เสนายัน - นรกสำหรับผู้มาเยือน!!

เสนายัน - นรกสำหรับผู้มาเยือน!!
มิตซูบิชิ อีเล็คทริค คัพ 2022 เดินทางมาถึงนัดที่สามของรอบแบ่งกลุ่ม และทีมชาติไทย จะต้องบุกไปเยือนอินโดนีเซีย ณ เกโลรา บุง การ์โน่ สเตเดี้ยม หรือสนาม เสนายัน ที่แฟนๆ คุ้นหู ทว่าที่นี่ถูกยกให้เป็น 'นรกของผู้มาเยือน' ซึ่งนั่นทำให้ 'SIAMSPORT' อยากจะนำคุณไปย้อนความเก่าถึงสังเวียนแข้งที่ยิ่งใหญ่นี้ให้ทราบโดยทั่วกัน!!

เริ่มต้นจากโซเวียต

   เกโลรา บุง การ์โน่ สเตเดี้ยม หรือสนาม เสนายัน ในแบบฉบับที่แฟนฟุตบอลรู้จักมีต้นต่อริเริ่มจาก ซูการ์โน่ อดีตประธานาธิบดีอินโดนีเซีย (1945-67) ผุดไอเดียสร้างศูนย์กีฬาแห่งชาติในยุคที่ตนเองอยู่ในตำแหน่ง

   แม้จะมีที่ตั้งอยู่ ณ กรุงจาการ์ต้า ทว่าเงินทุนในการก่อสร้างนั้นมาจากสหภาพโซเวียต หรือรัสเซีย ในปัจจุบัน ที่เอารัฐบาลตากาล็อกด้วยการประเคนงบประมาณเพื่อรังสรรค์สเตเดี้ยมใหญ่แห่งนี้ 

   ว่าแล้วพวกเขาจึงเริ่มตอกเสาในปี 1960 กระทั่งแล้วเสร็จในปี 1962 ซึ่งทันใช้พอดีในห้วงที่ เอเชียนเกมส์ ไปจัดการแข่งขันที่อินโดนีเซีย

   นอกจากจะใช้เป็นสนามแข่งขันกีฬา ที่นี่ยังเคยจัดอีเวนต์สำคัญมาแล้วหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นพิธีมิสซาครั้งใหญ่ของศาสนาคริสต์ ที่สมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 มาเป็นประธานเมื่อปี 1989

   รวมไปถึงล่าสุดเมื่อปี 2021 ที่ใช้เป็นหนึ่งในศูนย์ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับชาวอินโดนีเซีย 

เคยจุผู้ชมได้หลักแสน

   ในตอนแรก เสนายัน สามารถจุผู้ชมได้ถึง 110,000 คน เลยทีเดียว ซึ่งก็เคยทำสถิติมีแฟนฟุตบอลสูงสุดมาแล้วเมื่อปี 1985 กับเกมนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลถ้วยในประเทศระหว่าง เปอร์ซิบ บันดุง กับ เมดาน ที่มีคนเข้ามาดูราวๆ 150,000 คน เลยทีเดียว

   แต่หลังจากทำการติดเก้าอี้เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ทำให้ที่นั่งต้องลดลงเหลือ 88,306 เพราะต้องเป็นเจ้าภาพร่วมใน เอเชียน คัพ 2007

   พอปี 2018 ก็ลดลงอีก เหลืออยู่ 77,193 ที่นั่ง เนื่องจากอินโดนีเซีย เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน เอเชียน เกมส์ ในปีนั้นเอง

   นอกจากนี้ เสนายัน ยังได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในสนามกีฬาที่ดีที่สุดในเอเชีย และสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่นี่คือ 'นัมเบอร์วัน' ในย่านนี้

เดือดดาลเมื่อเจอไทยในวันวาน

   เสนายัน เป็นสนามที่ยิ่งใหญ่ และมีเรื่องราวหลายหลากเกิดขึ้นที่นี่ ซึ่งมีทั้งในแง่บวก รวมไปถึงแง่ลบ

   ย้อนกลับไปปี 1997 กับการแข่งขันนัดชิงชนะเลิศของฟุตบอลชาย ซีเกมส์ ระหว่างเจ้าภาพกับไทย ซึ่งเป็นจ้าวยุทธจักรของย่านนี้

   ก่อนเริ่มเขี่ยลูก สภาโอลิมปิกประเทศไทย ประกาศแล้วว่าหากเกิดเหตุวุ่นวาย จะให้ทีมฟุตบอล 'วอล์กเอาต์' ทันที เพื่อความปลอดภัยของนักเตะและสตาฟฟ์โค้ช

    ด้วยความคาดหวังที่สูงลิ่ว อินโดนีเซีย หยุดงานกันทั้งประเทศสำหรับเกมนี้โดยเฉพาะ อีกทั้งยังเปิดสนามให้แฟนฟุตบอลเข้าชมแบบฟรีๆ เพื่อเข้ามาช่วยกดดันทัพช้างศึกแบบเต็มอัตรา และนั่นเองทำให้ผู้คนต่าง

เบียดเสียดสู่อัฒจันทร์กันเนืองแน่น 

   เท่านั้นไม่พอ ความน่าสะพรึงยังลามไปถึงกองเชียร์จากสยามประเทศที่ถูกระบุจากตำรวจพื้นที่ว่า 'ไม่รับรองในเรื่องของความปลอดภัย'

   ด้วยความที่เวลานั้นสนามยังไม่มีรั้วกั้นและการที่ผู้ชมมหาศาลเข้ามากันล้นหลาม ทำให้การคัดกรองอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่ามาตรฐาน

   ผลที่ออกมาคือทุกครั้งที่นักเตะไทย ได้บอลจะถูกโห่อย่างอื้ออึง และสองผู้เล่นที่รับหน้าที่เปิดลูกเตะมุมอย่าง ดุสิต เฉลิมแสน กับ ธวัชชัย ดำรงค์อ่องตระกูล ก็ถูกปาหินบ้าง ก้อนอิฐบ้าง ขวดบ้าง เหรียญบ้าง 

   ตอนที่ทัพช้างศึกออกนำ 1-0 นั้นสร้างความโกรธแค้นให้กับแฟนๆ อินโดนีเซีย เป็นอย่างมาก จนในช่วงพักครึ่งเวลา มีฝูงชนกลุ่มหนึ่งเดือดดาลและสร้างความโกลาหลด้วยการจุไฟเผาสนาม

   ร้อนถึงประธานาธิบดี  ซูฮาร์โต้ ที่เข้ามาชมเกมด้วยเช่นกัน ต้องอ้อนวอนขอความร่วมมือ เหตุการณ์จึงค่อยๆ สงบลง แต่ก็กินเวลาร่วมชั่วโมง จึงกลับมาแข่งขันกันต่อได้

   ผลการแข่งขัน 90 จบลงด้วยสกอร์ 1-1 แต่ในช่วงดวลลูกจุดโทษอินโดนีเซีย แพ้ไป 2-4 ทำให้ชวดเหรียญทองแบบเจ็บปวด แต่ไทย เองก็ไม่สามารถดีใจได้เต็มเหนี่ยว เนื่องจากเสียงโห่จากแฟนๆ เจ้าบ้านยังคงถาโถมอย่างหนัก 

   เแถมยังมีบางกลุ่มไปดักรอส่งขุนพลช้างศึกอยู่รอบนอกของสเตเดี้ยม ด้วยแววตาที่เหี้ยมเกรียม เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องมาไกล่เกลี่ย และกว่าจะออกจากสนามได้ก็รอถึง 3 ชั่วโมงเลยทีเดียว

   จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้พวกเขาถูก 'แบน' ด้วยการห้ามจัดแข่งขันกีฬาอยู่หลายปี และต่อมาทางรัฐบาลก็สั่งให้สร้าง 'ลวดหนาม' เพื่อป้องกันความเดือดดาลของแฟนๆ ขึ้นมา

มนต์ขลังที่ไม่เสื่อมคลาย

   หลังจากเหตุการณ์สุดวุ่นวายในปี 1997 พวกเขาต้องรับมือกับเสียงวิพากษ์-วิจารณ์จากหลายชาติที่มองว่าไม่สามารถรองรับการจัดการแข่งขันได้ดีนัก ทำให้อินโดนีเซีย ทบทวนและปรับปรุงมาตรการต่างๆ ให้ดีขึ้น

   รวมทั้งได้ขอความร่วมมือจากแฟนฟุตบอลภายในประเทศให้ลดดีกรีความดุดันลงกว่าเดิม

   ว่าแล้วในปี 2001 ประธานาธิบดี  ซูฮาร์โต้ จึงได้เปลี่ยนชื่อสนามจาก เสนายัน ให้เป็น เกโลรา บุง การ์โน่ ก่อนที่จะดำเนินการเพิ่มความปลอดภัยในทุกๆ ด้านเท่าที่มาตรฐานสากลพึงจะมี

   นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาอินโดนีเซีย จึงได้กลับจัดการแข่งขันทัวร์นาเมนต์ระดับนานาชาติมากขึ้น

   ไม่ว่าจะเป็น

   - ศึกชิงแชมป์สโมสรอาเซียน 2003

   - เอเชียน คัพ 2007 (เจ้าภาพร่วม) แต่ใช้ เสนายัน เป็นสนามนัดชิงชนะเลิศ

   - บาเยิร์น มิวนิค (เยอรมัน), แอลเอ แกแล็กซี่ (สหรัฐอเมริกา), อินเตอร์ มิลาน (อิตาลี), บาเลนเซีย (สเปน), อาร์เซน่อล (อังกฤษ), ลิเวอร์พูล (อังกฤษ), เชลซี (อังกฤษ), ยูเวนตุส (อิตาลี) และ โรม่า (อิตาลี) ที่มาทัวร์ระหว่างปี 2011-2015

   - เอเชียน คัพ รุ่นอายุไม่เกิน 19 ปี (2018)

   - เวิร์ล คัพ 2020 รุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี (2020)


ที่มาของภาพ : -
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport