5 ข้อร้อนๆ! เจาะประเด็นหลังทีมชาติไทยบุกเจ๊าไต้หวัน

5 ข้อร้อนๆ! เจาะประเด็นหลังทีมชาติไทยบุกเจ๊าไต้หวัน
4-4-2 ไดมอนด์ สู่ 4-3-3, สนามหนืดทำฟอร์มหยืด, นิโกลัส เติมสนั่นเมือง, ไต้หวัน ไม่ใช่สมันน้อย, ลูกกลางอากาศยังเป็นปัญหาทุกสมัย และทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ 'SIAMSPORT' อยากแชร์ให้คุณได้อ่านกัน!!

[ 1 ] 4-4-2 ไดม่อนด์ สู่ 4-3-3

   ด้วยความที่มีผู้เล่นในตำแหน่งกองกลางฝีเท้าดีอยู่หลายราย ทำให้ อเล็กซานเดร โพลกิ้ง จัดแท็กติก 4-4-2 ตั้งแต่นาทีแรก โดยผู้รักษาประตูเป็น ปฏิวัติ คำไหม และมี กฤษดา กาแมน กับ จักพัน ไฟรสุวรรณ ยืนเป็นคู่เซนเตอร์ฮาล์ฟ ส่วนฟูลแบ็ก นิโคลัส มิคเคลสัน-พีระพัฒน์ โน๊ตชัยยา ออกสตาร์ท

   แผงมิดฟิลด์ วีระเทพ ป้อมพันธุ์ ยืนปักหลักอยู่หน้าแนวรับ โดยมี สารัช อยู่เย็น กับ ฐิติพันธุ์ พ่วงจันทร์ สนับสนุน ชนาธิป สรงกระสินธ์ ที่รับบทเพลย์เมเกอร์เปิดป้อนให้ สุภโชค สารชาติ และ ธีรศิลป์ แดงดา

   ในครึ่งแรก รูปเกมเป็นไปตามคาดเมื่อไทย บุกใส่เจ้าถิ่นแบบไม่มียั้ง ทว่าการต่อบอลยังดูขาดๆ เกินๆ ทำให้โอกาสที่จะเข้าไปทำประตูมีน้อยนิด ผิดกับฝั่งไต้หวัน ที่ใช้เกมสวนกลับเล่นงาน ซึ่งก็สร้างความหวาดเสียวในหลายๆ จังหวะ

   กระทั่งครึ่งหลัง โพลกิ้ง ปรับมาใช้แผน 4-3-3 ด้วยการส่ง ชาญณรงค์ พหรมศรีแก้ว มาเพิ่มมิติในเกมรุก และก็ดูเหมือนว่าการเล่นของไทย จะไหลลื่นกว่าเก่า เพราะครองบอลเดินหน้ามากกว่าครึ่งแรกเสียอีก แต่ด้วยวินัยในเกมรับของเจ้าถิ่น ทำให้ยากต่อการที่ทัพช้างศึกจะเจาะเข้าไปได้

   แม้ระยะหลังเฮดโค้ชเชื้อสายบราซิล-เยอรมัน จะชื่นชอบ 4-4-2 แต่ดูแล้ว 4-3-3 น่าจะเหมาะกับทัพช้างศึกมากกว่า

[ 2 ] สนามหนืดทำฟอร์มหยืด

   สนามกีฬาแห่งชาติเกาสง อาจจะเป็นฟุตบอลสเตเดี้ยมที่ดูอลังการและสวยงาม แถมยังค่อนข้างใหม่ เพราะเพิ่งเปิดใช้งานเป็นหนแรกในปี 2009 พร้อมสรรพไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน

   ที่นี่เคยจัดการแข่งขันใหญ่ๆ อย่าง เวิร์ล เกมส์ (กีฬาที่ไม่ได้บรรจุใน โอลิมปิก) อีกทั้งศิลปินระดับโลกก็เคยมาทัวร์คอนเสิร์ตมากมายๆ ไล่ตั้งแต่ มารูน ไฟฟ์ (Maroon 5), โคลด์เพลย์ (Coldplay) หรือ แบล็คพิ้งค์ (Blackpink) 

  แม้จะรองรับงานอีเวนต์ชั้นนำมาบ้างแล้ว แต่กับฟุตบอล สนามกีฬาแห่งชาติเกาสง ยังไม่มีแข่งขันทัวร์นาเมนต์ใหญ่ นอกจากรายการในประเทศเท่านั้น 

   จากรูปเกมระหว่างไต้หวัน กับไทย ที่ออกมาดูเหมือนว่าการจ่ายบอลจะทำได้ยากลำบาก เนื่องจากผืนหญ้าดูหนืดๆ ซึ่งทำให้สปีดบอลของทัพช้างศึกถูกลดทอนไปพอสมควร

    อย่างไรก็ตาม ข้ออ้างเรื่องสภาพสนามคงไม่ใช่ข้อแก้ตัวสำหรับผลการแข่งขันที่ทำได้เพียงเสมอกับทีมที่ ฟีฟ่า แรงกิ้ง ต่ำกว่า หากแต่ต้องใช้มันเป็นบทเรียนเพื่อปรับปรุงในอนาคตข้างหน้า

[ 3 ] นิโกลัส เติมสนั่นเมือง

   หากต้องจิ้มนักเตะที่โดดเด่นของทีมชาติไทย ในเกมเสมอไต้หวัน - นิโคลัส มิคเคลสัน จะต้องเป็นชื่อแรกๆ ที่แฟนๆ นึกถึง โทษฐานที่ฟอร์มการเล่นโดดเด่น โดยเฉพาะเกมบุกที่รุกได้สุดสะเด่าโดนใจ

   ฟูลแบ็กจาก โอบี โอเดนเซ่ แสดงให้เห็นถึงคลาสฟุตบอลระดับยุโรป เกมรับรักษาตำแหน่งได้ดี, มีความแข็งแกร่ง, พลังล้นเหลือ และที่สำคัญคือความสามารถเฉพาะตัวที่สร้างความแตกต่างได้ในชั่วพริบตา

   กับเกมที่ 3 ในนามทัพช้างศึก - มิคเคลสัน แสดงให้เห็นว่าสามารถปรับตัวได้ดีมากๆ เล่นเข้าขากับเพื่อนร่วมทีมมากขึ้นกว่าเดิม 

   ประตูที่ไทย พลิกแซง 2-1 ต้องยกเครดิตให้กับกองหลังเชื้อสายนอร์เวย์ ที่ใช้ความสามารถเฉพาะตัว แหวกสองผู้เล่นเจ้าถิ่น แล้วปาดเรียดไปในกรอบเขตโทษ ก่อนที่กองหลังไต้หวัน จะสกัดเข้าประตูตัวเองไป

   เท่านั้นไม่พอ ในช่วงทดเวลาการแข่งขัน เขาเกือบทำแอสซิสต์ได้อีกต่างหาก หากไม่โดนแนวรับของไต้หวัน สกัดก่อนที่บอลจะหลุดถึง ธีระศักดิ์ เผยพิมาย

   ฟอร์มการเล่นแบบนี้ มีโอกาสสูงทีเดียวที่เขาจะจองตำแหน่งแบ็กขวาช้างศึกแบบยาวๆ 

[ 4 ] ไต้หวัน ไม่ใช่สมันน้อย


   แม้ว่าลีกอาชีพของไต้หวัน จะก่อตั้งในปี 2017 แต่ดูจากทั้งสองเกมที่เผชิญหน้ากับทีมชาติไทย ต้องยอมรับว่าพวกเขามีพัฒนาการที่ก้าวกระโดดอย่างชัดเจน 

   เจ้าบ้านเป็นฝ่ายตั้งรับแทบจะทั้ง 90 นาที แต่การเตะทิ้งเตะขว้าง เห็นจากฝั่งเจ้าถิ่นน้อยมากๆ ซึ่งนั่นน่าจะมาจากการกำชับของ แกรี่ ไวท์ ที่สั่งให้ลูกทีมมีสมาธิและไม่ต้องตื่นเต้นหากเจอการบีบพื้นที่จากนักเตะช้างศึก

   เท่านั้นไม่พอ เกมสวนกลับของไต้หวัน ยังทำได้ดีเหลือเชื่อ เพราะโอกาสยิงของพวกเขาหนีไม่ห่างจากไทย สักเท่าไหร่ แถมยังเกือบได้ประตูจากลูกโหม่งอีกต่างหาก

   ต้องยอมรับว่าหากไม่ผิดพลาดจ่ายบอลคืนหลังเสียเองหรือสกัดเข้าประตูตัวเอง บางทีทัพช้างศึกอาจจะไม่สามารถเจาะตาข่ายจากคู่แข่งรายนี้ก็เป็นได้

   ดังนั้นจาก 2 เกม ที่พบกันในห้วงเวลา 6 เดือน และผลการแข่งขันที่ออกมา กลับเป็นไต้หวัน ที่ทำได้ดีกว่า มันบ่งบอกอะไรได้หลายๆ อย่างว่าไทย มีการบ้านให้ต้องแก้ไขอีกเพียบ

[ 5 ] ลูกกลางอากาศยังเป็นปัญหาทุกสมัย

   ทีมชาติไทย ไม่ว่ายุคใดมักจะมีจุดบกพร่องในเรื่องลูกกลางอากาศ ประตูตีเสมอในนาทีที่ 87 ของไต้หวัน บ่งชี้ชัดเจนว่ามันคือปัญหาคาราคาซังที่แก้เท่าไหร่ก็ยังไม่หายสักที

   เวลานี้เรื่องของความสามารถและการเล่นได้ตามแท็กติกของขุนพลช้างศึกถือว่ายกระดับขึ้นในทุกๆ ปี กับการแข่งขันที่เข้มข้นของลีกในประเทศ แต่สิ่งที่ยังต้องหาทางพัฒนาคือการป้องกันลูกกลางอากาศนี่แหละที่มักจะสร้างความชอกช้ำอยู่บ่อยครั้ง

   สมาธิในช่วง 5 นาทีแรก กับ 5 นาที สุดท้ายของทั้งครึ่งแรกและครึ่งหลังคือสิ่งสำคัญมากๆ ในเกมฟุตบอล โดยเฉพาะจังหวะเซ็ตพีซที่อะไรก็เกิดขึ้นได้ทุกวินาที

   นี่จึงเป็นอีกหนึ่งการบ้านชิ้นโตที่ อเล็กซานเดร โพลกิ้ง กุนซือผู้นิยมในเกมบุกจะต้องนำกลับไปปรับปรุงโดยด่วน เพราะผลงาน 3 นัดหลังสุดยังไม่ชนะใครเลย แถมยังเสียประตูจากลูกโหม่งอีกต่างหาก


ที่มาของภาพ : -
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport