ผลเสมอ สปป.ลาว 1-1 ทำให้โลกโซเชียลมีเดียร้อนฉ่า โทษฐานที่ทีมชาติไทย ไม่อาจยัดเยียดความปราชัยให้เพื่อนบ้านได้เหมือนที่ผ่านๆ มา
ไม่ว่าเหลี่ยมคูไหน ผู้มาเยือนก็เป็นรองทัพช้างศึกแบบสุดกู่ - ฟีฟ่า แรงกิ้ง, ศักยภาพนักเตะ, มาตรฐานลีกในประเทศ แถมยังต้องออกมาเล่นนอกบ้านอีกต่างหาก
เทียบง่ายๆ นักเตะที่มีมูลค่ามากที่สุดของ สปป.ลาว ชุดนี้คือ พุดทะไซ โคจะเลิน กองกลางวัย 28 ปี ที่เล่นอยู่ใน ไทยลีก 3 โซนตะวันตกกับ ทัพหลวง ยูไนเต็ด
ส่วนฝั่งช้างศึกแต่ละคนเงินเดือนเรือนแสน (บางคนแตะแสนกลางๆ) แม้จะไม่ใช่ชุดที่ดีที่สุด แต่มองมุมใด ก็เหนือกว่าหลายเท่าตัวอาคันตุกะแบบลิบลับ
สกอร์ 1-1 จึงตามมาซึ่งเสียงวิพากษ์-วิจารณ์แบบไม่อาจหลีกพ้น
คำถามมากมาย พร้อมด้วยเสียงติ-ชมที่กระหน่ำมาแบบมหาศาล (แง่ลบเสียส่วนใหญ่) เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในยามที่ ไทยลีก ได้รับการยอมรับโดยทั่วว่าเป็นลีกเบอร์ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แถมยังส่งออกผู้เล่นสู่ต่างแดนแทบจะทุกปี
มาตรฐานตกลง, จัดตัวประมาท, เล่นแบบกลัวเจ็บ, ติดแอ็กและอื่นๆ อีกมากมายถาโถมใส่ทีมชาติไทย แบบไม่ยั้ง
มาซาทาดะ อิชิอิ คือผู้ที่ต้องรับผิดชอบกับผลการแข่งขันที่เกิดขึ้น ในฐานะที่เป็นเฮดโค้ชที่มีส่วนตั้งแต่เลือกนักเตะมาติดทีมและตัดสินใจส่งใครลงสนาม
คำถามที่สองคือเรื่อง 'อาเซียน คัพ' ว่าจะใช้ผู้เล่นชุดใดเข้าแข่งขัน เพราะก่อนหน้านี้แว่วๆ มาว่าจะผสมผสานระหว่างแข้งซีเนียร์และนักเตะอายุน้อย เพื่อวางแผนในระยะยาว
แต่จากเกมเสมอ สปป.ลาว ท่าทางคงต้องเน้นแล้วล่ะ เพราะแต่ละชาติก็ยกระดับขึ้นมา แถมใครเจอกับไทย ก็มีแรงฮึดบวกอีกเท่าตัว เนื่องจากต้องการล้มเบอร์หนึ่งของภูมิภาคให้ได้
ถ้าจะเรียกนักเตะจากสโมสรในประเทศ ก็ต้องดูอีกว่าบรรดาทีมต่างๆ จะโอเคหรือเปล่า ด้วยโปรแกรมการแข่งขันที่ทับซ้อนหลายทัวร์นาเมนต์ ทั้งฟุตบอลลีก, ลีก คัพ, เอฟเอ คัพ, ช็อปปี้ คัพ รวมไปถึง เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ ลีก อีลิต และ ทูว์
ผู้เล่นตัวหลักของไทย ส่วนใหญ่ก็เล่นอยู่กับทีมที่ต้องโม่แข้งในรายการข้างต้นนี้ทั้งนั้น
ทัพช้างศึกคือเจ้าของโทรี่ อาเซียน คัพ 2 สมัยซ้อนก่อนหน้านี้ (2020 กับ 2022) ซึ่งด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ประเทศอื่นๆ ต่างก็ต้องการจะล้มเราให้ลงจากบัลลังก์ โดยเฉพาะเวียดนาม, อินโนนีเซีย และมาเลเซีย 3 ชาติที่มีศักยภาพพอจะทำสำเร็จ
ในฐานะแชมป์เก่า แถมยังครองความเป็นหนึ่งมาแล้วถึง 7 สมัย (มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) มันจึงทำให้ถูกคาดหวังไว้สูงลิ่วและแน่นอนว่ามันคือ 'ความกดดัน' ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงเช่นกัน
อิชิอิ คงจะครุ่นคิดอย่างหน่วงหนักว่าจะเอาอย่างไรดีกับทัวร์นาเมนต์แห่งภูมิภาคที่จะเริ่มต้นในเดือนธันวาคมข้างหน้า
จะจัดชุดใหญ่ไฟกะพริบ ก็เกรงว่าจะผิดจากที่เคยตั้งใจเอาไว้
จะจัดชุดผสม ก็คงจะสาหัสสากรรจ์ เพราะนาทีนี้ อาเซียน ไม่หมูเหมือนเก่าแล้ว
จะจัดชุดเล็ก ก็คงจะไปไม่ถึงฝั่งฝันแน่ เนื่องจากเอาแค่ สปป.ลาว ยังได้เพียงผลเสมอเลย
'ก้าวข้าม อาเซียน' ประโยคเดิมๆ ที่คุ้นเคยสะท้อนดังอีกครั้ง
แชมป์ก็อยากได้ เพราะถ้าต่ำกว่านั้นคือล้มเหลวล้วนๆ
อาเซียน คัพ 2024 ทัวร์นาเมนต์วัดใจว่าทีมชาติไทย จะส่งชุดไหนไปดี!?
ชิกกะด้าว