาพจิตใจให้กับผู้เล่นและผู้ฝึกสอนในเกมที่แพ้ไม่ได้จะหาวิธีแก้ไขสถานการณ์นั้นแบบไหน?เมื่อต้องเดินทางไปให้ถึงเป้าหมาย
เยาวชนทีมชาติชุดรอยต่อ
การสร้างเยาวชนทีมชาติ อย่าเฉพาะเจาะจงในรุ่นที่ลงทำการแข่งขันชิงแชมป์เอเชีย,ชิงแชมป์โลก จำเป็นต้องสร้างทีมชาติรุ่นแยกย่อยออกมาเพื่อเป็นการเตรียมการให้พร้อม เช่นการแข่งขัน 17 ปี ชิงแชมป์โลก หลังจากนี้จะมีทุกปี ทีมชาติจะต้องมีทรัพยากรให้หยิบจับตลอดเวลา โดยจะต้องเริ่มมีชุด ยู 15-16 ส่วนชุด ยู 20 ก็ต้องเริ่มมีทีมยู 18 ความเข้มข้นก็ต้องเตรียมการดีไม่แพ้กันส่งทีมไปสร้างประสบการณ์ลงทำการแข่งขันในเกมรายการต่างๆในนามทีมชาติไทย
เลือก โค้ช,นักเตะคุณภาพเข้าสู่ระบบ
เวทีการแข่งขันมาตรฐานในการจัดการแข่งขันของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในแง่ของงบประมาณเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาทุกภาคส่วน และเมื่อเวทีการแข่งขันเต็มไปด้วยคุณภาพ การคัดเลือกผู้เล่นหรือโค้ชที่จะเข้ามาทำงานในระบบก็จะง่ายขึ้น แต่การเลือกโค้ชเข้ามาทำงานหรือนักเตะเข้ามาติดทีมชาติต้องเน้นไปที่คุณภาพ
การมีเวทีมาตรฐานจะทำให้คนทำงานในระบบสามารถคัดสรรอะไรได้ง่ายขึ้นจากเกมการแข่งขันจริงที่เกิดขึ้น ไม่ต้องตีวงกว้างเหมือนปัจจุบัน ที่คนที่ทำการเก็บข้อมูลนักเตะต้องตระเวนไปสะสมข้อมูลเพื่อประเมินพัฒนาแก้ไข แต่คราวนี้ทำให้เข้าระบบด้วยการนำทุกสิ่งที่อย่างเข้ามาสู่ทางเดินที่จะต้องปฏิบัติร่วมกัน การตระเวนไปตามพื้นที่ต่างๆ ก็ยังคงไปอยู่แต่จะไปยังเวทีทำการแข่งขันของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยและรายการที่เกี่ยวข้องในการกำหนด ถ้าย้อนกลับไปสมัยก่อนโค้ชเยาวชนจะเลือกดูนักเตะจากรายการ กรมพละ,ทหารอากาศ,กทม.,กีฬาเยาวชนแห่งชาติ,เขตการศึกษา และ โค้กคัพ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปก็ต้องทำความเข้าใจกันใหม่หรือรวบรวมเรื่องเก่ากับใหม่มาพัฒนาให้ได้
เกมนานาชาติเพิ่มความสามารถ
การบริการจัดการทีมชาติระดับเยาวชน สิ่งที่สำคัญอีกหนึ่งเรื่องของการวางแผนงานการเติบโตในศักยภาพฝีเท้านักกีฬา ด้วยเกมการแข่งขันจริง ที่จะต้องถูกส่งต่อประสบการณ์ตรงในสนามแข่งขัน ทีมชาติทุกชุดควรวางไทม์ไลน์ให้ดี ทั้งการเตรียมทีมเก็บตัวฝึกซ้อม การแข่งขันอุ่นเครื่องด้วยแมตซ์การแข่งขันนานาชาติ โดยเฉพาะช่วงเวลาก่อนเข้าทัวร์นาเมนต์จริง ห้วงระยะ 1เดือนถึง 1เดือนครึ่ง ขนาดทีมต้องลดลงตามสเปคของทีม เกมอุ่นเครื่องนานาชาติระดับสูงต้องถูกใส่เข้ามาให้กับเด็กๆ อย่างน้อย 4-5 เกม เพื่อทดสอบในทุกมิติ
ขณะเดียวกันในรอบของการเตรียมทีมปกติที่อาจจะเรียกมากเก็บตัวฝึกซ้อมทุกฟีฟ่าเดย์ก็ควรนำเข้ามาทดสอบทีม ในรอบ 1 ปี สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ควรจัดทัวร์นาเมนต์นานาชาติขึ้นมา และอีกมุมก็ต้องกล้าควักเงินลงทุนไปเล่นรายการใหญ่ๆในยุโรปอย่างเช่นที่ประเทศฝรั่งเศส เพื่อให้เด็กๆและโค้ชโตไปกับสภาพแวดล้อมที่เข้มข้น
ก้าวข้ามอาเซียนด้วยแรงบันดาลใจจาก DNA ผู้ชนะ
หลายคนอาจจะมองว่าเราควรก้าวข้ามอาเซียนได้แล้ว มุมมองนั้นก็เป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่เราจะมองอย่างไรในการก้าวข้ามให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการนำไปใช้ได้เพราะอย่างไรแล้ว ทีมจากอาเซียน คือทีมในเอเชียที่ทุกครั้งจับสลากรอบแบ่งกลุ่มรอบคัดเลือกก็ต้องอยู่ร่วมสายกัน วิธีการคือเราจะทำอย่างไรให้ผู้เล่นในแต่ละรุ่นมีคุณภาพมากขึ้นหยิบจับใช้สอยได้ในทุกระดับการแข่งขัน เช่นในเอเชียเรามีผู้เล่นระดับเกรดเอเชีย ระดับอาเซียนเราก็มี ซึ่งถ้าเรามีเกรด บี,ซี เอาชนะอาเซียนได้อย่างเด็ดขาดนั่นหมายความว่าเราก้าวข้ามเขาได้อย่างสมบูรณ์ แต่ทุกวันนี้มันยังไม่ขาดเราจำเป็นต้องพัฒนากลุ่มผู้เล่นให้หลากหลายด้วยคุณภาพ เมื่อลงแข่งขันต้องคาดหวังได้เพื่อเพิ่มแรงบันดาลใจสำหรับ DNA ผู้ชนะ ยกตัวอย่างทีมชาติญี่ปุ่นในศึกชิงแชมป์เอเชียตะวันออกเลือกเอาผู้เล่นที่ดีที่สุดในประเทศไปแข่งขันก็ยังดูเหนือกว่าคู่แข่งในภูมิภาค เพราะฉะนั้นก้าวข้ามอาเซียนต้องก้าวแบบมีเหตุผลไม่ใช่การเติมใจให้กับคู่แข่ง
สโมสร,สถานศึกษา,ผู้ปกครอง อย่ารักชัยชนะจนทำผิด
เมื่อสมาคมกีฬาฟุตบอลฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการแข่งขันรายการมาตรฐานขึ้นมา ในระบบก็จะมีการหลั่งไหลเข้ามาทั้ง นักเตะ,โค้ช,ผู้ตัดสิน,สโมสร,โรงเรียน,ผู้สื่อข่าว,นักวิเคราะห์เกม,แมวมองฯ กฎระเบียบการแข่งขันต้องเข้มข้นไม่เอื้อให้ทีมใหญ่ เพราะการถูกปลูกฝังในประเทศมันคือความเคยชินสู่การแข่งขันนานาชาติ ปล่อยทุกอย่างให้เป็นการแข่งขันห้ามเข้าไปแทรกแซงการพัฒนา ปล่อยให้ความผิดพลาดเกิดขึ้นโดยสุจริต และนำกลับไปเรียนรู้แก้ไข ต่อยอดสู่การคัดกรองบนถนนทีมชาติ คนที่เก่งที่สุดและมีคุณภาพที่สุดจะถูกคัดเลือก
วิทยาศาสตร์การกีฬาและโภชนาการตามวัย
การพัฒนารอบด้านทั้งหมดสิ่งที่จะต้องเพิ่มเติมเข้าไปตรงนี้คงต้องไปที่จุดเริ่มทั้งตัวนักเตะ,ผู้ปกครอง,สถานศึกษา,สโมสร ควรได้รับองค์ความรู้แบบถูกต้องในการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาและโภชนาการ ที่เหมาะสมตามวัย ปัจจุบันสมาคมฯมีหลักสูตรอบรมจากสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย(เอเอฟซี) อีกทั้งปัจจุบันทุกสโมสรต่างมีนักวิทยาศาสตร์การกีฬาที่ดีประจำทีมมากมายในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับนักกีฬาเหมาะสมตามวัย ส่วนเรื่องของทีมชาติไทม์ไลน์การเพิ่มความแข็งแกร่งในมุมวิทยาศาสตร์การกีฬาและโภชนาการก็ต้องเข้มข้นแบบถูกต้องเช่นกัน