ทีมชาติไทย ชุดใหญ่ ภายใต้การคุมทีมของ มาโน่ โพลกิ้ง โดยมี “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ เป็นผู้จัดการทีม ที่ครองความยิ่งใหญ่แห่งวงการลูกหนังภูมิภาคอาเซียน หลังช่วงที่ผ่านมา ผงาดคว้าแชมป์อาเซียนได้มากที่สุด 6 สมัย ในปี 1996, 2000, 2002, 2014, 2016, 2020
ทำให้ศึกฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน 2022 ทัพ “ช้างศึก” ในฐานะแชมป์เก่าจะต้องฝ่าฟันอุปสรรคขวากหนามมากมาย เพื่อป้องกันแชมป์เอาไว้ให้ได้ แถมพิเศษสุดกับทัวร์นาเมนต์ในครั้งนี้ รายการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของวงการฟุตบอลอาเซียนได้มีการเปลี่ยนชื่อมาเป็น “เอเอฟเอฟ มิตซูบิชิ อิเล็คทริค คัพ 2022”
การเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนหลักฟุตบอลรายการนี้อย่างเป็นทางการนั้น มิตซูบิชิ อิเล็คทริค (Mitsubishi Electric) ที่เป็นบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าชั้นนำระดับโลก รวมถึงระบบกลไกที่ใช้งานในหลากหลายอุตสาหกรรม เดินแผนรุกกลยุทธ์สปอร์ต มาร์เกตติ้ง ครบวงจร
โดยทำการต่อยอดการสร้าง “แบรนด์” ด้วยการเข้าร่วมเป็น Title sponsorship เป็นครั้งแรก ในการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน (ASEAN Football Federation Championship) ภายใต้ชื่อ “AFF Mitsubishi Electric Cup 2022” หรือ “เอเอฟเอฟ มิตซูบิชิ อิเล็คทริค 2022” นั่นเอง
เป้าหมายของมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ในทุกวันนี้ คือ การจัดหาโซลูชั่นสำหรับความท้าทายทางสังคม (Social Challenges) ผ่านธุรกิจของเรา เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมที่สดใส และยั่งยืนมากขึ้น ผ่านเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ที่เราจัดจำหน่ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การได้ Title Sponsorship อย่างเป็นทางการของการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน ครั้งที่ 14 นี้ ที่มาพร้อมกับแท็กไลน์ “Together, We can build better ถ้าร่วมมือกัน เราก็สามารถสร้างสรรค์สิ่งที่ดีกว่าได้” ซึ่งเป็นการต่อยอดจากปณิธานของมิตซูบิชิ อิเล็คทริค ในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างผู้เล่น แฟนๆ และผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน
นอกจากนี้ เพื่อปลูกฝังความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ และประสบความสำเร็จอย่างสูง นำไปสู่การยกระดับฟุตบอลในภูมิภาคอาเซียน และยังเป็นอีกก้าวสำคัญที่น่าตื่นเต้นและท้าทายสำหรับมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ในการใช้ “สปอร์ต มาร์เกตติ้ง” โดยเฉพาะ “ฟุตบอล”
ซึ่งฟุตบอลถือเป็นกีฬาสากลที่สามารถเข้าถึงผู้คนทั่วโลกได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกภาษา เป็นธงชัยนำไปสู่การต่อยอดจากแฟนคลับฟุตบอลให้กลายเป็นแฟนแบรนด์ผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงของเราที่มีหลากหลายกลุ่ม ครอบคลุมตั้งแต่เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ไปจนถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์
จากการโปรโมตกิจกรรมผ่านทางกิจกรรมทางการตลาดแล้ว มิตซูบิชิ อิเล็คทริค ยังให้คุณค่าความสำคัญเกี่ยวกับ Sustainability โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายใน Corporate Strategy ของเรา ผ่านการทำกิจกรรม CSR ซึ่งในครั้งนี้เราได้จัดกิจกรรม “Football Clinic” เพื่อต้องการปลูกฝังให้เยาวชนที่มีใจรักกีฬาฟุตบอลได้มีโอกาสเรียนรู้ทักษะการเล่นอย่างถูกวิธีจากการฝึกสอนโดยโค้ชมืออาชีพ และพัฒนาไปสู่การเป็นนักฟุตบอลอาชีพได้ในอนาคต
โดยร่วมมือกับสหพันธ์ฟุตบอลอาเซียน (เอเอฟเอฟ) ในการจัดหานักเตะระดับตำนานมาร่วมผนึกกำลังในการสานฝันสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนในทั้งหมด 5 ประเทศ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศไทย, สิงคโปร์, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และ เวียดนาม
ซึ่งในแต่ละประเทศ เราจะคัดเลือกกลุ่มน้องๆ เยาวชน ที่มีความสนใจในด้านกีฬาฟุตบอล และมี potential ที่จะเติบโตไปเป็นนักกีฬาในอนาคต ให้เข้ามาร่วมกิจกรรมและฝึกซ้อมฟุตบอลอย่างใกล้ชิดกับนักฟุตบอลในตำนาน ซึ่งสำหรับประเทศไทยนั้น ได้มีน้องๆ เยาวชนจากมูลนิธิไร้ท์ ทู เพลย์ ประเทศไทย (Right To Play Thailand Foundation) มาร่วมฝึกซ้อมกับ เทิดศักดิ์ ใจมั่น และ พิภพ อ่อนโม้ นักเตะระดับตำนานของไทย ไปเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา
จะเห็นว่านอกเหนือจากการดำเนินธุรกิจแล้วเรายังให้ความสำคัญต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดี ภายใต้ความมุ่งมั่นขององค์กรที่ “Changes for the Better” หรือ การเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่า และเพื่อวันที่ดีกว่า เราจะยังคงดำเนินการต่อเพื่อให้เกิดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมนั่นเอง
ทัวร์นาเมนต์ “เอเอฟเอฟ มิตซูบิชิ อิเล็คทริค คัพ 2022” จึงส่งผลให้เกมการแข่งขันฟุตบอลได้รับความสนใจจากแฟนบอลทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียนอย่างมากมาย ก่อนที่บทสรุปจะเป็นทีมชาติไทยที่สามารถโชว์ฟอร์มสมราคาแชมป์เก่า ป้องกันแชมป์ได้สำเร็จ ขึ้นสู่บัลลังก์แชมป์อาเซียน สมัยที่ 7 มากที่สุดในบรรดาชาติอาเซียนไปครองตามเป้าหมาย
แน่นอนว่า การเข้าป้ายเป็นแชมป์แห่งภูมิภาคอาเซียน สมัยที่ 7 และถือเป็นแชมป์สองสมัยติดต่อกันไม่ใช่เรื่องง่าย ทุกเส้นของการเดินทางตั้งแต่รองแบ่งกลุ่มยันรอบชิงชนะเลิศ ถึงต้องเจอกับทีมในระดับอาเซียน แต่ทุกชาติต่างก็พัฒนาศักยภาพเพื่อมาต่อกรกับทัพ “ช้างศึก” ได้ตลอดเวลา
เส้นทางสู่การขึ้นแท่นบังลังก์แชมป์ “เอเอฟเอฟ มิตซูบิชิ อิเล็คทริค 2022” ของทีมชาติไทยจะเป็นอย่างไรบ้างมาดูกัน!
ทีมชาติไทยจับสลากอยู่ในกลุ่ม เอ ร่วมกับ อินโดนีเซีย (รองแชมป์เก่า), กัมพูชา, ฟิลิปปินส์ และ บรูไน หากว่ากันตามหน้าเสื่อ ขุนพลจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาเหนือกว่าทุกทีมพอสมควร
แต่สิ่งสำคัญคำว่า “ฟุตบอล” จะประมาทไม่ได้เด็ดขาด ทั่วโลกมีให้เห็นมาแล้วว่า “ล้มยักษ์” มีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ แต่ด้วยความมืออาชีพของทีมชาติไทย ที่โฟกัสไปทีละเกม ก่อนจะสามารถจนในอันดับ 1 ของกลุ่ม เอ เข้ารอบ 4 ทีมสุดท้าย ได้ตามเป้า กับผลงานลงสนาม 4 นัด ชนะ 3 เสมอ 1 ยิง 13 เสีย 2 เก็บไป 10 แต้ม
บรูไน แพ้ ไทย 0-5
ทีมชาติไทยประเดิมนัดเปิดสนามรอบแบ่งกลุ่ม วันที่ 20 ธ.ค. 65 บุกไปเยือน บรูไน ที่ใช้กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เป็นรังเหย้า โดย มาโน่ โพลกิ้ง วางระบบ 4-4-2 จัดชุดใหญ่ลงสนามทันทีทั้ง กิตติพงศ์ ภูแถวเชือก (ผู้รักษาประตู), พรรษา เหมวิบูลย์, กฤษดา กาแมน, ศุภนันท์ บุรีรัตน์, ศศลักษณ์ ไหประโคน, สารัช อยู่เย็น, ธีราทร บุญมาทัน, เอกนิษฐ์ ปัญญา, บดินทร์ ผาลา, อดิศักดิ์ ไกรษร และ ธีรศิลป์ แดงดา
“ช้างศึก” ได้ประตูนำก่อน น. 19 จาก บดินทร์ ผาลา ก่อนที่ ธีรศิลป์ แดงดา จะมายิงประตูหนี 2-0 ใน น.44 ก่อนจบครึ่งแรก และช่วงครึ่งหลัง ไทยไม่ผ่อนเครื่อง มารัวยิงอีก 3 เม็ด จากการทำเข้าประตูตัวเองของ ยูรา ยูนอส น.88 และอีก 2 ลูกจากตัวสำรองอย่าง พีรดนย์ ฉ่ำรัศมี น.90+1, น.90+3
โดยเกมนี้ตัวสำรองที่ถูกใช้งานได้แก่ ปรเมศย์ อาจวิไล (แทนที่ อดิศักดิ์ ไกรษร น.46), สุมัญญา ปุริสาย (แทนที่ ธีรศิลป์ แดงดา น.72), เจริญศักดิ์ วงษ์กรณ์ (แทนที่ บดินทร์ ผาลา น.72), พีรดนย์ ฉ่ำรัศมี (แทนที่ สารัช อยู่เย็น น.80), ชาญณรงค์ พรมศรีแก้ว (แทนที่ เอกนิษฐ์ ปัญญา น. 81)
STATS (สถิติการแข่งขัน) | ||
---|---|---|
บรูไน | ไทย | |
20.1 % | ครองบอล | 79.9% |
0 | เตะมุม | 12 |
5 | ฟรีคิก | 12 |
0 | ล้ำหน้า | 3 |
2 | โอกาสยิง | 27 |
2 | ตรงกรอบ | 16 |
0 | ไม่ตรงกรอบ | 11 |
13 | ฟาวล์ | 6 |
0 | ใบเหลือง | 0 |
0 | ใบแดง | 0 |
ไทย ชนะ ฟิลิปปินส์ 4-0
เข้าสู่เกมนัดสอง รอบแบ่งกลุ่ม วันที่ 26 ธ.ค. 65 “ช้างศึก” กลับมาเล่นในบ้านตัวเองต่อหน้าแฟนบอล ณ ธรรมศาสตร์ สเตเดี้ยม โดย มาโน่ โพลกิ้ง ยังคงไว้ใจผู้เล่นชุดเดิมและระบบเดิมลงสนาม และตลอดทั้งเกมก็ไม่ได้ทำให้แฟนบอลชาวไทยผิดหวัง
ขุมกำลัง 11 คนแรก ประกอบด้วย กิตติพงศ์ ภูแถวเชือก (ผู้รักษาประตู), พรรษา เหมวิบูลย์, กฤษดา กาแมน, ศุภนันท์ บุรีรัตน์, ศศลักษณ์ ไหประโคน, ธีราทร บุญมาทัน, สารัช อยู่เย็น, เอกนิษฐ์ ปัญญา, บดินทร์ ผาลา, อดิศักดิ์ ไกรษร, ธีรศิลป์ แดงดา
ออกสตาร์ตเพียงแค่ 3 นาที ธีรศิลป์ แดงดา โหม่งเข้าไปเบิกร่องให้ไทยนำเร็ว ก่อนที่ช่วงใกล้จบครึ่งแรก ธีรศิลป์ แดงดา คนเดิมเบิ้ลเม็ดสองของตัวเองให้ไทยหนีห่าง 2-0 ใน น.41 จากนั้นช่วงครึ่งหลังจะมาได้อีก 2 ประตู จาก อดิศักดิ์ ไกรษร น.57 และประตูปิดกล่องของ ศุภนันท์ บุรีรัตน์ ที่ซัดประตูแรกในนามทีมชาติไทย ชุดใหญ่ ได้สำเร็จ ใน น. 63
โดยเกมนี้ตัวสำรองที่ถูกใช้งานได้แก่ พีรดนย์ ฉ่ำรัศมี (แทนที่ บดินทร์ ผาลา น.64), ปรเมศย์ อาจวิไล (แทนที่ ธีรศิลป์ แดงดา น. 64), ชาญณรงค์ พรมศรีแก้ว (แทนที่ อดิศักดิ์ ไกรษร น. 64), วีระเทพ ป้อมพันธุ์ (แทนที่ สารัช อยู่เย็น น.76), เจริญศักดิ์ วงษ์กรณ์ (แทนที่ เอกนิษฐ์ ปัญญา น.88)
STATS (สถิติการแข่งขัน) | ||
---|---|---|
ไทย | ฟิลิปปินส์ | |
58.3 % | ครองบอล | 41.7 % |
9 | เตะมุม | 2 |
10 | ฟรีคิก | 8 |
2 | ล้ำหน้า | 1 |
22 | โอกาสยิง | 3 |
12 | ตรงกรอบ | 2 |
10 | ไม่ตรงกรอบ | 1 |
10 | ฟาวล์ | 10 |
0 | ใบเหลือง | 1 |
0 | ใบแดง | 0 |
อินโดนีเซีย เสมอ ไทย 1-1
เกมนัดที่ 3 ของรอบแบ่งกลุ่ม วันที่ 29 ธ.ค. 65 ไทยต้องยกพลบุกเยือน อินโดนีเซีย ณ สังเวียนแข้งเกโลรา บุงการ์โน สเตเดี้ยม หรือ “เสนายัน” สนามแห่งความน่าเกรงขาม โดยเกมนี้ มาโน่ โพลกิ้ง ปรับระบบมาเล่น 4-2-3-1 ใส่ ชาญณรงค์ พรมศรีแก้ว ลงมาแทนที่ อดิศักดิ์ ไกรษร
ผู้เล่น 11 คนแรกที่ออกสตาร์ตตัวจริงในเกมนี้ประกอบด้วย กิตติพงศ์ ภูแถวเชือก (ผู้รักษาประตู), พรรษา เหมวิบูลย์, กฤษดา กาแมน, ศุภนันท์ บุรีรัตน์, ศศลักษณ์ ไหประโคน, ธีราทร บุญมาทัน, สารัช อยู่เย็น, เอกนิษฐ์ ปัญญา, บดินทร์ ผาลา, ชาญณรงค์ พรมศรีแก้ว, ธีรศิลป์ แดงดา
45 นาทีแรกยังคงเสมอกันแบบไร้สกอร์ 0-0 กระทั่งเข้าสู่ครึ่งหลัง น.50 มาร์ค คล็อค กองหน้าโอนสัญชาติจากเนเธอร์แลนด์มาเป็นอินโดนีเซีย จะซัดให้เจ้าถิ่น “การูด้า” ออกนำ 1-0 และมิวายทีมเยือนช้างศึกต้องมาเหลือ 10 คน เมื่อ สรรวัชญ์ เดชมิตร ตัวสำรองที่ถูกส่งลงมาเล่นครึ่งหลัง มาโดนใบแดงโดยตรงอีกใน น.62
อย่างไรก็ตาม น.79 แข้งไทยรวมพลังใจนักสู้เลือดสยาม มาได้ประตูตีเสมอ 1-1 จากลูกยิงไกลของ สารัช อยู่เย็น ที่ยิงบอลแล้วไปแฉลบแนวรับอินโดนีเซียเข้าประตูไป ทำให้เก็บ 1 แต้ม กลับออกมาได้อย่างน่าพอใจ
โดยเกมนี้ตัวสำรองที่ถูกใช้งานได้แก่ ชาญณรงค์ พรมศรีแก้ว (แทนที่ สรรวัชญ์ เดชมิตร น.46), อดิศักดิ์ ไกรษร (แทนที่ ธีรศิลป์ แดงดา น.73), พีรดนย์ ฉ่ำรัศมี (แทนที่ บดินทร์ ผาลา น.82), จักพัน ไพรสุวรรณ (แทนที่ เอกนิษฐ์ ปัญญา น.87)
STATS (สถิติการแข่งขัน) | ||
---|---|---|
อินโดนีเซีย | ไทย | |
40.3 % | ครองบอล | 59.7 % |
0 | เตะมุม | 5 |
12 | ฟรีคิก | 27 |
1 | ล้ำหน้า | 1 |
8 | โอกาสยิง | 5 |
3 | ตรงกรอบ | 1 |
5 | ไม่ตรงกรอบ | 4 |
27 | ฟาวล์ | 14 |
1 | ใบเหลือง | 2 |
0 | ใบแดง | 1 |
ไทย ชนะ กัมพูชา 3-1
กลับมาเล่นเกมในบ้านนัดส่งท้ายรอบแบ่งกลุ่ม วันที่ 2 ม.ค. 66 โคจรมาเจอกับกัมพูชา โดยเกมนี้ มาโน่ โพลกิ้ง กุนซือใหญ่ทีมชาติไทย กลับมาใช้ทีมชุดใหญ่อีกครั้ง ปรับระบบมาเล่น 4-4-2 ขนผู้เล่นชุดที่ดีที่สุดลงสนาม โดยเปลี่ยน 1 ตำแหน่ง จากเกมที่แล้ว โดยส่ง อดิศักดิ์ ไกรษร ลงสนามแทนที่ ชาญณรงค์ พรมศรีแก้ว
โดยนักเตะตัวจริงทั้ง 11 คน มี กิตติพงศ์ ภูแถวเชือก (ผู้รักษาประตู), พรรษา เหมวิบูลย์, กฤษดา กาแมน, ศุภนันท์ บุรีรัตน์, ศศลักษณ์ ไหประโคน, ธีราทร บุญมาทัน, สารัช อยู่เย็น, เอกนิษฐ์ ปัญญา, บดินทร์ ผาลา, อดิศักดิ์ ไกรษร, ธีรศิลป์ แดงดา
รูปเกมค่อนข้างอึดอัดพอสมควร เพราะทีมเยือนกัมพูชามาสู้ชนิดใจเกินร้อยไม่เกรงกลัวทัพ “ช้างศึก” เลย จนประตูแรกที่ทำให้แฟนบอลชาวไทยผ่อนคลายต้องรอถึง น.45+2 จากลูกจุดโทษของ ธีรศิลป์ แดงดา
เข้าสู่ครึ่งหลัง น.50 สุมัญญา ปุริสาย ยิงประตูให้ไทยหนีห่างเป็น 2-0 ทว่า น.68 เซียง จันเทียะ มายิงให้กัมพูชาตามมาเป็น 1-2 ก่อนจะเป็น ธีรศิลป์ แดงดา จะมายิงประตูปิดกล่องใน น. 90 ส่งผลให้ไทยเก็บชัยชนะส่งท้ายได้หืดจับนิดหน่อย แต่ก็ยังดีพอคว้าแชมป์กลุ่ม เอ ได้ตามเป้าหมาย
โดยเกมนี้ตัวสำรองที่ถูกใช้งาน ได้แก่ สุมัญญา ปุริสาย (แทนที่ ศศลักษณ์ ไหประโคน น.46), ชาญณรงค์ พรมศรีแก้ว (แทนที่ อดิศักดิ์ ไกรษร น.46), พีรดนย์ ฉ่ำรัศมี (แทนที่ เอกนิษฐ์ ปัญญา น.46), เจริญศักดิ์ วงษ์กรณ์ (แทนที่ ศุภนันท์ บุรีรัตน์ น.73), ปรเมศย์ อาจวิไล (แทนที่ บดินทร์ ผาลา น.88)
STATS (สถิติการแข่งขัน) | ||
---|---|---|
ไทย | กัมพูชา | |
62.6 % | ครองบอล | 37.4% |
3 | เตะมุม | 2 |
15 | ฟรีคิก | 8 |
1 | ล้ำหน้า | 0 |
16 | โอกาสยิง | 11 |
5 | ตรงกรอบ | 4 |
11 | ไม่ตรงกรอบ | 7 |
8 | ฟาวล์ | 15 |
1 | ใบเหลือง | 2 |
0 | ใบแดง | 0 |
ตารางคะแนนหลังจบรอบแบ่งกลุ่ม (กลุ่ม เอ) | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
อันดับ | ทีม | แข่ง | ชนะ | เสมอ | แพ้ | ได้ | เสีย | ผลต่าง | คะแนน |
1 | ไทย* | 4 | 3 | 1 | 0 | 13 | 2 | +11 | 10 |
2 | อินโดนีเซีย | 4 | 3 | 1 | 0 | 12 | 3 | +9 | 10 |
3 | กัมพูชา | 4 | 2 | 0 | 2 | 10 | 8 | +2 | 6 |
4 | ฟิลิปปินส์ | 4 | 1 | 0 | 3 | 8 | 10 | -2 | 3 |
5 | บรูไน | 4 | 0 | 0 | 4 | 2 | 22 | -20 | 0 |
ตารางคะแนนหลังจบรอบแบ่งกลุ่ม (กลุ่ม บี) | |||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
อันดับ | ทีม | แข่ง | ชนะ | เสมอ | แพ้ | ได้ | เสีย | ผลต่าง | คะแนน |
1 | เวียดนาม | 4 | 3 | 1 | 0 | 12 | 0 | +12 | 10 |
2 | มาเลเซีย | 4 | 3 | 0 | 1 | 10 | 4 | +6 | 9 |
3 | สิงคโปร์ | 4 | 2 | 1 | 1 | 6 | 6 | 0 | 7 |
4 | เมียนมา | 4 | 0 | 1 | 3 | 4 | 9 | -5 | 1 |
5 | สปป.ลาว | 4 | 0 | 1 | 3 | 2 | 15 | -13 | 1 |
มาเลเซีย ชนะ ไทย 1-0
เข้าสู่เกมรอบรองชนะเลิศ นัดแรก วันที่ 7 ม.ค. 66 ที่สนามบูกิตจาลิล เป็นเกมคู่ระหว่าง ทีมชาติมาเลเซีย ที่ผ่านเข้ารอบมาในฐานะอันดับ 2 กลุ่ม บี เปิดบ้านรับมือ ทีมชาติไทย ที่ผ่านเข้ารอบมาในฐานะอันดับ 1 กลุ่ม เอ
เกมนี้ทีมเยือนช้างศึกปรับทัพ 1 ตำแหน่งส่ง พีรดนย์ ฉ่ำรัศมี ออกสตาร์ตตัวจริงแทนที่ อดิศักดิ์ ไกรษร พร้อมปรับระบบการเล่นมาใช้ 4-4-1-1 แทนระบบที่ใช้มาอย่างต่อเนื่องในรอบแบ่งกลุ่มอย่าง 4-4-2
โดย 11 ผู้เล่นตัวจริงประกอบด้วย กิตติพงศ์ ภูแถวเชือก (ผู้รักษาประตู), พรรษา เหมวิบูลย์, กฤษดา กาแมน, ศศลักษณ์ ไหประโคน, ศุภนันท์ บุรีรัตน์, ธีราทร บุญมาทัน, สารัช อยู่เย็น, บดินทร์ ผาลา, เอกนิษฐ์ ปัญญา, พีรดนย์ ฉ่ำรัศมี, ธีรศิลป์ แดงดา
สังเวียนแข้งอาถรรพ์ที่ทัพ “ช้างศึก” ยังคงไม่สามารถล้างได้เสียที เพราะเกมนี้ไทย บุกแพ้ มาเลเซีย 0-1 จากประตูชัยของ ไฟซัล ฮาริม ตั้งแต่ น.11 ของเกม
จากรูปเกมนี้ต้องยอมรับว่า “ช้างศึก” มีข้อผิดพลาดอยู่หลายจุดพอสมควร และด้วยผลงานเกมนี้ทำให้เกมนัดที่สองจึงมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างพอสมควร เพื่อต้องการสกอร์กว่ามากสองประตูขึ้นไปถึงจะกรุยทางสู่รอบชิงชนะเลิศ
โดยเกมนี้ตัวสำรองที่ถูกใช้งานได้แก่ อดิศักดิ์ ไกรษร (แทนที่ พีรดนย์ ฉ่ำรัศมี น.68), จักพัน ไพรสุวรรณ (แทนที่ พรรษา เหมวิบูลย์ น.68), ปรเมศย์ อาจวิไล (แทนที่ ธีรศิลป์ แดงดา น.81), ชาญณรงค์ พรมศรีแก้ว (แทนที่ เอกนิษฐ์ ปัญญา น.86), เจริญศักดิ์ วงษ์กรณ์ (แทนที่ บดินทร์ ผาลา น.87)
STATS (สถิติการแข่งขัน) | ||
---|---|---|
มาเลเซีย | ไทย | |
27.7 % | ครองบอล | 72.3 % |
2 | เตะมุม | 9 |
7 | ฟรีคิก | 4 |
0 | ล้ำหน้า | 1 |
5 | โอกาสยิง | 18 |
1 | ตรงกรอบ | 4 |
4 | ไม่ตรงกรอบ | 14 |
5 | ฟาวล์ | 8 |
1 | ใบเหลือง | 2 |
0 | ใบแดง | 0 |
ไทย ชนะ มาเลเซีย 3-0
เกมรอบรอบรองชนะเลิศ นัดที่สอง วันที่ 10 ม.ค. 66 ทีมชาติไทย กลับมาเล่นในบ้านบ้างกับสกอร์ที่ตามหลังอยู่ 0-1 โดยมีนี้มีการใช้ “กฎอะเวย์ โกล” โดยไทยจะต้องเอาชนะระยะห่าง 2 ลูก ขึ้นไป เช่น 2-0, 3-1, 4-2 หากชนะ 1-0 จะต้องต่อเวลาพิเศษอีก 30 นาที และยิงจุดโทษ ตามลำดับ ทว่าหากไทยได้แค่เสมอ หรือชนะด้วยสกอร์เช่น 2-1, 3-2, 4-3 ไทยจะร่วงตกรอบทุกกรณี
เกมนี้ มาโน่ โพลกิ้ง ยังคงเน้นระบบเดิม 4-4-1-1 แต่ปรับ 1 ตำแหน่ง จากเกมที่แล้ว ตัดสินใจเปลี่ยนในตำแหน่งผู้รักษาประตูส่ง กัมพล ปฐมอรรฆย์กุล มาเฝ้าเสาแทนที่ กิตติพงศ์ ภูแถวเชือก ที่ดูฟอร์มตกลงไป
ซึ่ง 11 ผู้เล่นตัวจริงประกอบด้วย กัมพล ปฐมอรรฆย์กุล (ผู้รักษาประตู), พรรษา เหมวิบูลย์, กฤษดา กาแมน, ศุภนันท์ บุรีรัตน์, ศศลักษณ์ ไหประโคน, ธีราทร บุญมาทัน,สารัช อยู่เย็น, พีรดนย์ ฉ่ำรัศมี, เอกนิษฐ์ ปัญญา, บดินทร์ ผาลา, ธีรศิลป์ แดงดา
ต่อหน้าแฟนบอลชาวไทย ที่เข้าไปชมที่สนามถึง 18,927 คน ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เมื่อ ธีรศิลป์ แดงดา ยิงประตูให้ไทยขึ้นนำอย่างรวดเร็วใน น.19 จากนั้นในครึ่งหลังจะมารัวอีก 1 ลูก จาก บดินทร์ ผาลา น.55 และ อดิศักดิ์ ไกรษร น.71 ส่งผลให้ “ช้างศึก” เอาชนะ 3-0 (สกอร์รวมสองนัด ชนะ 3-1) ผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศต่อไป
โดยเกมนี้ตัวสำรองที่ถูกใช้งานได้แก่ ธีรศิลป์ แดงดา (แทนที่ อดิศักดิ์ ไกรษร น.46), วีระเทพ ป้อมพันธุ์ (แทนที่ บดินทร์ ผาลา น.69), สุมัญญา ปุริสาย (แทนที่ สารัช อยู่เย็น น.77), จักพัน ไพรสุวรรณ (แทนที่ พรรษา เหมวิบูลย์ น.85), เฉลิมศักดิ์ อักขี (แทนที่ ศุภนันท์ บุรีรัตน์ น. 85)
STATS (สถิติการแข่งขัน) | ||
---|---|---|
ไทย | มาเลเซีย | |
62.9 % | ครองบอล | 37.1% |
1 | เตะมุม | 1 |
19 | ฟรีคิก | 12 |
1 | ล้ำหน้า | 0 |
12 | โอกาสยิง | 3 |
7 | ตรงกรอบ | 2 |
5 | ไม่ตรงกรอบ | 1 |
14 | ฟาวล์ | 20 |
3 | ใบเหลือง | 4 |
0 | ใบแดง | 0 |
เวียดนาม เสมอ ไทย 2-2
ศึก “ดรีม ไฟนัล” วันที่ 13 ม.ค. 66 ที่สนามมีดิ่ง สเตเดี้ยม เป็นเกมรอบชิงชนะเลิศ นัดแรก ทีมชาติเวียดนาม ที่ในรอบรองฯ เอาชนะ ทีมชาติอินโดนีเซีย สกอร์รวม 2-0 เปิดบ้านรับการมาเยือนศัตรูที่รักตลอดกาล ทีมชาติไทย ที่รอบรองเอาชนะทีมชาติมาเลเซีย สกอร์รวม 3-1
โดยเกมนี้ทีมเยือนช้างศึกที่มี มาโน่ โพลกิ้ง รับหน้าที่กุนซือ และ “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ เป็นผู้จัดการทีม เกมนี้มาในระบบ 3-5-2 มีการปรับทัพ 3 ตำแหน่ง ส่ง ปรเมศย์ อาจวิไล, วีระเทพ ป้อมพันธุ์, อดิศักดิ์ ไกรษร ลงตัวจริง แทนที่ เอกนิษฐ์ ปัญญา, บดินทร์ ผาลา และ ธีรศิลป์ แดงดา
11 ขุมกำลังของทีมชาติไทย ประกอบด้วย กัมพล ปฐมอรรฆย์กุล (ผู้รักษาประตู), พรรษา เหมวิบูลย์, กฤษดา กาแมน, วีระเทพ ป้อมพันธุ์, ศุภนันท์ บุรีรัตน์, ศศลักษณ์ ไหประโคน, ธีราทร บุญมาทัน, สารัช อยู่เย็น, พีรดนย์ ฉ่ำรัศมี , ปรเมศย์ อาจวิไล, อดิศักดิ์ ไกรษร
ตลอดเกม 90 นาที ต่างฝ่ายต่างต่อสู้กันอย่างสนุก ไม่มีใครยอมใคร โดยใน น.24 เหงียน เทียน ลินห์ ซัดนำไปในก่อน น.24 และจบครึ่งแรกไปด้วยสกอร์นี้
เข้าสู่ครึ่งหลัง ไทยมาได้ประตูตีเสมอจาก ปรเมศย์ อาจวิไล ใน น.48 และเป็นลูกแรกในนามทีมชาติไทย ชุดใหญ่ อีกด้วย ก่อนจะมาพลิกแซงนำ 2-1 จาก สารัช อยู่เย็น ใน น.63 อย่างไรก็ตาม เกมทำท่าว่าจะจบ แต่เวียดนามมาได้ วู วาน ตัน ซัดไกลสุดสวยช่วยเจ้าถิ่นตีเสมอ 2-2 ใน น.88 และจบลงไปด้วยสกอร์นี้
โดยเกมนี้ตัวสำรองที่ถูกใช้งาน ได้แก่ เอกนิษฐ์ ปัญญา (แทนที่ อดิศักดิ์ ไกรษร น.74), บดินทร์ ผาลา (แทนที่ ปรเมศย์ อาจวิไล น.79), สุมัญญา ปุริสาย (แทนที่ สารัช อยู่เย็น น.84)
STATS (สถิติการแข่งขัน) | ||
---|---|---|
เวียดนาม | ไทย | |
53.5 % | ครองบอล | 46.5% |
3 | เตะมุม | 1 |
7 | ฟรีคิก | 10 |
0 | ล้ำหน้า | 3 |
10 | โอกาสยิง | 6 |
6 | ตรงกรอบ | 5 |
4 | ไม่ตรงกรอบ | 1 |
11 | ฟาวล์ | 7 |
2 | ใบเหลือง | 2 |
0 | ใบแดง | 0 |
ไทย ชนะ เวียดนาม 1-0
หลังจบลงด้วยผลเสมอกัน 2-2 วันที่ 16 ม.ค. 66 เกมส่งท้ายของทัวร์นาเมนต์กับรอบชิงชนะเลิศ นัดสอง ที่สนามธรรมศาสตร์ สเตเดี้ยม เกมนี้แฟนบอลชาวไทยเข้าชมถึง 19,306 คน มากที่สุดนับตั้งแต่รอบแบ่งกลุ่ม และรอบ 4 ทีมสุดท้าย ที่ทีมชาติไทยลงเล่นที่บ้านตัวเอง
เกมนี้เจ้าถิ่น “ช้างศึก” ยังยึดระบบการเล่น 3-5-2 และส่ง 11 ผู้เล่นชุดเดิมจากเกมแรกลงสนาม โดย “มุ้ย” ธีรศิลป์ แดงดา กองหน้าดาวซัลโวของทีมที่ยิงไปแล้ว 6 ลูก หายเจ็บไม่ทัน ทำให้คู่กองหน้ายังเป็น อดิศักดิ์ ไกรษร จับคู่ ปรเมศย์ อาจวิไล ที่เพิ่งเปิดซิงเม็ดแรกในสีเสื้อทีมชาติชุดใหญ่ ลงล่าตาข่ายในแมตช์นี้
โดย 11 แข้งตัวจริ้งประกอบด้วย กัมพล ปฐมอรรฆย์กุล (ผู้รักษาประตู), พรรษา เหมวิบูลย์, กฤษดา กาแมน, วีระเทพ ป้อมพันธุ์, ศุภนันท์ บุรีรัตน์, ศศลักษณ์ ไหประโคน , ธีราทร บุญมาทัน, สารัช อยู่เย็น, พีรดนย์ ฉ่ำรัศมี, ปรเมศย์ อาจวิไล, อดิศักดิ์ ไกรษร
เกมนี้มีประตูแรกและประตูเดียว รวมถึงเป็นประตูชัยเกิดขึ้นใน น.24 ของเกมโดย ธีราทร บุญมาทัน ซัดลูกยิงไฟนอกกรอบเขตโทษด้วยเท้าขวาที่ไม่ถนัด ส่งบอลพุ่งแรงเข้าสู่ก้นตาข่ายไปอย่างงดงาม
จบเกม 90 นาที “ช้างศึก” เอาชนะ 1-0 (สกอร์รวมสองนัดชนะ 3-2) คว้าแชมป์สมัยที่สองติดต่อกัน และเป็นสมัยที่ 7 ของรายการนี้ มากที่สุดในบรรดาชาติอาเซียนได้สำเร็จ ต่อจากปี 1996, 2000, 2002, 2014, 2016, 2020
โดยเกมนี้ตัวสำรองที่ถูกใช้งาน ได้แก่ บดินทร์ ผาลา (แทนที่ ปรเมศย์ อาจวิไล น.72), เอกนิษฐ์ ปัญญา (แทนที่ อดิศักดิ์ ไกรษร น.72), จักพัน ไพรสุวรรณ (แทนที่ สารัช อยู่เย็น น.72), สุมัญญา ปุริสาย (แทนที่ วีระเทพ ป้อมพันธุ์ น.88), เฉลิมศักดิ์ อักขี (แทนที่ ศศลักษณ์ ไหประโคน น.90+2)
STATS (สถิติการแข่งขัน) | ||
---|---|---|
ไทย | เวียดนาม | |
50.7 % | ครองบอล | 49.3% |
2 | เตะมุม | 2 |
15 | ฟรีคิก | 13 |
5 | ล้ำหน้า | 0 |
6 | โอกาสยิง | 9 |
2 | ตรงกรอบ | 2 |
4 | ไม่ตรงกรอบ | 7 |
14 | ฟาวล์ | 15 |
2 | ใบเหลือง | 5 |
1 | ใบแดง | 0 |
หลังจบการแข่งขันได้มีพิธีมอบถ้วยรางวัล โดยได้รับเกียรติจาก จานนี่ อินฟันติโน่ ประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ที่เดินทางมามอบถ้วยด้วยตัวเองที่เมืองไทย นอกจากนี้ ทีมชาติไทยยังได้รับเงินรางวัลจากการแข่งขันในฐานะทีมแชมป์ “เอเอฟเอฟ มิตซูบิชิ อีเล็คทริค คัพ 2022” อีก 10 ล้านบาท
ส่วนเวียดนามชวดซิวแชมป์อาเซียนสมัย 3 ได้เพียงรองแชมป์เท่านั้น โดยรับเงินรางวัลจากการแข่งขันไป 3.5 ล้านบาท และเป็นการปิดฉากการคุมทีมชาติเวียดนาม ชุดใหญ่ ของ ปาร์ค ฮัง-ซอ อีกด้วย
นอกจากพิธีมอบถ้วยแชมป์ในครั้งนี้จะมีประธานฟีฟ่าแล้ว ยังมี วินสตัน ลี เลขาธิการทั่วไป สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย (เอเอฟซี), พล.ต.เคียฟ ซาเมธ ประธานสหพันธ์ฟุตบอลอาเซียน (เอเอฟเอฟ), พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ, ดร.ตรัน ควอค ตวน ประธานสหพันธ์ฟุตบอลเวียดนาม, คุนิฮิโกะ เซกิ ผู้บริหารและผู้แทนภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก มิตซูบิชิ อีเล็คทริค คอร์เปอเรชั่น มาร่วมเป็นเกียรติในงานนี้
เท่านั้นไม่พอ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ได้ประกาศอัดฉีดเพิ่มด้วยเงินส่วนตัวจำนวน 5 ล้านบาท ทำให้ทัพ “ช้างศึก” รับเงินรางวัลรวม 35 ล้านบาท จากการคว้าแชมป์อาเซียนครั้งนี้ ประกอบด้วย 20 ล้านบาท จาก “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ ผู้จัดการทีมชาติไทย, 10 ล้านบาท จากเงินรางวัล “เอเอฟเอฟ มิตซูบิชิ อีเล็คทริค คัพ 2022” และจากนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ อีก 5 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ฝ่ายจัดการแข่งขัน “เอเอฟเอฟ มิตซูบิชิ อีเล็คทริค คัพ 2022” ได้จัดทีม 11 ผู้เล่นยอดเยี่ยมประจำการแข่งขัน ปรากฏว่า ทีมชาติไทย แชมป์อาเซียนครั้งนี้มีนักเตะติดถึง 5 คน ด้วยกัน โดยแผนการเล่นมาในระบบ 4-3-3 ดังนี้
ผู้รักษาประตู : ดัง วาน ลัม (ทีมชาติเวียดนาม)
กองหลัง : กฤษดา กาแมน, ศศลักษณ์ ไหประโคน (ทีมชาติไทย) ฆอดี้ อาหมัด (อินโดนีเซีย) ดวน วาน เฮา (ทีมชาติเวียดนาม)
กองกลาง : สารัช อยู่เย็น , ธีราทร บุญมาทัน (ทีมชาติไทย) เหงียน ฮหว่าง ดึ๊ก (ทีมชาติเวียดนาม)
กองหน้า : ธีรศิลป์ แดงดา (ทีมชาติไทย) เหงียน เทียน ลินห์ (ทีมชาติเวียดนาม) และ ไฟซัล ฮาลิม (ทีมชาติมาเลเซีย
นอกจากนี้ มาโน่ โพลกิ้ง ลุ้นทำลายประวัติศาสตร์ของวงการลูกหนังไทยและวงการฟุตบอลอาเซียน คัพ ในการพาทีมคว้าแชมป์ 3 สมัยติดต่อกัน ซึ่งยังไม่เคยมีชาติใดทำได้มาก่อนในเวทีชิงเจ้าอาเซียนเช่นกัน หากว่า “โค้ชมาโน่” ยังอยู่คุมทัพ “ช้างศึก” ต่อในทัวร์นาเมนต์ “เอเอฟเอฟ มิตซูบิชิ อีเล็คทริค คัพ 2024” หรืออีก 2 ปีข้างหน้า
ในอดีตกุนซือที่เคยพาทีมเป็นแชมป์อาเซียน คัพ 2 สมัย ติดต่อกัน นอกเหนือจาก ปีเตอร์ วิธ (ไทย ปี 2000, 2002), เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง (ไทย ปี 2014, 2016) แล้ว ยังมี ราดอยโก อัฟราโมวิช เฮดโค้ชชาวเซอร์เบียที่พาทีมชาติสิงคโปร์เป็นแชมป์สองสมัยติดในปี 2004, 2007
โดยอัฟราโมวิชยังพาทัพ “ลอดช่อง” เป็นแชมป์ได้อีกครั้งในปี 2012 ทำให้เขาได้แชมป์อาเซียนมากที่สุด 3 ครั้ง ในการคุมทีมชาติเดียว เหนือกว่า ปีเตอร์ วิธ และ “ซิโก้” ที่พาไทยได้แชมป์กันคนละ 2 สมัยเท่านั้น
สำหรับ รายชื่อ 23 นักเตะทีมชาติไทย ชุดแชมป์ “เอเอฟเอฟ มิตซูบิชิ อิเล็คทริค คัพ 2022”
ผู้รักษาประตู : กิตติพงศ์ ภูแถวเชือก (บีจี ปทุม ยูไนเต็ด), กัมพล ปฐมอรรฆย์กุล (ราชบุรี เอฟซี), สรานนท์ อนุอินทร์ (ลีโอ เชียงราย ยูไนเต็ด)
กองหลัง : ศศลักษณ์ ไหประโคน (บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด), พรรษา เหมวิบูลย์ (บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด), กฤษดา กาแมน (ชลบุรี เอฟซี), เฉลิมศักดิ์ อักขี (โปลิศ เทโร เอฟซี), ศุภนันท์ บุรีรัตน์ (การท่าเรือ เอฟซี), จักพัน ไพรสุวรรณ (บีจี ปทุม ยูไนเต็ด), ฉัตรมงคล เรืองฐณโรจน์ (ชลบุรี เอฟซี)
กองกลาง : ธีราทร บุญมาทัน (บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด), สุมัญญา ปุริสาย (ชลบุรี เอฟซี), บดินทร์ ผาลา (การท่าเรือ เอฟซี), เจริญศักดิ์ วงษ์กรณ์ (เมืองทอง ยูไนเต็ด), สารัช อยู่เย็น (บีจี ปทุม ยูไนเต็ด), พีรดนย์ ฉ่ำรัศมี (บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด), ชาญณรงค์ พรมศรีแก้ว (ชลบุรี เอฟซี), วีระเทพ ป้อมพันธุ์ (เมืองทอง ยูไนเต็ด), เอกนิษฐ์ ปัญญา (เมืองทอง ยูไนเต็ด), สรรวัชญ์ เดชมิตร (ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด)
กองหน้า : ธีรศิลป์ แดงดา (บีจี ปทุม ยูไนเต็ด), อดิศักดิ์ ไกรษร (เมืองทอง ยูไนเต็ด), ปรเมศย์ อาจวิไล (เมืองทอง ยูไนเต็ด)
ทำเนียบแชมป์อาเซียน คัพ | |
---|---|
- ปี 2022 *ทีมชาติไทย | รอบชิงชนะเลิศ นัดแรก เวียดนาม เปิดบ้านเสมอ 2-2, นัดสอง ไทย เปิดบ้านชนะ เวียดนาม 1-0 (รวมผลสองนัด ไทย ชนะ 3-2) |
- ปี 2020 *ทีมชาติไทย | รอบชิงชนะเลิศ (เล่นที่สิงคโปร์ทั้ง 2 นัด) นัดแรก อินโดนีเซีย แพ้ 0-4, นัดสอง ไทย เสมอ 2-2 (รวมผลสองนัด ไทย ชนะ 6-2) |
- ปี 2018 เวียดนาม | รอบชิงชนะเลิศ นัดแรก มาเลเซีย เปิดบ้านเสมอ 2-2, นัดสอง เวียดนาม เปิดบ้านชนะ 1-0 (รวมผลสองนัด เวียดนาม ชนะ 3-2) |
- ปี 2016 *ทีมชาติไทย | รอบชิงชนะเลิศ นัดแรก อินโดนีเซีย เปิดบ้านชนะ 2-1, นัดสอง ไทย เปิดบ้านชนะ 2-0 (รวมผลสองนัด ไทย ชนะ 3-2) |
- ปี 2014 *ทีมชาติไทย | รอบชิงชนะเลิศ นัดแรก ไทย เปิดบ้านชนะ 2-0, นัดสอง มาเลเซีย เปิดบ้านชนะ 3-2 (รวมผลสองนัด ไทย ชนะ 4-3) |
- ปี 2012 สิงคโปร์ | รอบชิงชนะเลิศ นัดแรก สิงคโปร์ เปิดบ้านชนะ 3-1, นัดสอง ไทย เปิดบ้านชนะ 1-0 (รวมผลสองนัด สิงคโปร์ ชนะ 3-2) |
- ปี 2010 มาเลเซีย | รอบชิงชนะเลิศ นัดแรก มาเลเซีย เปิดบ้านชนะ 3-0, นัดสอง อินโดนีเซีย เปิดบ้านชนะ 2-1 (รวมผลสองนัด มาเลเซีย ชนะ 4-2) |
- ปี 2008 เวียดนาม | รอบชิงชนะเลิศ นัดแรก ไทย เปิดบ้านแพ้ 1-2, นัดสอง เวียดนาม เปิดบ้านเสมอ 1-1 (รวมผลสองนัด เวียดนาม ชนะ 3-2) |
- ปี 2007 สิงคโปร์ | รอบชิงชนะเลิศ นัดแรก สิงคโปร์ เปิดบ้านชนะ 2-1, นัดสอง ไทย เปิดบ้านเสมอ 1-1 (รวมผลสองนัด สิงคโปร์ ชนะ 3-2) |
- ปี 2004 สิงคโปร์ | รอบชิงชนะเลิศ นัดแรก อินโดนีเซีย เปิดบ้านแพ้ 1-3, นัดสอง สิงคโปร์ เปิดบ้านชนะ 2-1 (รวมผลสองนัด สิงคโปร์ ชนะ 5-2) |
- ปี 2002 *ทีมชาติไทย | รอบชิงชนะเลิศ ไทย เสมอ อินโดนีเซีย 2-2 (ยิงจุดโทษ ไทย ชนะ 4-2) |
- ปี 2000 *ทีมชาติไทย | รอบชิงชนะเลิศ ไทย ชนะ อินโดนีเซีย 4-1 |
- ปี 1998 สิงคโปร์ | รอบชิงชนะเลิศ สิงคโปร์ ชนะ เวียดนาม 1-0 |
- ปี 1996 *ทีมชาติไทย | รอบชิงชนะเลิศ ไทย ชนะ มาเลเซีย 1-0 |
หมายเหตุ : ตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา รอบชิงชนะเลิศเปลี่ยนกฎแข่งขันแบบเหย้า-เยือน
บทสรุปเจ้าลูกหนังอาเซียน
- ทีมชาติไทย 7 สมัย ปี 1996, 2000, 2002, 2014, 2016, 2020, 2022
- สิงคโปร์ 4 สมัย ปี 1998, 2004, 2007, 2012
- เวียดนาม 2 สมัย ปี 2008, 2018
- มาเลเซีย 1 สมัย ปี 2010
‘ธีราทร’ คว้า MVP ‘เอเอฟเอฟ มิตซูบิชิ อีเล็คทริค คัพ 2022’
ธีราทร บุญมาทัน กัปตันทีมชาติไทย หลังพาทีมคว้าแชมป์ “เอเอฟเอฟ มิตซูบิชิ อิเล็คทริค คัพ 2022” ซึ่งเป็นสมัยที่ 7 จากการจัดการแข่งขันมาทั้งหมด 14 ครั้งไปครอง ยังคว้ารางวัลส่วนตัวอย่าง MVP หรือผู้เล่นยอดเยี่ยมประจำทัวร์นาเมนต์ รับเงิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 330,310 บาท) อีกด้วย
“โก๋อุ้ม” เปิดใจถึงความรู้สึกว่า “ผมคิดว่าจะเลิกตั้งแต่ครั้งที่แล้ว แต่ว่าด้วยหลายๆ อย่าง หลายๆ สโมสรไม่ได้ปล่อยตัวผู้เล่นหลักมาแข่งขัน ผมต้องการเห็นทีมชาติไทยเป็นแชมป์อีกครั้ง จึงตัดสินใจกลับมาเล่น ผมไม่ได้บอกว่าจะเลิกสักทีเดียว”
“จริงๆ ผมมีการคุยกับภรรยาที่ว่าจะไม่เล่นรายการนี้ตั้งแต่ครั้งที่แล้วที่เราได้แชมป์ ภรรยาก็บอกว่าถ้าเขาเรียกก็ต้องเล่น และกลายเป็นว่าหลายๆ สโมสรก็ไม่ได้ปล่อยตัวมาด้วย ซึ่งผมก็ไม่อยากเห็นทีมชาติไทยที่ดร็อปลงไป ผมอยากช่วยทีมชาติไทยยังคงเป็นแชมป์อยู่ ผมไม่อยากให้ชาติอื่นทระนงตัวขึ้นมาได้ ผมอยากกลับมาช่วยชาติให้เป็นหนึ่งในแถบอาเซียนให้ได้ครับ”
“อย่างที่ผมบอก อยากให้รายการนี้มีการพัฒนาเพิ่ม VAR เข้ามา เพื่อเป็นตัวช่วยให้กับหลายๆ ทีมที่เล่นฟุตบอลด้วยฟุตบอลจริงๆ ถ้ามี VAR ในครั้งต่อไป ผมอาจจะตัดสินใจกลับมาเล่นต่อก็ได้ อันนี้ก็ต้องมาดูกันในอนาคต” กัปตันธีราทร กล่าวปิดท้าย
ดาวเตะวัย 33 ปี รายนี้ ผ่านการคว้าแชมป์อาเซียนเป็นสมัยที่ 3 ต่อจากปี 2016, 2020 และล่าสุดปี 2022 แถมทัวร์นาเมนต์หนนี้ยังโชว์ผลงานได้แบบเอกอุ ทำไป 6 แอสซิสต์ ยิง 1 ประตู จาก 8 นัดที่ลงสนามมากที่สุดของรายการนี้ บวกกับคว้ารางวัล “แมน ออฟ เดอะ แมตช์” ไปได้อีก 4 ครั้งด้วยกัน
‘ธีรศิลป์’ ซิวดาวซัลโวร่วม‘เอเอฟเอฟ มิตซูบิชิ อิเล็คทริค คัพ 2022’
ธีรศิลป์ แดงดา ศูนย์หน้าเบอร์หนึ่งทีมชาติไทย มีส่วนช่วยให้ทีมคว้าแชมป์ “เอเอฟเอฟ มิตซูบิชิ อิเล็คทริค คัพ 2022” ได้สำเร็จ พร้อมกับคว้าดาวซัลโวร่วมประจำทัวร์นาเมนต์ครั้งนี้กับ เหงียน เทียน ลินห์ กองหน้าทีมชาติเวียดนาม ที่ยิงไปคนละ 6 ลูกเท่ากัน รวมถึงรับเงินรางวัล 5,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 165,155 บาท)
“มุ้ย” เปิดเผยความรู้สึกว่า “จริงๆ หลายชาติก็แข็งแกร่งมีการพัฒนาขึ้นทุกปี แน่นอนทุกครั้งที่เราได้แชมป์ หรือเข้าไปแข่งขันมันก็ผ่านอะไรมาหลายอย่าง อย่างผมเองตกรอบแรกก็เคยมาแล้ว และเคยคว้าแชมป์ได้ รวมถึงป้องกันแชมป์ได้”
“อย่างที่บอกหลายๆ ทีมก็พัฒนาขึ้นมาเช่น อินโดนีเซียก็มีผู้เล่นที่ดี มีชุดที่มีผู้เล่นอายุน้อย และจะน่ากลัวในอีก 2-3 ครั้งข้างหน้า เวียดนามก็ยังแข็งแกร่ง ส่วนมาเลเซียรวมถึงกัมพูชาก็ทำผลงานกับเราได้อย่างค่อนข้างดี ก็พัฒนาขึ้นมาครับในชาติอาเซียน”
“จริงๆ ผมอาจไม่น่าเล่นถึง 40 ครับ ก็น่าจะแบบครั้งนี้อาจเป็นครั้งสุดท้ายของผมแล้วก็ได้ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าครั้งหน้าร่างกายของผมจะเป็นยังไง หรือว่าฟอร์มการเล่นจะเป็นยังไง หรือยังเล่นฟุตบอลอยู่หรือเปล่ามันก็บอกไม่ได้ แต่ผมดีใจกับโมเมนต์ตรงนี้ และภูมิใจกับเพื่อนร่วมทีมทุกคนที่สามารถป้องกันแชมป์เอาไว้ได้”
ดาวยิงวัย 34 ปี ลงเล่นในรายการชิงแชมป์อาเซียนมาแล้วทั้งหมด 6 ครั้ง คว้าแชมป์ 3 ครั้ง ในปี 2016, 2020, 2022 พร้อมกับคว้ารางวัลดาวซัลโว 5 ครั้ง ในปี 2008, 2012, 2016, 2020, 2022 และยังครองบัลลังก์ดาวซัลโวสูงสุดตลอดกาล 25 ประตูด้วย
‘สารัช’ คนเดียว4แชมป์อาเซียน
สารัช อยู่เย็น กลายเป็นนักเตะที่คว้าแชมป์อาเซียน คัพ ได้มากที่สุตตลอดกาลเพียงคนเดียว ณ ปัจจุบัน ด้วยการคว้าแชมป์ทั้งหมด 4 สมัย ในปี 2014, 2016, 2020 และล่าสุด 2022 หลังจากก่อนหน้านี้เคยลงเล่นในทัวร์นาเมนต์ดังกล่าวไปทั้งหมด 26 นัด ยิงไป 3 ประตู กับอีก 5 แอสซิสต์
มิดฟิลด์วัย 30 ปี ให้สัมภาษณ์ถึงความรู้สึกว่า “ผมว่าไม่น่าจะเล่นแล้วในรายการนี้ ผมคิดว่าอีก 2 ปี ก็น่าจะมีนักเตะรุ่นใหม่ๆ มาอีกเยอะ คือตรงนี้เป็นเวทีสำคัญให้เขาได้พิสูจน์ตัวเองในระดับทีมชาติ”
“เจ้าตังค์” พูดต่อไปอีกว่า “ผมไม่ได้อยากคว้าแชมป์สมัยที่ 5 แต่อยากเปิดทางให้รุ่นน้องได้มีเวทีเล่นดีกว่า คิดว่ารายการแบบนี้เสริมประสบการณ์ให้กับนักเตะได้ดี ไม่ว่าจะไปเยือนอินโดนีเซีย, มาเลเซีย หรือ เวียดนาม ก็แตกต่างกันออกไป ซึ่งจะเพิ่มประสบการณ์ให้กับทุกคน ส่วนอีก 2 ปีมันอีกยาวไกล ผมก็ยังตอบไม่ได้ว่าจะเล่นต่อหรือไม่ ก็ต้องดูสภาพร่างกายและช่วงเวลานั้นก่อนครับ”
เรียกได้ว่าทั้งหมดทั้งมวลครบทุกเรื่องราวและรสชาติของความสำเร็จของทีมชาติไทย ชุดใหญ่ ในครั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าศึกฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียนครั้งต่อไป ที่ยังมี “มิตซูบิชิ อิเล็คทริค” ให้การสนับสนุนหลักกับรายการ “เอเอฟเอฟ มิตซูบิชิ อิเล็คทริค คัพ 2024”
ทัพ “ช้างศึก” แห่งลุ่มน้ำเจ้าพระยาของพวกเราจะสามารถป้องกันแชมป์ได้สำเร็จ ซึ่งถือเป็นการล่าแชมป์อาเซียน สมัยที่ 8 รวมทั้งจะเป็นการซิวแชมป์ 3 สมัยติด ที่ยังไม่เคยมีชาติใดทำได้มาก่อนด้วย !