การที่ทีมชาติจีน ตัดสินใจเลือกสังเวียน เสิ่นหยาง อลป.สปอร์ต เซนเตอร์ สเตเดี้ยม ที่มีความจุ 60,000 ที่นั่งเป็นรังเหย้าพบกับ ทีมชาติไทย ในการแข่งขัน ฟุตบอลโลก 2026 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย รอบสอง วันที่ 6 มิ.ย.67 เพื่อชี้ชะตาเข้ารอบต่อไป ปัจจัยสำคัญอาจะมีการนำเสนอกันไปแล้วก่อนหน้านี้ทั้งเรื่องของความเชื่อมั่นว่าสถานที่ดังกล่าวคือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่ทำให้จีนผ่านเข้ารอบฟุตบอลโลก 2002 รอบสุดท้าย และการเล่นที่ เสิ่น หยาง พวกเขายังมีสถิติที่ยอดเยี่ยมในการคัดเลือกฟุตบอลโลก โซนเอเชีย
หากจะย้อนความหลังกลับไป เสิ่น หยาง สร้างปรากฏการณ์สำคัญมากมายให้กับวงการลูกหนังจีน และ ดูเหมือนว่าสถานที่แห่งนี้ไม่เคยหลับใหลจากเกมการแข่งขันลูกหนัง พร้อมที่สร้างความหวังเติมพลังให้ทีมชาติจีนได้อย่างสม่ำเสมอทั้งในแง่ของการจัดการและความคาดหวังในผลงาน นี่คือข้อมูลพอสังเขปของเสิ่น หยาง กับ ฟุตบอลตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาบนเป้าหมายของทีมชาติจีน
ตำนานสนามแข่งขันเมือง เสิ่น หยาง
- หากย้อนอดีตสนามฟุตบอลที่เป็นจุดเริ่มต้นของ เสิ้น หยาง คงต้องเอ่ยชื่อ สนาม เสิ่น หยาง พีเพิล สเตเดี่ยม ที่กลายเป็นจุดรวมใจการแข่งขันลูกหนังในเมืองแห่งนี้ จากจุดเริ่มต้นในการแข่งขันฟุตบอลโลก 1990 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย ที่ทีมชาติจีน ตัดสินใจโยกรังเหย้าไปแข่งขันที่เสิ่น หยาง จากเดิมที่การแข่งขันในครั้งนั้นเริ่มต้นทัวร์นาเมนต์ ที่เทียนเหอ ในกว่างโจว โดยเลือก 2 เกมสุดท้ายในบ้านลงเล่นกับ อิหร่าน และ ไทย ซึ่ง 2 เกมดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ 35 ปี ที่แล้ว ทีมชาติ จีน เอาชนะ อิหร่าน 2-0,ชนะ ไทย 2-0 ผ่านเข้ารอบไปลุ้นในช่วงโค้งสุดท้ายของเอเชีย
- อู๋ ลี่ เหอ สเตเดี้ยม ที่มีความจุ 65,000 คน สร้างขึ้นในปี 1989 กลายเป็นชื่อสนามแข่งขันในเมือง เสิ่น หยาง ที่ถูกบันทึกความสำเร็จของวงการฟุตบอลจีน เพราะที่สนามแข่งขันแห่งนี้ส่งให้ทีมชาติจีนผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโลก 2002 ที่เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น เป็นเจ้าภาพร่วมกัน ในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2002 รอบคัดเลือก เอเชีย รอบแรก ทีมชาติจีน ภายใต้การคุมทัพของ โบรา มิลูติโนวิซ ลงเล่นที่เมือง ฉางซี,คุน หมิง และ กว่างโจว แต่หลังจากนั้นในรอบ 10 ทีมเอเชีย เลือกโยกไปใช้สนามแข่งขัน อู๋ ลี่ เหอ สเตเดี้ยม ใน เสิ้น หยาง เป็นรังเหย้า 4 เกม บทสรุปผลงานครั้งนั้น ชนะ 4 เกม รวด ชนะ ยูเออี 3-0, ชนะ อุซเบกิสถาน 2-0,ชนะ โอมาน 1-0( ทำให้ทีมผ่านเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลก2002),ชนะ กาตาร์ 3-0 ทั้ง 4 เกมมียอดแฟนบอลเข้าสนามแข่งขันรวมสูงถึง 179,226 คน เฉลี่ยต่อเกมอยู่ที่ 44,800 คน สนามแห่งนี้ถูกยกให้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับวงการฟุตบอลจีน ในเวลาต่อมาเพราะสร้างประวัติศาสตร์ส่งจีนสู่ฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย
- อู๋ ลี่ เหอ สเตเดี้ยม ที่มีความจุ 65,000 คน เป็นรังเหย้าของสโมสร เสิ่น หยาง กิ๋น เต๋อ และเป็นสังเวียนเหย้าของทีมชาติจีน แต่สุดท้ายปี 2007 สนามอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ถูกสั่งรื้อถอน ถูกทำลายลงในเวลาเพียง 6.6 วินาทีเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2007 ตามรายงาน sina.com เพื่อหลีกทางให้กับการสร้างห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ช่วงข่าวการรื้อถอนสะพัดออกไป ซุน ชาง หลง ประธานเชียร์ฟุตบอลเสิ่นหยาง ถึงขนาดขู่ว่าจะจบชีวิตของตัวเองเมื่อสนามกีฬาอันเป็นที่รักของเขาพังทลายลง
แม้ว่าจะไม่ได้รับอนุญาตให้จัดกิจกรรมในสนามแห่งนี้ก่อนสั่งลา ผู้คนจำนวนมากมารวมตัวกันในบริเวณใกล้เคียงเพื่อถ่ายรูปและวิดีโอเกี่ยวกับการรื้อถอนเพื่อเก็บไว้ในความทรงจำ โดยรอบๆบริเวณการรื้อถอนมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำการ เนื่องจากการทำลายสนามกีฬาเป็นปัญหาละเอียดอ่อนสำหรับแฟน ๆ หลายคน
- เสิ่นหยาง อลป.สปอร์ต เซนเตอร์ สเตเดี้ยม ถูกสร้างขึ้นมาใหม่เพื่อทดแทน อู๋ ลี่ เหอ สเตเดี้ยม ในปี 2007 ซึ่งมีความจุ 65,000 ที่นั่ง เพื่อรองรับการแข่งขันโอลิมปิก 2008 ที่จีนเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน นอกจากนั้นในพื้นที่ ยังมีโรงยิมเนเซียม 10,000 ที่นั่ง,โรงละคร 4,000 ที่นั่ง และ สนามเทนนิส 4,000 ที่นั่ง เปิดใช้งานมายาวจนถึงปัจจุบันรวม 17 ปี
ขอบคุณภาพ: sina.com