ทั่วโลกประทับใจ ประเทศไทย จัด ฟีฟ่า คองเกรส ครั้งที่ 74 สุดยิ่งใหญ่อลังการณ์ "มาดามแป้ง"นวลพรรณ ล่ำซำ นายกลูกหนังไทย ขึ้นกล่าวต้อนรับผู้นำลูกหนังทั่วทุกมุมโลก ขณะที่ บราซิล ชนะโหวตเจ้าภาพบอลโลกหญิง 2027 ส่วน เจ้าภาพร่วมบอลโลก2030 อัพเดทความพร้อมการจัดแข่งครบรอบร้อยปี ขณะที่การประชุมเกือบบานปลาย เมื่อผู้แทนปาเลสไตน์-อิสราเอล โต้เดือดเรื่องชนวนสงครามลามมาฟุตบอล โดยฟีฟ่าทุบโต๊ะ ปัดลงมติโหวตแบนอิสราเอล ยันให้ฝ่ายกฎหมายทำงานก่อน
เมื่อวันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.00 น. ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า จัดการประชุมสามัญประจำปี หรือ ฟีฟ่า คองเกรส ครั้งที่ 74 โดยมีวาระสำคัญคือการเลือกเจ้าภาพฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลกในปี 2027
การประชุมในครั้งนี้นำโดย จานนี่ อินฟานติโน่ ประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ พร้อมด้วย ประธานองค์กรฟุตบอล จาก 6 ทวีป และตัวแทนจาก 211 ประเทศสมาชิก ที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้
โดยภายในการประชุม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย "มาดามแป้ง"นวลพรรณ ล่ำซำ นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมฟีฟ่า คองเกรส ครั้งที่ 74
วาระสำคัญของการประชุมในครั้งนี้คือการเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลกหญิง 2027 ซึ่งผลปรากฏว่า ประเทศบราซิล เอาชนะ การโหวตเหนือ กลุ่มประเทศ เบลเยียม, เนเธอร์แลนด์ และ เยอรมัน และทำให้ฟุตบอลหญิงโลก ด้วยคะแนน 119 ต่อ 78 เป็นการได้จัดที่ทวีปอเมริกาใต้ เป็นครั้งแรก รวมถึงยังมีการประกาศ 5 เสาหลัก ห้ามเหยียดเชื้อชาติ หรือ เหยียดผิวในวงการฟุตบอลอีกต่อไป
"มาดามแป้ง" กล่าวว่า "เราหวังว่าทุกท่านที่เดินทางมาประชุมในครั้งนี้ จะประทับใจในการต้อนรับจากประเทศไทย นี่ถือเป็นความภาคภูมิใจและยินดีอย่างมากสำหรับเรา ที่ได้รับเลือกจาก ฟีฟ่า ในการเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมนอกสนามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของฟีฟ่า อย่าง การประชุมฟีฟ่า คองเกรส ครั้งที่ 74 โดย แป้ง มีความยินดีเป็นอย่างมาก ที่ ฟีฟ่า ซึ่งมีผู้นำที่แข็งแกร่งอย่าง จานนี่ อินฟานติโน่ พร้อมด้วยคณะกรรมการทั้งหลายได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น และเสียสละ ในการเพิ่มความหลากหลายและเท่าเทียมกันในกีฬาที่เรารัก และได้มอบโอกาสการเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ให้กับประเทศไทยของเรา"
"นี่เป็นโอกาสกันดีที่เราได้มารวมตัวกัน เชื่อมต่อกัน และเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อปรับตัวเข้าหากัน และเดินหน้าสู่ความเป็นหนึ่ง เพราะเราเชื่อว่าแต่ละชาติที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ต่างมีอัตลักษณ์ มีประวัติศาสตร์ ที่แตกต่างกัน และหลังจากที่ แป้ง มีโอกาสได้ร่วมประชุมในหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา แป้งพูดจากก้นบึ้งของหัวใจได้ว่า ฟีฟ่า ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะรวมโลกของฟุตบอลเข้าหากันอย่างแท้จริง แป้ง ได้มองเห็นผู้คนจากหลากหลายสาขาวิชาชีพมารวมตัวกัน จับมือกัน เพราะความรักที่เรามีร่วมกัน และความหลงใหลในกีฬาฟุตบอล ฟุตบอลถือเป็นหนึ่งในสิ่งที่ทรงพลังสำหรับเรา และ แป้ง มีความเชื่อว่า ฟุตบอล ณ ตอนนี้เป็นมากกว่ากีฬา เพราะฟุตบอลคือวิถีชีวิต ที่สามารถนำสันติภาพ และยกระดับชีวิตของคนได้"
"สุดท้ายนี้ แป้ง หวังว่าทุกท่านจะได้รับความอบอุ่นและการต้อนรับที่น่าประทับใจในการเดินทางมาประชุมในครั้งนี้ และขอให้ทุกคนเดินทางกลับจากประเทศไทย ด้วยความสุข, รอยยิ้ม และความทรงจำ หวังว่า ประเทศไทย จะได้รับการยอมรับมากขึ้นในการเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับการจัดการแข่งขันฟุตบอลรายการสำคัญ อย่างเช่นการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ในอนาคต ขอบคุณค่ะ"
ทั้งนี้ที่ประชุมได้เปิดวาระเพื่อเสนอแนะหรือชี้แจงขึ้น ซึ่งก็เกือบจะมีเหตุการณ์ชุลมุนเกิดขึ้น เมื่อทาง จิบริล ราจูบ ประธานสมาคมฟุตบอลปาเลสไตน์ ขึ้นพูดบนเวทีประชุมฟีฟ่า คองเกรส เพื่อขอให้มีการลงมติแบนประเทศอิสราเอลจากการแข่งขันฟุตบอลทันที ขณะที่ตัวแทนจากประเทศอิสราเอล ก็ได้โต้แย้งว่าประเทศอิสราเอลก็ได้รับผลกระทบจากสงครามเช่นกัน
ด้านตัวแทนจากประเทศจอร์แดน ขึ้นกล่าวว่า ที่ผ่านมาฟีฟ่านั้นยืนหยัดอยู่ฝั่งที่ถูกต้องมาโดยตลอด เคยแบนทั้งแอฟริกาใต้ หรือรัสเซีย จากสงครามมาแล้ว ดังนั้นจึงอยากให้มีการโหวตภายในการประชุมวันนี้เลย
อย่างไรก็ตาม จานนี่ อินฟานติโน่ ประธานฟีฟ่า กล่าวว่า การประชุมนี้ฟีฟ่าต้องการให้ทุกฝ่ายเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่มีความแตกแยก แต่ก็ไม่ได้เมินเฉยต่อข้อเสนอของปาเลสไตน์ อย่างไรก็ตามมันไม่สามารถทำการโหวตได้ในวันนี้ จะตั้งทีมกฎหมายขึ้นมา ที่จะเป็นองค์กรอิสระ เพื่อไปวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ และทำภายใต้ธรรมนูญของฟีฟ่า ภายในวันที่ 20 กรกฎาคมนี้ ก่อนจะนำเข้าสู่กระบวนการของการประชุมสภากรรมการ ในเดือนตุลาคมต่อไป
ขณะเดียวกันได้มี การแถลงความคืบหน้าการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2030 ด้วย โดยคณะกรรมการผู้จัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2030 ที่จะเป็นการแข่งขันที่ครบรอบ 100 ปี โดยเมื่อ 1930 คือปฐทบทของทัวร์นาเม้นต์นี้ จัดแข่งที่ประเทศอุรุกวัย และจะเป็นครั้งแรกที่จะจัดร่วมกัน 3 ทวีป ยุโรป แอฟริกา และ อเมริกาใต้ มีคติประจำการแข่งขันคือ "Yalla Vamos 2030" คำว่า Yalla เป็นภาษาอาหรับ และ Vamos คือภาษาสเปน ซึ่งมีความหมายเหมือนกันคือ Let's go
อันโตนิโอ ลารันโย อัพเดทถึงการแข่งนัดเปิดสนามที่ทวีปอเมริกาใต้ ที่อาร์เจนตินา ปารากวัย และอุรุกวัย ว่า "เป็นห้วงเวลาของการฉลองครบรอบ 100 ปี ฟีฟ่าจึงตัดสินใจเพิ่มอีก 3 ประเทศเป็นเจ้าภาพร่วมในอเมริกาใต้ จะใช้จัดแข่ง 3 เกม และจะจัดแข่งก่อนประเทศเจ้าภาพอื่นๆเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ เพื่อให้ทุกประเทศที่แข่งในอเมริกาใต้ มีเวลามากพอในการพักฟื้นร่างกาย และส่งผลกระทบน้อยที่สุด ทั้งในเรื่องของเวลาและสภาพอากาศ ก่อนที่จะแข่งเกมต่อไปในแอฟริกา หรือยุโรป"
ฮอร์เก้ โมวิงค์เกล กล่าวในแง่ของการเรียนรู้วัฒนธรรมจากฟุตบอลที่จะไปสู่แฟนบอลทั่วโลก ว่า "ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี เรามีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย 3 ประเทศ (โมร็อกโก, โปรตุเกส และสเปน) ใกล้กันมาก ไม่มีปัญหาในเรื่องการเดินทางแน่นอน"
"ในแต่ละประเทศจะมีสิ่งที่แตกต่างในแง่ของวัฒนธรรม แฟนๆที่เข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลโลก จะได้สัมผัสความเป็นเอกลักษณ์ ธรรมเนียม อาหาร วิถีชีวิต ของทั้ง 3 ประเทศ"
ในเรื่องของสนามแข่ง สเปน และ โปรตุเกส เตรียมปรับปรุงในหลายๆสนาม ขณะที่โมร็อกโกวางแผนสร้างสนามแห่งใหม่ความจุ 115,000 ที่นั่ง จะเสร็จในปี 2028 มูลค่า 490 ล้านยูเอสดอลลาร์ หรือเป็นเงินไทยกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท โมฮาเหม็ด เกสซุส อีกหนึ่งคณะกรรมการอัพเดทในเรื่องของสนามที่จะกลายเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของวงการฟุตบอล
"ฟุตบอลโลกหลายๆครั้ง เคยสร้างสนามใหม่ที่มีความจุใหญ่ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรหลังจากนั้ ดังนั้นสนามกีฬาที่จะสร้างใหม่ ต้องมีความชัดเจนในเรื่องของการใช้งาน ต้องมีแผนและวัตถุประสงค์หลังจากจบฟุตบอลโลกไปแล้ว มันต้องเป็นการลงทุนอย่างคุ้มค่า และอยู่บนหลักเหตุผล เป็นการลงทุนอย่างชาญฉลาด เพื่อใช้สำหรับงานต่างๆในอนาคต ไม่ได้จบเพียงแค่ฟุตบอลโลกเท่านั้น"
นอกจาก โมร็อกโก, โปรตุเกส และสเปน ต่อมาในภายหลังอุรุกวัย, อาร์เจนตินา และปารากวัย ได้เป็นเจ้าภาพร่วมด้วย โดยจะจัดแข่งเกมแรกของทั้ง 3 ประเทศเท่านั้น เป็นแนวคิดของ จานนี่ อินฟานติโน่ ประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีฟุตบอลโลก ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกในปี 1930 ในเมืองมอนเตวิเดโอ ประเทศอุรุกวัย