"อิชิอิ" ประเดิม! ทีมชาติไทยส่ง "สุภโชค-เอกนิษฐ์" ลุยญี่ปุ่น เช็กเวลาเตะ ช่องทางรับชม

ทีมชาติไทย ยุคใหม่ของ "มาซาทาดะ อิชิอิ" พร้อมสวมหัวใจนักสู้แม้เป็นรอง ส่ง "สุภโชค-เอกนิษฐ์" 2 นักเตะจากเจลีกนำทัพ ผนึกแข้งเก๋า "ธีราทร-สารัช" พร้อมตัวจี๊ด "มิคเกลสัน-เจริญศักดิ์" บุกปะทะญี่ปุ่นที่ชุดไม่ฟูลทีม โดย "ฮาจิเมะ โมริยาสุ" หวังเรียกความมั่นใจก่อนบู๊เอเชียนคัพ สถิติชี้ญี่ปุ่นข่มมิด หนล่าสุดเปิดรังถล่ม "ช้างศึก" 4-0 คู่นี้คิกออฟเที่ยงตรง ช่อง ไทยรัฐ ทีวี ยิงสด

การแข่งขันฟุตบอลกระชับมิตร "โตโย ไทร์ส คัพ 2024" ประจำวันจันทร์ที่ 1 ม.ค. 2567 ที่สนามกีฬาแห่งชาติญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เวลา 12.00 น. ตามเวลาประเทศไทย เป็นเกมคู่ระหว่าง ทีมชาติญี่ปุ่น ทีมอันดับ 17 ของโลก เปิดบ้านพบกับ ทีมชาติไทย ทีมอันดับ 113 ของโลก ถ่ายทอดสดช่อง ไทยรัฐ ทีวี หมายเลข 32

 ความพร้อมของเจ้าถิ่นทีมชาติญี่ปุ่น ที่มี "ฮาจิเมะ โมริยาสุ" คุมทัพ เกมล่าสุดเมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา ลงเตะในฟุตบอลโลก 2026 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย รอบสอง บุกไปถล่ม ซีเรีย 5-0 เก็บชัยชนะสองเกมติด แถมยังยืดสถิติชนะรวด 8 เกมติดต่อกันรวมทุกรายการในปี 2023 อีกด้วย แม้เกมอุ่นเครื่องนัดนี้จะไม่ฟูลทีม แต่ก็ยังคงเต็มไปด้วยนักเตะคุณภาพคับแก้ว

 เกมนี้ขุนพล "ซามูไรบลูส์" ที่ลงซ้อมกัน 4 วันเต็ม แต่เฮดโค้ชวัย 55 ปี อาจไม่มี ทาคุมะ อาซาโนะ แนวรุกของเฟาเอฟแอล โบคุ่ม รวมทั้ง อายาเซะ อูเอดะ ดาวเตะจากเฟเยนูร์ด ร็อตเตอร์ดัม ซึ่งทั้ง 2 คนมีสภาพร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่ง ฮาจิเมะ โมริยาสุ ที่ประกาศแล้วว่าจะใช้แผนการไล่นแบบใหม่ที่เตรียมทดลอง และพร้อมใช้นักเตะประสบการณ์น้อยลงสนามเพื่อวัดฝีมือ

 ขณะที่ ทาคุมิ มินามิโนะ ดาวเตะจากอาแอ็ส โมนาโก, ริตสึ โดอัน ปีกขวาไฟร์บวร์ก, ทาคุมะ อาซาโนะ นักเตะจากเฟาเอฟแอล โบคุ่ม ตลอดจน โชโกะ ทานิงุจิ อดีตปราการหลังกัปตันทีมคาวาซากิ ฟรอนตาเล่ ชุดแชมป์เจลีก 4 สมัย ที่ปัจจุบันค้าแข้งอยู่กับ อัล เรย์ยาน ในลีกกาตาร์ แม้เป็นแกนหลักแต่จะเริ่มต้นที่ซุ้มม้านั่งสำรองก่อน

 สำหรับ 11 ผู้เล่นทีมชาติญี่ปุ่น ที่คาดว่าลงสนามมาในระบบ 4-2-3-1 ประกอบด้วย ผู้รักษาประตู : ไดยะ มาเอกาวะ (วิสเซล โกเบ), โคกิ มาจิดะ (อูนิยง แซงต์ ชิลลัวส์ / เบลเยียม), ฮารูยะ ฟูจิอิ (นาโกย่า แกรมปัส), เรียวยะ โมริชิตะ (ลีเกีย วอร์ซอว์ / โปแลนด์), เซยะ ไมคุมะ (เซเรโซ่ โอซาก้า), จุนยะ อิโตะ (สต๊าด เดอ แร็งส์ / ฝรั่งเศส), เรียวทาโร่ อิโตะ (แซงต์-ทรุยด็อง / เบลเยียม), อาโอะ ทานากะ (ฟอร์ทูน่า ดุสเซลดอร์ฟ / เยอรมนี), คันจิ โอคุนุกิ (เนิร์นแบร์ก / เยอรมนี), ไคชู ซาโนะ (คาชิม่า แอนท์เลอร์ส), มาโอะ โฮโซยะ (คาชิว่า เรย์โซล)

 ด้านทีมเยือนทัพ "ช้างศึก" ที่มี "มาซาทาดะ อิชิอิ" กุนซือชาวญี่ปุ่น ประเดิมคุมทัพเป็นครั้งแรก โดยผลงานล่าสุดของทีมชาติไทย คือเกมบุกไปเอาชนะ สิงคโปร์ 3-1 ในฟุตบอลโลก 2026 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย รอบสอง เมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงเฮดโค้ชแยกทางกับ "มาโน่ โพลกิ้ง" 

 สภาพความพร้อมของทีมชาติไทย การอุ่นเครื่องครั้งนี้ขาดตัวเก่งทั้ง ธีรศิลป์ แดงดา, ชนาธิป สรงกระสินธ์ ที่บาดเจ็บ ส่วน ศุภณัฏฐ์ เหมือนตา กองหน้าของโอเอช ลูเวิน ในลีกเบลเยียม ติดภารกิจต้นสังกัดต้องการให้นักเตะคุ้นเคยกับกุนซือคนใหม่ นอกนั้นแกนหลักยังมาครบทั้ง 2 แข้งจากเจลีก สุภโชค สารชาติ, เอกนิษฐ์ ปัญญา ตลอดจน ธีราทร บุญมาทัน, สารัช อยู่เย็น, นิโคลัส มิคเกลสัน มากันครบ

 สำหรับ 11 ผู้เล่นทีมชาติไทย ที่คาดว่าจะลงสนามมาในระบบ 4-2-3-1 ประกอบด้วย ปฏิวัติ คำไหม (ผู้รักษาประตู), สุพรรณ ทองสงค์, เอเลียส ดอเลาะ, นิโคลัส มิคเกลสัน, ธีราทร บุญมาทัน, สารัช อยู่เย็น, วีระเทพ ป้อมพันธุ์, เอกนิษฐ์ ปัญญา, สุภโชค สารชาติ, เจริญศักดิ์ วงษ์กรณ์, ธีรศักดิ์ เผยพิมาย

 ทั้งนี้ สถิติการพบกันของทั้งสองทีมปรากฎว่า เจอกัน 12 ครั้ง ทีมชาติญี่ปุ่น ชนะ 9 นัด, ทีมชาติไทย ชนะ 1 นัด เสมอ 2 นัด โดยเกมล่าสุดที่ดวลกันเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มี.ค.2560 ในศึกฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย รอบสาม ทีมชาติญี่ปุ่น ชนะ ทีมชาติไทย ที่มี "ซิโก้" เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง คุมทีมในยุคนั้นไปด้วยสกอร์ 4-0

 สถิติ 5 เกมหลังสุดของทั้งสองทีม

 ทีมชาติญี่ปุ่น

วันที่ 21 พ.ย.2566 - คัดบอลโลก 2026 โซนเอเชีย รอบสอง - ชนะ ชนะ ซีเรีย 5-0 (เยือน)

วันที่ 16 พ.ย.2566 - คัดบอลโลก 2026 โซนเอเชีย รอบสอง - ชนะ เมียนมา 5-0 (เหย้า)

วันที่ 17 ต.ค.2566 - ฟีฟ่าเดย์ เดือนตุลาคม - ชนะ ตูนีเซีย 2-0 (เหย้า)

วันที่ 13 ต.ค.2566 - ฟีฟ่าเดย์ เดือนตุลาคม - ชนะ แคนาดา 4-1 (เหย้า)

วันที่ 12 ก.ย.2566 - ฟีฟ่าเดย์ เดือนกันยายน - ชนะ ตุรกี 4-2 (เตะที่เบลเยียม)

 ทีมชาติไทย

วันที่ 21 พ.ย.2566 - คัดบอลโลก 2026 โซนเอเชีย รอบสอง - ชนะ สิงคโปร์ 3-1 (เยือน)

วันที่ 16 พ.ย.2566 - คัดบอลโลก 2026 โซนเอเชีย รอบสอง - แพ้ จีน 1-2 (เหย้า)

วันที่ 17 ต.ค.2566 - ฟีฟ่าเดย์ เดือนตุลาคม - เสมอ เอสโตเนีย 1-1 (เยือน)

วันที่ 12 ต.ค.2566 - ฟีฟ่าเดย์ เดือนตุลาคม - แพ้ จอร์เจีย 0-8 (เยือน)

วันที่ 10 ก.ย.2566 - ฟีฟ่าเดย์ (คิงส์คัพ ครั้งที่ 49) จ.เชียงใหม่ รอบชิงชนะเลิศ - เสมอ อิรัก 2-2 (จุดโทษแพ้ อิรัก 4-5) 

 สถิติ 5 เกมหลังสุดที่พบกัน

วันที่ 28 มี.ค.2560 - คัดบอลโลก 2018 โซนเอเชีย รอบสาม : ญี่ปุ่น ชนะ ไทย 4-0

วันที่ 6 ก.ย.2559 - คัดบอลโลก 2018 โซนเอเชีย รอบสาม : ไทย แพ้ ญี่ปุ่น 0-2

วันที่ 14 มิ.ย.2551 - คัดบอลโลก 2010 โซนเอเชีย รอบสอง : ไทย แพ้ ญี่ปุ่น 0-3 

วันที่ 6 ก.พ.2551 - คัดบอลโลก 2010 โซนเอเชีย รอบสอง : ญี่ปุ่น ชนะ ไทย 4-1

วันที่ 24 ก.ค.2547 - เอเชียน คัพ 2004 รอบสุดท้าย ที่ประเทศจีน : ไทย แพ้ ญี่ปุ่น 1-4



ที่มาของภาพ : -
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport