ย้อนดู 9 ชาติ โดน ฟีฟ่า แบนโทษฐานถูกการเมืองแทรกแซง

ย้อนดู 9 ชาติ โดน ฟีฟ่า แบนโทษฐานถูกการเมืองแทรกแซง
จากกรณีที่มีข่าวว่าไทย มีสิทธิ์ถูกสมาพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า (FIFA) สั่งแบน หากถูกสอบสวนพบว่า มีการเมืองแทรกแซง และนั่นอาจทำให้วงการลูกหนังแดนสยามต้องสะเทือน ว่าแล้ว 'SIAMSPORT' จึงขอพาคุณย้อนอดีตไปดูเคสเก่าๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว!!

[ 1 ] อินเดีย (2022)

เรื่องเกิดขึ้นในวันที่ 16 สิงหาคม เมื่อศาลของประเทศอินเดีย สั่งระงับสมาคมฟุตบอลเป็นการชั่วคราว โทษฐานที่นายกสมาคม ณ ตอนนั้นดันอยู่ในตำแหน่งนานเกินวาระ แถมไม่ยอมจัดให้มีการเลือกตั้งอีกต่างหาก 

ภายหลังจากการเข้ามาแทรกแซงของศาลของอินเดีย พวกเขาจัดการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของตัวเองขึ้นมารักษาการ ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องนี้ถึงหู ฟีฟ่า ว่าแล้วสมาพันธ์ฟุตบอลนานาชาติจึงสั่งแบนทันที

ผลจากการสั่งแบบในครั้งนั้นส่งผลถึง เวิร์ล คัพ ยู-17 ชิงแชมป์โลก (ผู้หญิง) ที่อินเดีย เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน และก็กำลังจะเริ่มในช่วงตุลาคม 2022 ซึ่งถ้าโดนแบน คงต้องหาประเทศใหม่กันจ้าล่ะหวั่น

สุดท้ายรัฐบาลอินเดีย ยอมเดินออกจากสมาคมฟุตบอล ทำให้ ฟีฟ่า ปลดแบนในวันที่ 27 สิงหาคม 2022 และทำให้ศึกชิงแชมป์โลกรุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี ได้จัดแข่งขันต่อ

__________

[ 2 ] ซิมบับเว (2022)

จากความวุ่นวายภายใน กับเหตุการณ์ที่สมาคมฟุตบอลซิมบับเว ถูกกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ของตัวเองได้ล่วงละเมิดทางเพศผู้ตัดสินหญิง อีกทั้งยังมีเรื่องของการฉ้อโกงภายในองค์กร ว่าแล้วคณะกรรมาธิการกีฬาและสันทนาการที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลของประเทศจึงเข้ามาเทกโอเวอร์ 

ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ ฟีฟ่า ซึ่งระบุว่าห้ามการเมืองเกี่ยวโยงกับกีฬา ต้องเข้ามาเป็นตัวกลางด้วยการสั่งแบนสมาคมฟุตบอลซิมบับเว และก็มีผลตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2022 กระทั่งถึงปัจจุบัน

__________

[ 3 ] ปากีสถาน (2021)


ปากีสถาน เป็นประเทศที่เคยถูก ฟีฟ่า สั่งแบนมาหนหนึ่งแล้วเมื่อปี 2017 แต่ครั้งใหม่ในปี 2021 นั้นค่อนข้างรุนแรงกว่า เพราะตามรายงานจากสื่อต่างประเทศระบุว่าสมาคมฟุตบอลของพวกเขาถูกรัฐบาลเข้ามาแทรกแซงแบบเต็มเหนี่ยว

ฟีฟ่า จึงสั่งแบนปากีสถาน ทันที แถมยังใช้คำว่า Hostile Takeover ซึ่งแปลเป็นไทย คือการที่สมาคมฟุตบอลของปากีสถาน ถูกครอบงำโดยไม่ได้เห็นชอบ ซึ่งถือเป็นการปฏิบัติที่เป็นปฏิปักษ์ต่อวงการฟุตบอล

การแบนของ ฟีฟ่า ในครั้งนี้มีผลถึงปี 2022 เลยทีเดียว 

__________

[ 4 ] ชาด (2021)

ผลพวงจากการที่สมาคมฟุตบอลชาด ถูกกระทรวงเยาวชนและกีฬา ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงการทำงาน และแน่นอนว่ามันเข้าเกณฑ์ผิดกฎของสมาพันธ์ฟุตบอลนานาชาติแบบเต็มๆ

ว่าแล้วมีนาคม 2021 ฟีฟ่า จึงสั่งแบนชาด และกว่าจะปลดโทษ ก็ต้องรอยาวไปถึงเดือนตุลาคมของปีเดียวกันนั่นเอง

__________

[ 5 ] กัวเตมาลา (2016)


ด้วยความอื้อฉาวภายในสมาคมฟุตบอลกัวเตมาลา ที่ถูกระบุว่ามีเรื่องคอร์รัปชั่นภายในองค์กร จนทำให้ ฟีฟ่า เข้ามาตรวจสอบเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา แต่ถูกปฏิเสธกลับไป พร้อมเหตุผลที่ว่าการที่สมาพันธ์ฟุตบอลนานาชาติจะเข้ามาสืบหาความจริงนั้นขัดต่อกฎหมายในประเทศ

โทษฐานที่ไม่ให้ความร่วมมือ ว่าแล้ว ฟีฟ่า จึงสั่งแบนกัวเตมาลา ในเดือนตุลาคม 2016 และกว่าจะเคลียร์กันได้ ก็ยาวนานไปถึงปี 2018 เลยทีเดียว 

__________

[ 6 ] อินโดนีเซีย (2015)


เพื่อนบ้านเรือนเคียงของไทยแลนด์ ต้องตกเป็นข่าวอื้อฉาวไปทั่วโลกกับกรณีที่กระทรวงกีฬาของอินโดนีเซีย เรียกขอเอกสารจากสโมสรต่างๆ แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ ทำให้สุดท้ายรัฐบาลสั่งล้มสมาคมฟุตบอลซะเลย ก่อนจะตั้งสมาคมฟุตบอลขึ้นใหม่ โดยใช้คนของตนเองกำกับดูแล

ทีแรก ฟีฟ่า ก็ส่งหนังสือเตือนเพื่อให้จัดการแก้ไขสถานการณ์มาแล้ว แต่ทางอินโดนีเซีย ไม่สามารถทำได้ และนั่นเองทำให้ถูกสั่งแบนในปี 2015 โดยตอนแรกถูกระบุว่าต้องโทษถึง 5 ปี เลยทีเดียว

ผลพวงจากการแบนในครั้งนั้นทำให้อินโดนีเซีย ไม่ได้แข่งขันฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือกโซนเอเชีย ในช่วงท้าย ซึ่งหนึ่งในนั้นมีเกมกับไทย รวมอยู่ด้วย 

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการถูกลงโทษ อินโดนีเซีย สามารถแก้ไขปัญหาได้สำเร็จ กระทั่งถูกลดโทษลง และพ้นแบนกลับมาในเดือนพฤษภาคม 2016

__________

[ 7 ] ไนจีเรีย (2014)


ให้หลังจากการตกรอบ 16 ทีม สุดท้าย เวิร์ล คัพ 2014 ทำให้สมาคมฟุตบอลไนจีเรีย สั่งปลดคณะบริหารของทีมชุดนั้น ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะมันเหมือนรับผิดชอบผลงานที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย 

แต่ที่ผิดคือการที่ศาลไนจีเรีย ดันสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลมาบริหารงานแทน ซึ่งมันขัดต่อกฎเกณฑ์ของ ฟีฟ่า เต็มๆ

เรื่องราวไปถึงสมาพันธ์ฟุตบอลนานาชาติได้ไม่นาน ฟีฟ่า ก็ตัดสินใจแบนไนจีเรีย ทันทีในเดือนกรกฎาคม 

อย่างไรก็ตาม ทางไนจีเรีย ไม่ปล่อยให้ยืดเยื้อ พวกเขารีบแก้ไขปัญหาและทำอย่างโปร่งใส จนทำให้ ฟีฟ่า ปลดแบนภายในระยะเวลาเพียง 1 เดือนเท่านั้น

__________

[ 8 ] อิรัก (2009)


เรื่องของเรื่องคือคณะกรรมการโอลิมปิกอิรัก ถูกรัฐบาลสั่งยุบ แล้วร้อนถึงสมาคมฟุตบอลที่โดนหางเลขไปด้วย ซึ่งก็เข้าทาง ฟีฟ่า ที่จับตาประเทศแถบเอเชียตะวันตกอยู่ก่อนแล้ว เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยเสนอให้นักเตะหญิงถอดผ้าโพกหัว แต่ก็ยังไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร

เท่านั้นไม่พอ ก่อนที่จะถูกแบนในหนนี้ อิรัก ก็เคยถูกลงโทษมาแล้วเมื่อปี 2008 ซึ่งเกือบจะทำให้ไม่ได้ลงสนามในฟุตบอลโลก 2010 รอบคัดเลือก ที่จะพบกับออสเตรเลีย 

กระทั่งเรื่องที่รัฐบาลอิรัก เข้ามาแทรกแซงวงการกีฬา ทำให้ ฟีฟ่า มีข้ออ้างอย่างชอบธรรมที่ในการสั่งแบนอีกครั้งในปี 2009 และหนนี้กว่าจะปลดแบนก็ยาวไปถึงมีนาคม 2010 เลยทีเดียว

__________

[ 9 ] อิหร่าน (2009)


อีกหนึ่งชาติในเอเชียตะวันตก ที่ถูกสมาพันธ์ฟุตบอลนานาชาติจับตามองอย่างจดจ่อ เพราะมีหลากเรื่องราวที่ทาง ฟีฟ่า นั้นพยายามผลักดันให้เกิดความเท่าเทียม

อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลอิหร่าน เข้ามาแทรกแซงการทำงานของสมาคมฟุตบอล ทำให้ ฟีฟ่า จัดการลงดาบทันทีในเดือน พฤศจิกายน 2006 ซึ่งถ้าหากมีผลระยะยาว จะทำให้พวกเขาหมดสิทธิ์แข่งขัน เอเชีย คัพ 2007 ซึ่งมาแข่งขันกันที่เมืองไทย 

จนแล้วจนรอด สุดท้ายแล้ว อิหร่าน ก็ถูกปลดแบนในเดือนธันวาคมของปีเดียวกันนั่นเอง 

ทว่าล่าสุดเมื่อปี 2022 อิหร่าน ถูกยูเครน ร้องให้ ฟีฟ่า สั่งแบนอีกครั้ง แถมคนในประเทศเองก็ยื่นเรื่องประท้วงเช่นกัน แต่สุดท้ายแล้วไม่เป็นผล และทัพสิงโตแห่งเตหะรานก็ได้เล่นฟุตบอลโลกที่กาตาร์

__________


ที่มาของภาพ : getty images
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport