ผลงานของทีมชาติไทย ทั้งชุดใหญ่และรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ในการแข่งขันช่วง ฟีฟ่า เดย์ มีนาคม 2023 นั้นมองได้หลากหลายแง่มุม
สำหรับทัพช้างศึกชุดใหญ่ รูปแบบการเล่นถือว่าสอบผ่านกับการสร้างสรรค์โอกาสเข้าทำ 2 นัดรวมกันกว่า 47 ครั้ง โดยที่คู่แข่งขันเป็นทีมที่แรงกิ้งสูงกว่า ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาทีเดียว
ส่วนชุดยู-23 ก็มีผลงานเป็นไปในทิศบวก เพราะการได้อันดับ 4 ในศึก โดฮา คัพ กับการเก็บชัยชนะ, เสมอและแพ้ อย่างละ 1 นัด นั้นถือว่าน่าพอใจทีเดียว เนื่องจากแต่ละชาติที่ไทย เผชิญหน้านั้นคือประเทศใหญ่ของเอเชียตะวันตกทั้งนั้น
การได้อุ่นเครื่องกับทีมที่แข็งแกร่งกว่า ถือเป็นเรื่องดีสำหรับเรา เพราะมันคือบทพิสูจน์ว่าเราอยู่ในระดับใด ณ ปัจจุบัน
ความพ่ายแพ้ไม่ใช่เรื่องที่ใครอยากสัมผัส แต่ในความพ่ายแพ้มันก็มีข้อดีๆ ให้เห็นอยู่บ้าง นั่นคือ 'จุดอ่อน' ที่ต้องกลับมาปรับปรุงกันต่อ ซึ่งจากทั้งทีมชาติชุดใหญ่และชุดยู-23 สิ่งที่เห็นอย่างเด่นและต้องรีบแก้ไขคือ 'จังหวะสุดท้าย'
โดยเฉพาะช้างศึกชุดใหญ่ที่อาจจะสร้างโอกาสได้มากมายก็จริง แต่กลับได้มาแค่ประตูเดียวเท่านั้น มันบ่งบอกได้ชัดเจนเลยว่าไทย มีปัญหาที่การจบสกอร์
เมื่อไม่มี ธีรศิลป์ แดงดา อยู่ในแดนหน้า ดูเหมือนว่าพลังการทำลายล้างของไทย ดูจะลดลงไปเท่าตัว
ศุภชัย ใจเด็ด ที่มีพัฒนาการแบบก้าวกระโดดกับผลงานในลีกที่แสดงให้เห็นว่าพร้อมแล้วที่จะมารับช่วงต่อจากรุ่นพี่ แต่พอถึงการลงเล่นในระดับชาติ กลับกลายเป็นคนละคน
อดิศักดิ์ ไกรษร คือคนแรกๆ ที่ถูกคาดหมายว่าจะมาเป็นตัวความหวังในอนาคต แต่ก็โดนปัญหาบาดเจ็บรุมเร้าจนผลงานถดถอยและปัจจุบันที่ย้ายไปค้าแข้งที่ลีกมาเลเซีย ทว่าก็ยังไม่สามารถคืนฟอร์มเก่งได้เหมือนวันวาน
ศุภณัฏฐ์ เหมือนตา ในวัย 20 ปี ยังดีได้กว่านี้อีก แต่ทุกวันนี้เขาไม่ได้เป็นศูนย์หน้าตัวเป้าแล้ว เพราะถูกขยับออกไปเล่นด้านข้างเป็นหลัก และด้วยส่วนสูง 1.73 เมตร มันคงยากที่จะยืนเป็นหัวหอกในฟุตบอลยุคปัจจุบัน
นี่คือนักเตะที่ถูกมองว่าจะก้าวมาแทนที่ ธีรศิลป์ ในอนาคต แต่ก็ยังไม่มีใครสามารถแบกรับความหวังดังกล่าวได้เลย
ส่วนหนึ่งของการที่กองหน้าสัญชาติไทย ไม่สามารถเฉิดฉายได้เท่ากับตำแหน่งฟูลแบ็กหรือมิดฟิลด์ นั่นก็เพราะสโมสรต่างๆ ในลีกนิยมใช้หัวหอกนำเข้ามากกว่า
เอาแค่ ไทยลีก เกือบทั้ง 16 ทีม ก็ฝากความหวังในการทำประตูไว้ที่ศูนย์หน้าต่างชาติแล้ว ไม่เว้นกระทั่ง บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่อาจจะมี ศุภชัย นำเป็นดาวซัลโว แต่จริงๆ แล้วส่วนใหญ่พวกเขาใช้ ลอนซาน่า ดูมบูญ่า ยืนเป็นหัวหอกตัวเป้า
มีเพียง บีจี ปทุม ยูไนเต็ด เท่านั้นที่ยังเป็นศูนย์หน้าไทย แต่นั่นก็เพราะว่ามี ธีรศิลป์ อยู่นั่นเอง แต่ก็ไม่สามารถใช้งานได้สม่ำเสมอ เนื่องด้วยร่างกายของอดีตดาวยิง อัลเมเรีย ไม่สมบูรณ์นัก
ดังนั้นเมื่อส่วนใหญ่นิยมใช้กองหน้าต่างชาติ มันจึงทำให้โอกาสของหัวหอกชาวไทย ก็ถูกจำกัดลงไปด้วย และพอไม่ได้เล่นอย่างต่อเนื่อง พัฒนาการทางด้านฝีเท้ามันจึงย่ำอยู่กับที่ และบางรายถึงกับถอยลงไปด้วยซ้ำ
ผลที่ออกมาการที่ไม่มีนักเตะไทย เป็นดาวซัลโวสูงสุดของ ไทยลีก มาตั้งแต่ฤดูกาล 2012 (ตอนนั้น ธีรศิลป์ ครองตำแหน่งร่วมกับ คเลตอน ซิลวา) ส่วน ไทยลีก 2 ต้องย้อนกลับไปซีซั่น 2011 โน่นเลย
ไม่ใช่เรื่องผิดที่สโมสรต่างๆ จะใช้ดาวยิงนำเข้า เพราะทุกวันนี้การแข่งขันฟุตบอลลีกสูงขึ้นเรื่อยๆ มันจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องใช้บริการเพชฌฆาตจากต่างแดนที่มีทั้งร่างกายที่แข็งแกร่งและยังยิงได้เฉียบคมกว่าเข้ามาเพื่อสร้างความแตกต่าง
ทว่ามันแลกมาด้วยการที่นักเตะไทย ในตำแหน่งศูนย์หน้านั้นหาที่ลงไม่ได้
ในอีกแง่มุมหนึ่ง ด้วยการแข่งขันในตำแหน่งนี้ที่สูงลิ่ว บางทีมันก็จะคัดกรองผู้เล่นที่มีคุณภาพที่สุดออกมาแน่ แต่คงต้องใช้ระยะเวลาอีกนานพอสมควร กว่าที่ผลิตผลจะออกดอกมาให้เห็น ซึ่งบางทีมันอาจจะสายเกินไปแล้วก็ได้
ฉะนั้นปัญหาเรื่อง 'โอกาส' ของกองหน้าสัญชาติไทย นั้นจึงเป็นอะไรที่แก้ไขได้ยากมากๆ เพราะไม่ได้มีแค่เราเท่านั้นที่เป็นเช่นนี้ หากแต่ประเทศใหญ่ในเอเชีย อย่างญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ ต่างก็ประสบกับปัญหาเดียวกัน
แต่เมื่อใดที่ไทย มีศูนย์หน้าเก่งๆ โผล่พรวดขึ้นมา รับประกันเลยว่าแรงกิ้งโลกของทัพช้างศึกจะกลับไปอยู่ในท็อป 100 ได้ไม่ยากแน่นอน และเมื่อนั้นคำว่า 'ก้าวข้ามอาเซียน' ก็จะเป็นจริงได้สักที
ชิกกะด้าว